หนังอิสระที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง Ten Years คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง ด้วยการเล่าเรื่องราวในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของคนฮ่องกง ซึ่งสะเทือนภาพความหวาดกลัวของคนฮ่องกง ที่กำลังถูกอิทธิพลของจีนครอบงำมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้จะได้รับรางวัลไปเพียงสาขาเดียว แต่รางวัลเดียวที่ Ten Years ได้รับบนเวทีมอบรางวัลภาพยนตร์ฮ่องกงก็คือสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลที่สำคัญที่สุดของงานซึ่งจัดกันเมื่อค่ำคืนของวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา
"ความหมายของรางวัลนี้ก็คือการแสดงให้เห็นว่าฮ่องกงยังมีความหวัง มันย้ำเตือนให้เรากล้าที่จะสร้างสรรค์ต่อไป ผมอยากจะขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันดูหนังเรื่องนี้" แอนดรูว์ ไช่ ผู้อำนวยการสร้างกล่าว ส่วนผู้กำกับคนหนึ่งของหนังก็แสดงความเห็นว่า "ถ้าคุณถามผมว่าปักกิ่งจะรู้สึกอย่างไรกับเรา ผมก็ขอตอบว่านั่นไม่ใช่ประเด็นเลย หนังเรื่องนี้สร้างออกมาให้คนฮ่องกงดู เรายอมรับได้ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ หวังแค่ว่าคนฮ่องกงจะสามารถแชร์ความรู้สึกกับเราได้ เราอยากจะให้คนได้คิดถึงอนาคตของฮ่องกงบ้าง"
ส่วน เอ๋อตงเซิน ผู้กำกับชื่อดังที่ปีนี้นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลก็กล่าวสั้นๆ ก่อนประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมว่า "ประธานาธิบดีรูสเวลเคยกล่าวเอาไว้ว่า สิ่งเดียวที่เราควรกลัว ก็คือความกลัวนั่นเอง"
ภาพของหญิงสาวที่เผาตัวเองเพื่อการประท้วง, คนขับแท็กซีที่แทบจะหมดหวังเมื่อต้องสอบภาษาจีนกลาง เพื่อให้ได้ใบอนุญาตทำงาน ทั้งๆ ที่เขาใช้ภาษากวางตุ้ง (ภาษาถิ่นของชาวฮ่องกง) มาทั้งชีวิต และยังมีภาพของเด็กวัยรุ่นในชุดทหารที่ออกเดินกันไปเต็มท้องถนน ล้วนเป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาของการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อ 40 ปีก่อน แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ย้อนยุค เพราะ Ten Years เป็นหนังที่เล่าถึงช่วงเวลาในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของฮ่องกงที่ประชาชนต้องอยู่อย่างหวาดกลัว, คนรุ่นใหม่ถูกล้างสมอง และฮ่องกงก็สูญเสียความเป็นตัวเองไปเรื่อยๆ
Ten Years เป็นหนังที่ประกอบไปด้วยหนังสั้น 5 เรื่องผลงานของผู้กำกับหน้าใหม่ 5 คน ที่เล่าถึงความรู้สึกหวาดกลัวของชาวฮ่องกงต่ออนาคตของเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ ที่รัฐบาลปักกิ่งมีแต่จะปกครองแบบเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Ten Years เริ่มเข้าฉายแบบจำกัดโรงในเดือน ธ.ค. ปีก่อน และทำเงินได้ถึง 6 ล้านเหรียญฮ่องกงแล้ว จากที่ใช้ทุนสร้างเพียงแค่ 500,000 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 2 ล้านบาท) เท่านั้น
