ภายหลังการเปิดตัวของการ์ตูนเรื่องที่ 15 ของค่ายพิกซาร์สตูดิโอเรื่องนี้ สำนักคาดการณ์ทั้งหลายก็ส่งเสียงให้ได้ยินทันทีว่า ออสการ์สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมปีครั้งหน้าที่จะมาถึง อาจจะไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ในการลุ้น เพราะ “อินไซด์ เอาต์” นั้นโดดเด่นเหลือเกินในการเป็นแอนิเมชั่นที่เพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้งความบันเทิง สาระ ตลอดจนเทคนิคหรืองานด้านโปรดักชั่น ยิ่งไปกว่านั้น แทบจะพูดได้ว่า เพียงแค่เห็นชื่อพิกซาร์แปะหราบนโปสเตอร์ ตุ๊กตาทองก็โผเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดแล้วครึ่งตัว หลังจากเว้นวรรคไปหนึ่งปี ตั้งแต่ Monster University พิกซาร์รีเทิร์นมาอีกครั้งในศักราชนี้ ซึ่งนอกจากอินไซด์ เอาต์ ที่เข้าฉายไปแล้ว ยังมี The Good Dinosaur จ่อฉายปลายปีอีกหนึ่งเรื่อง และนั่นก็นำไปสู่การคาดเดากันอีกว่า ออสการ์ในสาขาแอนิเมชั่นใน พ.ศ.ต่อไป พิกซาร์สองเรื่องนี้อาจต้องลุ้นแชมป์กันเองในช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศรางวัล
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความจริงเท่าที่ปรากฏเฉพาะหน้า ณ เวลานี้ ย่อมจะยังความยินดีปรีดาให้แก่พิกซาร์อย่างล้นเหลือ เพราะไม่เพียงเป็นหนังการ์ตูนของค่ายที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับที่สอง รองจาก “ทอย สตอรี่ 3” หากแต่รายได้โดยรวมที่อเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังทำเงินได้มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท (ไม่นับรวมทั่วโลก) ขณะที่กระแสของนักวิจารณ์และคนดูผู้ชมก็ล้วนเป็นไปในทางบวก และด้วยกระแสตอบรับที่เป็นเอกฉันท์เช่นนี้ จึงน่าจะเป็นพลังหนุนที่ดีที่ส่งให้อินไซด์ เอาต์ เข้าไปถึงปลายทางแห่งตุ๊กตาทองได้โดยไม่ยากเย็น
จุดเด่นอันดับแรกสุดที่เราจะได้เห็นมาตั้งแต่หนังปล่อยตัวอย่างแรกๆ ให้ได้ชมกัน ก็คือ ต้องยอมรับว่ามันเป็นความใหม่ของไอเดียที่เล่าลึกเข้าไปในโลกแห่งความรู้สึกนึกคิดของผู้คน (หรือกระทั่งสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่เราจะเห็นหนังหยิบมาเล่นในตอนท้ายเรื่อง) แล้วสมมุติให้อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น เกิดเป็น “ตัวละครขึ้นมา” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวละครห้าตัวอันเป็นห้าอารมณ์หลักๆ ของมนุษย์ และการตั้งชื่อในภาษาไทย ผมเห็นว่าน่ารักดีครับ ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด ห้าอารมณ์ห้าตัวละครนั้นได้แก่ “ลั้ลลา” (Joy หรือความสุข) , “ฉุนเฉียว” (Anger หรือ ความโกรธ) , “หยะแหยง” (ความน่ารังเกียจ หรือ Disgust) , “กลั๊วกลัว” (ความกลัว หรือ Fear) และสุดท้าย “เศร้าซึม” (ความเศร้า หรือ Sadness) ทั้ง 5 ตัวละครนี้จะโลดแล่นอยู่ในสมองหรือความรู้สึกนึกคิดจิตใจของ “ไรลี่ย์” เด็กหญิงวัย 12 ขวบที่เติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวและชุมชนที่เปี่ยมสุขในเมืองมินนิโซต้า แต่แล้ววันหนึ่ง ครอบครัวของเธอก็มีความจำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพราะพ่อของเธอได้งานใหม่ที่ซานฟรานซิสโก การเติบโตในมินนิโซต้ามาสิบกว่าปี เป็นบรรยากาศแห่งชีวิตที่แวดล้อมและคุ้นเคย และดูเหมือนว่า ทันทีที่เซย์ไฮบ้านหลังใหม่ ความสุขในชีวิตของเธอก็ดูจะยุบยอบลงไปทันตา และดูเหมือนว่าความสุขนั้นจะยิ่งห่างออกไป ห่างออกไป “เกาะ” ต่างๆ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งควางามของชีวิตเริ่มพังทลายลงทีละเกาะ...
ยอมรับครับว่า ตอนแรกที่เห็นตัวอย่างเมื่อนานก่อนนั้น แอบกังวลเล็กๆ ว่า หนังจะเล่นท่ายากเกินไปหรือเปล่า เพราะต้องกระโดดเข้ากระโดดออกระหว่าง “โลกภายนอก” กับ “โลกภายในความคิด” ของตัวละคร แต่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องยอมรับอีกล่ะว่า พิกซาร์นี่เหนือชั้นจริงๆ เพราะสามารถทำให้สิ่งที่ดูเหมือนจะซับซ้อนเข้าใจยาก กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย และคิดว่าพอหนังเล่าไปสักห้าหรือสิบนาที คนดู ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ก็จะแยกแยะออกและติดตามเรื่องราวได้รื่นไหล ส่วนที่เด็ดขาดปราดเปรื่อง ก็คงเป็นเรื่องของการออกแบบคาแร็กเตอร์ทุกตัว ที่มีเอกลักษณ์และจดจำแยกแยะได้ง่าย ผมก็ไม่ต่างไปจากหลายคนที่ชอบคาแร็กเตอร์ทุกตัว ตั้งแต่แรกๆ เริ่มเรื่อง ผมเริ่มเกิดมีคำถามเช่นกันว่า เพราะอะไร คุณน้อง “เศร้าซึม” (Sadness) จึงค่อนข้างโดดเด้งกว่าเพื่อนๆ อีกสามตัว (ยกเว้น “ลั้ลลา) ก่อนจะรู้ในเวลาต่อมาว่า “เศร้าซึม” นี่คือกุญแจดอกสำคัญที่หนังวางไว้แล้วว่าจะต้องทำบทบาทหน้าที่สำคัญในกาลภายหน้า
ด้วยเหตุนี้แล้ว จึงสามารถตัดเรื่องความกลัวว่าจะเข้าใจยากออกไปได้ ขณะที่ในภาคของการดำเนินเรื่อง อินไซด์ เอาต์ ก็ควบคุมบรรยากาศให้อยู่ในความบันเทิงสนุกสนานได้เสมอต้นเสมอปลาย การเล่นกับอารมณ์อันหลากหลายของตัวละคร ไม่เพียงทำให้เราหันย้อนมองคิดกับตัวเองได้ หากแต่สำหรับตัวของหนังเอง ก็ใช้สอยอารมณ์เหล่านั้นได้คุ้มค่าความเพลิดเพลิน และนอกจากตัวละครทั้งห้า ยังมีตัวเสริมตัวแทรกเข้ามาอีกประปรายในระหว่างเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าตัว “ปิ๊งป่อง” ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งโลกในจินตนาการของไรลีย์ ก็นับว่ามีความสำคัญไม่ใช่แค่ในสถานการณ์ของผู้เดินทางร่วมกับความสุข หากแต่ในเชิงสัญลักษณ์ ยังคิดต่อไปได้ว่า โลกในจินตนาการนี้เองที่มีส่วนอย่างสำคัญในการหล่อเลี้ยงประคับประคองความสุขของมนุษย์ เหมือนหยาดน้ำในยามแล้ง เหมือนความสดใสในคืนวันอันหม่นหมอง (ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ “ปิ๊งป่อง” จึงต้องมามีส่วนช่วย “ลั้ลลา” เมื่อถึงเวลาคับขัน)
อินไซด์ เอาต์ เป็นหนังที่เล่นท่ายาก แต่ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนว่า ต่อให้ยากแค่ไหน พิกซาร์ ก็เอาอยู่ งานชิ้นนี้เป็นการกำกับร่วมระหว่าง “รอนนี่ เดล คาร์เมน” ชื่อนี้ไม่ค่อยคุ้น แต่เขาเคยผ่านงานด้านการทำสตอรี่บอร์ดให้กับ “อัพ ปู่ซ่าบ้าพลัง” (Up) และ “ระ-ทะ-ทู-อี่” (Ratatouille) และอีกหลายๆ เรื่อง ขณะที่อินไซต์ เอาต์ ถือเป็นการนั่งตำแหน่งไดเร็กเตอร์หนังใหญ่อย่างเต็มตัวเรื่องแรก ส่วนอีกคน คือ “พีท ด็อกเตอร์” ชื่อนี้อยู่คู่กับพิกซาร์มายาวนานตั้งแต่ยุคก่อตั้ง กับหนังเรื่องทอย สตอรี่ เมื่อปี 1995 เขากำกับ Up ร่วมกับบ๊อบ ปีเตอร์สัน เรื่องของคุณปู่นักฝันได้รางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่นในปีที่ออกฉาย และร่วมกำกับ Monster Inc. ยิ่งกว่านั้น อีกส่วนที่ผมเห็นว่าน่าสนใจซึ่งหนุนให้อินไซด์ เอาต์ กลายเป็นงานที่เยี่ยมยอดก็น่าจะเพราะทีมเขียนบท ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายคิดเรื่องสองคน โดย “พีท ด็อกเตอร์” กับ “รอนนี่ เดล คาร์เมน” เป็นเจ้าของเรื่องเอง ส่วนทีมเขียนบทมีทั้งหมดสามคน นอกจากนั้น ยังมีทีมเขียนไดอะล็อกเพิ่มเติมอีกสองคน ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้อินไซด์ เอาต์ ครบครันในองค์ประกอบด้านเรื่องราวเนื้อหา ส่วนเรื่องโปรดักชั่นนั้น ไม่มีอันใดให้ต้องบรรยายมากไปกว่าใช้คำว่า “มันเลิศมาก” เป็นตัวอธิบาย
