xs
xsm
sm
md
lg

ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง 30 อันดับ “หนังฮ่องกง” ทำเงินสูงสุดแห่งยุค 80s

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


คงไม่มียุคใดของหนังฮ่องกงที่จะเรียกว่า “ยุคทอง” ได้เท่ากับหนังฮ่องกงใน “ยุค 80s” อีกแล้ว ช่วงเวลา 10 ปีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งดารา และ ผกก. ชั้นนำมากมาย และนี่คือหนัง 30 เรื่องที่ทำเงินมากที่สุดในฮ่องกง ณ ช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว

เกาะฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างเต็มตัวในยุค 80s ด้วยการผลักดันของสหราชอาณาจักรที่เช่าเกาะฮ่องกงจากจีนอยู่ในเวลาดังกล่าว ส่วนวงการหนังฮ่องกงก็สร้างชื่อในวงการภาพยนตร์ระดับโลกได้อย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน

ในยุค 80s วงการหนังฮ่องกงสามารถผลิตงานที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “ระดับสากล” ส่งออกไปกอบโกยรายได้มากมาย เป็นยุคที่ “เซอร์ รัน รัน ชอว์” แห่ง ชอว์บราเดอร์ หันหลังให้วงการมุ่งสู่การผลิตรายการโทรทัศน์ภายใต้ชื่อ TVB อย่างเต็มตัว เปิดโอกาสให้ Golden Harvest และ Cinema City กลายเป็นคู่แข่งสำคัญแห่งยุคสมัยนั้น สำหรับดาราดังแห่งยุคก็มีทั้ง หงจินเป่า ที่มานำทัพฝั่ง Golden Harvest ส่วน เม๊าะเจียะ กับ แซม ฮุย ก็สร้างหนัง “เฮง” โกยเงินให้ฝั่ง Cinema City อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่สุดท้ายดาราที่เรียกว่าเป็น “แม่เหล็กโกยเงินแห่งยุค” กลับเป็น เฉินหลง กับ โจวเหวินฟะ เพราะหนังของทั้ง 2 คนทำรายได้เยอะจริงๆ รวมกันแล้วครองอันดับใน 30 หนังทำเงินยุค 80s ถึง 16 เรื่องหรือว่าเกินกึ่งหนึ่งเลยทีเดียว คนทำหนังอย่าง ฉีเคอะ และ จอห์น วู ก็ก้าวขึ้นมาได้อย่างเต็มตัวในช่วงเวลานี้ด้วย

จนอาจพูดได้ว่าหนังฮ่องกงไม่เคย “สนุก” เท่ายุค 80s อีกแล้ว หนังบู๊มันสุดขีด หนังตลกฮากันได้ทุกเพศทุกวัยทุกภาษา

แต่มีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ ปีเตอร์ ชาน บอกว่าคนทำหนังฮ่องกงยุคก่อน “การส่งมอบการปกครองคืนสู่จีน” ทำทุกอย่างเพื่อ “กอบโกย” เงินให้ได้มากที่สุด เพราะอนาคตไม่มีอะไรแน่นอน สะท้อนออกมาเป็นงานที่สุขเอาเผากินจำนวนมาก หนังเรื่องใดฮิตก็จะมีงานแนวเดียวกันตามออกมาเป็นพรวน อย่างไรก็ตามวงการหนังฮ่องกงยุค 80s ก็มีผลงานที่น่าจดจำอยู่มากมาย



อันดับ 30 “ขา ตั้ง สู้” Wheels on Meals (1984, เฉินหลง) 21,465,013 เหรียญฮ่องกง สามพี่น้องร่วมสาบานกลับมาทำงานด้วยกันอีกครั้ง หลังประสบความสำเร็จกับ เอไกหวา ที่ทำเงินไปถึง 19 ล้านเหรียญฮ่องกงเมื่อปี 1983 เรียกว่าตอนนั้น วงการหนังฮ่องกงโตเร็วมาก เพราะ “ไอ้มังกรหมัดสิงโต” ของ เฉินหลง เพิ่งจะทุบสถิติ 10 ล้านเหรียยฮ่องกง เรื่องแรกในปี 1979 ไปเอง ขา ตั้ง สู้ เป็นหนังแนวแอ็กชั่นตลกที่ เฉินหลง นำอิทธิพลหนังฮอลลีวูดคลาสสิกอย่างผลงานของ เออร์รอล ฟลิน มาดัดแปลงในสไตล์ของตัวเอง และยังเป็นหนัง เฉินหลง เรื่องแรกๆ ที่ลงทุนไปถ่ายทำต่างประเทศด้วย


อันดับ 29 “ดิบ” Eastern Condors (1987, หงจินเป่า) 21,606,063 เหรียญฮ่องกง The Dirty Dozen ฉบับฮ่องกงที่ หลินเจิ้งอิง รับบทเป็นนายทหารที่รวบรวมบรรดานักโทษเดนตายไปปฏิบัติภารกิจที่เวียดนาม หนังมีทั้ง หงจินเป่า, หยวนเปียว, หยวนหัว, หยวนวูปิง, เฉินเจียเล่อ แถมด้วยสาวบู๊อดีตมิสฮ่องกง เกาลี่หง ที่ต่อมากลายมาเป็นภรรยาของ หงจินเป่า จนถึงปัจจุบัน โดยหนังเน้นความดุเดือดแบบหนังสงครามมากกว่าจะไปในทางกังฟู และตลกเหมือนผลงานเก่าๆ ของนักแสดงกลุ่มนี้


อันดับ 28 “ยกเครื่องเรื่องจุ๊” The Romancing Star (1987, หวังจิง) 21,720,626 เหรียญฮ่องกง หนังตลกครื้นแครงสไตล์ หวังจิง ที่กลายเป็นต้นแบบหนังแนวนี้ของเขามากมายในยุค 90s ในเวลาต่อมา ยกเครื่องเรื่องจุ๊ มีดาวตลกชื่อดังอย่าง เจิ้งจื่อเหว่ย กับ เฉินไป่เสียง มาแสดงนำกับพระเอกแห่งยุค โจวเหวินฟะ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเล่นได้ทุกบทจริงๆ


อันดับ 27 “โหด เลว ดี 2” A Better Tomorrow II (1987, จอห์น วู) 22,700,000 เหรียญฮ่องกง แม้หนังภาคแรกจะจบแบบสวยงามไปแล้ว แต่ผู้สร้าง โหด เลว ดี ก็เข็นภาคต่อออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหตุผลจริงๆ ก็คือ ฉีเคอะ กับ จอห์น วู อยากจะให้หาก้อนใหญ่ให้กับ ซื่อเทียน นักแสดง/ผู้อำนวยการสร้าง ที่สนิทสนมกับทั้งคู่มาก ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องเงินในตอนนั้น โหด เลว ดี 2 อาจจะเทียบภาคแรกไม่ได้ แต่ก็ยังอยู่ในมาตรฐานของ จอห์น วู และยังเป็นหนังที่ทำเงินสูงเป็นอันดับ 2 ของเขาในตอนนั้นด้วย


อันดับ 26 A Family Affair (1984, ซื่อเทียน) 22,129,187 เหรียญฮ่องกง หนังตลกสไตล์ Cinema City ของพระเอกคนดังแห่งช่วงต้นยุค 80s อย่าง แซม ฮุย ที่ได้ ซื่อเทียน เป็นผู้กำกับ