"หนังเรื่องนี้ก็คือเสียงสะท้อนของชาวฮ่องกง" อั้งกาเหลียง ผู้กำกับวัย 34 ปี กล่าว "ผมอยากจะใช้หนังเพื่อตอบคำถามหลายๆ เรื่องที่ผมอยากจะตอบ อย่างเรื่องที่ว่าฮ่องกงจะมีทางออกในทางใด และจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง" โดยหนังตอน Egg Man ของเขาเล่าถึงชีวิตของพ่อค้าแผงลอยที่ถูกกลุ่ม "ยุวชนแดง" โจมตี ระหว่างกำลังออกล่าประชาชนที่เห็นแตกต่าง
ซึ่งก็เพราะเนื้อหาที่ว่าด้วยประเด็นทางการเมืองแบบตรงๆ ก็ทำให้งานประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของฮ่องกงถูกงดออกอากาศในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งแม้หนังสือพิมพ์ Global Times กระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่งจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และยังเรียกหนังเรื่อง Ten Years ว่านำเสนอเนื้อหา "ไร้สาระ" และแสดงออกถึง "จิตใจที่ป่วยไข้"
ขณะที่กลุ่มผู้สร้างเชื่อว่าหนังกำลังถูกสกัด ทั้งในหน้าสื่อ และโอกาสที่จะได้เขาโรงฉายมากกว่านี้ แม้ตัวหนังจะทำเงินได้ดีก็ตาม อย่างไรก็ตามชาวฮ่องกงที่ได้ชมหนังต่างแสดงความรู้สึกอย่างรุนแรงแทบจะทุกคน "ผมรู้สึกว่าสิ่งที่หนังพยายามจะทำนาย อาจจะเกิดขึ้นจริงๆ" ชายวัย 53 ปี ที่ได้ชมภาพยนตร์กล่าว "อาจจะเลวร้ายกว่าที่เห็นในหนังก็ได้"
หลังการส่งมอบการปกครองเกาะฮ่องกงจากอังกฤษคืนให้กับจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1997 ได้มีข้อตกลงจากทางรัฐบาลปักกิ่ง ที่จะคุ้มครองสิทธิการแสดงความคิดเห็นของชาวฮ่องกง แต่ระยะหลังชาวฮ่องกงกลับเริ่มรู้สึกวิตกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเริ่มจำกัดสิทธิ์ของพวกเขาลงเรื่อยๆ ทั้งการแสดงความคิดเห็น, สื่อ และการศึกษา
ขณะที่นักวิจารณ์ก็กล่าวว่า Ten Years สามารถสร้างปรากฏการณ์ขึ้นได้ ก็เพราะสาธารณะชนอย่างจะเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแบบตรงๆ โดยไม่มีการบิดเบือน "ฮ่องกงเองก็มีหนังการเมืองอยู่บาง แต่ส่วนใหญ่ใช้การอุปมาอุปมัย หรือไม่ก็นำเสนอเรื่องราวแบบอ้อมๆ แต่ Ten Years เล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมามาก และแทบจะตีแสกหน้าสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง" นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ดอมินิค ลี กล่าว "ผู้กำกับหนุ่มทั้ง 5 คนได้แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่ง ในการสร้างหนังเกี่ยวกับประเด็นที่เปราะบางมาก"
ปัจจุบันมีคนทำหนังฮ่องกงจำนวนมากที่ตัดสินใจไปหาทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็แน่นอนว่าทุกคนต้องทำหนังเพื่อให้ผ่านการตรวจพิจารณาอันเข้มงวดจากจีน แต่สำหรับผู้กำกับหนุ่ม เจวอนส์ อั้ง วัย 35 ปีแล้วกลับมองตรงกันข้าม เพราะเขาคิดความอิสระในการเป็นเสียงของคนฮ่องกงเท่านั้น ที่จะทำให้อุตสหากรรมภาพยนตร์ของที่นี่อยู่ได้ โดยหนังตอนที่มีชื่อว่า Dialect ของ เจวอนส์ อั้ง เล่าถึงเรื่องราวของโชเฟอร์แท็กซีที่พูดเป็นเฉพาะภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชาวฮ่องกง กลับต้องพบกับความยากลำบากในการสื่อสารกับผู้โดยสารซึ่งพูดภาษาจีนกลาง ภาษาราชการของจีนแผ่นดินใหญ่
