xs
xsm
sm
md
lg

สงครามของคนไม่สำคัญ : Captain America : Civil War

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ถึงนาทีนี้ คำกล่าวที่พวกนักวิจารณ์หลายต่อหลายคนในเมืองนอกบอกว่า Captain America : Civil War ได้ทำในสิ่งที่ Batman V Superman : Dawn of Justice ทำผิดพลาดไว้ ให้ถูกต้อง ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกินเลยความจริงแต่อย่างใด cและโดยส่วนตัวของผม แม้ว่าจะชื่นชอบชื่นชม “แบทแมนปะทะซูเปอร์แมน” สูงมาก แต่กระนั้นก็ยอมรับว่า ในความเป็นหนังที่บันเทิง ดูสนุก อีกทั้งความเนี้ยบของบทหนังหรือกระทั่งประเด็นเนื้อหา ก็กล่าวได้ว่า “ค่อนข้างมาไกลมาก” หากเทียบกับหนังในกลุ่มฮีโร่มาร์เวลด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหนังกลุ่มรวมฮีโร่ที่หลายคนชอบนำไปเปรียบ อย่าง “ดิ อะเวนเจอร์ส” ทั้งสองภาคที่ผ่านมา

ไม่น่าแปลกหรอกครับว่า เพราะอะไร หนังเรื่องนี้จึงถูกยกไปเทียบกับ “ดิ อะเวนเจอร์ส” ทั้งสองภาค เนื่องจากองค์ประกอบพื้นฐานเบื้องต้นที่ขนบรรดาซูเปอร์ฮีโร่มาเป็นกองทัพ ก็คือรูปแบบที่ถูกใช้มาแล้วกับ “ดิ อะเวนเจอร์ส” ขณะที่อีกหนึ่งด้าน ก็ไม่น่าแปลกอีกเช่นกันที่กัปตันอเมริกาภาคนี้จะได้รับการนำไปจับเปรียบเทียบเคียงกับหนังซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายดีซีที่ออกฉายก่อนหน้าไม่นานมานี้อย่างเรื่อง Batman V Superman : Dawn of Justice ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ทั้งตัวประเด็นเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน (การตั้งคำถามต่อพฤติการณ์ของเหล่าฮีโร่) ทั้งตัวสถานการณ์ที่เป็นการปะทะเผชิญหน้าระหว่างฮีโร่ด้วยกันเอง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น การพูดถึงภาพรวมของ Captain America : Civil War (ศึกฮีโร่ระห่ำโลก) น่าจะเป็นส่วนสำคัญอันดับต้น

เรื่องย่อๆ ที่พอจะเล่าได้...ไทม์ไลน์ของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่เหตุการณ์ใน “ดิ อะเวนเจอร์ส ภาค 2” ผ่านพ้นไปไม่นาน การจัดการกับเหล่าร้ายที่โซโคเวีย แม้จะสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายฮีโร่ แต่ฉากหลังที่นอกเหนือไปจากรอยยิ้มของคนดีๆ และชัยชนะร่วมกันนั้น มีน้ำตาและความเศร้าที่คล้ายไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ไม่เพียงอาคารบ้านเรือนที่พังทลาย แต่ทว่าหลายต่อหลายคนสูญเสียครอบครัวคนรักอย่างไม่มีวันหวนคืน ยังความขมขื่นสะเทือนใจให้เกิดแก่เขาเหล่านั้น ฉากสั้นๆ ฉากหนึ่งในหนังที่อธิบายอารมณ์เช่นนี้ได้ดีก็คือฉากหน้าลิฟต์ที่หญิงผิวสีคนหนึ่งสนทนากับไอรอนแมน และกล่าวถึงการสูญเสียที่ยังความเศร้าโศกให้แก่เธอไม่สร่างซา...และทั้งหมดนั้นก็ดูจะกลายเป็นเงื่อนไขที่มาอันดับแรกๆ ซึ่งนำไปสู่การเซ็นสนธิสัญญาที่เรียกว่า “สนธิสัญญาโซโคเวีย” โดยข้อกำหนดหลักๆ อยู่ที่การบริหารจัดการการปฏิบัติภารกิจของเหล่าฮีโร่ ซึ่งก็นำไปสู่ความคิดที่แตกต่างระหว่างฮีโร่ด้วยกันเอง โดยแบ่งเป็นสองฝั่งสองทีม หนึ่งคือทีมที่นำโดย “ไอรอนแมน” ซึ่งเห็นด้วยกับสนธิสัญญาดังกล่าว ส่วนอีกฝ่ายนำโดยกัปตันอเมริกาที่ต่อให้หัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ให้ตนเองถูกจำกัดด้วยข้อตกลงดังกล่าว

สุดท้ายแล้ว ก็เป็นไปอย่างที่พอจะรู้ๆ กันอยู่นั่นล่ะครับว่า ความเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยนั้น ได้นำไปสู่การปะทะขัดแย้งกันระหว่างฮีโร่ตัวหลีดทั้งสอง เป็นที่มาของการประลองพละกำลังกันเอง และเป็นที่มาของความสนุกสนาน ครื้นเครง ไปจนถึงเคร่งเครียด ที่จะมอบให้กับคนดูผู้ชม และคงต้องกล่าวชมว่า การนำส่วนผสมต่างๆ มาบวกรวมกันในงานชิ้นนี้ โดยเฉพาะกองทัพเหล่าฮีโร่ เป็นการผสมผสานในสัดส่วนที่ถูกต้องดีงาม แม้จะมากมาย แต่ก็ได้ให้พื้นที่อย่างเหมาะสมแก่ตัวละครแต่ละตัว ไม่มีใครหลุดออกไปนอกเฟรมหรือการรับรู้ ซึ่งอันที่จริง นี่อาจเป็นทักษะแบบมาร์เวลที่ทำได้ดีมาแล้วใน “ดิ อะเวนเจอร์ส” ทั้งสองตอน อย่างไรก็ตาม แม้ในภาพลักษณ์ชั้นนอกสุดจะทำให้เรานึกถึง “ดิ อะเวนเจอร์ส” แต่ผมก็รู้สึกว่านี่คือ ดิ อะเวนเจอร์ส ที่อัปเกรดหรือเพิ่มเลเวลขึ้นมาอีกหลายขั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุผลหลักมาจากบทภาพยนตร์ซึ่งมีมิติมากขึ้น ลุ่มลึกยิ่งขึ้น ทั้งตัวละครแต่ละตัว รวมถึงปมประเด็นต่างๆ ที่ถูกผูกขึ้นอย่างมีเหตุมีผลและส่งผลรุนแรงในด้านความสะเทือนอารมณ์เมื่อถึงจุดพีคสุดของหนัง ดังนั้น แม้จะดูเหมือนว่าเป็น ดิ อะเวนเจอร์ส ซึ่งมาใช้สอยที่ทางของกัปตันอเมริกา แต่ก็เป็น ดิ อะเวนเจอร์ส ที่ไปไกลกว่า ดิ อะเวนเจอร์ส ปกติ ตามที่บอก

การทำหนังบันเทิงที่ให้ความบันเทิงได้ครบรสเต็มรูปแบบ ว่ายากแล้ว การทำหนังบันเทิงที่แทรกแซมประเด็นเนื้อหาอันมีพลังและส่งผลสะเทือนรุนแรงนั้น กลับยากยิ่งกว่า แต่กัปตันอเมริกา ศึกฮีโร่ระห่ำโลก กลับนำพาตัวเองไปได้ถึงขั้นนั้น มันให้ทั้งเรื่องราวความสนุกแบบที่ควรจะมี และให้ทั้งเนื้อหาอันสามารถนำไปขบคิดต่อยอด จากหน้าหนังที่ดูคล้ายๆ ว่าจะเป็นเรื่องราวของเหล่าฮีโร่ตีกันเอง แต่สุดท้าย กลับเปิดพื้นที่ให้กับแง่มุมหลากหลายได้สว่างไสวขึ้นมา

และก็อย่างที่เกริ่นไว้ครับว่า นี่เป็นหนังที่ปฏิเสธไม่ได้ในสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การเปรียบเทียบกับแบทแมนปะทะซูเปอร์แมนซึ่งเข้าฉายไปก่อนหน้า ซึ่งหลายกระแสเสียง ก็ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือเห็นว่ากัปตันอเมริกาดีกว่าแบทแมนปะทะซูเปอร์แมน และก็อย่างที่บอกไว้ในตอนต้น บางคนถึงกับบอกว่า กัปตันอเมริกาภาคนี้ได้ทำให้จุดอ่อนของหนังแบทแมนปะทะซูเปอร์แมนแข็งแรงขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า อะไรที่แบทแมนฯ ทำไว้ไม่ดี กัปตันอเมริกาทำให้มันแจ่มขึ้นมาได้หมดทุกจุด

พูดแบบคนที่สนุกกับทั้งสองเรื่องและชอบทั้งสองเรื่อง ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คงจะเหมือนกับที่ผมได้กล่าวไว้ในรายการวิวไฟน์เดอร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาในแง่ที่ว่า ขณะที่กัปตันอเมริกานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูชัดเจนในเหตุผลที่มาของเรื่องราวอะไรต่างๆ แต่แบทแมนปะทะซูเปอร์แมน กลับดูค่อนข้างอึมครึมหรือคลุมเครือ ซึ่งสิ่งนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะจริตของผู้กำกับด้วยส่วนหนึ่ง (แซ็ค ซไนเดอร์ กำกับ) งานสายฮีโร่ของผู้กำกับคนนี้ พูดตามจริง เก่งทางสายหม่น มู้ดแอนด์โทนหรือบรรยากาศอารมณ์ของการเล่าเรื่องจึงพลอยแตกต่างกันไปด้วย กัปตันอเมริกามีความเหนือกว่าในชั้นเชิงของการเป็นหนังที่พร้อมจะเข้าถึงตลาด ทุกอย่างเคลียร์คัตชัดเจนเฉกเช่นวันอันสดใส มองเห็นกิ่งก้านใบของต้นไม้ได้กระจ่างแจ้ง แต่แบทแมนปะทะซูเปอร์แมนคล้ายวันที่หมอกลงค่อนข้างหนาตา เห็นสิ่งใดไม่กระจ่างชัด แต่ก็ยังสัมผัสได้ในพลังของเรื่องราว

การเข้ามารวมทีมของซูเปอร์ฮีโร่รายแล้วรายเล่าในเรื่องกัปตันอเมริกา ดูมีที่มาและเหตุผลแจ่มแจ้งและได้รับการแจกแจงอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าเพราะอะไร คนเหล่านี้ถึงเข้ามาเป็นสมาชิกของทีมแต่ละฝ่ายหรือเพราะอะไรถึงได้รับการชักจูงให้เข้าร่วม ขณะที่เราจะพบว่า เหตุผลแห่งการมาของวันเดอร์วูแมนในแบทแมนฯ นั้นก็ยังอึมครึมไม่ชัดเจนว่ามีจุดประสงค์อันใดแฝงเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และอีกจุดใหญ่ๆ ในหนังแบทแมนที่เราจะได้เห็นในหนังแบทแมนก็คือการใช้ข้อมูลแบบเคลมเอาว่าคนดูทุกคนน่าจะรู้จักความเป็นมาของตัวละครดีอยู่แล้ว แต่ผลลัพธ์ก็คือ การแฟลชแบ็กหรือย้อนหลังเรื่องราวทั้งของแบทแมนและซูเปอร์แมน กลับกลายเป็นการเรียกร้องจากคนดูอยู่พอสมควร ถ้าไม่ใช่แฟนของทั้งสองตัวนี้มาก่อนหน้า ดูหนังแล้วอาจจะมีงงว่าเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในหนังมันคืออะไร และมีผลมากเพียงใดต่อหัวจิตหัวใจของตัวละคร พูดง่ายๆ ว่า แม้กระทั่งการย้อนกล่าวเล่าถึงพ่อเลี้ยงของซูเปอร์แมน (เควิน คอสเนอร์) ก็อาจทำเอาหลายคนงงได้ แต่สำหรับคนที่เป็นแฟน ก็อาจจะพอระลึกชาติได้ว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่นั่นไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับกัปตันอเมริกา แม้จะไม่ได้เป็นแฟนจ๋าของมาร์เวล แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเอนเตอร์เทนไปกับงานชิ้นนี้ได้แบบสบายไร้ห่วง เพราะตัวละครสำคัญๆ แต่ละตัวได้รับการอธิบายในแบบที่เคลียร์คัตชัดเจน

อีกประการสำคัญที่รู้สึกว่า กัปตันอเมริกาล้ำลึกกว่า ก็คือเรื่องของตัวร้ายผู้มุ่งหมายมาทำให้จักรวาลของฮีโร่เกิดความร้าวฉานระหว่างกัน รู้สึกว่าแผนของตัวร้าย ผ่านการวางแผนมาอย่างลุ่มลึกและเฝ้ารอ พอไปถึงจุดที่เฉลยอะไรต่างๆ พลังของตัวร้ายจึงเปล่งประกายพอๆ กับตัวฝ่ายดี ขณะที่ในแบทแมนปะทะซูเปอร์แมน มิติตัวร้ายค่อนข้างจะแบนราบ ผมรู้สึกอย่างนี้ว่า ถ้าย้ายตัวร้ายในกัปตันอเมริกาไปไว้ในแบทแมนปะทะซูเปอร์แมน ผลงานของดีซีเรื่องนี้อาจจะเพิ่มความขลังทรงพลังขึ้นอีกมาก

