xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่ “หนังผีแห่งปี” : สยามสแควร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ตอนที่ได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ รู้สึกสงสัยเหมือนกันหรือเปล่าครับว่า สยามสแควร์นี่นะ จะมีผี? เพราะคนเดินกันพลุกพล่านถึงปานนั้น แสงสีเสียงแทบไม่เคยหลับใหล อย่าว่าแต่ผีเลยครับ “อนาคตผี” อย่างเราๆ ท่านๆ นี่ เชื่อว่า ถ้าไม่มีธุระปะปังจำเป็นอะไร ก็ไม่อยากจะเข้าไปถิ่นฐานย่านนั้นกันเท่าไหร่ เพราะมันทั้งวุ่นวายจอแจ แถมรถติดหนึบมาก ยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนนี่ ยิ่งไปกันใหญ่

อย่างไรก็ตาม สยามสแควร์ กล่าวสำหรับคนแก่ๆ หรือ สว.อย่างผม อาจจะมองว่ามันไม่น่าย่างกรายไปด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาวนักเรียนนักศึกษา “สยามสแควร์” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “สยาม” ยังเป็นเซ็นเตอร์ที่พวกเขาไปเดินไปทำกิจกรรมอะไรต่อมิอะไร เรียนพิเศษ เจอเพื่อน กินข้าว ดูหนัง ช็อปปิ้ง ไปดูหญิงดูชาย ฯลฯ ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มานานหลายสิบปี

เพราะความที่มีอดีตสืบเนื่องยาวนาน จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีเหตุการณ์และเรื่องเล่าหลากหลาย ทั้งเรื่องส่วนรวม เช่น ประวัติความเป็นมาที่กว่าจะเป็น “สยามสแควร์” อย่างที่เห็น หรือเรื่องส่วนตัว เช่น บางคนเคยเจอแฟนที่สยาม บางคนก็อกหักแฟนทิ้งที่นี่แหละ และเพราะเหตุนั้น สยามสแควร์จึงถูกใช้เป็นฉากหลังในการสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงอยู่เรื่อยๆ ...

ที่ดังๆ หน่อย ก็เป็นหนังเรื่อง “สยามสแควร์” หนังรักวัยรุ่น ปี พ.ศ.2517 ที่กำกับโดย “ศุภักษร” (ผู้สร้างงานเขียนชุด “นิยายรักนักศึกษา” ที่ถือว่าเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าของแวดวงการอ่าน) หรือไล่ยุคสมัยใกล้ๆ เข้ามาหน่อยก็คือ “รักแห่งสยาม” ที่ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กำกับไว้เมื่อปี 2550 นอกจากนั้นก็มีมิวสิกวิดีโออีกจำนวนมากที่นิยมไปถ่ายทำที่สยามสแควร์

ในขณะที่ “มุมมอง” ของสยาม ที่ผ่านๆ มา เป็นมุมมองที่มองผ่านสายตาแบบทันสมัย มีความเก๋ไก๋และเทรนด์ๆ “สยามสแควร์” ในมุมมองของหนังเรื่องล่าสุดจากค่ายสหมงคลฟิล์ม กลับพลิกไปอีกด้าน มองหาแง่มุม “ลี้ลับ” ที่ซ้อนทับอยู่กับบรรยากาศอันจอกแจกจอแจด้วยแสงสีเสียงซึ่งชวนให้สงสัยใคร่ถามคำถามเดียวกันกับที่วัยรุ่นคนหนึ่งในเรื่องถาม ว่าท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนี้ “มันมีผีหรือเปล่า?”

จากถนนสายเล็กสายน้อยที่แบ่งแยกแตกซอยเป็นหลายซอยหลายถนน ไปจนถึงห้องหับในตัวตึกอาคารที่เบียดแน่น ของสยามสแควร์ในโลกความเป็นจริง จะมีผีอยู่หรือเปล่า? ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ในหนัง “สยามสแควร์” นั้นมีผี เพราะเขาทำหนังผี ก็ควรต้องมีผี

เล่าให้ฟังอย่างย่นย่อ ... หนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนักเรียนวัยรุ่นสิบคนที่มาเรียนพิเศษในสถาบันการสอนแห่งหนึ่งที่พ่อของเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มเป็นเจ้าของ และห้องเรียนแห่งนี้ เล่ากันว่า เมื่อ 30 ปีก่อน เคยถูกไฟไหม้ และมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับ ประกอบกับเก้าอี้ตัวที่สองแถวหน้าสุดซึ่งมีด้ายแดงผูกไว้และเว้นไว้ไม่ให้ใครนั่ง ยิ่งเร้าความอยากรู้ของวัยรุ่นสามสี่คนในกลุ่มนี้ที่เป็นเด็กเรียนวิทย์และไม่เชื่อเรื่องผี ว่าในห้องนี้มีผีจริงหรือเปล่า พวกเขากะว่าจะถ่ายคลิปผีไปประกวดชิงรางวัล โดยใช้ชื่อรายการ Ghost Your Dad แต่แล้วสิ่งที่พวกเขาได้เจอ ก็เหนือกว่าความคาดหมายไปมาก

อันที่จริง ตัวเรื่องราวมีความหลากหลายกว่านี้มาก และคงแจกแจงได้ไม่หมด เพราะตัวละครมีถึง 10 ตัว แต่ถึงอย่างนั้น ต้องยอมรับครับว่า หนังสามารถเล่าเรื่องของแต่ละตัวได้อย่างมีน้ำหนักความสำคัญเท่าๆ กัน และส่งผลกระทบสะเทือนถึงกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ แม้เราจะไม่ได้เห็นตัวละครตัวนั้นๆ ในช่วงเวลานั้นๆ แต่เราจะรู้ว่า ผลพวงจากตัวละครตัวนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งที่ตัวละครซึ่งกำลังมีบทบาทบนหน้าจอเผชิญอยู่ และเหนืออื่นใดก็คือ “การรู้ความสำคัญ” ว่าตัวละครตัวไหนควรเน้นในมุมไหนอย่างไร และก็ตามเก็บรายละเอียดในแต่ละจุดนั้นๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ มีพลัง ... ฟังมาว่า ทางผู้กำกับ คุณไพรัช คุ้มวัน ได้แรงบันดาลใจมุมมองการเล่าเรื่องนี้มาจากหนังญี่ปุ่นเรื่อง The Kirishima Thing (ปี พ.ศ.2555) ซึ่งเป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของตัวละครหลากหลายแบบนี้คล้ายๆ กัน

ไม่ว่าจะอย่างไร ... เชื่อว่าความคาดหมายอันดับแรกที่คนดูหนังต้องการได้รับ จากข้อมูลที่ได้เห็นจากการโปรโมทก็คือ ความเป็นหนังผี ที่โดยพื้นฐานก็ต้องการความน่ากลัว ความระทึกตื่นเต้น หรือแม้กระทั่งได้ทำให้ตกใจ ตามแบบแผนและสไตล์ซึ่งหนังผีควรจะมี ... สยามสแควร์ มีความทุกความที่ว่ามานั้น แต่สำคัญยิ่งกว่า ผมคิดว่า บรรยากาศ ตลอดจนเรื่องราวเนื้อหาที่ผ่านการการเซ็ตมานั้น ก่อให้เกิดเป็นความลึกลับน่าสะพรึง ทำให้ “สยามสแควร์” ที่เราเคยเห็นๆ กลายเป็น “สถานที่ที่มีอะไรๆ ซึ่งเรายังไม่รู้จักหรือมองไม่เห็นอีกเยอะมาก” สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่แน่ว่าจะไม่มีอยู่ ... กล่าวสรุปโดยรวมในส่วนของความเป็นหนังผี ผมไม่มีอะไรติดใจ ได้หลอน ได้ระทึก ได้รู้สึกตื่นเต้นกดดัน ตามสมควร

ขณะที่ความบันเทิงอีกส่วนซึ่งเติมเข้ามาได้อย่างถูกจังหวะเวลา ก็คือ อารมณ์ขัน หรือความตลก ... เป็นวิถีธรรมชาติแบบวัยรุ่น (ทั้งตัวละครในเรื่องและกลุ่มคนดูผู้อ่อนวัย) ซึ่งก็ต้องมีความเฮฮาเป็นธรรมดา หนังแทรกอารมณ์ความตลกให้เราได้หัวเราะอยู่เรื่อยๆ ในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยกให้นักแสดงรุ่นใหม่ซึ่งเคยได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาจากหนังเรื่อง “ตั้งวง” เขาคือ “เบสท์ - ณัฐสิทธิ์ โกฎิมนัสวนิชย์” ที่เชื่อว่าวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบเขา เขาทำให้หนังที่ดูเครียดๆ ดูผ่อนคลายอารมณ์บ้างในบางเวลา และมุกแต่ละมุกก็ถูกดีไซน์ออกมาจากทีมงานอย่างดี ซึ่งเบสท์ก็แสดงได้ถึงในความเกรียนความห่ามตามประสาวัยรุ่น

กล่าวสรุปโดยภาพรวมทั้งหมด เราสามารถพูดถึงหนังเรื่องนี้ได้ว่า คือหนังที่ผ่านการคิดการวางแผนและออกแบบมาอย่างดีเยี่ยม หากเป็นงานดีไซน์ก็ต้องใช้ทั้งวันเวลาและมันสมองที่กลั่นกรองจนตกผลึก พื้นฐานทางความคิดแน่นปึ้ก และไม่เซส่ายหรือออกอาการเสียรูปมวยให้เห็นตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และนั่นก็หมายถึงบทภาพยนตร์ที่เป็นเสมือนเสาหลักอันมั่นคง ฟังว่า หนังเรื่องนี้ ริเริ่มมาจากกลุ่มครีเอทีฟของสหมงคลฟิล์มซึ่งใช้ชื่อว่า “ฮิดเดนเอเจนดา” โดยมี “เอกราช มอญวัฒ” และ “ธีปนันท์ เพ็ชรศรี” เป็นคนเขียนบท แล้วทางไพรัช คุ้มวัน และชาญชนะ หอมทรัพย์ มาช่วยเสริมเพิ่มแต่งรายละเอียดของบทให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัว ส่วนที่ผมประทับใจที่สุด คือภาคส่วนของเนื้อหาแก่นสารที่ถูกส่งผ่านเรื่องราว บางคนอาจจะคิดว่ามันดีงามสำหรับวัยรุ่น แต่จริงๆ แล้ว ผมเห็นว่ามันเป็นแก่นสารที่เข้าถึงคนเราทุกคน ตั้งแต่เติบโตพอรู้ความ ไปจนถึงแก่ชราพร้อมจะลาลับจากโลก แม้ว่าโดยพื้นผิวเนื้อหา เหมือนว่าหนังจะพูดเรื่องเพื่อน เรื่องความเป็นเพื่อน (Friendship) แบบวัยรุ่นๆ แต่ลึกลงไปกว่าชั้นพื้นผิวแล้วนั้น มันคือเรื่อง “ตัวตนที่เราเป็น” กับ “ตัวตนที่คนอื่นมองเห็นหรือมองเรา และ ‘เล่า’ ว่าเราเป็น”

จำได้คร่าวๆ ผมชอบคำพูดของตัวละครบางตัวที่บอกประมาณว่า สุดท้ายแล้ว เราจะเป็นแบบที่เราเป็น หรือเราจะเป็นแบบที่คนอื่นมองและอยากให้เราเป็น ... กล่าวสำหรับชีวิตช่วงหนึ่งอย่างช่วงวัยรุ่น นี่คือความว้าวุ่นสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ หลายคนออกนอกลู่นอกทางไป หรือ “หายไป” อย่างไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้ ก็เพราะเรื่องทำนองนี้ “คำพูดของคน” นั้นมีอิทธิพลเสมอ สำหรับผู้อ่อนไหว วัยรุ่นหลายคนอาจไม่อ่อนไหวไปกับคำพูดนั้น แต่เชื่อว่า ก็ยังมีอีกหลายคนเช่นกันที่หวั่นไหว หรือแม้แต่ผู้สูงวัยเองก็ตามที ...

