น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นสัปดาห์แห่งหนังเกมโดยแท้จริง เพราะถ้าดูตัวเลือกที่เด่นๆ ในฐานะที่เป็นหนังดัง HITMAN: AGENT 47 ซึ่งสร้างมาจากเกมยอดนิยมเกมหนึ่งซึ่งยังมีให้เล่นกันจนทุกวันนี้ ก็นับได้ว่าเป็นตัวเลือกที่หลายคนอยากจะตีตั๋วเข้าไปดู แม้กระแสคำวิจารณ์ไม่ดีนัก แต่ถ้านึกถึงหลักความเป็นจริงที่ว่าหนังแอ็กชั่นมักจะมีที่อยู่ที่ยืนเสมอในตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนดู ฮิตแมนก็คงจะทำเงินในบ้านเราไปตามสมควร ขณะที่อีกหนึ่งเรื่อง อย่างพิกเซล (Pixels) ก็เกาะเกี่ยวผูกพันอย่างแยกกันไม่ออกกับสิ่งที่เรียกว่าเกม เพียงแต่อาจไม่ใช่เกมร่วมสมัย เพราะหนังจะอ้างอิงกลับไปถึงเกมยุคเก่าในช่วงทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็น แพ็คแมน, ดองกี้ คอง, กาลาก้า, เซ็นติพีด, สเปซ อินเวเดอร์, อาร์คานอย และเตอร์ติส ซึ่งเป็นเกม 8 บิตที่เคยฮิตในสมัยนั้น
ความน่าสนใจอันดับแรกๆ ที่น่าพูดถึงก็คือ พิกเซลนั้นหยิบเอาเค้าโครงมาจากหนังสั้นในยูทูปซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส “แพททริก ฌอง” ที่เล่าเรื่องราวภายในเมืองที่ถูกตัวละครจากวิดีโอเกมยุค 80 เข้ามารุกรานโดยที่ยังรูปลักษณ์หน้าตาเป็นเม็ดสีพิกเซลอันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง และเมื่อหนังเรื่องนั้นมาอยู่ในมือของคริส โคลัมบัส ตัวเรื่องได้ขยับขยายออกไป จากเมืองหนึ่งเมือง กลายเป็นโลกทั้งใบ และสงครามถูกขยายไปเป็นการยึดครองโลก
ที่มาที่ไปของสงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1982 เมื่อนาซ่าได้ส่งแคปซูลกาลเวลาที่บรรจุเอาอารยธรรมและการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นขึ้นไปในอวกาศด้วยจุดมุ่งหมายที่ว่า เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสิ่งมีชีวิตที่โลกอื่นรู้ว่ามนุษย์เป็นอย่างไรและเพื่อสานสัมพันธไมตรีที่ดี และหนึ่งในอารยธรรมที่ส่งไป ก็คือ “วิดีโอเกมส์ 8 บิต” (หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าเกมส์ตลับ) แต่ผิดคาด เพราะเอเลี่ยนที่ดาวดวงอื่นกลับคิดว่านั่นเป็นการประกาศสงคราม หลายปีต่อมา เมื่อเอเลี่ยนหาโลกพบ จึงส่งกองกำลังจากวีดีโอเกมส์ 8 บิตมาทำลายล้างมนุษยชาติ ด้วยวิธีตามที่เห็นในวิดีโอเกมส์นั้นๆ เช่น เกมส์ตัวต่อเตอร์ติสถล่มตึก หรือแพคเมนไล่กินรถ เมื่อถึงกาลวิกฤติ กลุ่มเด็กเนิร์ดในอดีตที่เคยพิชิตเกมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในยุค 80 จึงกลับมารวมตัวกันเพื่อต่อสู้กอบกู้โลก
ในแง่พื้นฐานเรื่องราว กล่าวได้ว่าพิกเซลมีความแปลกใหม่ในไอเดียที่ยากปฏิเสธ (แม้จะเป็นความใหม่ที่เก่า เพราะหยิบเอาความใหม่ในหนังสั้นมาอีกที) เชื่อว่าบรรดาเนิร์ดหรือนักเล่นเกมที่เติบโตมากับบรรยากาศยุค 80 น่าจะจูนอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้ หลายๆ ฉาก เป็นการย้อนวันวานอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะบรรยกาศของอาร์เคดที่เป็นเช่นจุดนัดพบของบรรดาขาเกมตัวพ่อตัวแม่ แต่อาร์เคดก็คงคล้ายๆ กับที่ “แซม เบรนเนอร์” (อดัม แซนด์เลอร์) พูดไว้ว่า ใครเขาไปเล่นเกมที่อาร์เคดกันล่ะ นั่นมันสถานชุมนุมสำหรับการเข้ากลุ่มสังคมต่างหาก ซึ่งก็น่าจะจริง อย่างที่คนยุคนั้นจะเคยผ่านหูผ่านตา ที่บ้านเราก็คงเป็นศูนย์การค้าที่มีเกมตู้ แล้วเด็กๆ ก็กรูกันไปรวมตัวที่นั่น เป็นการ “เข้าสังคม” และ “ได้เพื่อน” ด้วย เหมือนกับที่ “ลัดโลว์ ลามอนซอฟ” ที่ปกติอยู่บ้านก็คงเล่นแต่เกม ไม่คบค้ากับใคร แต่การไปอาร์เคดกลับทำให้เขาได้มีเพื่อนถึงสองคน คือแซม เบรนเนอร์ อัจฉริยะสายเกม และ “วิล คูเปอร์” เด็กติดเกมอีกคนที่จะเติบโตไปเป็นประธานาธิบดีในกาลต่อไป
โดยภาพรวมที่พอจะคาดเดาได้ตั้งแต่เห็นหน้าอดัม แซนด์เลอร์ แล้วล่ะครับว่า อารมณ์ของหนังจะเป็นไปทิศทางไหน ซึ่งก็ไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่คาดเดานั้น หนังเล่าตัวเองแบบครื้นเครงเฮฮาไปเรื่อย มีเส้นเรื่องเป็นโครงไว้ให้ยึดอันว่าด้วยสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ต่างดาว ระหว่างนั้นก็เพิ่มเรื่องราวที่เน้นเอาฮาเข้ามาแทรกไว้เป็นระยะๆ แน่นอนว่า สิ่งที่เป็นจุดเด่นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังก็คือตัวนักแสดงอย่างอดัม แซนด์เลอร์ นักแสดงหนังตลกที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นตัวจริงคนหนึ่งในหนังสายนี้ และพูดก็พูดเถอะ หนังของอดัม แซนด์เลอร์ แสดง ส่วนมากจะเรียกว่าเป็นหนังฮีโร่ก็ได้ แต่การแสวงหาความเป็นฮีโร่ของเขา ไม่เหมือนแบ็ทแมน และไม่เหมือนฮีโร่อื่นใดที่ต้องมาพร้อมกับคาแรกเตอร์ที่เป็นตามขนบ ต้องดูเคร่งขรึม ซีเรียสเครียดเคร่ง หรือไม่ก็ต้องมีความเก่งในแบบฉบับที่สังคมให้การยอมรับนับถือ มีมุมมองที่น่าสนใจจากมิตรสหายบางท่านว่า ในบางมุมนั้น บทของแซนด์เลอร์ก็ดูคล้ายกับบทของโจวซิงฉือ ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับการเป็นฮีโร่ตั้งแต่แรกหรือแม้กระทั่งได้รับพลังพิเศษอะไรหรอก แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำ กลับทำให้เขาดูมีความสำคัญขึ้นมาหรือกระทั่งสามารถเรียกขานได้ว่าเป็น “พระเอก” (ฮีโร่)
