xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจริงสุดหลอน หรือแค่ละครแหกตา? : The Conjuring 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากโลดโผนโจนทะยานไปกับการกำกับหนังแอ็กชั่นฟอร์มยักษ์ Fast and Furious ภาค 7 คนทำหนังสัญชาติมาเลเซีย “เจมส์ วาน” กลับสู่แนวทางที่สร้างตัวสร้างตนเขามาจนทุกวันนี้อีกครั้งกับหนังสยองขวัญภาคต่อ ซึ่งทำไว้ได้ดีงามมากในภาคแรก... เดอะ คอนเจอริ่ง 2 และเขาก็ไม่ทำให้คนดูรู้สึกผิดหวัง

จำได้ว่า ในภาคที่หนึ่ง ผมเคยเขียนถึงไว้เหมือนกัน ข้อสำคัญประการหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อโลกแห่งการดูหนัง หรือพูดตรงๆ ก็คือหนังผี เดินทางมาไกลหลายพันลี้ขนาดนี้แล้ว หนังผีจะยังหลงเหลืออะไรให้คิดใหม่ทำใหม่ได้อีก คำตอบก็คือ เจมส์ วาน ไม่มัวเสียเวลาไปกับการควานหานวัตกรรมอะไรให้ยุ่งยาก แต่เขาใช้ทักษะเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์แห่งหนังผีนี่ล่ะครับ หยิบจับเอามาใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะในการหลอก การปล่อยผี ซาวด์เอฟเฟกต์ มิวสิกสกอร์ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้เราได้กลัวในหนังเดอะ คอนเจอริ่ง ภาคหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่หนังรุ่นพี่ไปจนถึงรุ่นพ่อเคยทำมาแล้วแทบทั้งนั้น

แล้วอย่างนี้ อะไรล่ะคือความงามความดีในการนำสิ่งเหล่านี้มาใช้?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ความแม่นยำครับ แม่นยำและลงตัวในแบบของเจมส์ วาน ค้อนหนึ่งอันอยู่ในมือคนหนึ่งคน มันอาจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังดั่งอยู่ในมือของเทพเจ้าธอร์ ขณะที่ถ้าอยู่ในมือของอีกคน มันเป็นอาจเป็นเพียงภาระของหนักชนิดหนึ่ง ... แต่สำหรับเจมส์ วาน ค้อนอันดังกล่าว เขาทั้งยกมันขึ้นมาได้และทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือทรงพลัง

หลอนไม่หลอน แค่ไหนอย่างไร ก็คิดดูแล้วกันครับว่า เมื่อครั้งที่เดอะ คอนเจอริ่ง เข้าฉาย การณ์ก็กลายเป็นว่า มันส่งให้เกิดกระแสของตุ๊กตาผีแอนนาเบลขึ้นมา จนนำไปสู่หนังภาคแยกที่บอกเล่าเรื่องราวของแอนนาเบลโดยเฉพาะ (Annabelle, 2014) เพียงแต่เจมส์ วาน ไม่ได้เป็นผู้กำกับเอง

สรุปในแง่ของความหลอนหรือน่ากลัว ตื่นเต้นและตกใจ เดอะ คอนเจอริ่ง 2 ยังคงจัดเต็มจัดหนักแบบไม่มีประนีประนอมเช่นเดียวกับภาคแรก ขณะที่สิ่งซึ่งยอดเยี่ยมขึ้นมาได้อีก เป็นส่วนของตัวเรื่องและบทภาพยนตร์ซึ่งมีเหลี่ยมมีมุมแหลมคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งคำถามต่อเรื่องความศรัทธา-ไม่ศรัทธา ความจริงหรือเสแสร้งแกล้งทำ จังหวะหนึ่งจังหวะใดในหนัง คนดูจะถูกกระชากเข้าไปอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่งนี้ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกของหนังที่ชวนให้คนดูได้ใช้ดุลพินิจของตนเอง

