แม้จะทำหนังมาเพียง 2 -3 เรื่อง และเรื่องที่ทำให้ชื่อของเขาก้าวขึ้นเป็น “เอ – ลิสต์” (A – List) ในแวดวงภาพยนตร์ ก็เพิ่งเกิดเมื่อปีสองปีก่อน กับเรื่อง “วิปแพลช” (Whiplash) แต่ “เดเมี่ยน แชเซลล์” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขามาแบบ “ตัวจริง” เพราะหลังจากส่งให้ “เจ.เค.ซิมมอนส์” ขึ้นไปรับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจากบทบาทอาจารย์สอนตีกลองในเรื่องวิปแพลช ล่าสุด คนรักหนังก็ได้พิสูจน์ในฝีไม้ลายมือของคนทำหนังวัย 31 ปีคนนี้อีกครั้งจากเรื่อง “ลา ลา แลนด์”
ผลงานชิ้นนี้ ได้กลายเป็นดาวเด่นบนเวทีประกาศรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 74 เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยสร้างสถิติใหม่ เป็นหนังที่ชนะรางวัลดังกล่าวมากที่สุด 7 สาขา คือเข้าชิง 7 สาขา ก็ชนะทั้งหมด 7 สาขา รวมทั้งดารานำชาย นำหญิง ยอดเยี่ยม ไปจนถึงภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ และผู้กำกับยอดเยี่ยม (สาขาตลก – เพลง) ทุบสถิติที่รุ่นพี่อย่าง MidNight Express และ One Flew Over the Cuckoo’s Nest
จากความสำเร็จดังกล่าว รวมถึงการชนะรางวัลจากหลากหลายเวทีก่อนหน้านี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่ชื่อของ “ลา ลา แลนด์” จะก้าวขึ้นเป็นเต็งจ๋าบนเวทีออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ที่จะมีการประกาศในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยมีคู่แข่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “เต็งคู่” สูสี อย่างเรื่อง Moonlight คอยขนาบอยู่ข้างๆ
ไม่ว่าจะอย่างไร กล่าวในมุมมองของคนที่ยังไม่ได้ดู Moonlight ซึ่งมีประเด็นค่อนข้างแหลมคมและเข้มข้นที่ผูกโยงกับประชาชนชาวผิวสีในอเมริกา แต่ก็ติดว่า มูนไลท์นั้นค่อนข้างเป็นหนังที่ดีและดังในวงแคบ ซึ่งถ้าวิเคราะห์ออสการ์ซึ่งเป็นรางวัลมหาชน การจะให้รางวัลกับหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันมีการคำนึงถึงเรื่องผลลัพธ์ด้านการตลาดอยู่ในนั้นด้วยอย่างปฏิเสธได้ยาก ดาราควรจะมีความดัง หนังควรจะมีความเด่น จึงจะร่วมด้วยช่วยกันเข็น “งานออสการ์” ให้มีคนติดตามชมมากที่สุด (สังเกตได้ว่าทุกปี ทันทีที่จบงาน จะมีการวัดผลทันทีว่าออสการ์ปีนั้นๆ มีคนดูมากน้อยเพียงใด) ณ จุดนี้ ผมจึงยังคงมีความเห็นว่า ถ้าลา ลา แลนด์ จะแล่นเข้าโค้งสุดท้ายแล้วคว้าชัยในเวทีออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็เป็นการคู่ควร เพราะองค์ประกอบทางด้านการตลาดก็ครบถ้วน (โดยเฉพาะดารานักแสดงระดับเอลิสต์) อีกทั้งวัตถุตั้งต้นและมวลสารทุกองค์ประกอบที่แทบจะเข้าขั้นกล่าวได้ว่า “ดีงามไร้จุดตำหนิ” ให้ติติง
ไล่ตั้งแต่ตัวนักแสดงนำทั้งสองคนซึ่งอยู่ในระดับท็อปรุ่นใหม่ของฮอลลีวูดทั้งสองคนมาแสดงนำ ฝ่ายชายคือ “ไรอัน กอสลิ่ง” ส่วนดาราหญิงนั่นคือเอ็มม่า สโตน การแคสติ้งทั้งสองคนมาร่วมงานกันในเรื่องนี้ เป็นการพบปะของนักแสดงที่เคมีตรงกัน บทบาทการแสดงของเขาและเธอ ตรึงคนดูผู้ชมให้รู้สึกรื่นรมย์ (และบางจังหวะก็ร้าวราน) ไปกับเรื่องราวที่สื่อสารผ่านสถานการณ์ชีวิตของคนทั้งสอง
คนแรก “ไรอัน กอสลิ่ง” คือ “เซบาสเตียน” คนหนุ่มผู้ลุ่มหลงในท่วงทำนองของดนตรีแจ๊ส และไม่ใช่แค่แจ๊สทั่วไป หากแต่เป็นแจ๊สตามขนบ เซบาสเตียนมีธาตุแห่งความขบถผู้อ่อนโยนอยู่ในจิตวิญญาณเต็มเปี่ยม สังเกตได้จากหลายๆ ครั้ง ... อย่างเช่น ถึงแม้เจ้าของร้านที่เขารับงานเล่นดนตรี (เปียโน) จะชี้แนะเชิงออกคำสั่งให้เขาเล่นเปียโนในเพลงแจ๊สตามที่กำหนด แต่จิตวิญญาณแบบ “นักด้นสด” (อิมโพรไวส์) ซึ่งเป็นหัวใจของแจ๊สมาแต่ไหนแต่ไร ก็ตวัดเอาปลายนิ้วของเขาให้ลื่นไหลไปบนแป้นเปียโนแบบปลดปล่อยอิสระ และ... เราก็อาจพอจะกล่าวได้ว่า เพราะความเป็นคนที่รักอิสระแบบนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเซบาสเตียนดำเนินไปอย่างเสรี เสรีจนกระทั่งว่าแทบไม่มีใครอยากว่าจ้างเขาอย่างจริงๆ จังๆ
มองผ่านไปทางฝั่งของเอ็มม่า สโตน ซึ่งรับบทเป็น “มีอา” เธอคือหญิงสาวที่ฝันก้าวบนเส้นทางการแสดง และพยายามอยู่เสมอที่จะปลีกเวลาจากการเป็นพนักงานร้านกาแฟเพื่อไปแคสติ้งทุกๆ ที่ที่มีการเปิดรับ แต่จนแล้วจนรอด หนทางสู่ “นครแห่งดวงดาว” ของหญิงสาวคนนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ทอดมาถึงเธอสักที กระทั่งเธอได้พบกับ “เซบาสเตียน”
การพบกันระหว่างคนหนุ่มกับหญิงสาว ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดเรื่องราวโรแมนติกต่างๆ ตามมา (ซึ่งโรแมนติกตั้งแต่มีอาได้ยินเพลงแจ๊สแล้วเดินเข้าไปในบาร์) หากแต่การพบกันของคนสองคนยังเหมือนคู่แท้ที่เกิดมาเพื่อกันและกัน ในช่วงวัยแห่งความใฝ่ฝัน ไม่มีสิ่งใดที่จะประเสริฐไปกว่าการมีใครสักคนร่วมเดินไปบนเส้นทางสายนั้น ให้กำลังใจกัน เพื่อสานฝันของแต่ละคน
แต่ไม่ว่า ณ จุดสิ้นสุดบนถนนแห่งความฝัน ใครจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร “นครดวงดาว” จะเปิดประตูรับหนุ่มสาวทั้งสองหรือไม่ สิ่งที่คนดูจะได้รับอย่างเต็มอิ่มคือเรื่องราวระหว่างทางการดิ้นรน ทั้งเรื่องรักโรแมนติก, อารมณ์ขันที่ไม่ใช่การยิงมุกตลก แต่เป็น Sense of Humor, ดนตรีประกอบและเพลงประกอบที่กินใจ รวมไปจนถึงฉากต่างๆ ที่เล่นกับแสงและสีได้ฟุ้งฟายชวนใฝ่ฝัน
รู้สึกว่ามุมกล้องแบบหนึ่งซึ่งหนังใช้อยู่หลายฉากคือภาพมุมกว้าง ที่ถ่ายทอดความเวิ้งว้างของบรรยากาศ โดยมีตัวละครยืนอยู่ตัวเล็กๆ โดดเดี่ยวท่ามกลางผืนฟ้าและแสงนวลจากฟากฟ้าและไฟริมทาง ดั่งต้องการถ่ายเทให้เราได้สัมผัสกับความเวิ้งว้างในชีวิตจิตใจของตัวละครขณะแรมรอนไปบนถนนแห่งความฝัน ... ในวัยหนุ่มสาวที่กำลังก้าวไขว่คว้าหาความฝัน เราก็คงเคยเป็นเช่นนั้นกันบ้างล่ะ จริงไหม?