สำหรับแซนด์เลอร์ก็เช่นกัน...บทของเขามักไม่ได้มาจากการเป็นใครสักคนที่สังคมยอมรับนับถือ แต่สุดท้ายมักนำไปสู่การลงเอยที่พลิกเปลี่ยน และแพ็ทเทิร์นที่นำไปสู่การเป็นฮีโร่ของเขาก็ไม่จำเป็นเหมือนใคร และบ่อยครั้งก็ดูมีลักษณะแห่งการแอนตี้ฮีโร่ตามสูตรสำเร็จอยู่กลายๆ และบอกกล่าวกับเราว่ามันสามารถมีความแตกต่างได้ในการเป็นฮีโร่
แง่มุมนี้ เราจะเห็นได้ในหนังหลายต่อหลายเรื่องที่เขาแสดง เช่น การเป็นพ่อกำมะลอใน Big Daddy, นักกีฬาฮ็อกกี้ที่ค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองในการหวดลูกกอล์ฟและพัฒนารูปแบบเฉพาะตัวโดยไม่กลัวครหาใดๆ ใน Happy Gilmore หรือแม้กระทั่งการเป็น “เทพ” แห่งด้านการปราบผู้ร้ายในเรื่อง You Don’t Mess with the Zohan (ถ้าคุณไม่แน่ อย่าแหย่โซฮาน) การเป็นฮีโร่ของเขาก็ประหลาดเหลือจะบรรยาย คนที่เข้าใจในอารมณ์ขันแบบแซนด์เลอร์ก็น่าจะมีอยู่เยอะ ขณะที่คนไม่ชอบก็คงมีไม่น้อยและอาจจะด่าสาดเสียเทเสียไปเลยก็เป็นได้ แต่สรุปแล้ว ฮีโร่ที่จะทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ในแบบของเขา ก็มีความเป็นคนธรรมดา หรือแม้กระทั่งอาจจะบ้าบอคอแตกแหวกกฎแห่งการเป็นฮีโร่ตามแบบฉบับนิยม (Stereotype)
เช่นเดียวกับในหนังเรื่องนี้ที่เอาเข้าจริง ใครจะคิดว่า ฮีโร่ของเรื่องราว มาจากไอ้มนุษย์พวกที่บ้าเกม คนกลุ่มนี้ในทัศนะของมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะเห็นว่าเป็นพวกที่ไม่ทำงานทำการอะไร คล้ายคำพูดที่ให้ความหมายในทางลบซึ่งได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “วันๆ เอาแต่เล่นเกม” เหมือนเป็นคนบาปอย่างไรก็อย่างนั้น และเราเองก็จะได้เห็นมุมมองนี้ในหนังเรื่องนี้เช่นกัน โดยเฉพาะตอนที่สามสหายค้นพบว่าศัตรูของโลกมาจากเกม บรรดาผู้มีบทบาทในที่ประชุม เจ้าใหญ่นายโตทั้งหลาย ก็มองทันทีว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และตลกขบขันในการเสนอความจริงของแซนด์เลอร์ (ถึงขั้นเชิญให้ออกนอกห้องประชุม) นี่คือทัศนะที่ขนานมากับหนัง อันว่าด้วยแง่มุมมของการไม่ยอมรับนับถือในเกมเมอร์ แต่สุดท้ายแล้ว เกมเมอร์พวกนั้นหรือไอ้คนติดเกมนั่นล่ะที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการไขประตูสู่การดำรงอยู่ได้ของโลก...
