xs
xsm
sm
md
lg

“วู้ดดี้” เกิดมารวย กระจกแตกช่างมัน ได้ฟันกำไร S2O

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดูเหมือนจะเป็นช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกจริงๆ สำหรับพิธีกรฝีปากกล้าอย่าง “วู้ดดี้ มิลินทจินดา” ที่ตกเป็นข่าว2 คดีซ้อนในระยะเวลาที่ห่างกันเพียงไม่กีวัน

หลังจากเพิ่งเจอแฮกแท็ก #พิธีกรยอดแย่แห่งปี 2017 ไปหมาดๆ จากการทำหน้าที่พิธีกรในงานเปิดตัวศูนย์การค้า SHOW DC เพราะโดนแฟนคลับถล่มเละว่าใช้คำพูดไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติศิลปินเกาหลีที่มาร่วมงาน จนเจ้าตัว พร้อมทั้งพิธีกรคู่อย่าง“กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ” ต้องออกมาโพสต์ข้อความขอโทษแทบไม่ทัน

ถัดมาอีกไม่กี่วัน ก็เจอข้อหาหนัก เนื่องจากมีการร้องเรียนจากผู้คนที่อาศัยที่คอนโดละแวก SHOW DC อันเป็นสถานที่จัดงาน S2O หรือที่ย่อมาจาก Songkran’s Official Electronic Dance Music Festival ซึ่งวู้ดดี้ ในนาม บ. Woody world เป็นหัวเรือใหญ่ ให้นิยามไว้ว่า“สงกรานต์ปาร์ตี้แดนซ์ แนว EDM” ว่าได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากระบบเสียงในงานที่ดังกระหึ่มเกินกว่า 98เดซิเบล ถึงขนาดทำให้กระจกร้าว ร้อนถึงทางวู้ดดี้ ในฐานะผู้จัดงาน ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้ งานนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าดวงไม่ถูกโฉลกอะไรกับ SHOW DC เพราะ 2 คดีที่ว่าบังเอิญมาเกิดที่เดียวกันเสียด้วย

อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่เสียงเบสทำให้กระจกร้าว นั่นก็เพราะว่า ย่านความถี่ที่ต่ำกว่า 35 Hz คลื่นเสียงจะใหญ่ และมีพลังมหาศาล ยิ่งถ้าเปิดดังๆ ก็จะยิ่งมีความยาวของคลื่นที่ไกลออกไปมาก ถ้ายังนึกไม่ออก ก็ลองนึกถึงเสียงพลุที่จุดขึ้นไปบนฟ้าไกลๆ เราก็จะได้ยินเสียงเบสดังมาก่อนเสมอ ซึ่งย่านความถี่Sub bass ที่ต่ำมากๆ นั้น ไม่ค่อยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือถึงจะมี ก็ไม่มากพอที่จะทำให้กระจกร้าว ผลกระทบที่เกิดจากเสียงส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากฝีมือของคนเราทั้งนั้น โดยเฉพาะระบบเสียงของงาน S2O ที่เป็นดนตรีในแนวEDM (Electronic Dance Music) ก็คือการทำให้เสียงดังสนั่น เน้นเสียง Sub bass กระหึ่มๆ ถึงขนาดทำให้กระจกในอาคารใกล้เคียงร้าวได้ จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การจัดงานที่มีการใช้ระบบเสียงที่มีผลกระทบมากมายขนาดนี้ ขัดกับข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 หรือไม่ ? อย่างไร ?*

แต่ถ้าไม่นับกรณีที่สร้างผลกระทบกับผู้อาศัยจนเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ต้องถือว่าการจัดงาน S2O ของวู้ดดี้ที่ดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะบัตรขายหมดเกลี้ยงทุกแบบ และทุกวัน (13-15 เมษายน) โดยเฉพาะบัตร Early Bird ที่หมดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีแรก เพราะทุกคนต่างก็อยากจะเข้าไปอยู่ในบรรยากาศของงานอีเวนต์ระดับบิ๊กโปรเจ็กต์ ซึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งราคาบัตรของ S2O นั้น ถือว่าถูกมาก ถ้าเทียบกับงาน Electronic Festival อื่นๆ (ที่ราคา 2,500 บาท ++) และถ้ายิ่งซื้อเป็นแพคเกจยิ่งคุ้ม

งาน S2O - Songkran’s Official Electronic Dance Music Festival นั้น เริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีเครื่องดื่มน้ำดำอย่างเป๊ปซี่เป็นเมนสปอนเซอร์ ถือว่าเป็นมหกรรมสาดน้ำที่มาพร้อมปาร์ตี้แนว EDM ครั้งแรกในโลก มีการขนกองทัพดีเจ ชื่อดังระดับโลกมาร่วมระเบิดความมันกันอย่างเต็มอิ่ม ซึ่งในปีนั้นจัดกันเป็นมหกรรม 4 วัน 4 คืนกันเลยทีเดียว