พูดกันอย่างถึงที่สุด เมื่อลองถอดสมการโครงสร้างของหนังทั้งสองเรื่องออกมาแล้วก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย (แม้เรื่องหนึ่งจะมีพลพรรคที่มากกว่า) เริ่มต้นด้วยการที่ซูเปอร์ฮีโร่ถูกตั้งคำถามจากสังคม > ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็เป็นโอกาสอันดีให้ใครบางคนอาศัยเป็นช่องทางในการยุยงส่งเสริมให้แตกแยกร้าวฉาน > เกิดการปะทะและเจ็บปวดสูญเสีย....อย่างไรก็ดี เมื่อมองในภาพกว้างๆ เนื้อหาที่ยังคงตกค้างอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของทั้งสองเรื่อง ที่โดดเด่นเฉียบคมที่สุดก็คือการตั้งคำถามต่อพฤติกรรมในการปฏิบัติภารกิจของเหล่าฮีโร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกัปตันอเมริกาที่ใช้คำว่า “Cvil War” เป็นชื่อย่อยของตอน มันอาจหมายถึงได้หลายสิ่ง เช่น “สงครามกลางเมือง” หรือสงครามการต่อสู้ปะทะกันของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ แต่ในอีกความหมาย Civil ก็กินความไปถึง “พลเรือน” หรือคนธรรมดาทั่วไป การปรากฏตัวขึ้นมาของ “บารอน ซีโม” ก็เสมือนการประกาศสงครามอย่างตรงไปตรงมาของ “พลเรือน” ที่จะไม่รับเอาทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ปริปากอันใด และประเด็นนี้ก็ไปเสริมทัพให้กับประเด็นหลักอันแรกที่ว่าด้วยการตั้งคำถามต่อปฏิบัติการช่วยโลกของเหล่าฮีโร่

Captain America : Civil War คือการมองเข้าไปในชะตากรรมของคนที่ไม่ได้อยู่ในเฟรมการต่อสู้ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ เขาเหล่านั้นต้องสูญเสียอะไรบ้างเพื่อสังเวยให้แก่ชัยชนะของท่านผู้ทรงพละกำลัง เราอาจเคยเห็นเด็กน้อยบางคนที่เฝ้ามองฮีโร่ด้วยความชื่นชมแล้วฮีโร่ก็เข้าไปช่วยเมื่อยามเกิดวิกฤติ แต่นั่นก็เพียงส่วนน้อย (และเสริมภาพลักษณ์ของฮีโร่เท่านั้น) เมื่อเทียบกับเมืองทั้งเมืองที่ถล่มทลาย...พวกเขาคือคนที่มักจะไม่มีความสลักสำคัญอันใดในหนังฮีโร่ปะทะกันแบบวินาศสันตะโร พวกเขาเหมือนไร้ตัวตนเสมอมา ได้แต่เฝ้ามองคนเก่งๆ เจ๋งๆ โชว์ความเก่งกาจฉกาจกล้าของตนจนแหลกลาญกันไปทั้งเมือง

ความวอดวายวินาศสันตะโร ไม่ได้เกิดจากฮีโร่ตั้งใจไปรุกรานใคร แต่ก็อย่างที่หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามว่า ภารกิจแต่ละครั้ง มันไม่ได้มีเพียงด้านที่สวยงาม เพราะความสูญเสียนั้นปรากฏชัดถนัดตา สิ่งที่น่าสงสัยอีกประการหนึ่งซึ่งหลุดผ่านมาในหนังเรื่องนี้ก็คือคำพูดของกัปตันอเมริกาที่บอกว่าการบาดเจ็บล้มตายหรือการพังทลายของอาคารบ้านเรือนขณะปฏิบัติการ มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เราต้องเสียสละบ้าง เหมือนๆ กับว่าใครจะเจ็บใครจะตาย ก็ไม่เป็นไรหรอก ขอแค่ฉันได้ผดุงโลกในแบบของฉันก็พอ กัปตันอเมริกานี่ เป็นทั้งทหารอเมริกันและสะท้อนแนวคิดแบบอเมริกัน... “ทหาร” และ “อเมริกัน” ที่ถึงอย่างไรก็ต้องจัดการเหล่าร้ายให้ได้ตามวิสัยเจตนาของตน

มองให้กว้างออกไปอีก จริงๆ แล้ว คนแบบ “บารอน ซีโม” ไม่ได้หายากหาเย็นในโลกความเป็นจริง และมันก็เป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ในแง่ที่สะท้อนถึงหัวจิตหัวใจของคนที่ไม่ได้เป็นคนใหญ่คนโต แต่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยและต้องจ่ายหลายสิ่งหลายอย่างให้กับความสำเร็จของฮีโร่... Civil War มันก็คงจะเริ่มต้นมาจากความคับแค้นขมขื่นแบบบารอน ซีโม นี้กระมัง ไม่ว่าในโลกของหนังหรือโลกความเป็นจริง

เจตนาดี แต่ผลลัพธ์ไม่เวิร์ก เราก็ต้องยอมรับกันใช่ไหม?









ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น