ทั้งหมดนี้ หาใช่เป็นการมโนในประเด็นฮีโร่เกี่ยวกับแซนด์เลอร์นะครับ เพราะถ้าใครได้ดูหนังเรื่องพิกเซล จะมีซีนสั้นๆ ซีนหนึ่ง ซึ่งเด็กน้อยคนหนึ่งมองอดัม แซนด์เลอร์ ที่อยู่บนตัวตึก หลังจากเขาจัดการเจ้าตัวร้ายจากเกมตัวหนึ่งได้แล้ว มุมกล้องที่เด็กน้อยคนนั้นมองแซนด์เลอร์ ไม่ต่างอะไรกับมุมกล้องที่ใครสักคนมองแบ็ทแมนหรือสไปเดอร์แมนจากด้านล่าง แถมเด็กน้อยคนนั้นยังพูดคำฮีโร่ขึ้นมาอีกกับอดัม แซนด์เลอร์ ทั้งหมดนี้ ก็พอจะอนุมานได้ว่า แซนด์เลอร์นั้น เอาเข้าจริง เขาก็น่าจะผูกพันกับแนวคิดด้านการเป็นฮีโร่ของมนุษย์อยู่ไม่น้อย และที่สำคัญ ฮีโร่ในแบบฉบับของเขา อาจไม่เหมือนใคร และมันอาจจะประหลาด (บวกอุบาทว์ๆ บ้างในบางที เช่นในเรื่องโซฮาน) เกินกว่าที่ใครหลายคนจะรู้สึกเอ็นจอยไปกับมันได้
เพี้ยนๆ ฮาๆ บ้าๆ บอๆ แต่ก็ “มีของ” เราน่าจะใช้คำนั้นกับบทบาทของแซนด์เลอร์ในเรื่องพิกเซลนี้ได้ คะแนนไม่ค่อยดีหรอกครับสำหรับหนังเรื่องนี้ หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ ของเขาก็ตามที หนังที่เน้นเอาเฮฮาบ้าๆ บอๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่ได้ก็สมมาดปรารถนา คือความบันเทิงตลกโปกฮาแบบไม่ต้องคิดมาก บางเรื่องก็ดูไปด่าไป แต่ก็หัวเราะไปด้วยเหมือนคนบ้า ซึ่งจริงๆ ก็อาจสมใจของแซนด์เลอร์เขานะครับ เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เขาก็คงไม่เล่นแต่บทเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ แต่ได้ขำ แบบนี้
นอกจากอดัม แซนด์เลอร์ หนังเรื่องนี้ยังมี “เควิน เจมส์” ผู้มากับบทสหายรักของแซนด์เลอร์ และบุญพาวาสนาส่งถึงขั้นมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นถึงประธานาธิบดีของอเมริกา เควิน เจมส์ ก็พอๆ กับแซนด์เลอร์ ที่เป็นสายแข็งด้านหนังตลก ส่วนเพื่อนเนิร์ดอีกคนในกลุ่มอย่าง “จอช แก็ด” ก็เป็นเนิร์ดที่ตลกสุดติ่งเหมือนกัน เขาคือเกมเมอร์ขั้นเทพและใฝ่ฝันที่จะได้เห็นสาวน้อยในเกมมาโดยตลอด (แม้แต่ตอนที่เห็นตัวเงินตัวทองเข้าบ้าน ก็ยังคิดถึงเธอ! ฮา) มีมุกที่ตลกมากๆ เกี่ยวกับจอช แก็ด ที่เขาและแซนด์เลอร์ จะเริ่มต้นฝึกทหารในกองทัพเพื่อให้เล่นเกม เป็นมุกที่สุดแสนจะบ้าบอ แต่ก็ล้อวัฒธรรมแบบหนึ่งซึ่งมักจะได้เห็นในหนังแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการฝึกทหาร ส่วน “ปีเตอร์ ดิงค์เลจ” นักแสดงซึ่งดังมากๆ จากบทคนแคระผู้มากบทบาทจากซีรี่ส์ Game of Throne ก็เล่นเป็นเกมเมอร์มือหนึ่งได้ยียวนกวนประสาทดี ขณะที่นักแสดงฝ่ายหญิง “มิเชลล์ โมนาแกน” ก็มีทั้งความสวยและตลก โดยเฉพาะเวลาที่ต่อปากต่อคำกับอดัม แซนด์เลอร์ ที่ได้ทั้งความครื้นเครงและกรุ่นรักกลายๆ
ผมไม่ได้คาดหวังอะไรนักกับ “พิกเซล” และเพราะอาจไม่คาดหวัง ผมจึงค่อนข้างสมหวังกับการดูหนังเรื่องนี้ แนะนำสั้นๆ กันตรงนี้ มันเป็นหนังตลกที่ดูได้ครับ
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม