เปิดใจ “กรุณา บัวคำศรี” ผู้หญิงที่ชอบทิ้งโอกาสดีๆ ในชีวิต เมื่อประสบความสำเร็จก็หมดสนุกต้องออกไปล่าความฝันใหม่ ยอมทิ้งตำแหน่งผู้ประกาศข่าวช่อง 3 หวนไปเป็นนักข่าวลงพื้นที่เจาะข่าวผลิตรายการที่ตนเองอยากทำ ถึงจะได้เงินน้อยกว่าเหนื่อยมากกว่า แต่มีความสุขมากกว่า
ต้องบอกว่าเป็นผู้ประกาศข่าวที่ไฟแรงจริงๆ สำหรับ “กรุณา บัวคำศรี” แม้อายุจะเข้าใกล้เลข 50 แต่สายเลือดนักข่าวมีอยู่อย่างเต็มพลัง กรุณา บัวคำศรี ชื่อนี้เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่เจ้าตัวจัดรายการ “ตอบโจทย์” ทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นรายการการเมืองเรตติ้งกระจาย ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากจะจัดรายการที่ได้รับความนิยมแบบนี้ แต่จู่ๆ กรุณาก็ทิ้งหน้าที่ผู้ประกาศข่าวและรายการที่กำลังรุ่งโรจน์ในไทยพีบีเอส และย้ายไปอยู่กับช่อง 3 ที่ขณะนั้นเริ่มลุยข่าวอย่างจริงจัง มีการดึงผู้ประกาศข่าวชื่อดังจากหลายสถานีมารวมกันที่ช่อง 3 เรียกว่าการมาของกรุณาที่ช่อง 3 ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและโอกาสจะเกิดก็เป็นไปได้ยาก
แต่กรุณาก็สามารถแจ้งเกิดในฐานะผู้ประกาศหลักข่าวภาคเที่ยง และยังได้มีโอกาสได้อ่านข่าวรายการสามมิติในยามที่ “กิตติ สิงห์หาปัด” ติดภารกิจ เรียกว่า ชื่อของกรุณาโดดเด่นไม่น้อย แต่แล้ววันนี้กรุณาก็ตัดสินใจทิ้งความรุ่งโรจน์ของช่อง 3 เหมือนที่เคยทิ้งความรุ่งโรจน์จากช่องไทยพีบีเอส ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากจะทำตามความฝันของตัวเอง การเป็นผู้ประกาศข่าวในสถานีไม่ใช่ความฝันอันสูงสุด หากแต่การได้ไปทำข่าวต่างประเทศได้ลงพื้นที่ในสนาม การทำข่าวแบบเจาะลึกเข้มข้น เป็นสิ่งที่กรุณาปรารถนา แต่เป็นสิ่งที่ช่อง 3 ให้ไม่ได้เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้กรุณาต้องออกมาตามหาความฝันของตัวเองกับช่อง พีพีทีวี ที่ให้โอกาสในการผลิตรายการต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นการทำงานที่เหนื่อยและหนัก แถมยังได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าการเป็นผู้ประกาศข่าว แต่กรุณาก็มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าวันหนึ่งรายการอาจจะอยู่ได้ไม่นานเพราะต้องใช้งบในการผลิตสูงแต่แค่ได้เริ่มต้นก็รู้สึกภาคภูมิใจแล้ว
“ย้อนกลับไปวันแรกที่เข้าทำงานที่ช่อง 3 โจทย์หลักที่ย้ายไปช่อง 3 เพราะเราออกจากไทยทีบีเอส เราเข้าไปช่วงที่ไทยทีบีเอสเพิ่งก่อตั้ง และเป็นช่วงที่การเมืองมันแรงมาก เราต้องไปจัดรายการตอบโจทย์เกี่ยวกับเหลืองแดง รับหมัดซ้ายหมัดขวา เราไม่ได้ชอบการเมืองขนาดนั้น เรามีความอดทนไม่พอเกี่ยวกับสถานการณ์แบบนั้น และใจเราคือทำข่าวมาหลายรูปแบบแล้ว และมันตกตะกอนว่าใจเราชอบทำข่าวต่างประเทศ ตอนนั้นไม่อยากอยู่ในสถานการณ์ที่คนโน้นด่าที คนนี้ด่าที เพราะว่าการเป็นผู้ประกาศในการเมืองแบบนั้น มันคือความน่าสงสาร คือเราไม่ได้เป็นคนเสี้ยมอยู่แล้ว และก็จะวางตัวเป็นกลางมาตลอด แต่สถานการณ์ตอนนั้นถ้าคุณเป็นแดง คุณก็ไม่อยากฟังเรื่องเหลือง ถ้าเลือกฝ่ายแล้วคุณจะไม่ฟัง”