อันดับ 25 “ฮ้อสะดุดโล้น” Lucky Stars Go Places (1986, หงจินเป่า) - 23,109,809 เหรียญฮ่องกง หนังแนว “Cross-Over” ที่จับเอาหนังชุด “เฮง” ของ Cinema City มาเจอกับชุด “ฮ้อ” ของ Golden Harvest โดยฝ่าย Golden Harvest เป็นผู้สร้าง และ หงจินเป่า เป็นผู้รับผิดชอบในการถผลิต เพราะ หงจินเป่า กับ “สารวัตรโล้น” เม๊าะเจียะ เป็นเพื่อนสนิทเคยทำหนังมาด้วยกันตั้งแต่ยุค 70s โปรเจ็คนี้จึงเกิดขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากรุ่นใหญ่แล้วก็ยังมี หลิวเต๋อหัว กับ อลัน ทัม มาเรียกลูกค้าวัยรุ่นด้วย


อันดับ 24 “สามัคคีเฮง” Aces Go Places II (1983, เจิ้งจื่อเหว่ย) 23,273,140 เหรียญฮ่องกง ผลงานชุดสุดฮิตของ Cinema City ที่ แซม ฮุย กับ เม๊าะเจี๊ยะ รับบทคู่หูคู่ฮาที่ต้องไขคดีต่างๆ ร่วมกัน โดย สามัคคีเฮง เป็นหนังเรื่องที่ 2 ในซีรีส์ Aces Go Places ซึ่งฉบับพากย์ไทยตั้งชื่อโดยไม่ได้ระบุตัวเลขภาคกำกับเอาไว้ และเมื่อออกเป็นแผ่น DVD ก็ยังเปลี่ยนชื่อไปอีก จึงสร้างความงงงวยให้กับผู้ชมเป็นอย่างยิ่งว่าหนังชุด “เฮง” นี่ภาคไหนเป็นภาคไหนกันแน่


อันดับ 23 “เจาะเหลี่ยมกระโหลก” Casino Raiders (1989, หวังจิง/หยวนขุย) - 23,292,339 เหรียญฮ่องกง ผลงานที่ หลิวเต๋อหัว ขึ้นแท่นเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งวงการหนังเต็มตัว ในหนังที่เขารับบทนำคู่กับ อลัน ทัม เจาะเหลี่ยมกระโหลก ยังเป็นงานที่ทำให้ “คู่ขวัญ” จาก มังกรหยก 2 อย่าง หลิวเต๋อหัว และ เฉินอวี้เหลียน ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง


อันดับ 22 “แนวร่วมต็องส์ 2” It's a Mad, Mad, Mad World II (1988, เกาจื่อเซิน) - 25,814,268 เหรียญฮ่องกง งานแนวตลกโปกฮาว่าด้วยเรื่องวุ่นวายในครอบครัวใหญ่แบบชาวฮ่องกง เป็นหนังที่พิสูจน์ให้เห็นว่า หากหนังออกมาได้ “ฮา” จริงๆ คนฮ่องกงก็พร้อมตีตั๋วเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องมี เฉินหลง หรือ โจวเหวินฟะ มาแสดงนำแต่อย่างใด โดย แนวร่วมต็องส์ 2 ยังคงมี “เจ๊อ้วน” เสิ่นเตี้ยนเสีย มารับบทนำคู่กับ ลุงตงเปียว นักพากย์ม้าแข่งคนดังเช่นเดิม


อันดับ 21 “ดอกไม้กับนายกระจอก” The Autumn's Tale (1987, มาเบิล จาง ) 25,546,552 เหรียญฮ่องกง หนังรักว่าที่ว่าด้วยความสัมพันธ์อันหนาวซึ้งของหนุ่มสาวชาวฮ่องกง ที่ต่างใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไกล้บ้านในแมนฮัตตัน เป็นหนังรักแห่งยุค และคว้ารางวัลมากมาย โจวเหวินฟะ กับ จงฉู่หง มีเคมีที่เข้ากันมาก เรื่องราวก็กระทบใจคนฮ่องกงอย่างเป็นพิเศษ จนทำให้หนังทำเงินได้มากเป็นประวัติการ โดยเฉพาะสำหรับหนังรักแบบล้วนๆ ที่ไม่ได้เน้นมุกตลกแบบหนังรักโรแมนติกเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น


