40 สาวงามมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 บินเก็บตัวเชียงใหม่ แต่งชุดพื้นเมืองล้านนา สักการะครูบาศรีวิชัย - พระธาตุดอยสุเทพ - อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พร้อมไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เวียงเชียงใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคล
ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ได้เดินทางมาเก็บตัวทำกิจกรรม ที่จังหวัดเชียงใหม่วันแรก โดยออกเดินทางด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จากท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิสู่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เมื่อถึงจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย นางปิ่นนาถ เจริญผล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ พ.ต.ท.อำนาจ โฉมฉาย ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว นายสมัย เมฆพัฒน์ รองผู้อำนวยการการท่าอากาศยานเชียงใหม่ นางสาวทรรศร์มน แก้วเป็ง ผู้อำนวยการส่วนบริการกลางการท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มาให้การต้อนรับพร้อมมอบมาลัยคล้องคอให้ทั้ง 40 สาวงาม
จากนั้น ผู้เข้าประกวดทั้ง 40 คน ได้เปลี่ยนมาสวมชุดพื้นเมืองล้านนา และออกเดินทางเพื่อถ่ายทำ วิดีทัศน์ประชาสัมพันธ์แหล่งทองเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ จุดหมายแรกที่เหล่าสาวงามเดินทางถึงคือ อนุสาวรีย์ ครูบาศรีวิชัย บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ และเหล่าสาวงามได้นำดอกไม้ธูปเทียนกราบสักการะครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนเชียงใหม่และคนโดยทั่วไป จากนั้นเดินทางสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ และเป็นหนึ่งในวัดที่มีความสำคัญมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ โดย เหล่าสาวงามสวยสดงดงามในชุดพื้นเมืองจนเป็นที่สนใจของเหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งนี้ ผู้เข้าประกวด ได้ถ่ายวิดีทัศน์โดยถือสวยดอกหรือกรองดอกไม้เวียนรอบพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ การแขวนระฆัง และไหว้ขอพร
ซึ่งการปรากฏตัวของเหล่าสาวงามในชุดพื้นเมืองล้านนาหลากสีสันและยังคงติดริบบิ้นดำถวายความอาลัยบนสายสะพาย ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ขอถ่ายภาพผู้เข้าประกวดฯ และเวลาประมาณ 11.00 น. ได้ออกเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันและเปลี่ยนเป็นชุดพื้นเมืองล้านนาชุดที่ 2 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นโรงแรม ที่พักตลอดช่วงเวลาในการทำกิจกรรมเก็บตัว
ในช่วงบ่ายสาวงาม 8 คน คือ หมายเลข 31 แพร น.ส.จุฑามณี พาราสิงห์ หมายเลข 32 แบมบู น.ส.สิริรัตน์ กาลบุตร หมายเลข 33 ชมพู่ น.ส.พิสุทธา นันทวรเวช หมายเลข 34 เฟรม น.ส.รัตน์ชนก เนาวะเศษ หมายเลข 35 ไนซ์ น.ส.ไรวินทร์ กิตติวงศ์ศิริ หมายเลข หมายเลข 38 โบว์ น.ส.สุภาภรณ์ ฤทธิพฤกษ์ หมายเลข 39 ปอย น.ส.ปภัสสร ประสิทธิ์กสิกรณ์ หมายเลข 40 ดาหลา น.ส.ดาหลา นาคสุข เริ่มกิจกรรมถ่ายวีทีอาร์อีกครั้ง โดยสักการะพระพุทธรูปโบราณล้านนา ที่วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดโบราณเก่าแก่นับแต่ครั้งพญามังราย ซึ่งทรงสร้างไว้เพื่อให้พระลังกาที่มาเผยแพร่พุทธศาสนาในเวลานั้นได้จำพรรษา สิ่งสำคัญในวัดแห่งนี้คือภาพจิตรกรรม ฝาผนังในวัดอุโมงค์บริเวณเพดานโค้งซึ่งเป็นศิลปะล้านนาที่มีอายุกว่า 500 ปี
จากนั้นเดินทางไปสมทบกับผู้เข้าประกวดอีก 32 คน ณ บริเวณ พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือที่มักเรียกกันว่า อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรือ ข่วงสามกษัตริย์ ในภาษาพื้นเมือง เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ของพระมหากษัตริย์ไทยผู้สร้างเวียงเชียงใหม่ 3 พระองค์ คือ พญามังราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง มหาราช ตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคือ ศาลากลางหลังเก่า ที่มีสถาปัตยกรรมตะวันตกที่งดงามมาก
เวลา 15.30 น. ผู้เข้าประกวดทั้ง 40 คนเดินทางไปยังวัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถ่ายวีทีอาร์สักการะกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ สำหรับวัดสวนดอกเป็นวัดที่สร้างและเป็นอารามหลวงนับแต่ครั้งราชวงศ์มังรายในปี พ.ศ. 1941 วัดสวนดอกได้รับการบูรณะสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ รวบรวมพระอัฐิเจ้าผู้ครอง นครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน เรียกว่า “กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ” หรือสุสานหลวง (เจ้านายฝ่ายเหนือ) และการบูรณะครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระวิหารโดย ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ปัจจุบันกู่เจ้านายฝ่ายเหนือขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติภายใต้การ กำกับดูแลของกรมศิลปากร ส่วนสถานที่ถ่ายวีทีอาร์สุดท้ายของวันแรกคือ วัดโพธารามมหาวิหาร เดิมชื่อวัด เจดีย์เจ็ดยอด หรือ วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 1998 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงสร้างวัดโพธารามมหาวิหารสร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย
ที่วัดเจ็ดยอดนั้น สาวงามทั้ง 40 คน ได้เข้าร่วมพิธีสืบสานประเพณีแห่ครัวตาน ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาและเป็นหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนา โดยชาวล้านนาจะจัดขึ้นเฉพาะงานฉลองสมโภช และ พิธีการสำคัญของวัด โดยจะเป็นขบวนแห่เครื่องไทยทานที่ทำขึ้นเพื่อถวายพระ ส่วนองค์ไทยทาน (ครัวตาน) ที่ถูกทำขึ้นเป็นรูปปราสาท จำลองรูปทรงต่างๆ ซึ่งชาวล้านนาถือว่าบุคคลที่ได้ร่วมการแห่ครัวตานนี้จะได้รับ อานิสงส์เป็นอันมาก