“โดยธรรมชาติของเราแล้วไม่ได้ถูกสร้างมาให้รับแรงกดดันแบบนั้น เราเป็นคนสุขนิยม อย่างบางคนถูกสร้างมาให้อยู่แบบนั้นได้อย่างพี่สรยุทธ เขาจะมีความอดทน และเราก็ไม่ได้สนใจด้วยว่าที่ๆ เราอยู่มันจะเป็นตำแหน่งที่ผู้ประกาศใหญ่ หรือเป็นนักข่าวภาคสนาม ขอให้เป็นที่ๆ เราอยู่แล้วมีความสุข เราถึงจะอยู่ได้”
“จริงๆ ตอนมาอยู่ช่อง 3 ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะได้ขึ้นเป็นตัวหลัก แต่เราก็พักความกดดันมาสักพัก เขาก็บอกว่าถ้าไม่อยากเจอความกดดันแบบนั้น ให้มาอ่านข่าวเที่ยง สบายๆ มันก็ถูกจริตเรา และเราก็ขอออกไปทำข่าวข้างนอก ไปช่วยพี่ยุทธบ้าง พี่กิตติบ้างโดยไม่ได้ตั้งใจ”
อยู่ช่อง 3 มานานหลายปี จนถึงจุดที่อยากจะทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ได้ต้องการเป็นแค่ผู้ประกาศข่าวหรือผู้ที่รายงานข่าวสั้นๆ แต่อยากทำข่าวเจาะลึกต่างประเทศ
“เราอยากทำอะไรที่ได้คิดได้ฝันมาตลอด เพราะก็ทำข่าวมาโดยตลอดและปีนี้เองก็เข้าปีที่ 16 การทำข่าวที่ผ่านมาโดยธรรมชาติของมันแล้วจะเป็นการรายงานข่าวสั้นๆ 3 นาทีหรือว่า 5 นาที ซึ่งนั่นก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น เราเริ่มแก่ตัวลง เราก็เริ่มจะอยากใช้สิ่งที่เราไปเห็นมาตอนที่เราเดินทางไป เอามารวบรวมและเล่าให้มันยาวๆ ขึ้น ก็เลยคิดว่าอยากจะทำรายการที่เป็นแนวคิดของตัวเอง จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็คุยกับผู้ใหญ่ที่ช่อง 3 แต่เนื่องจากช่อง 3 เองผังยังไม่นิ่ง ผู้ใหญ่เลยบอกว่าให้รอนิดนึง เผื่อในอนาคตจะได้ทำอย่างที่ตัวเองฝัน เพราะเราก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเยอะ ผู้ใหญ่ท่านก็เมตตา แต่พอดีจังหวะนั้นเราก็เรียนท่านกลับไปว่า เราก็เข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ถ้าเกิดในช่วงนี้มันมีโอกาสที่ไหน และบวกกับเราได้คุยกับเพื่อนฝูงที่รู้จักกัน เขาก็บอกว่าไอเดียดี เราก็เรียนท่านไปโดยตรงกับนายประวิทย์ว่าถ้าช่วงนี้มีใครอยากให้เราทำรายการแบบนี้ เราขอนุญาติไปคุยดู คุณประวิทย์ท่านก็อนุญาต และเราก็เลยได้คุยกับผู้ใหญ่ทางพีพีทีวี”
“อาจจะฟังดูเหมือนว่ามันยากในการที่เราจะเข้าไปขอนายออกมาทำรายการที่ไม่ใช่ของช่อง 3 ซึ่งเราพูดคุยกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ใช้เวลาเกือบ 6 เดือน ถามว่าการตัดสินใจครั้งนี้มันง่ายหรือเปล่า มันก็ไม่ง่ายมากนัก เพราะเราเองก็ผูกพันกับช่อง 3 ท่านก็ไม่อยากให้เราไปไหน แต่ถ้าเกิดการไปที่อื่นแล้ว เราไปทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ก็เป็นโอกาสที่เราได้เติบโต ท่านก็ยินดี เพราะนโยบายของเราคือจะพูดคุยกับผู้ใหญ่โดยตรง พอเราคิดปั๊บเราก็จะขึ้นตรงถึงผู้ใหญ่ทันที เราก็จะเรียนท่านโดยตรงว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ อย่างที่บอกว่าคนเราถึงจุดๆ หนึ่งมันต้องการๆ เปลี่ยนแปลงในชีวิต บางคนอยากเป็นผู้บริหาร แต่ความฝันของเราไม่ได้อยากเป็นผู้ประกาศที่จะต้องนั่งอยู่ในสถานี การเติบโตของเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราก็คุยกันอย่างเปิดเผยและผู้ใหญ่ก็เข้าใจ แต่กระบวนการในการตัดสินใจมันต้องใช้เวลากว่าจะมาถึงวันนี้ ท่านก็บอกว่าให้คิดดีๆ ว่ามันทำแล้วตอบสนองกับสิ่งที่เราต้องการจริงหรือเปล่า เราก็ใช้เวลาคิด และพอเราตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว เราก็ไปเรียนผู้ใหญ่ว่าเราจะไปทำรายการที่พีพีทีวี”
รอโอกาสในการทำข่าวเจาะลึกจากช่อง 3 มาเป็นปีแต่ก็ไม่ได้โอกาส จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่พีพีทีวี
“ถามว่าช่อง 3 ไม่ตอบโจทย์อะไรให้กับเราหรือเปล่า อย่างที่บอกว่าความฝันของเราไม่ได้อยากเป็นผู้ประกาศข่าว เราอยากเดินทาง เพราะจริงๆ อยู่ช่อง 3 เราก็มีโอกาสได้เดินทางเยอะเหมือนกัน ขออนุญาตไปไหน ผู้ใหญ่ท่านก็ให้ไป แต่มันก็จะเป็นการรายงานข่าวเข้ารายการ แต่พอเรามาทำถึงระยะหนึ่งเราก็เลยอยากจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นก้อนแบบเจาะลึก เราไปเห็นของมาเยอะมาก เราเสียดายของ อย่างเมื่อปีที่แล้วมีโอกาสได้ไปชายแดนซีเรีย เจอผู้อพยพมากมาย เราก็คิดว่าถ้ามีเวลาสัก 20 นาที เราจะมีโอกาสที่จะสื่อสารกับผู้ชมได้มากกว่าแค่การรายงานข่าว และก็เข้าใจช่อง 3 นะ เพราะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเขามีเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องของเรา เรื่องของเราผู้ใหญ่ท่านเห็นความสำคัญเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ลำดับต้นๆ แต่ไม่ใช่หมายถึงว่าเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราอยากทำ เขาเห็นด้วยและอยากสนับสนุน แต่ผู้ใหญ่บอกว่ารอได้ไหม ถ้ารอได้ก็อยากให้รอ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นเมื่อไร เขาต้องทำอันดับต้นๆ ให้เรียบร้อยก่อน เพราะตั้งแต่ต้นปีมาเราก็ใช้เวลารอมาโดยตลอด เราก็บอกผู้ใหญ่ไปว่าเราคิดมาเป็นปีแล้วจนมันตกตะกอน แต่ถ้ามันมีโอกาสได้ทำเลย เราก็จะขออนุญาตทำเลยนะ ซึ่งผู้ใหญ่ท่านก็เข้าใจและอนุญาตให้เราออกมาทำรายการ”
“จริงๆ ก่อนที่จะมาคุยก็พีพีทีวี เราก็ได้ขออนุญาตทางช่อง 3 ก่อน ซึ่งคุณประวิทย์ก็ใจกว้างมาก ถ้ามันเป็นหนทางที่ทำให้เราเติบโตและท่านน่าจะเข้าใจว่าในสถานการณ์ขณะนี้กับสิ่งที่เราอยากทำ มันยังทำไม่ได้เลย (แต่ช่อง 3 มีตั้งหลายช่อง ทำไม? ไม่มีหนทางให้รายการลง) อันนี้เกินวิสัยที่เราจะรู้แล้วว่าจะมีหนทางหรือไม่มีหนทาง แต่ผู้ใหญ่บอกมาอย่างนี้ เราก็น้อมรับเอาไว้ แสดงว่ามันยังไม่มีเวลาที่ลงตัวและเรื่องงบประมาณที่จะมาสนับสนุน”
มาอยู่ PPTV ในฐานะรับจ้างผลิตรายการ ไม่ใช่ผู้ประกาศข่าว พอใจถึงจะได้เงินไม่เยอะแต่ได้อิสระในการทำงาน
“การมาอยู่พีพีทีวี คือเรามารับจ้างเป็นผู้ผลิตรายการ ไม่ใช่พนักงานบริษัทไม่ต้องอ่านข่าวทำแค่รายการของเราเท่านั้น แต่ถ้ามีกรณีพิเศษเกี่ยวกับสิ่งที่เราไปทำอยู่ อย่างเลือกตั้งอเมริกาเราก็ถึงมาช่วยได้ และที่บอกว่าไม่ต้องมานั่งอ่านข่าว เพราะมันไม่ใช่ความฝันของเรา ถ้าเกิดอยากอ่านข่าวปกติ เราก็ไม่ต้องดิ้นรนออกจากไทยทีบีเอสหรือว่าช่อง 3 ส่วนเรื่องเงินเข้าใจว่าคนต้องมอง เพราะว่าเรื่องเงินกับการทำงานมันต้องไปด้วยกัน เพราะรายการที่เกี่ยวกับต่างประเทศมันต้องใช้งบประมาณ ค่อนข้างสูง ซึ่งโชคดีที่เราคุยกับทางพีพีทีวีแล้วเขามีแนวทางตรงนี้พอดี ซึ่งมันก็ไปด้วยกันได้ ในแง่ของตัวเงิน 1 บาทกับ 10 บาทมันขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไร ถ้าเกิด 10 บาทเรานั่งอ่านข่าวอย่างเดียว มันเยอะ แต่ถ้า 10 บาท เราใช้เดินทางไปทำงานที่อิรักมันก็ไม่เยอะ และตัวเงินที่ได้มามันเพียงพอต่อการทำให้เราได้อิสระในการทำงานในสิ่งที่เราอยากทำได้ และไม่มีแรงกดดัน”
“การตัดสินใจมาอยู่พีพีทีวี ไม่ได้อยู่ที่ตัวช่องว่าเขาเป็นช่องเล็ก แต่มันอยู่ที่ตัวงานมากกว่า เราอยู่มาหลายที่ เราได้ทำทุกๆ อย่างมาแล้ว งานผู้ประกาศข่าวมีคนทำได้ แต่ในงานภาคสนาม ไปเจอคน ไปเจอเหตุการณ์อะไรยังมีคนทำตรงนี้น้อยอยู่คือความฝันของเราต่างกัน บางคนฝันเป็นผู้ประกาศข่าวสามมิติ แต่เราไม่ใช่คนแบบนั้น ผู้ใหญ่ก็รู้ เราไม่ได้ยึดติดหัวโขนขนาดนั้น เราจะยึดสิ่งในสิ่งที่เราอยากทำ อย่างงานผู้ประกาศมันเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เราอยากทำแล้วเราก็ได้ทำ และพอทำจบแล้ว เราก็มูฟออนหาอะไรที่ทำใหม่ๆ เราไม่ได้บอกว่างานผู้ประกาศไม่ใช่งานที่ไม่ดีหรือว่าไม่มีเกียรติ มันเป็นงานที่มีเกียรติมาก แต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำแล้วก็ได้ทำแล้วก็เท่านั้นเอง ชีวิตคนเราต้องดิ้นรนเนอะ”
“เรียกว่าเป็นการซื้อตัวหรือเปล่า คือตอบแบบนี้ดีกว่าว่าวันแรกที่มาคุยกับพีพีทีวี เขาก็ถามว่าเราอยากทำอะไร เพราะนอกจากพีพีทีวีแล้วก็มีการพูดคุยกับไทยทีบีเอส เพราะทางไทยทีบีเอสเขาเปิดรับผู้ผลิตรายการแนวนี้ ซึ่งเขาเป็นองค์กรสาธารณะ เวลาที่เขาเปิดรับสมัครเขาก็จะมีอัตราจ้างที่เปิดเผยที่ถ้าใครรับได้ก็ทำ และพอมาคุยกับพีพีทีวีก็บอกว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ เพราะถ้าใครซัพพอร์ตเราในการทำรายการในฝันให้สำเร็จ เราก็จะตัดสินใจทำที่นั่น”
