xs
xsm
sm
md
lg

วัลฮาลา..เชื่อ(วาทะ)ผู้นำ ชีวิตดีงาม : Mad Max Fury Road

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


นอกเหนือจากเรื่องหลังความตายที่คนพยายามค้นหากันมาตลอด อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมักจะถูกสอดแนมโดยกล้องของภาพยนตร์เสมอๆ ก็คือเรื่องของโลกหลังการล่มสลาย และมันก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในแง่ที่ว่า ไม่ใช่แค่เพียงจินตนาการจะสำคัญกว่าความรู้อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่าไว้เท่านั้น แต่จินตนาการยังเป็นแหล่งที่มาของความบันเทิงอยู่บ่อยครั้งบ่อยหนในโลกภาพยนตร์ ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีหนังเกี่ยวกับยุคสมัยแห่งโลกล่มสลายออกมาอยู่ไม่ขาด ประวัติศาสตร์ของหนังแนวนี้คงต้องย้อนหลังกลับไปเป็นเวลาห้าสิบหกสิบปี คำว่า “จุดจบของโลก” หรือ End of the World ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมาเกิดมีในโลกของหนังยุคนี้สมัยนี้ เพราะคำคำนี้มันคือชื่อภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1931 เรียกว่าพี่น้องลูมิแยร์เพิ่งให้กำเนิดหนังเรื่องแรกของโลกได้ไม่กี่สิบปี พวกก็นึกถึงความล่มสลายของโลกกันแล้ว (ให้ตายเถอะ)

ในด้านหนึ่ง นี่อาจจะหมายถึงว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นความฝันร้ายหรือเป็นเรื่องที่เลวร้าย มันมักจะขายได้และขายดีเสมอๆ ยังจำได้กันใช่ไหมครับว่า ก่อนหน้าที่หนังของโรแลนด์ เอเมอริค เรื่อง “2012” จะเข้าฉายไม่นาน ตอนนั้นผู้คนแตกตื่นกันยกใหญ่ นักวิชาการและไม่วิชาการก็ต่างพากันเดินเข้าห้องสมุด (บางคนก็นั่งทางใน) ค้นหาคำตอบแห่งทำนายของชาวมายากันจนปวดกะโหลกว่าโลกจะถึงกาลอวสานเสียแล้วจริงหรือ? หนังอย่าง 2012 ก็ไม่ใช่อะไร หากแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการขายภาพฝัน และฝันที่ขายดี เรียกความสนใจของคนได้ ก็คือฝันร้ายๆ นั่นแหละ (ฝันดี ขายไม่ดีหรอกครับ มีแต่คนจะโห่เอา ดูตอนที่พวกนักการเมืองหาเสียงสิ)

กระนั้นก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การพูดถึงโลกหลังการล่มสลายในภาพยนตร์ มันเปิดโอกาสให้คนทำหนังสามารถโม้ได้อย่างเต็มที่ ใส่เรื่องราวและภาพในยุคที่ยังมาไม่ถึงได้อย่างไม่จำกัด บางคนอาจจะพยายามมีข้อมูลด้วยการไปหยิบยกอ้างอิงจากคำทำนายโน่นนี่ ขณะที่บางคนก็นึกสนุก ว่าเอาตามความพึงใจของตนเองและคิดว่าคนดูจะรู้สึกร่วมไปด้วย ซึ่งในจำนวนหลังนี้ คาดว่าน่าจะต้องมีแมด แม็กซ์ รวมอยู่ด้วย และนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันเล่นๆ เพราะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ “จอร์จ มิลเลอร์” นั้นได้รับการขนานนามด้วยคำว่า เดอะ มาสเตอร์มายด์ (The Mastermind) หรือ “จ้าวแห่งความคิด” นิยามดังกล่าวนี้ส่งเสียงสะท้อนถึงศักยภาพของผู้กำกับวัยเจ็ดสิบผู้นี้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรให้ยุ่งยากมากความ

ถ้าใครเกิดและเติบโตทันยุค 80 คงรับรู้กิตติศัพท์ของหนังเรื่องนี้กันมาแล้ว หรือแม้แต่คนยุคหลังๆ นี่คือหนังที่ควรสืบเสาะหามาดู ต้นฉบับของแมด แม็กซ์ ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่นักแสดงอย่าง “เมล กิ๊บสัน” ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว และถือเป็นงานแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของดาราชาวชาวออสเตรเลียคนนี้เลยก็ว่าได้ แมด แม็กซ์ ภาคแรก ออกใบเกิดเมื่อปี ค.ศ.1979 ความน่าสนใจของหนังเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาตัวละคร “แม็กซ์ ร็อกกาแทนสกี้” นั้นคือนายตำรวจทางหลวงธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งถูกเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตผลักดันให้เขาทะลักจุดแตก กลายเป็น “แมด แม็กซ์” หรือ “แม็กซ์ผู้บ้าดีเดือด” อย่างที่เราเห็น และเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านพบ ส่งผลเชิงลึกต่อความรู้สึกของแม็กซ์ที่ไม่ได้รู้สึกอยากจะสุงสิงหรือสร้างความสัมพันธ์กับใครอีกต่อไป แม้กระทั่งในฟิวรี่ โร้ด เราจะเห็นความเฉยชาของเขาอย่างเด่นชัดต่อการที่จะผูกมิตรอะไรกับใคร ความโดดเด่นของตัวละครตัวนี้ ถึงกับกลายเป็นพิมพ์เขียวให้แก่นักเขียนการ์ตูนชาวญี่ปุ่นนำไปเป็นแม่แบบให้แก่การ์ตูนชื่อดังอย่าง “หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” ที่ต่างยอมรับกันว่ามันคือร่างอวตารของแม็กซ์ ร็อกกาแทนสกี้ ดีๆ นี่เอง

ท่ามกลางบรรยากาศที่แห้งแล้งประดุจความหวังที่เหือดแห้งไม่มีเหลือ Mad Max: Fury Road เปิดเส้นทางอันสุดแสนหฤโหดตั้งแต่ต้นเรื่อง ถ้าพูดกันตามประสาหนังแอ็กชั่น นี่คือหนังที่บ้าพลังอย่างถึงที่สุด เรียกว่ามีเท่าไหร่ อัดใส่เต็มแม็กซ์ เรื่องอื่นๆ ทั่วไป ส่วนใหญ่เราจะเห็นลีลาการดำเนินเรื่องที่แตกต่างจากนี้ ตัวอย่างเช่น จะมีฉากแอ็กชั่นเป็นน้ำจิ้มตอนเปิดเรื่องสักสี่ซ้าห้านาที แล้วค่อยปูเรื่องเล่าเรื่อง พัฒนาความขัดแย้งไปสู่จุดพีค ระหว่างเรื่องก็อาจจะมีแอ็กชั่นแทรกแซมบ้าง แล้วค่อยระดมสรรพกำลังที่มีอยู่เท่าไหร่ก็ใส่กันให้หมดในตอนท้าย เหมือนที่เขามักจะเขียนสูตรไว้กว้างๆ ว่าพัฒนาการของการต่อสู้หนัง มักจะดำเนินไปแบบ 1-2-3 แล้วค่อยเดินไปสู่จุดที่ความมันระห่ำยกไปถึงขั้น 10 หรือ 20 อะไรก็ว่าไป เอาเข้าจริง แม้กระทั่งหนังแอ็กชั่นฟอร์มใหญ่สองเรื่องก่อนหน้านี้ที่เพิ่งเข้าฉาย อย่างฟาสต์ 7 และ ดิ อะเวนเจอร์ ภาคสอง ถึงจะแอ็กชั่นกันแบบพยายามจัดเต็ม แต่ก็ยังมีลีลาการเล่าเรื่องอย่างที่ว่ามา อีกทั้งมีช่วงพักเบรกอยู่อยู่หลายช่วงและหลายนาที ซึ่งอย่างน้อยที่สุด เราจะไม่ค่อยรู้สึกคล้ายถูกบีบอัดจัดหนักเหมือนกับตอนดูหนังเรื่องนี้

ฟิวรี่ โร้ด หนังให้การเล่าเรื่องดำเนินคู่ขนานไปกับฉากการต่อสู้โดยไม่จำเป็นต้องปูเรื่องก่อนเข้าฉากแอ็กชั่น เรียกว่าตลอดระยะเวลาสองชั่วโมง เม็ดลำโพงจะกระจายเสียงแอ็กชั่นสั่นสะเทือนสะท้านประสาทโสตของคนดูแทบไม่ให้พัก ตัวเรื่องนั้นอุดมไปด้วยความบ้าคลั่งถึงขีดสุด และปู่จอร์จ มิลเลอร์ ก็บ้าพลังมากพอที่จะเล่นกับความแอ็กชั่นอันดุโหดโคตรระห่ำแบบที่คนหนุ่มๆ ต้องเมียงมองด้วยความทึ่งในพลังของคนอายุเจ็ดสิบ ความเห็นสั้นๆ ของผมเกี่ยวกับความสนุกของหนังเรื่องนี้ก็คือ “ถ้าคุณกำลังต้องการจะดูสุดยอดหนังแอ็กชั่นสักเรื่อง นี่คือตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่ง” เวลา 120 นาทีของหนัง น่าจะมีเพียงยี่สิบนาทีหรือไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น (รวมช่วงต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว) ที่หูของเราจะได้พักจากเสียงกระหึ่มแห่งแอ็กชั่นที่ราวกับฟ้าพิโรธแผ่นดินสะเทือน

กล่าวได้ว่า ขณะที่บรรดาตัวละครในเรื่องถูกกดดันทั้งจากสภาพแวดล้อมและการไล่ล่าเข่นฆ่า คนดูหนังเองก็คล้ายๆ ถูกชักพาให้ตกไปอยู่ในวงล้อมของความระห่ำกดดันเช่นเดียวกันจากเสียงซาวด์เอฟเฟคต์ที่ถือเป็นพระเอกด้านเทคนิคของหนัง ไม่ต่างไปจากภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เนรมิตโลกหลังการล่มสลายได้เวิ้งว้างน่าสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด พูดก็พูดเถอะ หากโลกต้องถึงกาลประสบพบสถานการณ์เช่นนั้นจริงๆ การตายไปจากโลกน่าจะเป็นทางประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะอย่างที่ตัวละครตัวหนึ่งว่า เดินไปข้างหน้าจากจุดนี้อีกร้อยหกสิบวัน มันก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากจุดนี้ ที่ทุกสิ่งอย่างพังทลายเป็นทะเลทรายไปหมดแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็ดำรงอยู่แบบไอ้หนุ่มชาวร็อกมือกีตาร์พ่นไฟในเรื่องคนนั้นที่สามารถจะมีสุนทรียะเหนือความล่มสลายได้แบบว่า เชิญท่านบรรลัยไปเถอะโลก แต่ดนตรีนี่คือชีวิตของข้า เชิญพวกแกฆ่ากันไป แต่ข้าก็จะบรรเลงบทเพลงของข้าต่อไป!

ขึ้นชื่อว่าเป็น “เดอะ มาสเตอร์มายด์” ไม่มีเสียล่ะที่จอร์จ มิลเลอร์ จะขายเพียงความเว่อวังอลังการของภาพฉากตระการตาและเสียงกระหึ่มหู เพราะในส่วนของตัวละครและเรื่องราวก็กล่าวได้ว่า ผ่านการคิดมาแล้วอย่างดี พูดจริงๆ ตัวละครในเรื่องก็แบ่งเป็นสองกลุ่มสำคัญเหมือนหนังทั่วไป คือก็จะมีฝ่ายดีฝ่ายร้าย แต่มาสเตอร์มายด์ไม่ได้ทะเยอทะยานเพียงแค่ต้องการหยิบยกเอาสงครามธรรมะกับอธรรมมาห้ำหั่นกันบนจอเงิน เพราะยิ่งเรื่องราวดำเนินไป ความเข้มข้นแหลมคมของประเด็นเนื้อหาก็ยิ่งปะทุคุกรุ่นในหลากหลายมิติ พร้อมๆ กับความน่าสนใจของตัวละครที่ค่อยๆ ร่วมกันเปิดเผยแง่มุมอันเป็นแก่นสารของภาพยนตร์ออกมา

อันที่จริง ผมอยากจะพูดถึงแง่มุมเกี่ยวกับผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ที่ถูกสะท้อนออกมาทำนองว่า ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เหมือนผู้หญิงจะไม่มีค่าอะไรมากไปกว่าการทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตทายาท อย่าว่าแต่พวกสาวงามอรชรอ้อนแอ้น แม้แต่ผู้แข็งแกร่งอย่างฟูริโอซ่า (ชาร์ลิซ เธียรอน) ก็ต้องคอยหาบคอนคำบัญชาของเจ้านายที่เป็นชาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงมีบทบาทเฉิดฉายมากในงานชิ้นนี้ ขณะที่ผู้กำกับอย่างจอร์จ มิลเลอร์ ก็ยอมรับในการให้สัมภาษณ์สื่อหลายฉบับว่างานชิ้นนี้ของเขามีความเป็นเฟมินิสต์ (เชิดชูบทบาทและสิทธิของอิสตรี) โดยตั้งใจจะให้เป็น คือต่อให้ไม่นับรวมฟูริโอซ่าและบรรดาสาวงามตัวละครหลักๆ ที่ฝันไปถึงการปักหลักยังโลกใหม่ (กรีนเพลส) ยังมีเรื่องของหญิงชราที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชเหล่านั้นไว้ด้วยความหวังว่าจะปลูกจะฝังมันลงบนผืนดินอันเอื้ออุดมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อประกอบรวมกันเข้ากับบทสรุปของหนัง จึงหนุนส่งพลังให้ภาพของผู้หญิงดูโดดเด่นขึ้นมาอย่างมองเห็นเป็นความหวัง อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไปถึงจุดซึ่งสถานะของผู้หญิงผุดผาดขึ้นมา ผมขอใช้เวลาพูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าสักประเด็น

คือตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง เราจะได้เห็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือผู้นำแห่งชิดาเทล เขาปรากฏตัวบนยอดผาสูงซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชนชั้นสูง และสั่งการอะไรบางอย่าง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องก้องกึกของชาวบ้านชาวช่องที่อยู่ต่ำลงไปเรี่ยพื้นดิน สภาพความเป็นอยู่ระหว่างคนสองชนชั้นได้รับการเปรียบเทียบแบบไม่จำเป็นต้องเอ่ยพูด ขณะเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งก็แสดงความมีมนุษยธรรมออกมาด้วยการเปิดน้ำให้ไหลเทออกมาทางช่องผา ชาวบ้านที่อยู่ด้านล่างต่างก็กรูกันเข้าไปแย่งชิงน้ำกันโกลาหล (ผลลัพธ์นี้คงไม่ต้องพูดถึง ฝ่ายที่ให้นั้นดูดีเหลือเกิน ขณะฝ่ายที่รับก็แย่งกันจนไม่มีใครได้ดี) และเมื่อตามติดหนังไปอีกไม่กี่นาที เราจะเห็นฉากสั้นมากๆ ฉากหนึ่งซึ่งตัวละครตัวหนึ่งวิ่งผ่านอย่างรวดเร็ว เผยให้เห็นพืชผักสวนครัวเขียวขจีเรียงรายกันเป็นชั้น และนั่นก็เท่ากับเป็นการขับเน้นให้เห็นว่า ขณะที่โลกทั้งโลกตกอยู่ในการแผดเผาของทะเลทรายและผู้คนเดือดร้อนทุรนทุราย ก็ยังมีมนุษย์บางพวกซึ่งดำรงอยู่อย่างที่รู้ว่าพรุ่งนี้ตนเองจะกินอะไร

แต่ที่ดูจะเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ การสร้างวาทกรรมครอบงำผู้คนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือของตนในการคงไว้ซึ่งอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และสุขสบายส่วนตัว ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาให้เชื่อมั่นในความดีความงามบางชนิด (โดยที่ผู้ที่ถูกกล่อมเกลาหรือมอมเมาจิตใจ ก็รู้ไม่เท่าทัน นี่จึงนับเป็นความแนบเนียนอย่างถึงที่สุด) ขณะเดียวกันก็ปลูกสร้างเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดเป็นอุดมคติแห่งชีวิตเหมือนฝังชิพแห่งความเชื่อลงไปในดีเอ็นเอของผู้คน คำว่า “วัลฮาลา” อันมีที่มาจากชนเผ่าไวกิ้งถูกนำมาใช้ในหนังเรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความอยู่รอดหรืออยู่ไม่รอดของท่านผู้นำ วัลฮาลาในความนึกคิดของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาวอร์บอย (ลูกสมุนของผู้นำ) ที่ได้รับการฝังหัวให้เชื่อมาโดยตลอดว่ามันคือวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งผู้ใดได้เข้าไปยังวิหารแห่งนี้ จะนับเป็นผู้เยี่ยมยอด และยิ่งถ้าใครเสียสละตนเองถึงขั้นสูงสุดด้วยการพลีชีพเพื่อผู้นำหรือเพื่อสังคมประเทศชาติและตายในสงคราม ก็จะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากวิหารวัลฮาลา สิ่งนี้กลายเป็นวาทกรรมที่ครอบงำเหล่าวอร์บอยอย่างถ้วนหน้า และนั่นก็เป็นที่มาของเนื้อหาในส่วนของตัวละครประกอบอย่างนิโคลัส ฮอลท์ (ซอมบี้หน้าหล่อจากเรื่อง Warm Bodies) ซึ่งเขยิบสถานะขึ้นมามีบทบาทเด่นแทบจะเทียบเท่าพระเอกของเรื่องอย่างทอม ฮาร์ดี้

เปรียบชิดาเทลเป็นรัฐสักรัฐ มันก็เป็นรัฐที่สถาปนาอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมกับปลูกฝังมายาคติบางประการลงไปในความคิดความเชื่อของผู้คน ขณะที่คนข้างล่างกระเสือกกระสน ดิ้นรนอย่างไม่รู้จะตายวันตายพรุ่ง คนข้างบนก็เสวยสุขกันอย่างเบิกบานสำราญใจ และคอยหยิบยื่นเมตตา พร้อมกับป้อนวาทกรรมหรูๆ กรอกหูผู้อยู่ภายใต้การปกครองเป็นระยะๆ


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น