สุดท้าย แม้จะดูเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ความยอดเยี่ยมของงานชิ้นนี้ก็คือการเล่นกับความยุ่งยากซับซ้อนในจิตใจของมนุษย์ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีตัวละครหลักที่เป็นกำลังเป็นวัยรุ่นอย่างไรลีย์ ก็นับเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเล่นกับความสับสนวุ่นวายภายในจิตใจได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ ช่วงวัยระหว่างนี้ ถือเป็นขณะจะเติบโตและเปลี่ยนผ่านวันวัยแบบหนังคัมมิ่ง ออฟ เอจ (Coming of Age) ยิ่งมีเงื่อนไขเรื่องการโยกย้ายเปลี่ยนแปลง (ที่อยู่, สิ่งแวดล้อม) เข้ามาบวกด้วย ยิ่งทำให้พลังแห่งการจะเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่ได้ ยิ่งมีพลัง เราจะเห็นได้ถึงพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของตัวละครตัวนี้เด่นชัด และช่วงวัยนั้น ขณะนั้น ก็เป็นโอกาสให้อารมณ์ทั้งห้าหรือตัวละครทั้งห้าเบียดแย่งพื้นที่กันอย่างชุลมุนชุลเก ก่อเกิดเป็นความสับสน ที่ยืนอยู่บนความซับซ้อนของวัยกำลังโต ซึ่งผู้ปกครองอาจจะต้องทำความเข้าใจ ดังที่อินไซด์ เอาต์ ก็ส่งเสียงบอกในสถานะของการเป็นหนังครอบครัว องค์ประกอบหลักๆ มีพ่อแม่ลูก มุ่งหมายในการเพาะปลูกความรักและการทำความเข้าใจระหว่างกันของคนในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเป็นวัยรุ่นกำลังโต มาตรฐานของอินไซด์ เอาต์ ก็เหมือนกับมาตรฐานของพิกซาร์อีกหลายเรื่องที่ผ่านมา ที่รักษาสถานะความเป็นหนังที่ดูได้ทั้งครอบครัวเอาไว้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง พูดสั้นๆ ในตอนท้าย ก็คือดูได้ทั้งครอบครัวครับงานชิ้นนี้
และก็เหมือนหนังพิกซาร์ที่ผ่านๆ มา ซึ่งมักจะมีธรรมเนียมแจกของแถมตั้งแต่ตอนแรก นั่นก็คือ หนังสั้นๆ จั่วหัวก่อน ซึ่งในครั้งนี้ เป็นเรื่อง “ลาวา” (Lava) ที่ทำได้เก๋มาก และหากเข้าใจไม่ผิด ลาวานี่ก็ยังไปปรากฏในหนังยาวเรื่องอินไซด์ เอาต์ อีกด้วย แต่นั่นก็เป็นองค์ประกอบปลีกย่อย เพราะถ้าพิจารณาดูแล้ว เมื่อดูอินไซด์ เอาต์ ไปจนจบ และกลับมาคิดถึง “ลาวา” อีกครั้ง เราก็อาจจะเห็นว่า ลาวา ไม่ได้ถูกทำมาเก๋ๆ โรแมนซ์ๆ เท่านั้น หากแต่เนื้อหาของมันยังผ่องถ่ายพลังไปยังประเด็นของอินไซด์ เอาต์ ด้วย เพราะคำว่า “ลาวา” หรือ Lava มีเสียงพ้องกับคำว่า Love (รัก) และในคำร้องของบทเพลง คนร้องก็ออกเสียงคล้ายๆ I lava you แทนการร้องชัดๆ ว่า I Love You ขณะที่หนังสั้น ส่งเสียงว่า Lava หรือ Love หนังยาวอย่างอินไซด์ เอาต์ ก็คล้ายจะขานรับอย่างไพเราะว่า ความรักความเข้าใจนั้นสำคัญเพียงใดในการดำรงอยู่ อย่างน้อยที่สุด ก็ในครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม