ต้องยอมรับว่า แบรนด์ของ “จอห์นนี่ เด็ปป์” กับการรับบทกัปตันแจ๊ค สแปร์โรว์ ในหนังแฟรนไชส์ ชุด ไพเรทส์ อ๊อฟ เดอะ แคริบเบี้ยน นั้นมีความแข็งแกร่งอย่างยากจะหาตัวจับได้ หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ ถ้าให้ยกตัวอย่างบทบาทที่ทำให้นึกถึงจอห์นนี่ เด็ปป์ “กัปปิตันแจ็ค สแปร์โรว์” ย่อมจะเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ ที่โผล่เข้ามาในความคิด
ความประหลาด ความเพี้ยน และดูตลก คือเครื่องหมายการค้าประจำตัวของกัปตันแจ็ค สแปร์โรว์ ที่ครองใจคนดูผู้ชมอย่างเรา ชนิดที่ว่า ต่อให้เรื่องราวมันเป็นยังไง แต่ขอได้เห็น “กัปปิตันแจ็ค” ออกมาเดินแอ่นระแน้ เซซ้ายเซขวา ทำตาหลุกหลิก จีบนิ้วจีบปากจีบคอ (พูดอะไรที่ดูเลอะๆ เทอะๆ) เท่านี้ก็นับว่าเพียงพอต่อการสร้างความสนุกสนานในการดูหนังได้แล้ว เรียกว่า ขอแค่เห็นกัปตันแจ็คออกฉาก ก็ดีต่อใจนักแล้ว
และสำหรับหนังโจรสลัดภาค 5 ที่ใช้ชื่อว่า “Pirates of the Caribbean : Salazar's Revenge (ที่อเมริกา มีชื่อรองว่า Dead Man Tell No Tells) เราจะได้เห็นการกรีดกรายของกัปตันแจ็คและบทบาทของเขาชนิดที่กล่าวได้ว่า สมกับความคิดถึง บทหรือเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนัง พาดพิงกัปปิตันแจ็คอย่างแยกไม่ออก กับอดีตที่เพิ่งได้รับการเปิดเผย โดยแก่นเรื่องนั้น จะพาเราย้อนเวลากลับไปยังสมัยที่กัปตันแจ็คยังเป็นหนุ่มละอ่อน และเพิ่งจะได้รับการยอมรับจากพวกพ้องโจรสลัดให้ขึ้นเป็นผู้กุมหางเสือแห่งเรือแบล็กเพิร์ล
อย่างไรก็ตาม ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำดังกล่าวนั้น กัปตันแจ็คได้ก่อร่างสร้างวีรกรรมบางอย่างไว้ ซึ่งเป็นการฝังแค้นลงในใจใครบางคน นั่นก็คือ “ซาลาซาร์” กัปตันแห่งเรือผีที่จะกลับมาทวงคืนความแค้น เอาคืนกัปตันแจ็คให้สาสม
โดยส่วนตัวของผม เห็นว่า หนังโจรสลัดแห่งทะเลคาริบเบี้ยนภาคนี้ มีการผูกเรื่องที่ดี และโยงตัวละครแต่ละฝ่ายแต่ละฝั่งได้อย่างสมเหตุสมผล ด้านหนึ่งคือกัปตันเรือผีที่ต้องการล้างแค้น และหวังยืมมือของ “เฮ็คเตอร์ บาร์บอสซ่า” มาเป็นเครื่องทุ่นแรงในการตามล่าหาตัวกัปตันแจ็ค
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หนังก็ได้เปิดตัวละครใหม่อีกสองตัว คือ “เฮ็นรี่ เทอร์เนอร์” เด็กหนุ่มที่ได้รับการเปิดเผยว่าเป็นลูกชายของวิล เทอร์เนอร์ ซึ่งก็กลายเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ของซาลาซาร์ที่จะนำพาให้กัปตันแห่งเรือผีได้พบกับแจ็ค สแปร์โรว์ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ “แครีน่า สมิธ” สาวน้อยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด โดยทั้งหมดที่กล่าวมา ได้มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในภารกิจค้นหาตรีศูลของโพไซดอนซึ่งเป็นอาวุธในตำนานที่มีอำนาจมหัศจรรย์ในการควบคุมผืนน้ำและมหาสมุทร รวมไปถึงใช้หยุดยั้งวายร้าย
... เชื่อว่า ความคาดหวังแรกๆ ของคนที่จะดูไพเรทส์อ๊อฟเดอะแคริบเบี้ยน ย่อมเป็นเรื่องความสนุกสนานบันเทิง ผมเห็นว่า ผลงานชิ้นนี้ได้ตอบโจทย์ตรงจุดนั้นอย่างสมราคา หนังมีความน่าติดตาม ขณะเดียวกันก็แทรกความตลกขบขันและสถานการณ์ที่ให้ลุ้นเป็นระยะๆ ก่อนจะไปถึงจุดพีคสูงสุดในตอนท้าย
งานชิ้นนี้ มีการวางโครงที่ดีว่าจะนำคนดูผู้ชมไปสู่อะไร ความตลกระหว่างเรื่อง, การต่อสู้ผจญภัยที่ชี้วัดตัดสินว่าใครจะอยู่หรือจะไปหายจากมหาสมุทรแห่งนี้ และสิ่งที่ผมรู้สึกว่าหนังทำออกมาได้ดีถึงดีมาก ก็คือในภาคส่วนของความดราม่าที่ปูทางเรื่อง “พ่อ” ไว้อย่างรอบด้าน ตัวละครหลักแทบทุกตัว มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ “พ่อ” มากน้อยแตกต่างกันไปตามน้ำหนักที่อยากเน้น และความเป็นพ่อเป็นลูก ก็ถูกยกระดับขึ้นไปให้กลายเป็นความดราม่าระดับสูงสุดของหนังที่ควรจะถือได้ว่าเป็นภาพจำที่สำคัญของผลงานภาคนี้
อีกส่วนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นความดีงามของหนังและหนุนส่งพลังทางความรู้สึกให้กับตัวเนื้อหาเรื่องราวอย่างมากก็คือ มิวสิกสกอร์ หรือดนตรีประกอบ ที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า อลังการมาก ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกสกอร์ในฉากของการต่อสู้ที่เร่งเร้าความลุ้นระทึก หรือฉากที่ต้องดึงความรู้สึกลึกซึ้ง ดนตรีประกอบก็ทำหน้าที่ได้ถึง ผมยังสงสัยว่า ถ้าหากดนตรีประกอบทำหน้าที่ไม่ได้ขนาดนี้ ดีกรีความบันเทิงของหนังจะลดลงไปมากเพียงใด
ไพเรทส์ อ๊อฟ เดอะ แคริบเบี้ยน ภาค 5 ในสายตาของผม ยังคงเป็นหนังที่มอบความบันเทิงได้ตามรูปแบบหนังแฟนตาซี และที่สำคัญ กัปปิตันแจ็ค สแปร์โรว์ ยังคงนำความฮามาให้เราได้เช่นเดิม คาแร็กเตอร์นี้ ดูกี่ครั้งก็ฮานะครับ สำหรับผม...