คราวนี้ขอแวะลงหนังโหลด อ้าว...ก็สารภาพกันโต้งๆ ตรงๆ แบบนี้ล่ะครับว่าเป็นหนังโหลดมาดู เพราะอย่างแรกสุดเลย จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมเลยว่าหนังเรื่องนี้จะได้ฉายโรงหรือลงแผ่นที่บ้านเราตอนไหนยังไง หรือถ้าหากทางค่ายหนังค่ายหนึ่งค่ายใดได้ติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังเรื่องนี้มาแล้ว ก็ขออนุญาตเรียนแจ้ง ณ ตรงนี้เลยครับว่า ได้โปรดนำหนังเรื่องนี้ลงโรงฉายหรือไม่ก็ทำขายเป็นแผ่นดีวีดีให้คนไทยได้ดูเสียโดยเร็ว เพราะนี่ไม่ใช่แค่หนังที่ดีมากๆ สนุกสนานบันเทิงในการรับชมมากๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงมวลสารเนื้อหาที่ดีเหลือล้นคมเหลือหลายแล้ว ยังมีองค์ประกอบของเนื้อหาเรื่องราวที่พาดเกี่ยวโยงใย “เข้ากับสถานการณ์” บ้านไทยเมืองไทยหลายๆ อย่าง ณ ห้วงเวลานี้แบบเหมาะเจาะ คนไทยดูแล้วก็คงจะมีอารมณ์ร่วมในการรับชม และพูดก็พูดเถอะ สิ่งที่หนังนำเสนอ ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานซืนนี้หรอก หากแต่มันเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมหลายแห่งมาเนิ่นนาน และหลายเรื่องราวก็สร้างความรู้สึกบีบคั้นอึดอัดอยู่ในภายใจของผู้คนอย่างไม่รู้ว่าจะหาทางออกกับมันอย่างไรดี นอกเสียจาก...
“ไวลด์ เทลส์” เป็นหนังจากประเทศอาร์เจนตินาซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนห้าเรื่องที่เข้าชิงออสการ์สาขาหนังต่างประเทศครั้งที่ผ่านมา ความน่าสนใจประการแรกสุดของงานชิ้นนี้อยู่ที่รูปแบบของหนังที่ไม่ใช่เรื่องยาวแบบเล่าเรื่องเดียวจบ หากแต่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นประมาณ 5-6 เรื่องที่แตกต่างกันทั้งตัวละคร สถานที่ และสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม แม้จะประกอบไปด้วยเรื่องสั้นๆ ที่แตกต่างกันอย่างนั้น แต่ทว่าความยอดเยี่ยมของหนังอยู่ที่การเชื่อมโยงเรื่องสั้นเหล่านั้นให้เกาะเกี่ยวกันด้วยประเด็นหรือแก่นความคิด ที่หากจะพูดแบบเจาะจงลงไป ก็น่าจะได้ประมาณว่า มันข้องเกี่ยวกับบุคคลสองประเภท นั่นคือ “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” ซึ่งผู้กระทำในที่นี้ ไม่จำเป็นต้อง “บุคคล” คนใดคนหนึ่งเสมอไป แต่อาจจะเป็น “ระบบ” หรืออะไรทำนองนั้นที่ได้รับการสถาปนาให้มีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