“คำพูดของคนอื่น” นั้นเหมือน “เรื่องเล่า” และ “เรื่องเล่า” เอาเข้าจริงก็เหมือนกับ “ผี” ที่คอยตามหลอกหลอนเราไม่เลิกรา ถ้าหากเรายอมรับใน “เรื่องเล่า” นั้นๆ ... และถ้าย้อนกลับไปอ่านหลายย่อหน้าก่อนนี้ คุณจะสังเกตเห็นครับว่า ผมมีการขีดเส้นใต้และเน้นตัวอักษรสีแดงที่คำว่า “เล่ากันว่า” เพราะผมเห็นว่า นี่คืออุปมาอุปไมยสำคัญซึ่งหนังหยิบจับมาใช้สอยอย่างเหมาะเจาะ ... เรื่องผีที่สยามสแควร์ นั้นเกิดจาก “เรื่องเล่า” ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า “เล่ากันว่า” ... มองในแง่ชั้นเชิงเนื้อหา นี่คือการเปรียบเทียบเปรียบเปรยที่ยอดเยี่ยมมากของหนัง เพราะ “เรื่องเล่าเกี่ยวกับผี” สุดท้ายแล้วจะต่างอะไรกันกับ “เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรา” จากปากของคนอื่น จากมุมมองของคนอื่น มันจะมีหรือไม่มี มันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่เป็น หนังได้ให้คำตอบไว้ชัดเจนแล้วเรียบร้อย

กล่าวอย่างถึงที่สุด “สยามสแควร์” เรื่องนี้ อัดแน่นด้วยแก่นสารทางความคิดหลากหลายมิติมากจนกระทั่งหากบรรยายให้หมด ก็คงไม่หมด และเกรงจะเสียอรรถรสในการดูหนังซะเปล่าๆ แต่ถ้าจะมีอีกสักสิ่งที่ผมอยากจะเล่าสักหน่อยพอเป็นน้ำจิ้มคือเรื่องของ “บริบท” (Context) ต่างๆ ที่ก็ถูกคิดขึ้นมาได้อย่างเข้าใจความเป็นไปของยุคสมัยและแสบทรวงใช้ได้ในบางมุก เช่นที่หนังพูดเรื่องการถ่ายคลิปแลกไลค์หรือชิงรางวัลที่ความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน มันไปไกลจนตามแทบไม่ทันแล้ว (เปิดอกโชว์อึ๋ม หรือมากกว่านั้นก็มีให้ดู), การที่ตัวละครตัวหนึ่งบอกว่า “พระอาจารย์บอกว่าคนที่ดูหนังโป๊เป็นคนไม่ดี” ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของ “มายาคติ” ที่ครอบงำความคิดของคนในสังคมให้หลงทิศหลงทางจนชวนให้รู้สึก “คว้าง” ทางความคิดความหวัง

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ผมชอบคำว่า “HOPE” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ความหวัง” บนเสื้อยืดที่เมย์ (อิษยา ฮอสุวรรณ – ที่ผมมองว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงมากจะได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ปีหน้า) สวมใส่ในตอนท้ายเรื่อง ชีวิตวัยรุ่น มีความวุ่น และก็มีความหวัง เส้นทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล คนที่พูดได้เห็นภาพน่าจะเป็นพ่อของเติร์กซึ่งเป็นเจ้าของสถาบันสอนพิเศษ พูดไว้ได้ชัดเจนมากว่า วัยรุ่นก็แบบนี้แหละ บางคนรอดก็รอด บางคนไม่รอดก็หลุดหายออกไปเลย ออกนอกลู่นอกทางไปเลย

“สยามสแควร์” วัยรุ่นไปช็อปได้ เอ๊ย วัยรุ่นดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เพราะจะเป็นแนวเพื่อแนะลูกได้ สนุกครับ น่ากลัวแบบหนังผี มีความฮาแบบหนังวัยรุ่นเกรียนๆ และเหนือสิ่งอื่นใดที่ผมยังไม่ได้บอก ก็คือ มีความซึ้งแบบหนังดราม่า ระดับทุบต่อมน้ำตา!!!






กำลังโหลดความคิดเห็น