“คือค่าใช้จ่ายต่อเทปนั้น อย่างอเมริกาค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ค่าเครื่องบินค่าเดิน และเราเดินทางไป 3-4 รัฐ เพื่อไปเก็บภาพทำข่าวก็หลายแสนอยู่นะ หรืออย่างเวลาไปทำข่าวที่อิรัก ก็ค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน อย่างเข้าไปทำในเขตของไอเอส รถกันกระสุนที่ต้องเช่าใช้วันหนึ่งก็ประมาณ 1,500 ดอลล่าร์ (เงินไทย 52,500 บาท) เราจะเลือกไปพื้นที่ๆ เข้าไปยากๆ โอเคถ้าเราเลือกไปฟิลิปปินส์หรือว่าฮ่องกงมันอาจจะถูก แต่หลายครั้งเราก็ต้องเลือกไปสถานที่สู้รบที่เป็นสงคราม”
“ค่าใช้จ่ายมันประเมินไม่ได้หรอก เพราะถ้าเราเป็นอะไรไปล่ะ นึกออกไหม เราต้องรับผิดชอบเอง อย่างไปอิรักมาก็ได้มา 2 เทป กับค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเกือบๆ 4 แสนบาท และถ้ามองในแง่การตลาดมันคัฟเวอร์นะ แต่ถามว่ามันเหลือกำไรให้ตัวเองไหม ยกตัวอย่างง่ายๆ นั่งอ่านข่าวสบายกว่ารวยกว่าและรายได้ดีกว่า ตัวอย่างเราอ่านข่าวได้เดือนละ 4 แสน แต่พอเรามาทำงานนี้เราให้เงินเดือนตัวเองแสนห้า แต่เราทำงาน 24 ชม. ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ การย้ายของเราในครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องเงินไหม คือเงินค่าจ้างเรามันเยอะขึ้น แต่มันก็มีค่าใช้จ่ายในการทำรายการ เพราะเราก็ไมได้ตั้งงบว่าต่อครั้งที่ไปทำข่าว แต่เราก็ต้องตั้งไว้ว่าไปอิรักครั้งนึง เราต้องทำมากี่เทปถึงจะคัฟเวอร์กับงบที่ลงทุนไป แต่กี่เทปก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับเนื้อหา เพราะเราจะไม่ยัดเยียดอะไรที่ไม่ใช่ลงไป”
มั่นใจว่าชื่อ “กรุณา” ยังขายได้อยู่ ยอมรับว่ากดดันแต่ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายให้กับชีวิต ส่วนจะกลับไปร่วมกับช่อง 3 อีกหรือเปล่า? ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต
“กดดันกับความคาดหวังที่เกิดขึ้นนะ แต่มันเป็นความกดดันที่ทำให้เราได้สู้ ได้ท้าทายกับตัวเอง เพราะชีวิตคนเราต้องมีความกดดัน เพราะถ้าใช้ชีวิตสบายมาก มันก็จะไม่ได้พัฒนา ไม่ได้ลองอะไรใหม่ๆ ถึงแม้จะทำข่าวมา 10 กว่าปี แต่การทำรายการครั้งนี้มันเป็นอะไรที่ยาวขึ้น การทำรายการสารคดีมันต้องเก็บรายละเอียดมากกว่าการทำข่าว”
“ส่วนจะกลับไปร่วมงานกับช่อง 3 อีกไหม คือทางผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ปิดทาง เพราะอนาคตเราเองก็ไม่รู้ แต่ที่เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน เราจะทำงานให้ดีที่สุดและไม่ว่าออกจากที่ไหนเราก็จะไม่เผาสะพาน และผู้ใหญ่ทางช่อง 3 ก็รู้ว่าเราจะทำอะไร และถ้าเราจะทำอะไรหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเราก็จะไม่ปิดบังผู้ใหญ่ทางพีพีทีวี เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันคุยกันได้ หรือว่าเราทำไปสักพักหนึ่ง แล้วเราแฮปปี้มีความสุข เราก็อาจจะอยู่ได้ไปเรื่อยๆ ซึ่งอายุของรายการทดลอง 2 ปี ส่วนจะไปทำช่องอื่นได้ไหม มันก็ได้นะ แต่เราจะขอใช้เวลาทุ่มเทกับการทำรายการนี้”
รู้ว่ารายการอาจอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็ดีใจที่ได้เริ่มทำ เพราะรายการแบบนี้จะทำให้สังคมเติบโตดีขึ้น
“การที่เราต้องทิ้งช่อง 3 แล้วมาเริ่มต้นใหม่ มันก็เหมือนกับที่เราเคยทิ้งการเป็นผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ทางช่องไทยทีบีเอส ซึ่งมันพีคมากและเป็นจุดที่หลายคนอยากทำ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเรา และมันถึงเวลาที่เราต้องมูฟออน การที่เรามาอยู่ช่อง 3 เราได้โอกาสเยอะมาก จนถูกมองว่าเป็นตัวหลักคนหนึ่งของช่อง แต่ชีวิตคนเราเดินมาสักระยะหนึ่งแล้ว มันต้องหาอะไรเปลี่ยนแปลง โอกาสดีๆ ที่เข้ามามันก็โอเค คนอาจจะมองว่าเราทิ้งสิ่งพวกนั้นไปทำไม เราอยากให้มองว่าเราต้องมองหาสิ่งใหม่ บางคนอาจจะมีความสุขกับสิ่งที่สบายๆ แต่เราไม่ใช่อย่างงั้น เราอยากทำอะไรใหม่ มันอาจจะไม่เพอร์เฟกต์ในเทปแรกหรือวันแรกๆ แต่ถ้าไปสักระยะนึงมันก็อาจจะดีขึ้น”
“ถ้าถามว่า คิดว่าชื่อของเรายังขายได้ไหม ก็น่าจะได้น (หัวเราะ) และจริงๆ แล้วขายได้หรือไม่ได้มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราหาอะไรใหม่ๆ มาให้ตัวเองหรือเปล่า การที่เราอยู่ที่เดิมๆ หรือทำอะไรเดิมๆ มันก็จะเดิมๆ และในเวลานี้ทีวีดิจิตอลมีหลายช่องมากขึ้น แต่คนที่ทำงานภาคสนาม ที่สั่งสมประสบการณ์และจะทำเรื่องยากๆ ทั่วโลกมาเป็นเรื่องง่ายๆ ให้คนเข้าใจนั้นมันมีไม่กี่คนหรอก”
“ความสุขตอนนี้คือการเดินทาง ได้เจอคนใหม่ๆ ได้พูดคุย ได้สนทนา เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ วิธีการเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือการได้พูดคุยกับคน เพราะบางคนอาจจะมีความสุขอยู่กับบ้าน ซึ่งเราก็มี แต่มันเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งคือการได้เจอวัฒนธรรมของคนอื่น ชอบการเรียนรู้ และคิดว่าชีวิตคนเรามันจะเต็มจะสมบูรณ์คือการได้รู้จักคนเพิ่มมาก”
“คาดหวังว่ามันจะเป็นจุดๆ หนึ่ง แต่อาจจะไม่ได้สร้างอิมแพคพลิกหลังมือเป็นหน้ามือ แต่ถามว่าเคยมีรายการแบบนี้ไหม มันก็เคยมี แต่ว่าแบบที่เราอยากทำ ก็อาจจะไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะมันก็เคยมีมาก่อน อย่างรายการต่างประเทศแบบนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะเราจะดำเนินรายการกันในสถานที่จริงๆ ไม่ใช่จัดอยู่ในสตูดิโอ เราคาดหวังว่าสังคมที่เติบโตแล้วมันจะมีรายการข่าวประเภทนี้อยู่และเรทติ้งดีที่สุดก็คือรายการแบบนี้ ถ้าเราอยากให้สังคมเติบโต เราต้องมีรายการแบบนี้ ถึงมันจะอยู่ได้ไม่นาน แต่เราก็ภูมิใจที่เราได้เริ่มทำ”