สำหรับเหตุผลที่เป๊ปซี่ โดย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรนดิ้ง จำกัด เลือกที่จะสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ ก็เพราะเล็งเห็นว่า เทศกาลสงกรานต์คือเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่สร้างสีสันความสนุก ความซ่าให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ในแบบสุดเหวี่ยงจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็มองว่า ดนตรีแนว EDM ก็ถือว่าเป็นดนตรีที่มาแรงในระดับสากล จึงเป็นที่มาของแนวความคิดที่นำ 2 ส่วนนี้มาผนวกกัน จนเกิดเป็นมหกรรม S2O เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นแบรนด์ผู้นำในด้าน “มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง” ที่เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ของเป๊ปซี่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก์ถือว่าเป็นการเดินเกมการตลาดที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด เพราะว่ากันว่ามหกรรม S2O ถือเป็นการรวมตัวของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่คับคั่งที่สุด และก็ประสบความสำเร็จในระดับที่เป็น Talk of the town มาโดยตลอด นับเนื่องถึงปีนี้ ที่จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งมูลเหตุสำคัญ ที่มีส่วนทำให้มหกรรม S2O โด่งดัง และมีกระแสอย่างมากมายในสังคมออนไลน์ ก็คือแผนการสร้างการรับรู้ โดยการให้เซเลบฯ คนดังช่วยโปรโมต โดยการถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงไอจี , เฟซบุ๊กของแต่ละคน

แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่มาพร้อมกับกระแสความสำเร็จของมหกรรมดนตรี S2O ก็คือในแต่ละปี มักจะเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ทุกครั้ง

โดยในปี 2015 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ก็มีข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ลอบพาเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในงาน จนถูกการ์ดจับได้

พอมาปีที่ 2 ที่ลดจำนวนการจัดงานจาก 4 วัน เหลือเพียง 3 วัน แต่ก็ไม่วายมีเรื่องให้วุ่นวายใจ เพราะดันมีคลิปหลุดของสตรีนิรนามที่เปลือยหน้าอกให้ผู้ชายจับกลางงานสงกรานต์ ที่ RCA. ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ก็พุ่งเป้าไปที่งาน S2O กระทั่งวู้ดดี้ในฐานะหัวเรือใหญ่ต้องทวิตเตอร์ข้อความผ่านล็อกอิน Woody Milintachinda โดยระบุว่า "ขอให้ทุกสื่อออกมาแก้ข่าวด่วน นี่ไม่ใช่ S2O ผมขอให้แก้เดี๋ยวนี้ ขอบคุณครับ"

กระทั่งปีล่าสุด ก็มีเรื่องของผลกระทบจากระบบเสียงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนอีก

เรียกว่าจัดมา 3 ปี ก็มีเรื่องให้ปวดหัวทั้ง 3 ครั้ง แต่ถ้าเทียบกับตัวเลขรายได้ก็ถือว่าคุ้มเหนื่อย เพราะลองคิดค่าเฉลี่ยจากบัตรราคาต่ำสุดใบละ 1,500 บาท คูณกับจำนวนขายคิดตัวเลขกลมๆ 5,000 คน ต่อวัน ก็ปาเข้าไป 7,500,000 บาท คูณด้วย 3 วันอีก เล่นเอากดเครื่องคิดเลขกันไม่ถูกเลยทีเดียว ยังไม่รับรวมรายได้จากการขายสปอนเซอร์อีกตั้งหลายเจ้า โดยเฉพาะเมนสปอนเซอร์รายใหญ่อย่างเป๊ปซี่ นั่งคิดตัวเลขรายได้ หักลบกับค่าใช้จ่าย อันประกอบด้วยค่าโปรดักชั่นสุดอลังการระดับโลก กับเวทีขนาดใหญ่ ระบบแสง สี เสียง เทียบเท่าทัวร์ศิลปินระดับโลก และเอฟเฟกต์ตระการตา รวมถึงค่าตัวของบรรดาดีเจ ดังระดับโลก ก็ยังกำไร บอกได้เลยว่า งานนี้วู้ดดี้ฟันเละ ต่อให้ต้องจ่ายค่าซ่อมกระจกทั้งคอนโดก็ไม่มีปัญหา

ล้อมกรอบ

พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535
พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 5 ว่าด้วยเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรําคาญ หากการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น หากจะจัดคอนเสิร์ต หรือมหรสพใดๆ จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทกิจการการจัดให้มีการแสดงดนตรี ดิสโก้เทคฯ ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535
พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เสียง และเครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
พ.ร.บ.ระบุว่าห้ามอนุญาตและห้ามใช้เสียงโฆษณาในระยะใกล้กว่า 100 เมตร จากบริเวณสถานที่ใดสถานที่หนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่ โรงพยาบาล วัด หรือสถานที่บำเพ็ญศาสนกิจ และ ทางแยกที่มีการสัญจรไปมาคับคั่งอยู่เป็นปกติ

ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 388 22-28 เมษายน 2560





กำลังโหลดความคิดเห็น