อันดับ 20 “เฮงลูกเดียว” Aces Go Places (1982, เจิ้งจื่อเหว่ย) 26,043,773 เหรียญฮ่องกง หนังเรื่องแรกในชุด Aces Go Places ที่พาฮ่องกงเปลี่ยนผ่านจากยุคของหนังกำลังภายใน และกังฟู เข้าสู่ยุคหนังแอ็กชั่นตลกอย่างเต็มตัว เจิ้งจื่อเหว่ย ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในฐานะผู้กำกับทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขาอายุแค่ 29 ปีเท่านั้น ส่วนดารานำคือศิลปินดังแห่งยุคนั้น แซม ฮุย, ดาวตลกหัวล้าน เม๊าะเจียะ และสาวเก่ง จางอ้ายเจีย ที่ต่อมากลายเป็นผู้กำกับคนสำคัญของวงการ


อันดับ 19 “วิ่งสู้ฟัด” Police Story (1985, เฉินหลง) 26,626,760 เหรียญฮ่องกง เฉินหลง อาจจะมีผลงานทำเงินมากมาย แต่จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงของเขาเกิดขึ้นในงานเมื่อปี 1985 เรื่องนี้เอง วิ่งสู้ฟัด นำเสนอฉากแอ็กชั่นเสี่ยงตายแบบหนังบู๊ยุคใหม่ ด้วยทักษะทางคิวบู๊ที่โดดเด่นอยู่แล้วของ เฉินหลง ทำให้ฉากแอ็กชั่นในหนังสร้างความตกตลึงให้กับทุกคน และเป็นต้นแบบหนังแอ็กชั่นทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน


อันดับ 18 “เออเอ็งเก่ง” Aces Go Places IV (1986, หลินหลิมตง) 27,012,748 เหรียญฮ่องกง หนังภาคที่ 4 ในชุด Aces Go Places ที่ใช้ชื่อไทยว่า เออเอ็งเก่ง ยังคงมี แซม ฮุย กับ เม๊าะเจียะ มาสร้างความครื้นเครงเหมือนเดิม นอกจากนั้นก็ยังได้ดาราสาวคนดัง จางอ้ายเจีย และนักร้องสาวเสียงดี เยี่ยเชี่ยนเหวิน มาร่วมสร้างสีสัน


อันดับ 17 “แนวร่วมต็องส์” It's a Mad, Mad, Mad World (1987, เกาจื่อเซิน) 27,141,624 เหรียญฮ่องกง หนังภาคแรกในชุด แนวร่วมต็องส์ ที่มีสร้างออกมาทั้งหมด 3 ภาค โดยผู้สร้างน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากงานชื่อเดียวกันคือ It's a Mad, Mad, Mad World (1963) ของ สแตนลี เครมเมอร์ ที่เล่าเรื่องตลกวุ่นวายซึ่งเกิดจากความละโมภ แต่ฉบับฮ่องกงได้เปลี่ยนให้เหตุการณ์ต่างๆ มาเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวแทน


อันดับ 16 “โหดทะลุแดด” Tiger on the Beat (1988, หลิวเจียเหลียง) 27,865,158เหรียญฮ่องกง
หลิวเจียเหลียง ใช้ลีลาคิวบู๊แบบกังฟูมาดัดแปลงใส่ในหนังแอ็กชั่นอาชญากรรมความมันจึงบังเกิด หนังได้ โจวเหวินฟะ มาเล่นเป็นคู่หูกับดารากังฟู หลี่หยวนป้า แถมยังมี หลิวเจียฮุย หรือ “หลวงจีนซันเต๋อ” แห่งชอว์บราเดอร์มารับบทผู้ร้าย โหดทะลุแดด จึงกลายเป็นหนังแนวตำรวจจับผู้ร้ายที่มันที่สุดเรื่องหนึ่งไปเลย


อันดับ 15 “หินกินเหล็ก” The Millionaires' Express (1986, หงจินเป่า) 28,122,275 เหรียญฮ่องกง หนังแอ็กชั่นตลกรวมดาราของ หงจินเป่า ที่นอกจากตัวเขาแล้วก็ยังมี หยวนเปียว, เคนนี บี, กวนจื่อหลิน มาแสดงด้วย ในหนังย้อนยุคที่มีบรรยากาศแบบหนังคาวบอย และยังมีดาวบู๊ต่างชาติอย่าง ซินเธียร์ ร็อธร็อค, ยูคาริ โอชิมะ, ยาสุอากิ คุราตะ, ริชาร์ด นอร์ตัน แถมด้วยตำนานวงการหนังจีน หวังหยู่ มาร่วมปรากฏตัวในบท หวงเฟยหง


อันดับ 14 “ขอน่า อย่าซ่าส์” Twinkle Twinkle Lucky Stars (1985, หงจินเป่า) 28,911,851 เหรียญฮ่องกง หนังแอ็กชั่นตลกตรุษจีนใสชุด “เพชฌฆาตสัญชาติฮ้อ” ที่มี่ชื่อทั้ง เฉินหลง, หยวนเปียว และหลิวเต๋อหัว มาร่วมแสดง แต่ทั้งหมดปรากฏตัวเพียงไม่กี่ฉาก พระเอกตัวจริงคือ หงจินเป่า กับชาวแก๊งที่เน้นปล่อยมุกไม่ว่าจะเป็นตลกเจ็บตัว จนไปถึงมุกออกแนวทะลึ่ง ก่อนที่จะปิดฉากด้วยคิวบู๊ระดับคุณภาพการันตรีโดย หงจินเป่า


อันดับ 13 “โคตรเก่งมหาเฮง” Aces Go Places - Our Man from Bond Street (1984, ฉีเคอะ) 29,286,077 เหรียญฮ่องกง ชื่อ “โคตรเก่งมหาเฮง” แต่จริงๆ นี่คือหนังภาค 3 ในชุดที่คราวนี้ได้ ฉีเคอะ มากำกับ จนมีการขนเอาเทคนิคพิเศษ และอุปกรณ์แปลกๆ มาใส่ในหนังมากมาย เรียกว่า “เก่งกับเฮง” กลายเป็น “เจมส์ บอนด์” แห่งฮ่องกงก็เพราะหนังภาคนี้เอง


อันดับ 12 “เก่งกั๊กเฮง” Chicken and Duck Talk (1988, เกาจื่อเซิน) 29,378,769 เหรียญฮ่องกง 3 พี่น้องตระกูลฮุยที่สร้างชื่อในยุค 70s กลับมาเจอกันอีกครั้งใน เก่งกั๊กเฮง ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังชุด “เฮง” เลย แต่เป็นงานแนวตลกที่ว่าด้วยชีวิตของคนฮ่องกง เมื่อร้านขายเป็ดย่างข้างถนนต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดย ไมเคิล ฮุย กับ “ไอ้อ่ำ” หรือ ริกกี้ ฮุย รับบทนำในเรื่อง ส่วน แซม ฮุย มาปรากฏตัวในบทรับเชิญ


อันดับ 11 “7 เพชฌฆาตสัญชาติฮ้อ” My Lucky Stars (1985, หงจินเป่า) 30,748,643 เหรียญฮ่องกง หนังที่เน้นสร้างความบันเทิงสำหรับทุกเพศทุกวัย มีมุกตลก, สาวสวย, คิวบู๊ของ หงจินเป่า, ขนดารามาครึ่งวงการ เป็นภาพยนตร์สำหรับทั้งครอบครัว ในช่วงตรุษจีนฮ่องกงปี 1985 ซึ่งหนังก็ฮิตทำเงินมากมาย จนมีการสร้างภาคต่อออกมาอีกหลายภาค โดยไม่ต้องมีเนื้อเรื่องต่อเนื่องอะไรกันเลย


อันดับ 10 “อาหลาง” All About Ah Long 30,913,083 (1989, ตู้ฉีฟง) 30,913,083 เหรียญฮ่องกง หนังดราม่าเข้มข้นของ โจวเหวินฟะ ที่มีเนื้อหาบีบน้ำตาพูดถึงความสัมพันธ์ของพ่อที่ไม่ได้เรื่องกับลูกชาย โดย อาหลาง ทำรายได้สูงถึง 30 ล้านเหรียญฮ่องกง ส่งให้ โจวเหวินฟะ คว้ารางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกง จางอ้ายเจีย ก็พิสูจน์ว่าเธอเก่งทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง เพราะนอกจากจะรับบทนำแล้ว จางอ้ายเจีย ก็ยังเขียนบทให้กับหนังเรื่องนี้ด้วย


อันดับ 9 “ฮวดไช้เฮียชอบ” Mr.Coconut (1989, เกาจื่อเซิน) 31,246,945 เหรียญฮ่องกง หนังตลกที่ขายคนฮ่องกงท้องถิ่นเป็นหลัก ถ้ายุคปัจจุบัน โจวซิงฉือ คือราชาหนังตลก เมื่อยุค 80 ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของ ไมเคิล ฮุย คนเดียวเท่านั้น โดยหนังที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Mr. Coconut เรื่องนี้พูดถึงความแตกต่างจากคนฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าคงจะต้องเป็นคนฮ่องกงจึงจะเข้าใจมุขตลกต่างๆ ได้ดีที่สุด


อันดับ 8 “เอไกหว่า 2” Project A II (เฉินหลง, 1987) 31,459,916 เหรียญฮ่องกง ยุค 80s เฉินหลง ขึ้นมาเป็นดาราแอ็กชั่นอันดับ 1 ของฮ่องกงอย่างเต็มตัว หนังทุกเรื่องของเขาทำเงินถล่มทลาย รวมถึง เอไกหว่า 2 หนังตลกย้อนยุคที่เฉินหลงเล่นเป็นตำรวจน้ำเรื่องนี้ด้วย ที่ทำเงินไป 31 ล้านเหรียญฮ่องกง โดยไม่จำเป็นต้องมี หยวนเปียว และ หงจินเป่า เหมือนภาคแรกแต่อย่างใด


อันดับ 7 “มังกรหนวดทอง” Dragon Forever (1988, หงจินเป่า) 33,578,920 เหรียญฮ่องกง หนังที่ 3 พี่น้อง เฉินหลง หงจินเป่า และ หยวนเปียว แสดงร่วมกันอย่างเต็มตัว เป็นหนังทำเงินอันดับ 7 ของยุค 80 ด้วยรายได้ 33 ล้านเหรียญฯ หนังมี หงจินเป่า เป็นผุ้กำกับ เนื้อหาอาจจะไม่มีอะไรโดดเด่น แต่คิวบู๊ที่ 3 พี่น้องแสดงร่วมกันอย่างเข้าขานั้นถือว่าโดดเด่นจริงๆ น่าเสียดายที่หลังจากนี้ ทั้ง 3 ก็ไม่เคยร่วมงานกันครบทีมแบบนี้อีกเลย


