xs
xsm
sm
md
lg

CHAPPiE : ในเลวมีดี ในดีมีเลว

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“ในทางอุดมคติ หุ่นยนต์นั้นมีไว้เพื่อทำงานที่ซ้ำซากหรืออันตรายเกินไปแทนมนุษย์ และทำงานได้ตลอดวัน 24 ชั่วโมงด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าแรงงานคน แต่ในความเป็นจริง หุ่นยนต์รุ่นใหม่จะทำงานร่วมกับมนุษย์มากกว่าจะเข้าไปแทนที่ และแม้ว่าหุ่นยนต์จะถูกออกแบบให้ล้ำสมัยหรือฉลาดแค่ไหน แต่มนุษย์ยังคงมีส่วนร่วมและควบคุมเป็นหลัก ทว่ายังคงมีคำถามว่าในอนาคต เมื่อมนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันจะเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์ต่อจักรกลหรือไม่”

ย่อหน้าข้างต้น ผมหยิบมาจากข่าวของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับ “10 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตในปี 2015” ซึ่งนับว่าประจวบเหมาะเหลือเกินกับหนังที่เข้าใหม่ในบ้านเราตอนนี้อย่างเรื่อง “แชปปี้” (CHAPPiE) เพราะมันกล่าวถึงวันที่หุ่นยนต์เกิดมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ

อันที่จริง เรื่องความคิดฝันเกี่ยวกับการมีชีวิตของสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “หุ่นยนต์” ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดมีในหนังของผู้กำกับอย่าง “นีลล์ บลอมแคมป์” แต่มันถูกบอกเล่ามาแล้วแทบนับครั้งไม่ถ้วน Bicentennial Man และ A.I. Artificial Intelligence ที่เป็นตำนาน หรือไม่ช้าไม่นานอย่าง “ออโต้มาตา” (Automata) ไปจนถึงผลงานอนิเมะอีกไม่รู้กี่เรื่อง (เช่น Time of Eve) นั่นยังไม่นับรวมว่า ในจินตนาการของมนุษย์เอง ก็มีการคิดคำนึงถึงวันที่หุ่นยนต์จะมีชีวิตกันมาเนิ่นนานแล้ว

ครับ, ที่พูดมาทั้งหมดก็เพื่อจะเกริ่นนำว่า ประเด็นเรื่องการมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ความคิดความรู้สึกของสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้นี่เอง ที่นับเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในหนังเรื่องแชปปี้ และความขัดแย้งที่ว่าหุ่นยนต์ควรจะมีหรือไม่มีชีวิตนี่เหมือนกัน ที่ทำให้มนุษย์ที่เกี่ยวข้องในหนัง จะต้องแลกกันด้วยชีวิตเลยทีเดียว

ตัวเรื่องหลักๆ นั้นเกี่ยวกับบริษัทผลิตหุ่นยนต์บริษัทหนึ่งซึ่งมีนักประดิษฐ์หุ่นยนต์เจ๋งๆ อยู่สองคน คนแรกดูจะเป็นรุ่นใหญ่ขาใหญ่ในออฟฟิศที่เคยประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ชื่อ “มูส” ออกมาใช้ปราบปรามผู้ร้าย ขณะที่อีกคนดูเด็กกว่ามาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่งานกำลังเข้าตา เพราะผลงานการประดิษฐ์หุ่นยนต์รุ่น “สเกาท์” ของเขานั้นเข้าตากรรมการมาก ในโลกยุคที่การแข่งขันมีสูงพอๆ กับอาชญากรรม นักประดิษฐ์รุ่นใหญ่ที่แสดงโดย “ฮิวจ์ แจ็กแมน” ก็เลยต้องหาทางแก้ลำรุ่นน้องให้ได้เพื่อให้หุ่นยนต์ของตนเองถูกเรียกกลับมาใช้งานอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะดูหนังแชปปี้ ให้เป็นเรื่องของการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างสองนักประดิษฐ์ ก็พอจะได้ครับ และหนังเองก็ดูเหมือนจะแบ่งแยกแตกฝ่ายให้เราเคลียร์เพื่อจะได้เลือกเชียร์ถูกข้าง ฮิวจ์ แจ็กแมน ในบทวินเซนต์นั้นเป็นนักประดิษฐ์ที่น่าสาปส่งอย่างไม่ต้องสงสัย ผมชอบที่ดาราดังคนนี้เคยพูดถึงตัวละครของเขาไว้ว่าวินเซนต์นั้นคือผู้ร้ายที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้ร้าย แถมยังเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็น การที่เขาไม่ยอมแพ้ มันครอบงำทุกอย่างและเขาก็กลายเป็นคนที่สร้างความฉิบหายมากมาย เป็นคนที่เต็มไปด้วยความโกรธและความแค้นเคือง

อีกฝั่งหนึ่งคือ “ดีออน” ซึ่งรับบทโดย “เดฟ พาเทล” (ตัวเอกจากหนังออสการ์เรื่อง Slumdog Millionaire) เขาดูเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น แบบพวกอัจฉริยะรุ่นเยาว์ เหมือนกับเด็กรุ่นหนุ่มในโลกยุคไอทีหลายๆ คนที่ก่อร่างสร้างตนขึ้นมาจากโรงรถและสร้างเทคโนโลยีที่พลิกโฉมโลกในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับที่เดฟ พาเทล ในเรื่องนี้ที่มีสถานะไม่ต่างอะไรกับ “ผู้สร้าง” ที่มอบชีวิตให้แก่สิ่งประดิษฐ์อย่างหุ่นยนต์

ในโลกที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม และมีความจำเป็นต้องนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนเจ้าหน้าที่ ในความคิดเห็นของวินเซนต์ขาใหญ่ เขายอมรับไม่ได้ที่หุ่นยนต์จะมีความรู้สึกนึกคิดหรือมีชีวิตเป็นของตัวเอง หุ่นยนต์ต้องถูกควบคุมโดยมนุษย์ หรือแม้แต่ใครจะมาสร้างให้หุ่นยนต์มีชีวิตเขาก็รับไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับมนุษย์กำลังสวมบทบาทของพระเจ้า แต่ด้วยความพยายามอันไม่ลดละ ทำให้ “ดีออน” ปฏิบัติการแห่งความฝันของเขาได้สำเร็จ เมื่อเขาให้กำเนิดหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า “แชปปี้” นี้ขึ้นมา

แชปปี้ เป็นผลงานกำกับลำดับที่ 3 ของคนทำหนังสายเลือดแอฟริกาใต้ “นีลล์ บลอมแคมป์” ผู้โด่งดังมาจากการทำหนังเอเลี่ยนรสชาติประหลาด (และหน้าตาประหลาด) เรื่อง District 9 ก่อนจะขยับมาทำหนังฟอร์มใหญ่อย่าง Elysium ภาพยนตร์ของนีลล์ บลอมแคมป์ มักจะมีประเด็นที่แหลมคมผสมอยู่ด้วยในอัตราส่วนที่สูง อย่าง District 9 ซึ่งเป็นงานแจ้งเกิดนั้น ก็ใช้เอเลี่ยนเหมือนสัญลักษณ์แห่งการเหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ มาถึง Elysium ที่แม้ภาพรวมจะดร็อปลงไปบ้าง แต่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ถูกบอกเล่าอย่างเห็นภาพ และเมื่อมาถึง “แชปปี้” ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่นีลล์ บลอมแคมป์ จะทำหนังเอาใจตลาด โดยปราศจากประเด็นเนื้อหา และพูดอย่างตรงไปตรงมา เนื้อหาบางส่วนมันขยับเข้าใกล้ถึงความเป็นอภิปรัชญาอันว่าด้วยการก่อเกิดสิ่งมีชีวิตด้วยซ้ำ เพราะก็อย่างที่บอกว่า วิศวกรอย่าง “ดีออน” นั้น รุดหน้าไปถึงขั้นที่สามารถสร้าง “สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่” ขึ้นในโลก และนั่นก็ถึงกับทำให้เขามีสถานะไม่ต่างอะไรกับ “พระผู้สร้าง” ซึ่งเขาก็เรียกตัวเองและถูกเรียกว่า “ผู้สร้าง” ด้วยซ้ำ มันยิ่งตอกย้ำว่า สิ่งที่เขาทำ มันเท่ากับเป็นการเริ่มต้น “ก้าวใหม่” ของโลกด้วยซ้ำ

กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่า ส่วนที่เราสามารถจะซาบซึ้งกินใจไปกับหนังนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือลึกลับซับซ้อนอะไรนัก แชปปี้เป็นหนังที่มีทั้งอารมณ์ขันและความดราม่า ซึ่งปัจจัยหลักก็มาจากหุ่นยนต์แชปปี้ ที่ดูมีความน่ารักอยู่ในตัวเองระดับหนึ่ง (หลายคนอาจซึ้งเวลาที่เขาถูกกระทำ และอาจขำเวลาที่เขา “เลียน” และ “เรียน” แบบอย่างจากมนุษย์) ที่สำคัญ คือหนังให้สถานะแก่แชปปี้เหมือนกับการกำเนิดของคนคนหนึ่งซึ่งมีพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเรียนรู้และเติบโต ในช่วงของการเรียนรู้ หนังหยิบเอาทฤษฎีสิ่งแวดล้อมมาแทรกลงอย่างเหมาะเจาะ มันพูดถึงอิทธิพลการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงที่มีต่อคนคนหนึ่ง ซึ่งถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายก็คือ เติบโตมาในสังคมแบบใด ก็มักจะเป็นแบบนั้น

ขณะเดียวกัน ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความดีความเลว คนดีคนเลว แม้จะมีบางส่วนที่ดูออกตั้งแต่แรก แต่หนังก็พยายามทำให้มีมิติมากขึ้น และพูดในสิ่งที่เราๆ ท่านๆ น่าจะพอรู้กันบ้างแล้ว นั่นคือ คนเลว คนดี มันวัดกันไม่ได้ด้วยเวลานาทีสองนาที เพราะในดีอาจมีเลว และในเลวอาจมีดี ตัวละครสามสี่ตัว ไม่ว่าจะเป็นบทของนินจา, โยแลนดี้ ไปจนถึงซีเกอร์นี่ วีเวอร์ ต่างสะท้อนย้อนแย้งกันและกันในแง่มุมนี้ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์สองรุ่น “มูส” กับ “สเกาท์” ที่มีสองด้านให้ขบคิด ดั่งข้อความที่ผมแชร์ไว้ข้างต้นนั้น เพราะในหนึ่งด้าน หากมนุษย์กำกับหุ่นยนต์ ก็ต้องกังวลกับความจริงว่ามนุษย์คนนั้นมี “จิตสำนึก” เพียงใด ขณะที่อีกฝ่ายก็คลางแคลงใจว่า ถ้าหุ่นยนต์เกิดมีชีวิตจริงๆ มันจะนำไปสู่อะไร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าตอนจบของหนังถือเป็นเซอร์ไพรส์อยู่พอสมควรครับ เพราะในตอนแรก เราคิดว่าเราจะได้เห็นหุ่นยนต์มีชีวิต ซึ่งเราก็ได้เห็นจริงๆ แต่มันยังมีสิ่งที่ไปไกลกว่านั้น ซึ่งอาจจะบอกเล่าไม่ได้ตรงนี้ แต่กล้ารับประกันว่ามันเป็นไอเดียการจบที่เจ๋งใช้ได้

พูดอย่างถึงที่สุด แชปปี้เป็นหนังที่ดูเพลินๆ มีสาระและบันเทิงเริงใจในขณะที่ดูครับ เพียงแต่ถ้าเป็นเรื่องของความประทับใจ District 9 ยังคงกินขาดหลายช่วงตัว ความหนักหน่วงเข้มข้นในประเด็น ไปจนถึงเรื่องราวและตัวละครที่มีมิติ สิ่งเหล่านี้ถูกทำไว้อย่างแม่นยำแล้วในงานชิ้นแรกของผู้กำกับคนนี้


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น