xs
xsm
sm
md
lg

รอดไม่รอด? มองโมเดลใหม่ "อาร์เอส" : นักร้องอยากออกเพลง จ่ายเงินมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
เป็นที่น่าจับตาไม่น้อยกรณีการออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ "เฮียฮ้อ" สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ต่อโมเดลใหม่ในการทำธุรกิจทางด้านดนตรีของค่ายอาร์เอสที่มีบทสรุปว่านับจากนี้ไปหากศิลปินคนไหนต้องการจะออกงานเพลงจะต้องเสียเงินลงทุนร่วมกับทางค่ายก่อน

"ธุรกิจเพลงปีนี้เป็นปีแรกที่เราใช้โมเดลใหม่นะครับ เราใช้คำว่า Music Marketing ครับ ก็น่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้ธุรกิจเพลงปีนี้กลับมาคึกคัก มีผลงานออกมากขึ้น แล้วก็มีการเติบโตสูงขึ้นครับ"

"ผมคิดว่าเป็นโมเดลใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้จริงๆ จังๆ ก็เป็นการร่วมลงทุนระหว่างค่ายเพลงกับศิลปินครับ การสร้างดาราใหม่หรือนักร้องใหม่ก็เป็นเรื่องปกติที่เราทำประจำอยู่แล้ว ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ธุรกิจเพลงมีผลงานออกมามากในรอบ 5 ปีนะครับ และผลประกอบการก็น่าจะดีขึ้น"

โดยเจ้าตัวยังได้ให้เหตุผลถึงที่มาของโมเดลการทำธุรกิจที่เรียกว่า Music Marketing ด้วยว่าเป็นเพราะ..."เรามองว่านี่คือธุรกิจของนักร้อง เพราะฉะนั้นตอนนี้นักร้องถ้าจะทำเพลงก็ต้องวางแผนธุรกิจตัวเอง แล้วก็ลงทุนในฟากของการทำเพลง ส่วนของบริษัทก็จะลงทุนในช่วงของแพลตฟอร์ม"

"เรื่องมาร์เก็ตติ้ง เรื่องงานขายต่างๆ ครับ สัดส่วนในการลงทุนของบริษัทมากกว่าอยู่แล้วครับ ศิลปินคนหนึ่งก็ลงทุนไม่มากเท่าไหร่..." (ที่มา (ชมคลิป) “เฮียฮ้อ” ไม่ยอมตาย ทุ่ม 700 ล้าน ดันช่อง 8 ผงาดท็อปไฟว์ ผุดโมเดลธุรกิจเพลงใหม่ อยากเป็นนักร้องก็ต้องจ่ายด้วย)

จากบทสัมภาษณ์ที่ว่า เมื่อทีมข่าวได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวในค่ายอาร์เอสก็ได้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติ่มว่า ณ ปัจจุบัน นอกจาก 3 ศิลปินค่ายอาร์สยาม อย่าง จ๊ะ นงผณี มหาดไทย, ใบเตย สุธีวัน ทวีสิน และ กระแต นิภาพร บุญยะเลี้ยง แล้ว ถ้าศิลปินคนอื่นๆ ต้องการจะมีผลงานเพลงออกมาจะต้องจ่ายเงินให้กับทางค่าย 100% เพื่อแลกกับการโปรโมตประชาสัมพันธ์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทางค่ายมีอยู่ในมือ

ขณะที่เรื่องของการแบ่งรายได้นั้นจะมีการแบ่งกันที่ศิลปิน 75% และค่ายได้ไป 25% แต่ที่น่าสนใจก็คือเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงที่แหล่งข่าวเผยว่าทางค่ายจะเป็นผู้ถือครองนั่นเอง

ต้องยอมรับว่าโมเดลธุรกิจทาด้านเสียงเพลงที่ประธานกรรมการบริหารบริษัท อาร์เอส ฯ ใช้คำว่า Music Marketing นี้เป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะหากย้อนกลับไป การที่นักร้องสักคนอยากจะมีค่ายสังกัด ส่วนใหญ่ก็เพราะต้องการ "ทุน" ในการที่จะมาส่งเสริมให้ตัวเองได้ทำความฝันให้เป็นจริงนั่นเอง

ที่สำคัญ ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่าเรื่องของงานเพลง งานดนตรี มันเป็น "ศิลปะ" แขนงหนึ่งซึ่งคนที่ผลิตงานชิ้นนั้นขึ้นมาส่วนใหญ่หาได้เอาเรื่องของเงินทองมาเป็นข้อแม้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์แต่อย่างใด

"ก่อนจะไปเรื่องที่ว่าโมเดลธุรกิจนี้มันดีหรือไม่ดีอย่างไร เราต้องกลับไปดูก่อนว่าเมื่อก่อนค่ายเพลงเค้าทำธุรกิจกันแบบไหน..." "สุทธิพงษ์ วัฒนจัง" หรือ "ชมพู ฟรุตตี้" อดีตนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ของอาร์เอสฯ ย้อนถึงรูปแบบในการทำธุรกิจทางด้านเสียงเพลงของค่ายเพลงต่างๆ ในบ้านเรา

"ตอนที่โครงสร้างของงธุรกิจเพลงยังเป็นแบบเดิม ก็คือค่ายจะเป็นผู้ที่แบกความรับผิดชอบไว้ทั้งหมด ลงทุนสร้างงาน พัฒนาให้ศิลปิน ต้องจ้างคนเพื่อจะดูแล ไหนจะต้องไปแบกเรื่องมีเดีย เช่น ซื้อเวลาทีวี วิทยุ เน็ตเวิร์คโซเชียล คือเรียกได้ว่ามีการลงทุน 100%"
ชมพู ฟรุตตี้
"ซึ่งแต่ก่อนที่มันทำแบบนั้นได้ก็เพราะว่ามันมีรายได้เข้ามามากพอที่จะไปแบก ทั้งรายได้จากการขายซีดี ขายเทปคาสเซ็ท แต่วันนี้รายได้ตรงนั้นหายไปหมดแล้ว เหลือดาวน์โหลดซึ่งน้อยมาก เพราะฉะนั้นในมุมของค่ายมันจึงไม่คุ้มที่จะลงทุนแล้ว ค่ายจึงพยายามหาวิธีที่จะให้ตัวเองจะทำธุรกิจต่อไปได้ มันจึงเกิดโมเดลอย่างที่ว่านี้ขึ้นมา"

ดีไม่ดี อยู่ที่ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
"ทีนี้ถามว่าดีมั้ย สำหรับพี่ดีมั้ย ดี เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามันเกิดประโยชน์ร่วมกัน ก็หมายความว่าเป็นความพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการบังคับ อันนี้ในมุมนึงนะครับ อีกมุมนึง วันนี้ต้องยอมรับว่าเด็กหน้าใหม่หรือคนที่ยังไม่ได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอะไรมากมายเค้ามีโอกาสเยอะมากในการที่จะสร้างชื่อให้กับตนเอง"

"เพราะว่ามีเดียหรือโซเชียลมันเป็นของเราแล้ว ลงทุนทำเอง เล่นเอง แต่งเอง แล้วก็โพสต์เอง ถ้าเพลงของเรามันไปโดนใจกลุ่มเป้าหมาย เค้ากดไลค์กดแชนร์ ก็เกิดไลค์เยอะๆ วิวเยอะๆ คนทำข่าวก็เอามาสัมภาษณ์หรือไปตามดูใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพึ่งพาค่ายเพลงแต่อย่างใด"

"แต่ในทางกลับกัน หากเรามองว่าตัวเราเองยังไม่มีเนตเวิร์คอะไรมากมาย ยังไม่มีฐานที่จุดติดได้เร็วอย่างที่ค่ายทำ ฉะนั้นตรงนี้เราก็อาจจะเลือกที่จะต้องยอมเสียเงินลงทุนกับทางค่าย แปลว่าถ้าเห็นดีเห็นงามจะได้ประโยชน์มันก็ดี แต่ถ้าไม่ ก็อย่าไปทำ ก็ขึ้นอยู่กับศิลปินเองว่าพร้อมที่จะไปใช้อินฟราสตรัคเจอร์ (infrastructure) ของค่ายเค้ามั้ย"

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าโมเดลธุรกิจรูปแบบนี้จะเป็นทางออกของค่ายเพลงในการทำธุรกิจหรือไม่? นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ชื่อดังเผยว่า..."โดยส่วนตัวพี่ว่ามันอาจจะยังไม่ใช่การแก้ปัญหานะ คือมันมีโมเดลหนึ่งที่พี่อยากจะทำก็คือรวมตัวกันในกลุ่มของศิลปิน โปรดิวเซอร์ สร้างคอมมิวนิตี้ (community) ผ่านแฟนเพจ แล้วพีอาร์ให้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของเพจนี้"

"อย่างพี่จะเปิดค่ายพิงค์มิวสิค แต่วิธีของพี่คือไม่ได้มีการลงทุนแบบฟูลสเกล แบบค่ายเดิม แต่เราจะทำเป็นฮับ (hub) ซึ่งการลงทุนตรงนี้มันไม่จำเป็นจะต้องมาจ้างหลังบ้านเยอะๆ ไม่ต้องมาดูแลอะไรกันมากมาย แล้วเมื่อมีคนรู้ว่ามีการเกิดขึ้นของคอมมิวตี้ หรือเพจนี้ เค้าก็เข้ามาติดตามเราซึ่งมีผลงานทั้งของศิลปินรุ่นเก่า รวมถึงของเด็กคนรุ่นใหม่ๆ ที่เอามาโพสต์"

"พี่ก็ใช้ประสบการณ์ของพี่ โปรดิวเซอร์ที่พี่รู้จักดูแลเด็กรุ่นใหม่ พูดคุยกัน เค้ามีไอเดียอะไร เราช่วยเค้าปรับ ให้ไอเดียเค้า ชอบมั้ย ถ้าเค้าชอบมันก็เป็นงานของเค้าที่มีประสบการณ์รุ่นใหม่โดยมีคนรุ่นเก่าเข้ามาช่วยดูแลก็จะทำให้งานฟังดูสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีอาชีพเข้าไปปรึกษา"

"ซึ่งพี่ตั้งใจจะทำให้เกิดในปีนี้ และไม่ได้ต้องการจะไปแข่งกับใคร ใครทำก็ได้ เพราะฉะนั้นพี่มีสองทางเลือก คือโครงสร้างเดิมที่กำลังดิ้น กับโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกโดยที่ศิลปินไม่ต้องไปลงทุนอะไรมากนัก ทำกันเอง คือถ้าจ้างคนทำถือว่าไม่ใช่ศิลปิน เพราะวันนี้ถ้าจะเป็นศิลปินก็ต้องคิดเองทำเอง แต่งเอง เล่นเอง..."
กำลังโหลดความคิดเห็น