สำหรับผลงานที่กวาดรางวัลไปได้มากสาขาที่สุดก็คือหนังอาชญากรรมระทึกขวัญ Port of Call ที่คว้าไปได้ถึง 7 สาขา และยังกวาดรางวัลด้านการแสดงทั้งนำชาย-หญิง และสมทบชาย-หญิงไปครบทั้งหมด โดยหนังอ้างอิงคดีฆาตกรรมสุดสะเทือนขวัญเมื่อไม่กี่ปีก่อนในฮ่องกง ที่หญิงสาวค้าบริการทางเพศวัยแค่ 16 ปีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ถูกฆาตกรรม ศพหัวขาด และมีการตัดอวัยวะบางส่วนออกเป็นชิ้นๆ ทิ้งลงโถชักโครก โดย กัวฟู่เฉิง ที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงตัวเองจนแทบจำไม่ได้ ในการสวมบทตำรวจที่ทำคดีนี้ ก็สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ฮ่องกงได้เป็นครั้งแรกหลังเคยชิงรางวัลนี้มาถึง 5 ครั้ง
ฉีเคอะ เป็นอีกคนที่สมหวัง ด้วยการคว้ารางวัลเวทีนี้ได้เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน จากการกำกับหนังแอ็กชั่นสงครากลางภูเขาหิมะ The Taking of Tiger Mountain นอกจากนั้น SPL 2: A Time for Consequences ที่ จา พนม มีส่วนร่วมแสดงก็สามารถคว้ารางวัลด้านการออกแบบฉากแอ็กชั่นได้ด้วย
รางวัลภาพยนตร์ฮ่องกง เป็นเกียรติยศของคนในวงการหนังของที่นี่ ที่องค์กรวิชาชีพ และกลุ่มธุรกิจภาพยนตร์ของฮ่องกงร่วมกันจัดมาถึง 35 ปีแล้ว
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: Ten Years
ผู้กำกับ: ฉีเคอะ (The Taking of Tiger Mountain)
นักแสดงนำชาย : กัวฟู่เฉิง (Port of Call)
นักแสดงนำหญิง: เจสซี ลี (Port of Call)
นักแสดงสมทบชาย: ไมเคิล หนิง (Port of Call)
นักแสดงสมทบหญิง: อีแลน จิน (Port of Call)
บทภาพยนตร์: ฟิลิป หยง (Port of Call)
นักแสดงหน้าใหม่: ไมเคิล หนิง (Port of Call)
ถ่ายภาพ: คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Port of Call)
ตัดต่อ: เจิ้งเจียฮุย (Ip Man 3)
ออกแบบงานศิลป์: วิลเลียม จาง (Office)
ออกแบบเสื้อผ้า และการแต่งหน้า: เอ๋อจงหมั่น (Monster Hunt)
ออกแบบฉากแอ็กชั่น: ลี่จงจื่อ (SPL 2: A Time for Consequences)
ดนตรีประกอบ: หลอต้าอีว์, เฉินฮุยหยง (Office)
เพลงประกอบ: We Almost Fly (จากหนัง She Remembers, He Forgets)
ออกแบบเสียง: คิสสัน เจิ้ง, จอร์จ ลี, ชิวชุนฮิน (The Taking of Tiger)
เทคนิคพิเศษ: เจสัน สเนล, เอลเลน พูน และ ถังปิงปิง (Monster Hunt)
ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากไต้หวัน หรือจีนแผ่นดินใหญ่: The Assassin
ผู้กำกับหน้าใหม่: รามัน ฮุย (Monster Hunt)
รางวัลเชิดชูบุคลาการในวงการ : โจวหยงกัวะ (จัดแสง)
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม