xs
xsm
sm
md
lg

บทโชว์ของ “ต่อ-ธนภพ” ออทิสติกอัจฉริยะ “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เป็นออทิสติกแล้วจะเล่นแบดได้ไงวะ? แค่เชือกรองเท้ายังผูกไม่ได้เลย “
คือประโยคแรกเริ่มที่นำพาให้ผู้คนสนใจในเนื้อหาสาระที่ตั้งใจนำเสนอ ในตอนที่ 2 ของ Project S The Series ที่มีชื่อว่า “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” อีกหนึ่งผลงานของค่าย GDH ที่ทำป้อนช่อง Gmm 25

ภาพรวมที่ซิรี่ส์ Project S The Series ตั้งใจบอกเล่าสู่ผู้ชม ก็คือเรื่องราวของมิตรภาพ การแข่งขัน ความรัก ความสัมพันธ์ผ่านกีฬาประเภทต่างๆ ซึ่งในตอนที่ 2 ก็ว่าด้วยเรื่องของกีฬาแบดมินตัน

แต่สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือใน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ไม่ได้เน้นในเรื่องของการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นที่หนึ่งประเภทที่ต้องมีตัวร้าย ตัวโกง มีการวางแผนทำลายคู่ต่อสู้ เพื่อที่สุดท้ายปลายทาง ตัวละครดีก็ชนะไปตามฟอร์ม เหมือนละครเกี่ยวกับกีฬาที่เราๆ ท่านๆ เคยผ่านตามาก่อนหน้านี้ แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้คือคาแรกเตอร์ของตัวละครหลัก ที่อยู่ในกลุ่มเด็กพิเศษ หรือออทิสติกนั่นเอง ซึ่งดูเหมือนจะไม่เคยมีละครเรื่องไหน ที่ตั้งใจหยิบยกคาแรกเตอร์ของตัวละครในลักษณะนี้มานำเสนอ ทั้งๆ ที่ในโลกของความเป็นจริง เรามีโอกาสได้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของเด็กในกลุ่มนี้อยู่บ่อยๆ

และคาแรกเตอร์ของเด็กออทิสติก ใน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ก็ถูกถ่ายทอดผ่านนักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอย่าง “ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร” หนึ่งในนักแสดงจากเรื่องฮอร์โมนส์ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการทีวีบ้านเรา ในฐานะที่เป็นซิรี่ส์เปิดหัวแหวน ที่ตีแผ่ชีวิตของวัยรุ่นวัยวุ่นได้อย่างโดนใจ ส่งผลให้นักแสดงทุกคนในเรื่องแจ้งเกิดแบบยกแผง และส่วนใหญ่ยังคงมีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
จากบทนักเรียนวัยรุ่นในช่วงแรกๆ ของการเป็นนักแสดง ต่อก็พัฒนามาสู่บทบาทของหนุ่มนักศึกษาในรั้วศิลปากร ที่พัวพันกับความรักหลายเส้า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงเกี่ยวกับสัมพันธภาพของความเป็นเพื่อน ใน “โอ นเกาทีฟ รักออกแบบไม่ได้” ที่รีเมกจากภาพยนตร์ดังเมื่อหลายปีก่อน ในเรื่องนั้นต่อรับบทเป็น “ปืน” บทเดิมของ “ชาคริต แย้มนาม” แต่ต้องยอมรับว่า ในเรื่องนั้น ความโดดเด่นของต่อ ถูกกลบโดยฝีมือของนักแสดงในรุ่นเดียวกัน อย่าง “เก้า-จิรายุ ละอองมณี” ในบทของ “อาร์ต” บทเดิมของ “เรย์ แมคโดนัลด์ ที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ได้ลึกซึ้ง ครบถ้วนกว่า โดยเฉพาะการแสดงออกทางสีหน้า แววตา โดยไม่ต้องมีบทสนทนามาช่วยสื่อความหมาย อาจจะด้วยคาแรกเตอร์ของตัวละครที่ต่อได้รับ ยังไม่เอื้อให้เขาได้โชว์ศักยภาพทางการแสดงเท่าที่ควร คนดูจึงยังมองไม่เห็นของที่มีในตัวได้อย่างชัดเจนเท่าใดนัก

ต่างจากบทของ “พี่ยิม” เด็กออทิสติกใน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” ที่ต้องถือว่าเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีชใน ชีวิตการแสดงของเขาในรอบ 4 ปีเลยก็ว่าได้
“ผมหามานานแล้วบทแบบนี้ อยากเล่นบทแปลกๆ ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้ตอบโจทย์ตัวเอง”
จึงเมื่อได้รับการทาบทาม และฟังเนื้อหาคร่าวๆ ก็ตกลงใจรับทันที ทั้งที่ยังได้อ่านบทโดยละเอียดด้วยซ้ำ
นั่นคือคำบอกเล่าของต่อ เมื่อพูดถึงการรับบทบาทที่ท้าทายฝีมือครั้งนี้
แต่พอลงมาเล่นจริงๆ ก็รู้สึกว่าไม่ง่ายเลย แม้ว่าจะพาตัวเองไปคลุกคลีกับเด็กออทิสติกจริงๆ ที่มูลนิธิออทิสติกไทยอยู่ 3 เดือน เพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมและนำบุคลิกมาปรับใช้กับการแสดง

หรือแม้กระทั่งการจำแนกความแตกต่างระหว่างเด็กที่เป็นออทิสติก กับเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะตีความว่าเหมือนกัน แต่แท้แล้วคือคนละประเภท เพราะฉะนั้นอากัปกริยา ท่าทาง จึงแตกต่างกัน
แล้วไหนจะต้องฝึกตีแบดให้เก่งในระดับโปรอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ยากก็คือ ต้องฝึกด้วยการเคลื่อนไหวของเด็กที่เป็นออทิสติก ที่มีวิธีใช้กล้ามเนื้อที่ผิดแผกจากคนปกติทั่วไป
6 เดือน สำหรับการปรับคาแรกเตอร์เพื่อให้เป็นเด็กออทิสติกที่ตีแบดได้เก่ง นับว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย สำหรับการรับงานแสดงเพียงเรื่องเดียว ซึ่งถ้ามองแง่รายได้ บอกเลยว่าไม่คุ้ม สู้เอาเวลา 6 เดือนไปรับบทสบายๆ แล้วมีเวลาเหลือไปออกงานอีเวนต์ โชว์หน้าหล่อไปมา น่าจะได้เม็ดเงินที่มากกว่านี้หลายเท่า

แต่ถ้ามองในแง่ของความเป็นนักแสดง ที่อยากจะเป็นมืออาชีพ ถือว่าคุ้มยิ่งกว่า
เพราะในชีวิตการแสดง จะมีสักกี่ครั้ง ที่จะได้รับบทดีๆ ใช้ได้โชว์ของแบบนี้
สังเกตมั้ยว่า นักแสดงส่วนใหญ่มักจะให้สัมภาษณ์ว่าอยากเล่นบท “คนบ้า” เพราะคิดว่าได้แสดงความสามารถทางการแสดงอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมา การตีความบทคนบ้า ก็มักจะเป็นไปในลักษณะแค่เล่นให้ใหญ่รัชดาลัยเข้าว่า เดี๋ยวเอะอะ เดี๋ยวโวยวาย หรือไม่ก็ทำตาลอยๆ ในยามอารมณ์ดี แล้วก็ทำตาขวางๆ เวลามีใครขัดใจ แค่นั้นก็เป็นคนบ้าได้แล้ว

แต่เด็กออทิสติกในการตีความของต่อ ต้องบอกว่าเหนือชั้นกว่านั้น
สังเกตจากการยืน การเดิน การนั่ง การใช้มือไม้ประกอบการพูด ท่าทางที่ดูเหมือนตัวเหี่ยวๆ ลอยๆ ยังไม่ต้องถึงซีน ดรามาด้วยซ้ำ แต่เขาก็ทำให้คนดูเชื่อว่านั่นคือเด็กพิเศษจริงๆ

“ต้องเข้าใจก่อนว่าออทิสติก 100 คน ก็มี 100 แบบ สิ่งที่ผมเล่นไม่ได้เฉลี่ยมาจากออทิสติก 100 คนนั้น แต่ผมคือ ออทิสติกคนที่ 101 มันคือการออกแบบใหม่ล้วนๆ ซึ่งไม่เหมือนใคร และไม่เคยมีใครเหมือน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผม ผู้กำกับ และทีมงาน ซึ่งคอยแนะนำหากสิ่งนั้นน้อยไปหรือมากไป สิ่งที่แอดวานซ์มากคือไม่ได้เปลี่ยนแค่อินเนอร์ แต่เปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนการใช้เสียงให้ออกมาคนละโทนและจังหวะคนละแบบกับเด็กปกติ”
บอกเลยว่าบทแบบนี้เป็นดาบสองคมสำหรับการเป็นนักแสดง คือถ้าทำได้ดี แสดงได้ถึง เล่นแล้วคนเชื่อ ก็ไปต่อได้ แต่ถ้ามองแล้วเฟค เล่นยังไงคนก็ไม่อินตาม อนาคตทางการแสดงอาจจะร่วงไปเลยก็ได้ ที่สำคัญการเล่นดีในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเล่นดีเฉพาะบางฉาก บางซีน แต่จะต้อง Keep Character ให้ตลอดรอดฝั่งทั้งเรื่อง

ย้อนกลับมาพูดถึงประโยคข้างต้นที่ว่า .....เพราะในชีวิตการแสดง จะมีสักกี่ครั้ง ที่จะได้รับบทดีๆ ใช้ได้โชว์ของแบบนี้ !!??
อย่างต่อเอง ในขณะที่โชว์ของแบบเต็มๆ ใน “Side by Side พี่น้องลูกขนไก่” แต่พอในละคร “เล่ห์ลับสลับร่าง” ที่ประเดิมเล่นให้กับช่อง 3 (แต่บังเอิญออกอากาศหลัง The Cupid บริษัทรักอุตลุด) เขากลับได้รับบทเป็นแค่คู่สอง รองจากคู่ของ “ณเดชน์-ญาญ่า”
เพราะจุดบอดของต่อ ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับเก้า-จิรายุประสบ ก็คือคาแรกเตอร์ที่มองยังไงก็เป็นวัยรุ่น ไม่เหมาะจะเป็นพระเอกนำเดี่ยวในละครหลังข่าวสไตล์ช่อง 3 ช่อง 7 แต่เหมาะจะโชว์ฝีมือในซิรี่ส์สไตล์ช่อง Gmm 25 มากกว่า การได้อยู่ช่องใหญ่ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะโดดเด่นขึ้นมาได้ ถ้าไม่ใช่ที่ทางของเราจริงๆ อย่างตอนที่เก้าเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงค่ายโพลีพลัส นั่นก็มีละครให้เล่นแค่เรื่องเดียว แถมยังแทบจะไม่มีคนพูดถึงด้วยซ้ำ การที่ต่อจะมาลงหลักปักฐานที่ช่อง 3 ก็น่าจะเป็นในลักษณะเดียวกัน

เพราะต้องยอมรับความจริงว่า บางทีของแบบนี้ มันเป็นเรื่องของการอยู่ถูกที่ ถูกเวลาด้วย !!

ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 403 5-11 สิงหาคม 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น