“สมจริงจนน่าทึ่ง” นี่คือหนึ่งในความรู้สึกแรกๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากได้รับชมหนังวานรภาคล่าสุด มันเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ในด้านเทคโนโลยีที่บอกกับเราว่า โลกได้เดินทางมาไกลอย่างยิ่งจริงๆ แล้ว ในโลกความจริง หุ่นยนต์กำลังถูกมองว่าจะเข้ามาทำงานแทนทรัพยากรมนุษย์ ในโลกของ War For The Planet Of The Apes เหล่าวานรก็ดู “สมจริง” จนกระตุกติ่งความกลัวของมนุษย์บางกลุ่มให้เกิดความรู้สึกว่า พวกมันจะมาแทนที่สายพันธุ์ของตน
ครับ, ถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่า หลายท่านคงได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งจากการสังเกตตามโรงภาพยนตร์ ผมพบว่าผู้คนให้ความสนใจในหนังเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าสไปเดอร์แมนที่เพิ่งเข้าฉายไปเมื่อสัปดาห์ก่อน อีกประการหนึ่ง เชื่อว่า เพราะหลายท่านได้รับชมหนังทั้งสองภาคมาก่อนหน้านี้แล้ว และรู้สึกประทับใจ ยังไงก็ต้องดูต่อ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่เท่าไหร่นะครับว่า “มหาสงครามพิภพวานร” จะจบที่ไตรภาคนี้หรือเปล่า
อารมณ์ในการดูแฟรนไชส์ชุดนี้ The Planet Of The Apes ผมรู้สึกเหมือนกับหลายท่านว่า ยิ่งดู ก็ยิ่งเศร้าไปข้างหน้า ความดราม่ายิ่งหนักข้อขึ้นทุกที การเข้ามารับไม้ต่อของผู้กำกับ “แม็ต รีฟส์” ในภาคที่สอง (ต่อจาก “รูเพิร์ต แว้ทส์” ที่กำกับภาคแรก) ส่งผลพอสมควรต่อบรรยากาศของหนัง พูดง่ายๆ ว่า ตั้งแต่ภาคสองเป็นต้นมา อารมณ์ของหนังได้รับการขับเน้นไปทางบีบคั้นกดดัน ขมขื่นแบบเข้มข้นตามแนวทางของหนังดราม่า เทคนิคการถ่ายภาพระดับดีพโฟกัสหยดน้ำตา หรือสถานการณ์ที่น่าร่ำไห้ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้แทบตลอดทั้งเรื่องในการกำกับของแม็ท รีฟส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคที่ 3 นี้ สามารถกล่าวได้ว่า ต้องการจะดราม่าระดับเอาถึงตาย
War For The Planet Of The Apes หรือในชื่อไทย “มหาสงครามพิภพวานร” เล่าเรื่องราวต่อเนื่องจากภาคที่ผ่านมา หลังจาก “ซีซาร์” โค่น “โคบา” วานรที่บ้าเลือดลงได้แล้ว แต่ทว่าความเคลือบแคลงของมนุษย์ทหารที่มีต่อพวกลิงยังคงไม่จางหาย การนำทีมโดยผู้พันขาโหดยังคงดำเนินต่อไป แม้ทางฝ่ายลิงจะยอมอยู่นิ่งๆ แล้ว แต่เมื่อทหารรุกรานเข้ามามาก แบบมุ่งหวังเอาชีวิต หัวหน้าหมู่อย่าง “ซีซาร์” ก็จำต้องทำในสิ่งที่ฝืนความรู้สึกของตัวเอง เมื่อบวกกับความคับแค้นบางประการที่ยากจะทำใจ สงครามครั้งใหม่จึงต้องเริ่มขึ้น ...
โดยภาพรวม ผมเห็นว่า สิ่งแรกๆ ที่หนังทำได้ดีและเป็นการปูฐานของสถานการณ์วิกฤติได้อย่างดียิ่ง ก็คือ การทำให้เราเห็นชัดถึง “แรงผลัก” ที่ขับดันให้พญาวานรอย่างซีซาร์ต้องลุกขึ้นมาทำสงคราม เป็นการสร้างความชอบธรรมในการก่อการได้อย่างชอบธรรม ซึ่งในพาร์ทนี้ การใส่เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาก็เป็นไปเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูผู้ชม เราจะสัมผัสได้ถึงหัวจิตหัวใจของซีซาร์ ตลอดจนวานรตัวสำคัญๆ ในเรื่อง ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้เราได้เข้าถึงความรู้สึกของตัวละครแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีงามให้กับเทคนิคด้านเอฟเฟคต์ที่ถือว่าพัฒนามาไกลมากแล้ว และอีกส่วนที่ก็คือการแสดง
ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “แอนดี้ เซอร์คิส” (เขาเคยเป็น “กอลั่ม” ใน เดอะ ลอร์ด อ๊อฟ เดอะ ริง) ผู้แสดงเป็นซีซาร์ เขาพูดได้น่าสนใจมากครับว่า ณ จุดนี้ เมื่อเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกมันล้ำหน้ามาก นักแสดงที่ต้องรับบททำนองนี้ จะไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ “ตัวแทน” ของตัวละครนั้นๆ อีกต่อไปแล้ว แต่จะต้อง “กลายเป็น” ตัวละครตัวนั้นไปด้วย ... ซึ่งในมุมนี้ ผมเห็นว่า สิ่งที่แอนดี้ เซอร์คิส ได้กล่าวนั้น เป็นความจริงทุกประการ เพราะตัวละครในเรื่องทุกตัว ทำให้เราเชื่อได้ และรู้สึกร่วมไปด้วยได้ เขาทำให้เราเศร้า เราสุข และสนุกไปด้วยได้ (ตัวที่สนุกๆ ขำๆ ก็มีนะครับ) จากสายตา จากท่าทาง และการเคลื่อนไหว
พูดสรุปในส่วนนี้ก็คือว่า ความสมจริงนั้นชัดเจน และหนุนส่งให้เกิดพลังอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร หนัง Apes ทั้งสองภาคที่ผ่านมา ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเทคนิคพิเศษ และในภาคนี้ก็คงไม่พลาดที่จะมีชื่ออยู่ในท็อปลิสต์ และหากจะพูดตามความจริงจากใจ ผมก็ว่า น่าจะให้ได้รางวัลสักครั้งนะครับ เพื่อเป็นการแสดงความชื่นชมให้กับความพยายามและทุ่มเทซึ่งมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากขนาดนี้
การดูหนัง Apes ภาคนี้ ให้ความรู้สึกเข้าถึงหัวใจของ “คนอื่น” บทหนังนั้นเขียนขึ้นมาอย่างเข้าอกเข้าใจ และให้พื้นที่แก่ตัวละครอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าฝ่ายวานรหรือมนุษย์ แต่ละคนแต่ละฝ่ายต่างก็มีจุดที่อธิบายได้ในเหตุและผลแห่งการกระทำ แบบที่ดูไปแล้วจะรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่เด็ดขาดซะทีเดียว เพราะมันมีมุมที่น่าสงสารเห็นใจด้วยกันทั้งนั้น
กล่าวอย่างถึงที่สุด War For The Planet Of The Apes เป็นหนังที่ทำออกมาได้ดีมากครับ ในรายการวิวไฟน์เดอร์ทางช่อง Super บันเทิง เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พิธีกรถามผมว่า ความแอ็กชั่นของหนังเป็นอย่างไร ผมอธิบายไปว่า หนังตระกูล Apes นี้ มันมาไกลแล้ว จากภาคแรกที่แอ็กชั่นค่อนข้างเด่นชัด แต่พอภาคสอง เปลี่ยนผู้กำกับ ความแอ็กชั่นมันเปลี่ยนจากปืนหรือระเบิดไปเป็นการแอ็กชั่นกันที่อารมณ์และความตึงเครียด ยิ่งมาภาคสามนี้ ยิ่งเห็นเด่นชัดมาก ว่าเป็นการแอ็กชั่นกันที่อารมณ์และบรรยากาศความตึงเครียดที่ชวนให้ติดตาม ไม่ตูมตามแต่ก็น่าติดตาม ผมมีความเห็นว่าอย่างนั้น กระนั้นก็ดี สำหรับคนที่คาดหวังฉากการต่อสู้แอ็กชั่นแบบโครมครามตูมตาม ผมคิดว่าก็มีให้เสพรับตามความเหมาะสมนะครับ
หนังยาวราวๆ 140 นาที แต่เป็น 140 นาทีที่คุ้มค่ามาก ติดตามได้ตั้งแต่นาทีแรกจนนาทีสุดท้าย อันนี้ในความเห็นของผมนะครับ