..... ถ้าพร้อมแล้ว เชิญถอดหน้ากากเลยครับ.....
นั่นคือประกาศิตของพิธีกรหนุ่ม “กันต์ กันตถาวร” จากรายการ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” รายการประกวดร้องเพลงทางช่องเวิร์คพอยท์ ทีวี ที่สร้างกระแส Talk of The Towm ตลอดตั้งแต่เปิดซีซัน จวบจนถึงรอบชิงชนะเลิศที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา พร้อมกับชัยชนะของ "หน้ากากทุเรียน" ที่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่รู้เปิดเผย ว่าภายใต้หน้าก่กนั้นคือใคร ? จะใช่ "ทอม room 39" อย่างที่คนคาดเดาหรือเปล่า ?
การเล่นกับความรู้สึก “อยากรู้อยากเห็น” ที่ถูกจริตคนไทยแบบจังๆ ส่งผลให้ “The Mask Singer” สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้เกิดแก่รายการทีวีบ้านเรา ด้วยตัวเลขเรตติ้ง ที่ 11.021 (สูงกว่าละครหลังข่าวหลายเรื่อง) ยอดดูสดทาง เฟซบุ๊ก ไลฟ์ อยู่ที่ 5.4 ล้านคน และดูย้อนหลังผ่านยูทูป 5-10 ล้านวิว เรียกว่าเป็นการฉีกขนบนิยมแต่ดั้งแต่เดิมที่ว่าช่วงเวลาไพรม์ไทม์ จะต้องเป็นละคร (น้ำเน่า) อย่างสิ้นเชิง
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ แม้แต่ทีมงานเอง ยังแอบรำพึงในใจว่า...ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ..... แต่มันก็เป็นไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงที่พีคสุดๆ หลังจากที่เปิดเผยว่าภายใต้หน้ากากจิงโจ้ คือ “เป๊ก-ผลิตโชค” ที่สร้างกระแสสนั่นหวั่นไหวไปทั้งโลกออนไลน์
ถ้าสังเกตดูให้ดี จะเห็นว่ารายการประเภทประกวดร้องเพลง ที่อยู่ในผังรายการทีวีบ้านเรามาเนิ่นนานแล้วนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย
จากในยุคแรกๆ ที่ประกวดกันแบบวันเดียวจบ คือคัดกรองในรอบต่างๆ มาก่อน แล้วออกอากาศรอบชิงชนะเลิศรอบเดียว ซึ่งรูปแบบและกติกาการตัดสินก็พินิจพิจารณากันจากความสามารถเพียวๆ ผ่านการลงคะแนนของคณะกรรมการล้วนๆ และถ้าพูดถึงเวทีการประกวดร้องเพลงที่โด่งดังที่สุดในประเทศ ก็น่าจะเป็นเวทีของสยามกลการ (ที่กลายมาเป็น KPN AWARD ในยุคหลัง) ทุกวันนี้นักร้องที่ผ่านจากเวทีอันทรงเกียรตินี้ ก็ยังคงโด่งดังอยู่ในวงการเพลงหลายต่อหลายคน โดยเฉพาะ “พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์”
ในยุคถัดมา การประกวดร้องเพลง ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรายการประกวดประเภทเรียลิตี้ ซึ่งมีรายการหัวหอกที่เปิดตลาดการประกวดในรูปแบบนี้ขับเคี่ยวกันมา 2 เวที คือเวที “ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย” ที่ซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบมาจากรายการ LA Academia ของเม็กซิโก กับเวที “The Star” ของค่ายเอ็กแซ็กท์ โดยรูปแบบของรายการ ไม่ได้วัดกันที่การแสดงบนเวทีอย่างเดียว แต่ยังเน้นไปที่การตามติดชีวิตผู้เข้าประกวด ส่วนกติกาการให้คะแนน ก็มีการอ้างอิงจากผลโหวตของคนดูประกอบกันด้วย ทำให้บางครั้งคนที่ร้องเพลงดีที่สุด ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป ถ้าไม่ได้ใจคนดู ก็จะต้องพ่ายคะแนนโหวต ซึ่งถ้าเทียบระหว่าง 2 เวทีนี้ ต้องบอกว่าเวที The Star ค่อนข้างได้เปรียบกว่า เพราะมีปลายทางให้ศิลปินชัดเจน คือถ้าไม่ได้มาทางสายนักร้อง ก็ยังสามารถไปเล่นละครของต้นสังกัดได้ แถมยังมียานแม่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เป็นแบ็คอัพ ขณะที่เวทีเอเอฟ หนทางการแจ้งเกิดค่อนข้างอยู่ในวงจำกัดกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เวที ก็มีอายุอยู่เพียงแค่ 12 ซีซั่นเท่าๆ กัน แล้วก็ปิดตัวไป เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว
จากยุคทองของการประกวดร้องเพลงในรูปแบบของเรียลิตี้ ก็มาสู่ยุคของการประกวดที่เล่นกันด้วยกฏกติกาที่สร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่ น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น อย่างเช่นรายการ The Voice , The Winner Is , I Can See Your Voice Thailand ฯลฯ
ความสำเร็จของ “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” คือการตีโจทย์ในแง่ของการสร้างจุดขายให้กับรายการ อย่างที่บอกว่าเป็นการเล่นกับความรู้สึก ความอยากรู้ อยากเห็นของคนดู และบางกรณีก็มีแถมเรื่องดราม่าติดปลายนวมมาด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการลงทุนในแง่ของโปรดักชันไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเวที แสง สี หรือที่เป็นไฮไลต์ของงาน ก็คือชุด และหน้าหากของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งแม้แต่ต้นฉบับอย่างประเทศเกาหลียังต้องยอมซูฮก แต่แม้ว่าจะเป็นรายการที่ซื้อแพทฟอร์มมา ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้ากับจริตของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเน้นในเรื่องความสามารถทางการร้องเพลงมากขึ้น ต่างจากต้นฉบับ ที่เน้นการนำคนดังมาทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ชนิดคนดูคาดไม่ถึง ภายใต้หน้ากากปริศนาให้คาดเดาว่าใครเป็นใคร
แต่ความสำเร็จชนิดมืดฟ้ามัวดินของ “The Mask Singer” ในซีซันแรก ก็ไม่ได้หมายความว่าในซีซันต่อๆ มา กระแสจะพีคแบบนี้ เพราะอะไรก็ตามที่เล่นกับความฉูดฉาด เล่นกับความแปลกใหม่ มักจะอายุสั้น เพราะถ้าลากยาวต่อไป อะไรที่เคยแปลก อะไรที่เคยใหม่ ก็จะกลายเป็นความคุ้นชิน ที่ไม่น่าตื่นเต้นอีกแล้ว แถมยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นเงื่อนไขประกอบอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการหาคนดังมาร่วมรายการ เพราะคนย่อมคาดหวังว่าอยากเห็นดารา ศิลปินระดับท็อปฟอร์มกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนดังระดับนั้น จะหาคนที่ยอมมาเล่นในรายการนี้ยาก
หนึ่ง...เพราะติดสัญญา ห้ามรับงานข้ามช่อง สอง... เพราะไม่กล้ามา กลัวจะแพ้ เช่นสมมติเอาณเดชน์ หรือตูน บอดี้สแลมมา แล้วมาแพ้กลางรายการ ก็เท่ากับเสียหน้า เสียชื่อ และสาม....เสียเวลา เพราะการถ่ายทำรายการต้องใช้เวลาเยอะ แต่ค่าตัวน้อยกว่าไปออกอีเว้นต์ ดารา หรือศิลปิน ที่งานชุก ก็คงคิดเหมือนกันว่าไปออกอีเว้นต์ดีกว่า
ฉะนั้นรายการ ก็จะได้แต่ดาราระดับรองๆ หรือไม่ก็เด็กในค่ายตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้โด่งดัง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงคาดเดาได้ว่าอย่างเก่งรายการนี้ ก็อาจจะมีต่อเนื่องได้อีกไม่เกิน 1-2 ซีซันแล้วก็ต้องรูดม่านปิดฉากไป เฉกเช่นเดียวกับอีกหลายรายการก่อนหน้านี้
แล้วว่าก็ว่าเหอะ ตอนนี้พลิกไปช่องไหน ก็มีแต่รายการประกวดร้องเพลงให้เกลื่อนไปหมด ทั้งเพลงสตริง เพลงลูกทุ่ง ทั้งที่ซื้อลิขสิทธิ์มา ทั้งที่คิดรูปแบบเอง ซึ่งทุกช่อง ทุกค่ายก็คงพยายามสร้างความแตกต่าง หาจุดขายให้กับรายการตัวเอง แต่สุดท้ายก็หนีกันไม่ค่อยพ้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะเหล่ากรรมการ ที่ใช้วนกันไป ซ้ำหน้ากันมาไม่กี่คน
และ “ความเฝือ” ที่ว่านี่เอง ที่จะเป็นการบั่นทอนวงจรชีวิตของรายการประเภทนี้ ให้มีอายุสั้นลง ตราบใดที่ผู้ผลิตรายการทีวี ยังไม่เลิกนิสัย “ตามแห่” จากความรุ่งโรจน์ ก็รอวันร่วงโรยได้เลย