xs
xsm
sm
md
lg

ดีลปริศนา 308 ล้าน a day ขายอุดมการณ์แลกเงิน !!??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day
ปกติการโอน-ย้าย-ซื้อ-ขายหุ้นของธุรกิจประเภทสื่อ เราๆ ท่านๆ ก็คงได้ยิน ได้ฟังกันมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดสภาวะวิกฤตการณ์ ที่สื่อเล็ก สื่อน้อย ทยอยกันล้มหายตายจาก ซื้อ-ขายหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นกันอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นเรื่องชินหูชินตา

แต่ทุกครั้งคราวที่ว่า ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นแค่การรายงานข่าวคราวความเคลื่อนไหว ชนิดพูดครั้งเดียวจบ ไม่ได้ถูกนำมาขยายความ จนกลายเป็น Hot Issue เนื่องจากไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน หรือพบข้อมูลบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับการซื้อ-ขาย หนล่าสุดของนิตยสาร a day !!

**********

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นิตยสาร a day นั้น ถือเป็นต้นแบบนิตยสารทางเลือกใหม่ของวัยรุ่น ขวัญใจเด็กแนว ในยุคเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเกิดจากความคิดของ “โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ที่มีความคิดอยากจะผลิตนิตยสารดีๆ สักฉบับหนึ่ง แต่ขาดทุนทรัพย์ จึงได้มีการระดมทุนจากบรรดาแฟนหนังสือ และผู้ที่สนใจ โดยเปิดขายหุ้นจำนวนทั้งสิ้น 2,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1,000 บาท เพื่อนำมาจัดพิมพ์นิตยสาร “คุณภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำ” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นนิตยสาร a day ฉบับแรก ที่วางจำหน่าย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ภายใต้ บริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด

ความเปลี่ยนแปลงครั้งแรกของ a day เกิดขึ้นเมื่อโหน่ง-วงศ์ทนง มีความคิดที่จะทำหนังสือ a day bulletin เป็นรายสัปดาห์ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงมีการขายหุ้นให้กับ “นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย” แห่ง ทราฟฟิก คอนเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสื่อและมีเดียรายใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท จาก บริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด เป็น บริษัท เดย์ โพเอ็ทส์ จำกัด (Day Poets Co. Ltd.) และมีการขยับขยายออกหัวหนังสือเพิ่มอีกหลายเล่ม

สำหรับบริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด นั้น นอกจากจะเป็นผู้ผลิตนิตยสาร a day , a day bulletin, Hamburger และ Knock Knock แล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท เน็ก แอนด์ เดอะ ซิตี้ จํากัด ของ “น้าเน็ค-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” จํานวน 29,999 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้ว) ทั้งยังถือหุ้นใน บริษัท อีส แอม อาร์ ดอทเน็ท จํากัด จํานวน 59,999 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 60 ของทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้ว) โดยจากการตรวจพบว่ามีผลประกอบการกำไรในปี 2558 ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท และขาดทุนในปี 2559 ประมาณ 9 ล้านบาท

**********

เรื่องราวของ a day กลับมาเป็นหัวข้อในการพูดถึงอีกครั้ง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (27 ธันวาคม 2559) เมื่อ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) (Polar) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ กรณีเข้าซื้อกิจการของบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จำนวน 490,000 หุ้น หรือคิดเป็น 70% ของหุ้นทั้งหมด ราคาหุ้นละ 630 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 300 กว่าล้านบาท

ข้อมูลเพิ่มเติมของสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ระบุว่า บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อ 13 กรกฎาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 995,806,605,840 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 26/2 ซอยลาดพร้าว 83 (จิตต์อารีย์) แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ระบุชื่อนายญาณกร วรากุลรักษ์ , นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย , นายดนุช บุนนาค , นายจักริณทร์ ชนันสิริกุล , นายฐากร ทวีศรี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายกำจัด รามกุล , นายสมชัย ศุภกิจเจริญ ,นายอาสา นินนาท ร่วมเป็นกรรมการ โดยรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 11 เมษายน 2559 ปรากฏชื่อ นาย จำนงค์ พุทธิมา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด

รายงานข่าวกล่าวว่า ผู้ขายหุ้นให้ Polar คือ บริษัทไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัทธนวรินทร์ จำกัด ซึ่งปรากฏว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวไม่มีชื่อของวงศ์ทนงเป็นเจ้าของ ขณะที่ในส่วนของบริษัทธนวรินทร์ มีเพียงชื่อของนายสุรพงษ์ ซึ่งดำเนินธุรกิจรีสอร์ตและสปาอยู่ที่นนทบุรี

พลันก็เกิดคำถามที่ตามมาทันควัน ว่า Polar นำเงินจากไหนมาซื้อธุรกิจใหม่ ทั้งที่ตัวเลขผลประกอบการ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขาดทุนถึงประมาณ 700 ล้านบาท !!???

หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่า การดีลธุรกิจในครั้งนี้ ในมุมของ Polar น่าจะเป็นการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ในมุมของ a day เป็นการมองหาทางรอดให้ธุรกิจสื่อ

โดยทาง Polar ให้คำมั่นว่า ไม่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารหลักของ a day ทั้ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ และ นิติพัฒน์ สุขสวย ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นบรรณาธิการอํานวยการ และบรรณาธิการที่ปรึกษาของบริษัท เดย์โพเอทส์ จํากัด

**********

จากคำถามข้างต้น ก็ถูกคลี่คลายในเวลาต่อมาว่า เบื้องหลังเงินก้อนโตที่นำไปซื้อหุ้น a day ที่แท้ก็คือ บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี่ โฮลดิ้ง จํากัด เป็นบริษัทในเครือเดียวกับ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับดนตรีรายใหญ่ของประเทศไทย ระบุชื่อกรรมการ 3 ราย คือ ณพ ณรงค์เดช , พอฤทัย ณรงค์เดช และ กฤษณ์ ณรงค์เดช ที่เป็นผู้ให้เงินกู้จำนวน 100 ล้านบาทกับ Polar โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 8.50 %

ทว่าเงื่อนงำอำพรางของการดีลในคราครั้งนี้ กลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการสืบค้น พบว่าในส่วนของบริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด นั้น เพิ่งเข้ามาถือหุ้นในบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่า 30 ล้านบาท (ราคาหุ้นละ 100บาท) เมื่อประมาณ 2 เดือนเศษ ก่อนขายหุ้น จำนวน 245,000 หุ้น ราคา 630 บาทต่อหุ้น ให้ Polar เท่ากับว่าได้กำไรเหนาะๆ 124 ล้านบาท

โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานต่อว่า บริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ นั้น แท้จริงแล้ว ก็คือ บริษัท เอ แอนด์ ดับบลิว เรสเตอรองต์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนทำธุรกิจประกอบกิจการร้านอาหาร เอ แอนด์ ดับบลิว มาตั้งแต่ปี 2531 โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ในมาเลเซีย เพิ่งประกาศขายกิจการให้กับนักธุรกิจไทยกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ในราคา 73.5 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการซื้อขายกิจการเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ มีนโยบายที่จะหยุดดำเนินการกิจการร้านอาหาร และพิจารณาหาธุรกิจใหม่ โดยมีการแจ้งเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทฯ ใหม่ จากกลุ่มนักธุรกิจชาวมาเลเซีย มาเป็นคนไทย จำนวน 3 คน คือ น.ส.กุลปวีร์ เฉลิมเมธีวงศ์ , นางประไพ โอตตัปปานนท์ และ น.ส.เพลินจิตร วงศ์บุดศรี พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ฯ ก่อนจะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เดย์ โพเอทส์ฯ ดังกล่าว

จากกรณีนี้เอง ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกครั้ง ว่าผู้ถือหุ้นใหม่ ของไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำนวน 3 ราย เป็นใคร ? มาจากไหน ?

แหละ.....นั่นก็ไม่เกินความสามารถ ที่สำนักข่าวอิศราเจ้าเก่า จะตามไปสืบค้นมาได้ว่า น.ส.กุลปวีร์ เฉลิมเมธีวงศ์ ซึ่งมีชื่อเป็นถึงกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยฟู้ด โลจิสติกส์ กลับมีที่อยู่อาศัยเป็นเพียงตึกแถว 2 ชั้นเก่าๆ ในย่านสาทร ขณะที่น.ส.เพลินจิตร วงศ์บุดศรี กรรมการบริษัทฯ อีกคน ปัจจุบันมีอายุ 58 ปี สภาพที่อยู่อาศัยเป็นตึกแถว 3 ชั้น ติดถนนหลานหลวง ซึ่งคนในบ้านระบุว่าอาชีพปัจจุบันเป็น “แม่บ้าน”

ยังไม่หมดเท่านั้น จากการสืบค้นต่อ ก็พบว่า น.ส.กุลปวีร์ ยังเคยปรากฎชื่อเป็นตัวแทน บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงานสัมมนาพิจารณ์สร้างความพร้อมเกี่ยวกับร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน เมื่อวันที่ 20 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยบริษัท นิปปอน แพ็คฯ ปรากฎชื่อนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด หนำซ้ำ เขายังมีรายชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท ธนวรินทร์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เดย์ โพเอทส์ )และยังเป็นผู้ถือหุ้นลำดับ ที่ 11 ถืออยู่จำนวน 112,000,000 หุ้น ของ Polar

นั่นหมายถึง บริษัท ธนวรินทร์ และ ไทยฟู้ด โลจิสติกส์ และ Polar ที่ดีลกันในเรื่องการซื้อ-ขายหุ้น มีความเชื่อมโยงกัน ผ่าน น.ส.กุลปวีร์ และถ้าบริษัท ธนวรินทร์ และไทยฟู้ด โลจิสติกส์ แท้จริงแล้วเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน ก็เท่ากับว่า จะทำให้มีกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินถึง 238,700,600 บาท

หรือนี่อาจจะเป็นคำตอบ ของคำถามที่ว่า ทำไม Polar ถึงยอมซื้อหุ้นในราคาที่สูงมากขนาดนี้ !!?? สูงกว่าราคาประเมินถึงจำนวน 261.54 ล้านบาท (ราคาประเมินมูลค่ากิจการอยู่ที่ 47.16 ล้านบาท )

เพราะสุดท้าย เงินก็ออกจากประเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวาอยู่ดี !!

และ/หรืออาจจะมีเงื่อนงำอำพรางอื่นๆ เคลือบแฝง เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ? อย่างไร ? ซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องเข้ามาตรวจสอบ

**********

ถ้าตัดเรื่องของการโยงโย การเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของ 3 บริษัท ที่พัวพันกับการซื้อ-ขายหุ้น แล้วมาโฟกัสกันที่เรื่องของ a day ในมุมของสื่อ  เราอาจจะมองได้ว่า เส้นทางการก้าวย่างของ a day แทบจะไม่แตกต่างจากการเดินทางของวงดนตรีเพื่อชีวิตในตำนาน อย่าง “คาราบาว”

นั่นคือเริ่มต้นแบบคนที่มีอุดมการณ์จ๋า

คาราบาว เริ่มต้นจากวงดนตรีที่สะท้อนแง่มุมการใช้ชีวิต ต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคม และเป็นกระบอกเสียงของคนยากจน a day เริ่มจากนิตยสารที่ขายสาระ มีอิสรภาพทางความคิด มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน

และที่เหมือนกันก็คือ ต่างก็ “ทำท่า” ว่าอยู่ในขั้วที่ต่อต้านระบบ “ทุนนิยม” ด้วยกันทั้งคู่

แต่สุดท้าย... ก็อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ แอ๊ด คาราบาว กลายเป็นนักธุรกิจ เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อดัง หลงใหลวัตถุนิยม ใช้ข้าวของแบรนด์เนมแทบจะตั้งแต่หัวจรดเท้า

ขณะที่ a day ก็ขายวิญญาณของตัวเอง เพื่อแลกกับเงินก้อนโตที่ได้จากบริษัทใหญ่ ว่ากันว่า ในระยะหลัง นับจากประมาณเล่มที่ 100 ลงมา ความนิยมของนิตยสารก็เริ่มถดถอย ว่ากันว่าเป็นเพราะขาดเสน่ห์ในแบบฉบับของ a day ยุคแรก ที่มีธีมการนำเสนอเนื้อหาในเล่มแบบชัดเจน ทว่า...ในยุคหลังนั้น ดูเหมือนว่า หัวข้อของการนำเสนอในแต่ละเล่ม จะถูกกำหนดเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับเมนสปอนเซอร์ของแต่ละเล่มเป็นหลัก หลายคนเริ่มรู้สึกถึงความ “ไม่จริงใจ” ต่อผู้อ่าน !! หรือพูดแบบภาษาบ้านๆ ก็คือกลายเป็นนิตยสารที่อิงเนื้อหาตามใจลูกค้า จนไม่หลงเหลือคราบไคลของนิตยสารที่มีจุดยืนมุ่งสะท้อนมุมมอง ความคิด และชีวิตอิสระ

ก็อย่างว่าแหละ ต่อให้เหล็กแข็งเท่าแข็ง พอถูกเงินง้าง ก็พร้อมจะถ่างงอ ประสาอะไรกับอุดมการณ์ของคน ที่สุดท้ายก็ซื้อได้ด้วยเงินเหมือนกัน !!!
a day ฉบับแรก หน้าปก “โน้ส-อุดม แต้พานิช” วางแผงเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2543
สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย  ผู้อยู่เบื้องหลังการดีลปริศนา 308 ล้าน



กำลังโหลดความคิดเห็น