กล่าวสำหรับภาพรวมเรื่องราวของตัวละคร ก็ต้องพูดตามความจริงครับว่าสามารถสร้างความประทับใจให้กับเราคนดูได้อย่างสมบูรณ์ เรื่องราวความใฝ่ฝันที่ผสมประสานเข้ากันกับเรื่องราวความรักได้งดงามลงตัว “ลา ลา แลนด์” ควรได้รับการจดจารว่าเป็นหนังแนวมิวสิเคิล (หนังเพลง) ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ และเหนืออื่นใด เพราะความหลงใหลในดนตรีแจ๊ส นี่ก็ทำให้ลา ลา แลนด์ โดดเด่นและแตกต่างจากหนังเพลงเรื่องอื่นๆ จนสามารถเป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้นไปอีก
สำหรับผู้กำกับ “เดเมี่ยน แชเซลล์” นั้น เรารู้กันตั้งแต่ผลงานก่อนหน้านี้อย่าง “วิปแพลช” แล้วว่า เขาคือคอแจ๊สตัวยง เพราะถึงแม้จะเล่าเรื่องมือกลอง แต่ท่วงทำนองของแจ๊สก็เป็นเสาหลักของหนังตั้งแต่ต้นจนจบ และพอมาเรื่องนี้ เขาก็ขยี้ความลุ่มหลงนั้นอีกครั้ง แต่อย่างแผ่วเบาและนุ่มนวล และมันก็ส่งผลในเชิงปรัชญาที่เพิ่มความลุ่มลึกให้กับตัวเรื่องไปโดยปริยาย
ในมุมมองของผม...อย่างที่ได้เล่าไปบ้างแล้วครับว่า ตัวพระเอกเซบาสเตียนนั้น หลงใหลในดนตรีแจ๊ส และเป็นแจ๊สแบบขนบ แต่ก็อย่างที่เราจะพบว่า หนังได้บอกว่า ช่วงเวลาแห่งแจ๊สบริสุทธิ์นั้นได้ตายไปแล้ว ไม่มีใครสนใจแจ๊สแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว และปัจจุบัน มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า “แจ๊สประยุกต์” ที่พร้อมสนุกและรื่นเริงไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้ มันจึงคล้ายๆ เป็นการปะทะกันระหว่าง “โลกเก่า” กับ “โลกใหม่” เมื่อเซบาสเตียนยังคงยืนยันต่อการเล่นแจ๊สในขนบดั้งเดิม
ขณะที่ดนตรีแจ๊สและการฟังแจ๊สกำลังล้มหายตายจาก โดยเฉพาะแจ๊สในขนบดั้งเดิม เหมือนที่หนังถ่ายทอดออกมา “เดเมี่ยน แชเซลล์” ได้คืนลมหายใจให้กับแจ๊สมิวสิกให้กลับหวนฟื้นคืนมาเปี่ยมชีวิตชีวาอีกคราครั้ง “รสนิยม” ของเขา ไม่เพียงพาเราหวนระลึกนึกถึงหนังยอดเยี่ยมในตำนานหลายเรื่องที่เดเมี่ยนนำมาจัดวางไว้ในหนังของเขาในเชิงคารวะหนังเหล่านั้น ทั้ง Singin’ in the Rain หรือ Rebel Without a Cuase ฯ หากแต่ยังนำลำนำแห่งแจ๊สเข้ามาจอดเทียบท่าหัวใจของเราได้อย่างงดงามรื่นรมย์ ผ่านเสียงเปียโนของเซบาสเตียน (ที่ไรอัน กอสลิ่ง ใช้เวลาถึง 4 เดือนเพื่อฝึกฝนท่วงท่าให้ดูสมจริง) ผ่านมิวสิกสกอร์และเพลงประกอบที่ทำให้เรารู้สึกถึงมวลบรรยากาศที่โอบรอบไปด้วยสุ้มเสียงสำเนียงแจ๊ส
“ลา ลา แลนด์” เป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมแห่งปีอย่างไม่มีอะไรให้ต้องสงสัย และในเทศกาลประกวดรางวัลออสการ์ที่จะมาถึงนี้ นี่คือ “ตัวเต็ง” อันดับต้นบนเวทีดังกล่าว หนังดูสนุกและเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณครับ ความรัก ความใฝ่ฝัน และความเข้าใจและยอมรับได้ในความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของชีวิต
ถ้าขนบแห่งแจ๊สคือการอิมโพรไวส์ ขนบแห่งชีวิตและจิตใจก็ควร “ด้น” อย่างคลี่คลายได้ไปตามวันเวลา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงชอบสายตาของเซบาสเตียนที่มองหญิงสาวเบื้องหน้าในตอนจบของหนังมากๆ มันบอกทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของเรา จะสุขจะโศก ก็อยู่ที่ “สายตาในการมอง” นั้น...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม