xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ไม่ขอ แต่ขอแล้วไม่ให้!! “เจ๊ฉอด” เปิดใจทำไม “ปาน” ถึงไม่ร้องเพลงของตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปาน ธนพร” ไม่แคร์ ไม่ได้ร้องเพลงตัวเอง บอกร้องเองยังเบื่อ หันร้องเพลงธรรมะดีกว่า ด้าน “เจ๊ฉอด” เผยไม่ใช่ไม่ขออาร์เอส แต่ขอแล้วอีกฝ่ายก็ไม่ให้ คาดเป็นปัญหาส่วนตัวระหว่างต้นสังกัดกับศิลปินเอง นักร้องดังเผยมุมมองโมเดลธุรกิจเพลง “อยากเป็นนักร้องต้องจ่าย” เหมาะกับเมืองนอก ส่วนเมืองไทยจะเหมาะสมหรือเปล่าก็ไม่รู้

หลังจากเกิดดรามาซีน “ปานกรวดน้ำในตำนาน” กับเพลง “คำยินดี” ที่ “ปาน ธนพร แวกประยูร” เอามาร้องใหม่ในคอนเสิร์ต Stage fighter Round 2 Concert จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปทั่วบ้านทั่วเมืองสะเทือนไปถึงย่านลาดพร้าว ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่าปานขึ้นเวทีทั้งทีทำไมถึงไม่ร้องเพลงของตัวเอง ล่าสุด MGR Online ได้สอบถามผู้จัดคอนเสิร์ตอย่าง “ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งก็ได้คำตอบว่าด้วยรูปแบบคอนเสิร์ตแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงของปาน และในส่วนเรื่องการขอลิขสิทธิ์เพลงมาใช้นั้น ก็เคยขอตามระเบียบแล้ว แต่ทางอดีตต้นสังกัดของปานไม่อนุญาต

“จริงๆ แล้วโดยมารยาท ถ้าเราจะเอาเพลงเขามาใช้ เราก็ต้องจ่ายตังค์ ในแกรมมี่เองยังต้องจ่ายตังค์ และในส่วนของปาน เราเคยขอลิขสิทธิ์ไปแล้วไม่ได้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้เหตุผลอะไรมา ทางเราก็บอกว่าไม่เป็นไร และพอดีคอนเซ็ปต์โชว์ของสเตจไฟว์เตอร์นั้นมันเป็นเอาเพลงคนอื่นมาร้อง มาแบทเทิลกัน แทบจะไม่ได้ร้องเพลงตัวเองเลย และเวลาเอาเพลงคนอื่นมา เราก็ต้องตั้งโจทย์กันว่าจะร้องเพลงแบบไหน ก็เลยไม่ลำบากในการที่จะเอาเพลงของปานมาร้อง”

“อย่างก่อนหน้านี้ที่ปานเคยขึ้นคอนเสิร์ตเรา เราก็เคยขอลิขสิทธิ์ไปแล้ว และก็ไม่ได้รับอนุญาต เพราะปกติการขอลิขสิทธิ์ไป ทางฝ่ายลิขสิทธิ์แกรมมี่จะเป็นคนดำเนินการให้เราว่าเราจะร้องเพลงอะไร เขาก็จะดำเนินการขอลิขสิทธิ์ให้ และเขาก็จะแจ้งมาทางเราว่าเราจะต้องจ่ายสตางค์ไปเท่าไหร่ หรือถ้าคนไหนถือลิขสิทธิ์เดี่ยวๆ เป็นของตัวเอง ก็ต้องคุยเป็นรายบุคคลไป แต่ปกติเราก็ต้องไปตามจ่ายให้ครบ”

“ส่วนที่มองว่ายังมีกำแพงกันระหว่างสองค่าย อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะเมื่อศิลปินอยู่ที่ค่าย เพลงมันก็เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายอยู่แล้ว และถ้าศิลปินออกไปแล้ว และถ้าจะเอาเพลงที่ตัวเองเคยร้อง แล้วเอาไปร้องก็ต้องจ่ายสตางค์ แต่ถ้าไม่ให้นั้น มันก็จะเป็นกรณีส่วนตัวของค่ายกับศิลปินคนนั้นๆ เราไม่อาจเอื้อมไปเกี่ยวข้องได้ มันไม่เกี่ยวกับเรา คือตอนเราดีลปานมาขึ้นคอนเสิร์ตสเตจไฟว์เตอร์ และโจทย์เป็นการเอาเพลงอื่นมาร้อง แต่ถ้าทำคอนเสิร์ตปานนะสิ ถึงจะมีปัญหาเพราะมันไม่มีเพลง”

“แต่ล่าสุดทางโน้นขอลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่ ถึงได้บอกว่าไม่แน่ไงว่าเรื่องขอลิขสิทธิ์เป็นเรื่องระหว่างค่ายอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องระหว่างค่ายกับตัวศิลปินด้วยหรือเปล่า ซึ่งเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเพราะอะไร และด้วยมารยาทเราก็ไม่สามารถไปถามได้ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะอย่างนักร้องแกรมมี่ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาแล้วเขาเอาเพลงไปร้อง เขาก็จ่ายตังค์ตามกฎหมาย เพราะสตางค์มันก็กลับไปที่คนเขียนเพลง กลับไปที่เจ้าของลิขสิทธิ์ มันเป็นระบบ แต่ถ้าเกิดไม่ให้นักร้องคนนี้เอาเพลงไปร้อง มันก็เป็นเรื่องระหว่างนักร้องกับค่าย”

ด้านนักร้องสาว “ปาน ธนพร” ก็ยังเสริมกับเรื่องนี้ว่า ตนไม่ซีเรียสว่าจะได้ร้องเพลงตัวเองหรือไม่ เพราะร้องมาหลายพันครั้งก็เบื่อ เพราะตอนนี้ตนก็ร้องเพลงธรรมะแทน และถ้ามีการเก็บลิขสิทธิ์จริงทางร้านจะเป็นคนจ่ายแทน ส่วนปัญหาลิขสิทธิ์ระหว่างศิลปินกับต้นสังกัดนั้น ตนมองว่าอาจจะเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด

“ในส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เพลง เอาจริงๆ นะ ยังไม่เคยเอาเพลงตัวเองออกมาร้องในคอนเสิร์ตอะไรแบบนี้เลย แต่เวลาไปร้องในร้านเล็กก็เอาไปร้องนะ แต่ก็ไม่เห็นมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์นะ เรายังไม่เคยเจอนะ (แต่ก็มีบางศิลปินที่โดนให้ทางค่ายเดิมไม่ให้เพลงไปร้อง?) อ๋อๆ อันไหนที่เคยได้ยินมา มันเป็นอุบัติเหตุการเก็บค่าลิขสิทธิ์มากกว่า คือ คนที่ไปเก็บค่าลิขสิทธิ์ มีความรู้ไม่มากพอ อันนี้ที่เข้าใจนะเพราะฟังผู้ใหญ่เล่ามา มีความรอบคอบไม่พอจึงทำให้เกิดเรื่องขึ้น เหมือนว่าบริษัทจะไปเล่นงานพี่ฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) เป็นการเข้าใจผิดกันมากกว่า”

“ซึ่งตั้งแต่หมดสัญญามา ก็ยังไม่ได้เอาเพลงไปร้อง เลยไม่รู้ว่าระบบการเก็บค่าลิขสิทธิ์เขาเป็นแบบไหน ไปไหนก็ใช้เพลงธรรมะร้องตลอด (หัวเราะ) เพราะเวลาเราไปร้องทางร้านก็เป็นคนจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เราจะร้องเพลงอะไร น่าจะเป็นอันนี้ถ้าจำไม่ผิดนะ แต่ถ้าเอาเพลงเรามาร้องบนคอนเสิร์ตใหญ่ในแง่ลิขสิทธิ์มันยากอยู่แล้ว เพราะมันเป็นระบบของธุรกิจ แต่บางคนก็รู้สึกแปลกนะเพราะเพลงนั้นมันเป็นเสียงของเรา แต่ก็เคยได้ยินคำว่าลิขสิทธิ์ร่วมเพราะมันเป็นเสียงของเราด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันต้องทำยังไง เป็นเรื่องที่ตอบยากจริงๆ และถ้าถามว่าในหนึ่งเพลงมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีคนแต่งเพลง มีคนร้อง มีนักดนตรี แล้วมันก็จะเป็นเพลงขึ้นมา มันไม่ใช่เพลงบรรเลง เพราะฉะนั้นเพลงนี้เป็นเสียงคนนี้ร้อง เราต้องเปิดสิทธิตรงนั้นให้เขาได้ทำ แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่มันไม่ได้แน่นอน มันเป็นเรื่องของมารยาทคุณต้องซื้อ มันเป็นเรื่องของการซื้อจริงๆ”

เฉยๆ ไม่ได้ร้องเพลงตัวเอง
“ไม่นะ รู้สึกว่ามันเป็นเวทีใหญ่แล้วมันจะเหนื่อย (หัวเราะ) เพลงมันหนักเหมือนว่าเราอยู่กับมันมาได้ เราร้องมาหลายร้อยครั้ง แต่เรื่องของลิขสิทธิ์ที่บางคนมีปัญหามันก็เป็นมานานแล้ว เป็นปัญหาสะสม แล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ถ้าถามในแง่ความเป็นนักร้องเรารู้สึกยังไง อันนี้พูดยากนะ อย่างที่ตอบไปเมื่อกี้ต้องย้อนกลับไปในหนึ่งเพลงมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และคนเล่าเรื่องทำไมเอาเรื่องของตัวเองมาเล่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่เพลงมันโด่งดังขึ้นมาก็เพราะคนเล่าเรื่อง มันก็เป็นเรื่องมิตรจิตมิตรใจกันมากกว่า สุดท้ายมันมีทางออก แต่จะเดินไปทางออกนั้นยังไงมากกว่า เคยมีใครมานั่งคุยกันหรือยังไง เพราะสุดไอ้นั่นไอ้นี่ ผ่านไป 10 ปีก็มาถามคำถามนี้อีก”

เผยมุมมองโมเดลธุรกิจ “ศิลปินต้องจ่ายถ้าจะทำเพลง” เหมาะสำหรับเมืองนอก ถ้าเป็นเมืองไทยไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า
“โมเดลนี้เมืองนอกเขาทำกันนะ เพราะเขาทำอาจจะคุ้ม ตลาดเพลงเขากว้าง ส่วนใหญ่ศิลปินทำเอง เกิดจากตัวศิลปินเขาเก่ง แต่พอโมเดลนี้มาอยู่ในเมืองไทยแล้วมันจะใช้ได้หรือเปล่า ก็กลับไปที่ตัวศิลปินว่าจะทำได้หรือเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น