นั่นหมายถึงว่า มันจะมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปัจเจกกระทำต่อปัจเจก ไปจนถึงระดับที่ปัจเจกรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำจากระบบของสังคม และแน่นอนที่สุด ผู้ถูกกระทำในหนังเรื่องนี้ เมื่อไม่อาจสะสางความรู้สึกขมขื่นของการเป็นผู้ถูกกระทำได้ และถึงขีดสุด ก็จะหันกลับไปตอบโต้ต่อผู้กระทำชนิดที่ว่าให้เลือดตกยางออกกันไปข้าง ยอมรับครับว่าประเด็นเนื้อหาของหนังค่อนข้างหนักหน่วงซีเรียส แต่โชคดีหน่อยที่มันพูดหรือสื่อสารผ่านเรื่องราวที่ดูสนุกและมีความลุ้นระทึกอันยากจะคาดเดาได้ว่าสถานการณ์หรือแอ็กชั่นของตัวละครมันจะออกหัวหรือออกก้อย
นอกเหนือไปจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง หนังยังพาเราก้าวไปสำรวจตรวจสอบความรุนแรงที่แฝงอยู่ในมนุษย์ทุกรูปนามด้วย คือประเด็นนี้จะเด่นหราขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตเติ้ลต้นเรื่องที่นำเสนอภาพของเหล่าสิงสาราสัตว์นานาชนิด เห็นแล้วก็ชวนให้คิดว่าสัตว์ป่าพวกนั้นก็เสมือนภาพแห่งชีวิตและเราๆ ท่านๆ ด้านหนึ่งนั้นคือการสื่อให้เห็นถึงสัญชาตญาณแห่งความรุนแรงที่แฝงอยู่ในตัวตนทุกคนทุกท่าน เสมือนว่า เราต่างขุนเลี้ยงสัตว์ป่าเขี้ยวคมไว้ในชีวิตจิตใจของเรา บางคราวครั้ง มันอาจจะอยู่อย่างสุขสงบโดยธรรมชาติหรือโดยการปลอบประโลมของเรา แต่หลายๆ คราว มันก็ยากที่จะปลอบให้สัตว์ป่าตัวนั้นสงบนิ่งอยู่ได้ และนั่นก็คือที่มาของความโหดร้ายรุนแรงที่เรากระทำต่อกัน อย่างไม่อาจอุทธรณ์วอนขอต่อกรุณาธรรมใดๆ
ผมจะลองยกตัวอย่างสักสองสามเรื่อง พอให้เห็นภาพ เรื่องหนึ่งนั้นชื่อ เดอะ แรทส์ (The Rats) กล่าวถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งทำงานเสิร์ฟอยู่ในร้านอาหาร ในวันที่ฝนพรำ หลังจากลูกค้าซึ่งเป็นชายสูงวัยคนหนึ่งเดินเข้ามา เราก็จะได้เห็นทีท่าของเธอแปรเปลี่ยนไปคล้ายกระสับกระส่ายร้อนรุ่มกลุ้มอยู่ในภายในใจ เธอเดินเข้าไปในครัวและเล่าให้คุณป้าซึ่งเป็นคนปรุงอาหารฟังถึงเรื่องราวเกี่ยวกับชายสูงวัยคนนั้นที่มีอดีตพัวพันกับอดีตของเธอสมัยยังเด็ก บาดแผลในวันวานย้อนกลับมาก่อกวนรังควานความรู้สึกของเธออีกครั้ง และทางเลือกที่คุณป้าแม่ครัวบอกกับเธอก็คือ ให้ใส่ยาเบื่อหนูลงไปในอาหารแล้วเอาไปเสริ์ฟให้ชายคนนั้น แน่นอนว่า ด้วยพื้นฐานของตัวละครหญิงที่ยังเป็นผู้เป็นคนดีๆ อยู่ เธอย่อมเกิดความรู้สึกกลัวและสับสน และตามสูตรก็คือเธอจะเกิดการต่อสู้อยู่ภายในใจของตนเองว่าจะทำหรือไม่ทำตามคำบอกของคุณป้าแม่ครัว ความเป็นคนดีถูกทายท้าโดยเสียงแห่งความเจ็บแค้นที่อัดแน่นมาจากอดีต กระนั้นก็ตาม ผมเห็นว่าเรื่องทำนองนี้มันเป็นอะไรที่เบสิกมากๆ อย่างที่บอกว่า “ตามสูตร” นั่นแหละ ดังนั้นแล้ว คำถามต่อมาก็คือ แล้วอะไรล่ะที่ทำให้หนังเรื่องนี้กระแทกกระทั้นจิตใจคนดูจนต้องเชยชม ตรงนี้ ผมขอยกบทสนทนาระหว่างสาวเสิร์ฟกับป้ามาเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย
“ป้าเคยติดคุกเหรอ”
“พักนึง แต่ฉันรู้สึกอิสระมากกว่าที่นี่ ที่นี่มันห่วยแตก”
“ป้าทำผิดอะไร”
“ที่ทำไป ไม่เคยเสียใจ”
“ดูมัน มันลงสมัครผู้ว่า ไอ้ห่านี่ ป้าเชื่อหรือเปล่า”
“ทำไมจะไม่เชื่อล่ะ ก็มีแต่ไอ้ห่าที่ได้ปกครองโลก ตื่นซะที หนูน้อย (เอื้อมมือไปเปิดตู้ที่มีกล่องยาเบื่อหนูวางอยู่) สงเคราะห์ให้กับสังคมกันเถอะ”
จากบทสนทนานี้ เผยให้เราได้เห็นว่า นอกจากความท้าทายโดยมโนธรรมสำนึกส่วนตนแล้ว หญิงสาวของเรายังถูกท้าทายจาก “เสียงจากข้างนอก” อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งที่สุดแล้ว หญิงสาวก็เสมือนหนึ่งตัวแทนแห่งเราๆ ท่านๆ ในสังคมที่ดูเหมือนจะถูกคุณป้าเสียดเย้ยอย่างแสบสันต์ เพราะประโยคต่อๆ มาของป้าแม่ครัวก็คือ “ประเทศเราก็อย่างนี้ มีแต่คนอยากจะให้คนอื่นจัดการไอ้พวกนี้อย่างสาสม แต่ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะยกนิ้ว”
เราต่างกดเก็บและเจ็บปวดกับสถานการณ์ความเป็นไปหลายอย่างในสังคม แต่ก็อย่างที่คุณป้าแกว่าไว้ เราจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะสงบเสงี่ยมแล้วก็ปล่อยให้เรื่องราวเลวร้ายดำเนินต่อไป เรามีความสุขและพร้อมจะปรบมือไชโยโห่ร้องชมเชย หากใครสักคนลุกมาทำสิ่งนั้นแทนเรา และส่วนมาก “ใครสักคน” ที่ว่านั้นก็มักจะเป็นคนที่อดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปในการเป็นผู้ถูกกระทำ หนังสั้นเรื่อง The Rats แม้จะมีเรื่องอื่นคั่นกลาง แต่ก็เหมือนจะส่งไม้ต่อให้กับหนังสั้นอีกเรื่องได้อย่างกลมกลืน นั่นก็คือเรื่อง Little Bomb ที่ว่าด้วยเหตุการณ์ของวิศวกรบริษัทใหญ่โต หน้าที่การงานดูมั่นคง แต่ค่อยๆ พาตัวเองถลำเข้าไปสู่ความหายนะแห่งชีวิต ปฐมเหตุแห่งเรื่องราวมันเริ่มมาทีละเล็กทีละน้อยเมื่อรถของเขาที่จอดบนทางเท้าซึ่งจอดได้ แต่ถูกพวกบริษัทยกรถมายกไปอยู่บ่อยครั้ง โดยที่บริษัทพวกนั้นอ้างว่าเขาจอดในที่ห้ามจอด แม้เขาจะพยายามร้องเรียนว่าเขาจอดถูกต้องตามกฎหมายเพียงใด ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ความขุ่นข้องแค้นเคืองก็ค่อยๆ บ่มเพาะเกาะกัดจนกลายเป็นความอึดอัดอันยากจะทนได้ และนำไปสู่การตัดสินใจในการกระทำครั้งสำคัญ
เรื่อง ลิตเติ้ล บอมพ์ เอาเข้าจริงก็คือแบบฉบับของเรื่องราวแห่งการถูกกระทำจากระบบที่กระทำต่อผู้คนในสังคม และสิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกทำก็คือการก้มหน้ายอมรับชะตากรรม หรือพูดให้ตรงขึ้นก็คือรับเวรรับกรรมกันต่อไป การลุกขึ้นมากระทำกลับในแบบฉบับแห่งการโต้คืน จึงเป็นวิธีแสดงการแข็งขืนต่ออำนาจและความอยุติธรรม วิศวกรคนที่ว่านี้ก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปที่ถูกกระทำอยู่ซ้ำซาก ก่อนจะทะลักจุดแตก
ความเด็ดของหนังยังไม่หมดแค่นั้น เพราะสุดท้ายแล้ว หลังจากพาเราก้าวท่องไปในโลกของการถูกกระทำ (อันเป็นที่มาของความรุนแรงและการตอบโต้เพราะทนไม่ไหว) ทั้งจากคนที่เคยเกี่ยวข้อง (The Rats) จากคนแปลกหน้า (The Strongest) หรือจากระบบที่แย่ๆ (Little Bomb) หนังสั้นอย่างเรื่อง Until Death Do Us Part ก็ประกาศออกมาว่า บางครั้งบางหน ก็คนที่บอกว่ารักเรานักหนานี่แหละ คือผู้กระทำเราอย่างสาหัสสากรรจ์ เคยเห็นคนที่บ้าคลั่งเพราะถูกรักหลอกลวงหรือเปล่าครับ อารมณ์ประมาณนั้นล่ะ
Until Death Do Us Part เป็นหนังที่มีชั้นเชิงดีมากในการดำเนินเรื่อง เล่ห์เหลี่ยมของหนังก็คงเหมือนเล่ห์เหลี่ยมของคนรัก มันล่อลวงเราให้หลงใหลและไม่รู้ว่าตอนจบจะเป็นเช่นใด สถานการณ์ของหนังเกิดขึ้นในงานแต่งแห่งหนึ่งซึ่งบ่าวสาวได้รับการเปิดตัวอย่างเริดหรูอลังการตามแพทเทิร์นของงานเว็ดดิ้งที่กิ๊บเก๋ มีวิดีโอที่ผ่านการถ่ายทำอย่างประดิดประดอย บอกเล่าเส้นทางการพบรักอันหวานหยดย้อยของหนุ่มสาวคู่นั้น แขกเหรื่อในงานต่างก็ยิ้มแย้มปรีดากับความสำเร็จแห่งรักของคนทั้งคู่ ดูไปก็ไม่น่าจะมีอะไร จนกระทั่งเจ้าสาวของเราแอบเหลือไปเห็น “ว่าที่สามี” ของเธอ ดูทำท่าสนิทสนมกับหญิงสาวคนหนึ่งที่มาร่วมงาน และนั่นก็เป็นการออกออกสตาร์ทของความวายป่วงชนิดที่ว่าญาติสนิทมิตรสหายของบ่าวสาว ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านจะไม่มีวันลืมมันลง
กล่าวโดยภาพรวม ไวลด์ เทลส์ เหมือนหนังที่เก็บรวมเอาความรู้สึกคับแค้นแน่นอกหรือความเจ็บช้ำขมขื่นมามัดรวมไว้ในตัวเอง หลากเรื่องราวความปวดร้าวที่ดำรงอยู่ในหลายมิติของชีวิตและสังคม ที่สำคัญก็คือ มันพูดเรื่องที่คนดูไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนสังคมใด ก็สามารถจะลิงก์หรือเชื่อมโยงประสบการณ์เข้ากับหนังได้ไม่ยากเย็น เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต่างน่าจะเคยประสบพบพานสถานการณ์นั้นๆ มาบ้าง ไม่หนึ่งอย่างก็สองอย่าง หนังสั้นแต่ละเรื่อง อาจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเรา ความขุ่นข้องคับแค้นของเรา ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง หรือหลายๆ เรื่อง
“ที่เกิดเหตุ” ในหนังทั้งหมด อาจเป็นอาร์เจนตินา แต่เนื้อหาของเรื่อง กลับเผื่อแผ่ไม่จำกัด เพราะว่ากันอย่างถึงที่สุด สังคมไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไรนัก นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่า ความเป็นมนุษย์ในที่ไหนๆ ก็ไม่ได้แตกต่างแต่อย่างใด
ความเป็นคน คือสิ่งสากลที่สุดแล้ว
ความปวดร้าวขื่นขม ก็เช่นกัน
__________________________________________
ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |