xs
xsm
sm
md
lg

The Theory of Everything: โอเคทุกสิ่งอย่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ถึงตอนนี้ ชื่อของ “สตีเฟ่น ฮอว์คิง” น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นเคยสำหรับคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่สนใจด้านฟิสิกส์หรือจักรวาลวิทยา อย่างน้อยที่สุดก็ยาวนานเกินกว่าทศวรรษแล้วที่ความเก่งกาจของฮอว์คิงถูกส่งออกไปทั่วโลก ผ่านผลงานเล่มหนึ่งซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ของแวดวงฟิสิกส์อย่าง “ประวัติย่อของกาลเวลา” หรือ A Brief History of Time

ขณะที่ภาพพจน์ของฮอว์คิงซึ่งเป็นภาพจำสำหรับคนผู้สนใจ ก็คือ ชายผู้นั่งอยู่ในรถเข็น และต้องสื่อสารผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สังเคราะห์เสียง เพราะไม่สามารถใช้เสียงของตนเองได้ อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการถือกำเนิดของฮอว์คิง แต่เป็นเพราะความป่วยไข้ทางร่างกายอันเนื่องมาจากโรคที่หมอเรียกว่า “เอเอสแอล” (ASL) กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากการที่เซลล์สั่งการประสาทเสื่อมถอย และถ้าจะว่ากันตามจริง สตีเฟ่น ฮอว์คิง ก็เกิดมาเหมือนๆ กับทุกคนที่สมบูรณ์ด้านร่างกาย แต่เพราะโรคร้ายที่มาในวัยหนุ่ม ทำให้เขาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากทางกายอย่างที่รู้กัน และหนังเรื่องนี้ก็หยิบเอาเรื่องราวนั้นมาถ่ายทอดต่อคนดูผู้ชม

แต่ก่อนจะไปดูหนัง สิ่งที่ควรรู้ไว้ในเบื้องต้น ก็คือ The Theory of Everything เป็นงานที่ดัดแปลงมาจากนิยายแนวบันทึกของ “เจน ฮอว์คิง” ภรรยาของสตีเฟ่น ฮอว์คิง เรื่อง TRAVELING TO INFINITY (สู่อนันตกาล) บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ฮอว์คิงยังเป็นหนุ่มนักศึกษในรั้วเคมบริดจ์ และตกหลุมรักกับ “เจน ไวลด์” ก่อนที่สตีเฟ่นในวัย 21 จะถูกคุกคามด้วยโรคร้าย โดยมีเจน ไวลด์ เคียงคู่อยู่ข้างมาโดยตลอด

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวเชิงชีวประวัติ ด้วยความเป็น “นิยายแนวบันทึก” มีส่วนทำให้ความแข็งกระด้างในลักษณะข้อมูลความจริง ถูกผ่อนปรนให้มีความอ่อนโยน อ่อนไหว และละเมียดละไมได้มากกว่า มีอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าความเป็นหนังสือหนังหาแนวชีวประวัติล้วนๆ เหตุปัจจัยนี้ คือสารตั้งต้นที่ดีเมื่อถูกผ่องถ่ายมาสู่ภาพยนตร์ สิ่งที่คุณจะได้เห็น จึงไม่ใช่แค่ประวัติชีวิตแกนๆ ของคนเก่งๆ คนหนึ่ง หากแต่ยังรวมถึงด้านที่อ่อนหวาน อ่อนไหว และเหนืออื่นใด คือแง่มุมที่ก่อร่างสร้างแรงบันดาลใจในชีวิต

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ หรือเฉยๆ กับชีวิตจริงๆ ของสตีเฟ่น ฮอว์คิง แต่เรื่องราวในหนัง จะทำให้คุณรู้สึกดีอย่างปฏิเสธได้ยาก อันดับแรกสุด นี่คือเรื่องราวของมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา และอันดับต่อมา คือความรักของมนุษย์อีกคนที่พร้อมจะยืนคู่อยู่ข้างใครอีกคน ไม่ว่าแสนสุขหรือมืดหม่นของคืนวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังก็ไม่ได้กล่าวถึงมนุษย์เหล่านี้เพียงในแง่มุมที่สมบูรณ์แบบเพียงอย่างเดียว เพราะในส่วนเสี้ยวแห่งความเข้มแข็งนั้น ก็มีช่วงวันอันอ่อนไหวและเปราะบาง เช่นเดียวกับความรักกรุณา ที่ก็มีช่วงเวลาอ่อนล้าโรยแรง อันเป็นวิถีของปุถุชน

คงต้องยอมรับครับว่า นี่คือหนังที่เข้าทางรางวัลออสการ์อย่างเหมาะเจาะ The Theory of Everything เข้าชิงตุ๊กตาทองในปีนี้ 4-5 สาขา ทั้งหนังยอดเยี่ยม บทหนังดัดแปลงยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ไปจนถึงดนตรีประกอบ ซึ่งผมคิดว่าสาขาที่น่าจับตามากที่สุด อยู่ที่จุดของนักแสดงนำชาย ที่ได้ “เอ็ดดี้ เรดเมย์น” มาสวมบทเป็นสตีเฟ่น ฮอวร์คิง ความคล้ายคลึงทางหน้าตานั้นได้ไปเกินกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ “การแสดงเป็นฮอว์คิง” นั้นถือว่ากินขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ฮอว์คิงต้องเผชิญกับโรคร้ายเป็นต้นไป เอ็ดดี้ถ่ายทอดสภาพอันยากลำบากของฮอว์คิงออกมาได้สมจริงสมจังและทรงพลังมาก

จะว่าไป บทแบบนี้มักจะเป็นที่ชื่นชอบของออสการ์เสมอๆ คือเรื่องของคนที่ต้องผจญเผชิญกับภาวะความบกพร่องบางอย่าง แต่ด้วยหัวใจไม่ยอมแพ้ ก็จะยังทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “คริสตี้ บราวน์” ใน My Left Foot หรือแม้แต่ล่าสุดเร็วๆ นี้ อย่าง The King’s Speech ที่สะท้อนให้เห็นถึง Human Spirit หรือจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมหยุดตนเองไว้ที่สิ่งกีดขวางหรืออุปสรรค เรื่องราวของพวกเขาและเธอเหล่านี้ กล่าวได้ว่าส่งพลังไปทั่วทุกอนุภาคของความเป็นคน ทำให้คนดูรู้สึกมีพลังแรงใจในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง

นั่นยังไม่นับรวมความจริงที่ว่า The Theory of Everything เป็นเรื่องจริงของบุคคลซึ่งถือว่ามีอิทธิพลต่อโลกแห่งวิทยาการมากที่สุดคนหนึ่ง มันจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ออสการ์จะใช้โอกาสนี้เชิดชูบูชาหรือกระทั่งจารึกบุคคลสำคัญนี้ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของตนเอง และนั่นก็หมายถึงว่า เอ็ดดี้ เรดเมย์น ก็อาจจะได้ตุ๊กตาทองกลับบ้านไป หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหน้าดาราหนุ่มคนนี้ แต่เขาคือคนที่กวาดรางวัลด้านการแสดงมาแล้วมากหลาย และเมื่อปี 2012 ก็ได้รับการยกย่องด้วยรางวัลดาราดาวรุ่งจากเวที “บาฟต้า” ซึ่งยิ่งใหญ่จนพอจะกล่าวได้ว่าเป็นออสการ์ของฝั่งอังกฤษ

ขณะที่นักแสดงนำหญิง อย่าง “เฟลิซิตี้ โจนส์” ซึ่งรับบทเป็นคนรักของฮอว์คิง นับว่ามีบทบาทไม่เพียงแค่เป็นเสมือนหนึ่งลมใต้ปีกที่ช่วยให้ชีวิตของอัจฉริยะเผชิญกับคืนวันยากๆ ของการดำรงอยู่ หากแต่ยังมีส่วนอย่างสำคัญในการเปิดประตูให้นักฟิสิกส์ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า (ศาสนา) ได้รับรู้สัมผัสถึงความล้ำลึกดีงามของสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางคณิตศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ผมเชื่อว่าฉากท้ายๆ ในหนังตอนที่ชายคนนั้นลุกขึ้นจากรถเข็นไปหยิบปากกา จะกลายเป็นฉากเชิงสัญลักษณ์ที่นักถกเถียงตีความจะต้องนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันอีกนานเนิ่นถึงความหมายของมัน เนื่องด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฮอว์คิงถูกถามว่าเขาไม่เชื่อในศาสนาหรือพระเจ้า...อย่างไรก็ดี บทบาทนี้ของเฟลิซิตี้ โจนส์ ก็ชวนให้นึกถึงบทแม่พระลักษณะนี้ในบางเรื่อง อย่างเช่น แซนดร้า บุลล็อก ในเรื่อง The Blind Side บทของคนดีๆ ที่อุทิศตนเพื่อบางสิ่งบางอย่างหรือกระทั่งเป็นลมใต้ปีกให้แก่ใครอีกคน ก็ยังคงเป็นที่ปรารถนาของออสการ์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เฟลิซิตี้อาจต้องไปวัดดวงกับจูลี่แอน มัวร์ โรซามุน ไพค์ มาริยง โกติลยาต์ หรือกระทั่ง รีส วิทเธอร์สปูน ที่นับว่าเป็นของแข็งๆ ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องรางวัลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีคุณค่าและความภาคภูมิใจสำหรับผู้ผลิตผลงาน ส่วนในฝั่งฟากของคนดู ผมคิดว่านี่คือหนังที่ควรดูเป็นอย่างยิ่งครับ ความยอดเยี่ยมของหนังอยู่ที่การได้สัมผัสพลังของเรื่องราว พลังของบุคคลที่เป็นต้นเรื่อง หนังมีทั้งแง่มุมโรแมนติกและเพียบด้วยอารมณ์ขัน มุกตลกของเรื่อง ผมสังเกตเห็นว่าทุกคนในโรงเข้าใจและเข้าถึงได้เท่ากันผ่านเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นพร้อมกันทั้งโรง กล่าวโดยย่นย่อก็คือ The Theory of Everything เป็นหนังที่ทั้งรื่นรมย์และเพียบพร้อมด้วยแง่มุมงดงาม มันอาจจะมีความโศกในบางด้าน แต่นั่นก็เป็นวิถีปกติของมนุษย์ที่จะต้องมีบางสิ่งอย่างเข้ามาพิสูจน์และท้าทายการดำรงอยู่ ท้าทายความมุ่งมั่นตั้งใจ

The Theory of Everything อาจเป็น “ประวัติย่อของฮอว์คิง” ในฐานะนักฟิสิกส์ผู้เป็นเจ้าของผลงาน “ประวัติย่อของกาลเวลา” เพราะหนังกล่าวถึงความอัจฉิรยะของเขาแบบละไว้ในฐานที่เข้าใจกันแล้วพอสมควร กระนั้นก็ตาม ทุกครั้งที่หนังขยับไปที่การนำเสนอให้เห็นความเป็นอัจฉริยะของเขา ก็ทำให้เรารู้สึกฟูฟ่องพองโตไปกับอัจฉริยภาพของเขาได้เช่นกัน

อันที่จริง The Theory of Everything มีแง่มุมมากมายที่ท้าทายต่อการขบคิดพิจารณา นี่คือความเยี่ยมยอดเท่าที่หนังเรื่องหนึ่งจะพึงทำได้ ทว่าในที่นี้ ผมเห็นว่ามีคำอยู่สองคำที่น่าพูดถึง มันเป็นคำที่สำคัญต่อฮอว์คิงและถูกนำมาใช้ในหนังอย่างมีความหมายต่อเรื่องราว คำแรกคือคำว่า Time ซึ่งไม่ว่าคำคำนี้จะมีแก่นสารอย่างไรในผลงานอันลือเลื่องของฮอว์คิง อย่าง A Brief History of Time แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ Time ของเรื่องราวมันเต็มไปด้วยความอ่อนหวาน โรแมนติก และงดงามด้วยความรักความกรุณา ฮอว์คิงที่พยายามค้นหาประวัติศาสตร์ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเวลามาทั้งชีวิต และความอหังการ์ของเขาก็คือถ้าเขาทำได้เช่นนั้น จะทำให้เขาได้คำตอบเรื่องกำเนิดของโลกหรือกระทั่งการมีอยู่ของพระเจ้าด้วย แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนเขาจะได้ค้นพบแล้วว่า แท้จริงแล้ว Time ที่งดงามสำหรับเขาคืออะไร ฉากสุดท้ายในหนังซึ่งหมุนกลับเหตุการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดไปยังจุดเริ่มต้นแบบแฟลชแบ็กรวดเร็ว จึงนับเป็นกลวิธีที่ทรงพลังมากๆ เนื่องจากว่า มันทั้งเล่นล้อกับความเพียรของฮอว์คิงผู้เฝ้าหาจุดเริ่มต้นของเวลามาทั้งชีวิต และทำให้ชายผู้หนึ่งย้อนกลับไปมอง Time ที่ผ่านมาทั้งหมดของตนเอง งดงามเพียงใด และบางที นี่อาจเป็นปริศนาอีกข้อหนึ่งซึ่งฮอว์คิงได้ไขสำเร็จ ผ่านคืนวันยากๆ ผ่านความรักของคนรัก

ขณะเดียวกัน คำว่า Everything ในชื่อเรื่องและเป็นชื่อทฤษฎีที่ฮอว์คิงใช้เวลาศึกษามาทั้งชีวิต ผมรู้สึกว่าหนังมีการใช้คำว่า Everything อย่างจงใจที่จะเล่นล้อกับชื่อทฤษฎีอยู่เหมือนกัน...ตลอดชีวิตของฮอว์คิงนั้น เขาพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ของจักรวาลของเอกภพอะไรก็ตาม แต่เมื่อมองมายังอนุภาคเล็กๆ อย่างชีวิตของเขาเอง เราจะพบว่าสภาพชีวิตของฮอว์คิงนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับปรากฏการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ทั้งบิ๊กแบงย่อยๆ และใหญ่ๆ ชีวิตของเขาเหมือนแก้วที่ตกแตกกระจัดกระจายอยู่หลายครั้ง และหลอมรวมขึ้นใหม่ได้ด้วยการกอบเก็บขึ้นมารวมโดยมือของคนรัก ในฉากหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกจุดหนึ่งในชีวิตฮอว์คิง เขาพูดกับเจนคนรักของเขาว่า Everything will be O.K. “ทุกสิ่งทุกอย่างจะโอเค” หรือเป็นไปในทางที่ดี

ทันทีที่ฮอว์คิงพูดประโยคนี้ Everything will be O.K. มันทำให้คำว่า Everything ที่ถูกแช่แข็งอยู่ในทฤษฎีการค้นคว้ามาเนิ่นนาน พลิกกลับด้านเป็นถ้อยคำที่อ่อนโยนและมีหัวจิตหัวใจมากที่สุดเท่าที่เขาจะพูดมันออกมา และไม่มีใครอื่นใดอีกแล้วที่จะพูดคำว่า Everything will be O.K. ได้มีพลังมากเท่ากับเจ้าของความคิดที่ผูกติดอยู่กับทฤษฎีของ Everything มาทั้งชีวิต และเผชิญกับสิ่งที่ไม่โอเคมาทั้งชีวิตเช่นกัน

Everything will be O.K. ทุกคนก็หวังจะได้ยินเช่นนั้น ตลอด Time สั้นๆ ชั่วชีวิตหนึ่งนี้
และสำหรับคนดูหนัง...ตลอด Time ที่กินความยาว 123 นาที The Theory of Everything ไม่ใช่แค่ will be O.K. ครับ หากแต่มันโอเคจริงๆ OK everything ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกองค์ประกอบของความเป็นหนังดีๆ เรื่องหนึ่ง...



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น