อันดับ 6 “ฉีจี้” Miracles (1989, เฉินหลง) 34,036,029 เหรียญฮ่องกงหนังทำเงินสูงสุดอันดับ 6 ของฮ่องกงก็ยังคงเป็นผลงานของ เฉินหลง กับ ฉีจี้ หนังบู๊ย้อนยุคที่ เฉินหลง ตั้งใจทำมาก เรื่องราวมีเนื้อหาน่าสนใจที่ เฉินหลง หยิบมาจากหนังของ แฟรง คาปรา ที่เขาชื่นชอบโดยส่วนตัว ส่วนคิวบู๊ก็มีลีลาแบบหนังเงียบสไตล์ บัสเตอร์ คีตัน จนชวนให้นึกถึงหนังฮอลลีวูดคลาสสิก โปรดักชั่นก็ใหญ่โต แม้สุดท้ายรายได้จะไม่ได้ถึงขั้นทำลายสถิติต่างๆ ในยุคนั้นอย่างทีหวัง แต่ก็ทำไปได้ถึง 34 ล้านเหรียญฯ


อันดับ 5 “วิ่งสู้ฟัด 2” Police Story 2 (1988, เฉินหลง) 34,151,609 เหรียญฮ่องกง “วิ่งสู้ฟัด ภาค 2” ภาค 2 ของหนังชุดแอ็กชั่นที่ดังที่สุดของ เฉินหลง เจ้าของรายได้ 34.1 ล้านหรียญฮ่องกง แม้จะไม่ดังเท่าหนังภาคแรก และภาค 3 แต่ วิ่งสู้ฟัด 2 ก็มีฉากเด็ดๆ ไม่แพ้กัน คิวบู๊เสี่ยงตายของเฉินหลงไม่เคยล้าสมัยเลย ไม่ว่าจะดูในยุคนี้ หรือเมื่อตอนที่หนังออกฉากในปี 1988 ก็ตาม


อันดับ 4 “โหด เลว ดี” A Better Tomorrow (1986, จอห์น วู) 34,651,324 เหรียญฮ่องกง และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงหนังทำเงินในฮ่องกงยุค 80 คงขาด “โหดเลวดี” ไปไม่ได้เลย ผลงานของ จอห์น วู เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเปลี่ยนแปลงการบันเทิงฮ่องกงไปตลอดกาล และทำเงินเป็นสถิติใหม่ในปี 1986 ที่เข้าฉายด้วยรายได้ 34 ล้านเหรียญฮ่องกง เป็นหนังทำเงินมากที่สุดอันดับ 4แห่งทศวรรษนั้น โหด เลว ดี แทบจะเปลี่ยนชีวิตของผู้เกี่ยวข้องทุกคน จอห์น วู กับ ฉีเคอะ กลายเป็นคนทำหนังแถวหน้าทันที ส่วน เลสลี จาง กับ โจวเหวินฟะ ก็ขึ้นแท่นพระเอกยอดนิยม เช่นเดียวกับอดีตพระเอกชอว์บราเดอร์ ที่กลับมาแจ้งเกิดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง


อันดับ 3 “ใหญ่สั่งมาเกิด” Armour of God (1987, เฉินหลง) 35,469,408 เหรียญฮ่องกง หนังที่ว่ากันว่าทำให้คำว่า “ใหญ่” อยู่คู่กับ เฉินหลงมาจนถึงปัจจุบัน ใหญ่สั่งมาเกิด หรือ Armour of God เป็นหนังแอ็กชั่นผสมผจญภัย ที่เดินทางไปถ่ายทำในต่างประเทศ จนกลายเป็นต้นแบบหนังแนวนี้ของ เฉินหลง ด้วย หนังทำเงินสูงถึง 35 ล้านเหรียญฮ่องกง ถือว่ามากที่สุดของ เฉินหลง ในยุค 80s เลยก็ว่าได้ ใหญ่สั่งมาเกิด ยังกลายเป็น “ต้นแบบ” ของ “หนังบู๊สไตล์เฉินหลง” ที่สร้างออกมาต่อเนื่องตั้งแต่กลางยุค 90s เป็นหนังแอ็กชั่นดูง่ายๆ, มีมุกตลก, มีสาวสวยชาวต่างชาติ และเดินทางไปถ่ายทำในหลายๆ ประเทศ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นกับ ใหญ่สั่งมาเกิด นี่เอง


อันดับ 2 “คนตัดคน” God of Gamblers (1989, หวังจิง) 37,058,686 เหรียญฮ่องกง งานเด่นของ โจวเหวินฟะ ที่เป็นต้นกำเนิดของหนังชุด “โคตรเซียน” ซึ่งมีภาคต่อ, ภาคย่อย, ภาคแยก ตามออกมามากมาย “คนตัดคน” หนังแนวเซียนพนันมาพร้อมความบันเทิงครบรส มีทั้งตลก แอ็กชั่น และฉากดวลไพ่สุดมันส์ นอกจากนั้นยังเป็นการประกบกันของ โจวเหวินฟะ กับ เหลิวเต๋อหัว ดาราดังแห่งยุค จนทำให้หนังโกยรายได้มากถึง 37 ล้านเหรียญฮ่องกง กันเลยทีเดียว


อันดับ 1 “ตุ้งติ้งตี๋ต๋า” The Eighth Happiness (1988, ตู้ฉีฟง) 37,090,776 เหรียญฮ่องกงคนส่วนใหญ่คงนึกไม่ถึงว่าหนังที่ชื่อว่า “ตุ้งติ้งตี๋ต๋า” ผลงานแนวตลกของ โจวเหวินฟะ จะทำเงินมหาศาลเหนือหนังทุกเรื่องขนาดนี้ แต่หนังตลกตรุษจีนในปี 1988 เรื่องนี้ทำรายได้เหนือหนังทุกเรื่องในยุค 80s จริงๆ หนังทำรายได้ไป 37 ล้านเหรียญฮ่องกง เอาชนะ คนตัดคน แค่ไม่กี่หมื่นเหรียญฯ ด้วยจุดขายง่ายตรงๆ อย่างการรวมดาราดังมากมายทั้ง โจวเหวินฟะ, จงฉู่หง และ เจิ้งอี้หลิง , มีเพลงสนุกๆ ของ จางเซียะโหย่ว กับมุขตลกท้องถิ่น และแน่นอนว่าการฉายในช่วงปีใหม่จีน ที่คนไปดูหนังกันทั้งครอบครัวก็ทำให้ผลงานเรื่องนี้ทำรายได้อย่างมหาศาล จนครองตำแหน่งหนังทำเงินอันดับ 1 แห่งทศวรรษไปในที่สุด

โจวเหวินฟะ ยังแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมแบบที่ “ฮอลลีวูด” ไม่เคยรับรู้ และมักจะมอบบทประเภท “ปั้นหน้าเครียด” ให้กับเขาเสมอ แต่จริงๆ แล้วศิษย์เก่า TVB คนนี้ทำได้ดีกับทุกบทบาท เล่นหนังตลกได้อย่างเป็นธรรมชาติ, บทดราม่าแทบจะเป็นของถนัด, บทบู๊ก็ดังเป็นพลุแตก และยังเล่นหนังรักโรแมนติกได้ซาบซึ้งที่สุดด้วย

ตุ้งติ้งตี๋ต๋า ที่เป็นผลงานในช่วงต้นๆ ของยอดผู้กำกับ ตู้ฉีฟง อาจจะไม่ได้โดดเด่นเรื่องคุณภาพทางภาพยนตร์ แต่ก็สร้างความบันเทิงให้กับคนในช่วงเวลานั้นมากมาย แต่คนที่ได้ประโยชน์จากหนังเรื่องนี้ตัวอย่างแท้จริงก็คือ หวงไป่หมิง นักแสดง/ผู้อำนวยการสร้างชื่อดัง ที่อาศัยสานต่อหนังประเภท “รวมดารา-วันตรุษจีน” จนออกมาเป็นหนังชุด “กระทิงสู้ปุ้เหลียวฉิง” ที่อยู่คงวงการหนังฮ่องกงมาจนถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น