ตัวเรื่องคร่าวๆ ที่พอจะเล่าได้... หญิงกลางคนผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับลูกน้อยสี่ชีวิต ในบ้านซึ่งเด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียกพ่ออีกต่อไปแล้ว... และเมื่ออยู่ๆ ไป ก็เริ่มเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับลูกสาวคนหนึ่ง (เจเน็ต) ก่อนที่มันจะลุกลามหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่บทสรุปแห่งการเข้ามาเกี่ยวข้องของ “เอ็ด” กับ “ลอว์เรน” สามีภรรยาตระกูลวอร์เรนที่กำลังโด่งดังมีชื่อเสียงด้านการไล่ผีอยู่ใน ค.ศ.นั้น

อย่างที่หลายคนคงทราบครับว่า เดอะ คอนเจอริ่ง ภาค 2 นี้ก็มีที่มาจากเหตุการณ์จริงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราวๆ ปลายทศวรรษ 1970 ... จากสกู๊ปของรายการวิวไฟน์เดอร์ ทางช่องซูเปอร์บันเทิง เกี่ยวกับที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้นับว่าน่าสนใจมาก อย่างน้อยที่สุด ในมิติของสังคม ผมรู้สึกว่าสิ่งที่หนังเก็บเกี่ยวเอามาเล่านั้น ได้พาดพิงไปถึงความจริงบางประการในยุคดังกล่าว สำหรับคอหนังสยองขวัญตัวจริง หรือที่มีอายุมากๆ หน่อย คงจะจำกันได้นะครับว่า ในปี ค.ศ.1973 นั้น ได้มีสุดยอดหนังผีสยองขวัญเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์ ซึ่งชื่อมีชื่อว่า ดิ เอ็กซอร์ซิสต์ (The Exorcist, 1973)

แรงเหวี่ยงแรงส่งของหนังเรื่องดังกล่าว ไม่เพียงนำให้เกิดความรู้สึกสยองขวัญสั่นประสาทแบบที่เรียกได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในการเล่นกับอารมณ์ของคนดูผู้ชม (พระคริสต์ปราบผีที่สิงสู่อยู่ในร่างของเด็กหญิง และมีฉากชวนสยอง พร้อมกับชวนแหวะไปด้วยในขณะเดียวกัน) ดังนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งรู้กันสำหรับคนยุคนั้นก็คือ ปรากฏการณ์หนังดังกล่าว มันได้นำไปสู่เหตุการณ์เชิงหลอกลวงอีกมากมาย เด็กหญิงจากหลายหลังคาเรือน เริ่มทำตัวเลื่อนเปื้อนราวกับถูกผีสิง เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเพราะอยากจะเป็นข่าว ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้แหละครับที่เดอะ คอนเจอริ่ง ก็หยิบจับเอามาเป็นหนึ่งแก่นของประเด็นนำเสนอ เมื่อเจเน็ตและครอบครัวของเธอแสดงให้เห็นว่าพวกเธอกำลังถูกคุกคามจากซาตานผีร้าย คนจำนวนหนึ่งก็ตั้งข้อสงสัยขึ้นมาทันควัน ส่วนหนึ่งนั้นก็คือ “สื่อมวลชน” หรือพวกนักข่าวที่ก็คงจะโดนหลอกมาแล้วไม่น้อยเหมือนกันจากเคสลักษณะนี้

ความเชื่อและศรัทธา จึงเผชิญหน้ากับคำถามอย่างหนักหน่วง แบบที่ถูกนำเสนอไว้ในเดอะ คอนเจอริ่ง ภาคนี้

เรื่องความหลอน ความน่ากลัว หรือตื่นเต้นตกใจ ตามสไตล์หนังผีสยองขวัญนั้น เชื่อว่าอย่างไรก็คงได้ไปเต็มๆ ครับ ความแม่นยำในการขับเคลื่อนหนังผีของเจมส์ วาน นั้นแม่นยำราวกับจับวาง ส่วนสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังซึ่งมีประเด็นหรือสาระให้ขบคิด ก็ยิ่งจะติดใจในสไตล์การทำหนังแบบเจมส์ วาน มากยิ่งขึ้นไปอีกจากหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าเขาใจเย็นพอสมควรกับการค่อยๆ กวาดต้อนเรื่องราวให้ค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้า ก่อนผวาเข้าสู่จุดวิกฤอันเคร่งเครียด... จากบ้านหนึ่งหลัง ครอบครัวหนึ่งครอบครัว ค่อยขยายขอบเขตไปสู่เพื่อนบ้าน และขยับจักรวาลออกไปเป็นสังคม ก่อนจะผูกปมให้แน่นหนาแข็งแรงด้วยคำถามระดับสากลอันว่าด้วยความงมงาย ไม่งมงาย ศรัทธา ไม่ศรัทธา

จังหวะที่เพลงประกอบ I Started a Joke (ขับร้องโดย บี จีส์) ดังขึ้นนั้น ส่งพลังให้กับหนังได้พีคมากๆ มันขโมยเอาความเชื่อมั่นไปจากเราแทบหมดสิ้น แล้วปล่อยให้เราดีดดิ้นอยู่ในร่างแหแห่งความสงสัย มึนงงกับสิ่งที่สายตาได้เห็นว่าความจริงแท้นั้นเป็นเช่นไร แต่...

“ศรัทธา แม้ในสิ่งซึ่งคนไม่ศรัทธา”
...ถ้อยคำนี้ดังก้องอยู่ในความรู้สึก และดูกลืนกลมไปกับตัวละครสำคัญทุกๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกผีหลอกหรือคนซึ่งรับหน้าที่ปราบปีศาจซาตาน เราจะชอบความตึงเครียดในพาร์ทของครอบครัวเจเน็ต พอๆ กับที่ชอบความโรแมนติกที่ฟุ้งฟายอยู่ในบรรยากาศชีวิตของ “เอ็ด” และ “ลอว์เรน” ยอมรับครับว่า สิ่งที่เจมส์ วาน พูดว่าเขาจะพยายามทำให้หนังสยองขวัญหรือหนังผีดูมีภาษีมากขึ้นในสายตาของนิยามคำว่า “หนังดีๆ” นั้น เป็นความปรารถนาที่ได้รับการยืนยันผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ เราชอบดูหนังผี เราอยากถูกหลอก เราอยากตกใจ เราก็ได้ แต่ถ้าผ่าลงตรงบทภาพยนตร์ ในความเป็นผี กลับมีประกายบางอย่างเรืองรองส่องอยู่ในนั้น

หนังพูดถึงผีในบ้าน และ...ในทางใดทางหนึ่งก็ยืนยันถึงสภาพสังคมยุคนั้นที่บ้านมือสองหรือมือสามคือสิ่งที่สามารถเอื้อมคว้าได้ตามสภาพเศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งจะให้ซื้อที่สร้างบ้านใหม่ก็ไม่มีปัจจัยเพียงพอ จึงจำต้องอยู่บ้านที่ส่งผ่านมาแล้วหลายมือ และก็เป็นที่มาของประสบการณ์หลอนๆ... อย่างไรก็ดี ในขณะที่พูดเรื่องผีในบ้าน หนังก็พูดถึงความเป็นบ้านขนานไป ความเป็นบ้านที่ไม่ใช่เพียงอาคารบ้านเรือน หากแต่เป็นบ้านที่ก่ออิฐตั้งฐานขึ้นมาด้วยความรักความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว หากอิฐก้อนหนึ่งก้อนใดหายไป ฐานที่มั่นของครอบครัวก็อาจสั่นคลอนจนกลายเป็นที่มาของความทุกข์เศร้าอ่อนแอ และเปิดโอกาสให้ผีร้ายได้ขย้ำซ้ำเติม ฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ คือตอนที่เอ็ด วอร์เรน ถามแม่ของเจเน็ตเกี่ยวกับการหายไปของสามีของเธอ ฉากดังกล่าวอาจดูคล้ายไม่สำคัญ แต่ก็น่าคิดนะครับว่า ถ้า “อิฐก้อนนั้น” ของบ้าน (คือสามี และพ่อ) ยังอยู่ เหตุการณ์อาจจะต่างออกไป และปีศาจร้ายก็อาจไม่ได้ช่องจากความอ่อนแอทุกข์เศร้าของคน

ณ จุดนี้ ความแจ๋วของเจมส์ วาน ก็คือ ในขณะที่เขาพาเราก้าวสู่โลกแห่งความหลอน อีกฟากหนึ่ง เขาก็ค่อยๆ ช้อนความคิดเราให้ม้วนตัวเข้าสู่โลกแห่งความรักได้แบบโรแมนติกที่สุด

ความหลอนก็มี ความรักก็มา
นี่ล่ะครับ เดอะ คอนเจอริ่ง 2











ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น