xs
xsm
sm
md
lg

12 ปี ที่รอคอย Boyhood กวาด 3 รางวัล “ลูกโลกทองคำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรียกว่าคุ้มค่ากับความวิริยะ อุตสาหะ กับการใช้ระยะเวลาในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Boyhood” ซึ่งกินระยะเวลาทั้งสิ้น 12 ปีเต็ม แต่ก็ถือว่าไม่เหนื่อยเปล่า เพราะสามารถกวาดรางวัล “ลูกโลกทองคำ” ปีล่าสุด ไปได้มากที่สุด ถึง 3 รางวัล
•ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา
•ผู้กำกับ: ริชาร์ด ลิงเลเทอร์
•นักแสดงสมทบหญิง: แพททรีเชีย อาเคว็ต
ผู้กำกับริชาร์ด ลิงเลเทอร์ สร้าง Boyhood โดยการคัดเลือกเด็กน้อยวัย 7 ขวบหนึ่งคน (Ellar Coltrane) มาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง บอกเล่าเรื่องราว ครอบครัว เพื่อน การเติบโต และแง่มุมอื่นๆ ของความเป็น ‘ชีวิต’ ตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยถ่ายปีละหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะรอเวลาที่เด็กน้อย ค่อยๆ เติบโต จึงกลับมาถ่ายทำใหม่ในปีต่อๆ ไป จนเด็กน้อยเติบโตเป็นหนุ่มน้อยวัย 18
สังเกตว่าผู้กำกับลิงเทเลอร์มักจะเล่นกับเรื่องของ “เวลา” ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงกับชีวิต และความคิดของผู้คนอย่างไร? ซึ่งเขาเคยทำในลักษณะนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ในหนังไตรภาค Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight ซึ่งนำนักแสดงมาถ่ายทำชีวิตของตัวละครคู่รัก ตั้งแต่พบกันครั้งแรก จนถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน 18 ปี ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองและการนำเสนอที่แตกต่างจากผู้กำกับคนอื่นๆ ที่มักจะใช้นักแสดงต่างรุ่น เพื่อมารับบทเดียวกัน ในแต่ละช่วงวัย
ข้อดีของการใช้นักแสดงคนเดียวกันรับบทเดิม ตั้งแต่เด็กจนโต จึงได้เปรียบในแง่ของความเสน่ห์ ความลุ่มลึก และมองเห็นถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงชีวิตได้อย่างชัดเจน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง หน้าตา ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ และดูสมจริง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยการเมกอัพ หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้าช่วย รวมไปถึงอารมณ์ที่ต่อเนื่อง และเชิงชั้นทางการแสดงที่เป็นไปในระดับเดียวกัน
Boyhood เล่าเรื่องเส้นทางชีวิตของ “เมสัน” เด็กชายวัย 6 ขวบ ในช่วงหนึ่งทศวรรษเศษๆ ที่พานพบกับเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งช่วงที่สุขสุดๆ และช่วงที่ทุกข์ถนัด รวมถึงเรื่องราวความมหัศจรรย์ ที่เกินคาดเดา เรียกว่าคนที่นั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 3 ชั่วโมงนั้น จะได้ติดตามการเจริญวัยของเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่เติบโตไปพร้อมๆ กับการพัฒนาของบทเพลงในแต่ละยุค สังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนสงคราม รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาจากเกมบอยสู่ iPhone
ความน่าสนใจในชีวิตของเมสัน คือการที่เขาเติบโตมาในสภาพครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่เด็ก เขาและพี่สาวอาศัยอยู่กับแม่ ขณะที่มีโอกาสได้เจอพ่อแค่ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เด็กผู้ชายอย่างเมสัน ที่เติบโตมาแบบขาดพ่อ และต้องอยู่กับแม่และพี่สาว จึงรู้สึกว่าตัวเองเป็น “ส่วนเกิน” ของบ้าน ขณะเดียวกันเขาก็เก็บความขัดแย้งนี้ไว้ในใจ กลายเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก ใช้ชีวิตแบบดูเหมือนไร้จุดหมาย เพราะกลัวการคาดหวัง จะทำให้เขาพบกับความเจ็บปวด
ในฐานะผู้กำกับลิงเลเทอร์ ตั้งใจสอดแทรกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละยุคสมัยเข้าไปในหนังได้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะเรื่องที่บารัค โอบามาได้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา, บทสนทนาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง Star Wars รวมถึงกระแสความนิยมต่อหนังสือ Harry Potter โดยเขาเล่าว่าไอเดียแรกเริ่มของ Boyhood มาจากตอนที่เขาเพิ่งเป็นพ่อคน และครุ่นคิดเรื่องวัยเยาว์ของลูกสาว จึงอยากทำหนังที่สะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตของเด็ก ส่วนเหตุที่กำหนดช่วงเวลาไว้ 12 ปีนั้น ก็เพราะว่าเป็นช่วงชีวิตที่ถือว่าครอบคลุมช่วงการเรียนตั้งแต่เกรด 1 ไปจนจบเกรด 12 ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่มักคิดว่าเมื่อจบไฮสคูล พวกเขาก็จะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ทันที
ก่อนหน้าที่จะกวาด 3 รางวัลบนเวทีการประกาศผล “ลูกโลกทองคำ” Boyhood ก็ได้รับคำชมจากบรรดานักวิจารณ์ และคอหนังอย่างท่วมท้น และล้วนคาดเดากันไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ถึงชัยชนะที่ Boyhood และผู้กำกับริชาร์ด ลิงเลเทอร์ จะได้รับบนเวทีนี้ และเวทีอื่นๆ ในลำดับถัดไป หลังจากที่คว้ารางวัลจากชมรมนักวิจารณ์ของ 4 เมืองใหญ่ไล่เรียงมาตั้งแต่ Boston, Los Angeles , Washington และ New York
นั่นเพราะความยากประการสำคัญของการถ่ายทำเรื่องราวของ Boyhood ที่จะต้องตามติดชีวิต และพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งภายในระยะเวลา 12 ปี แต่ต้องสรุปเนื้อหา และใจความสำคัญให้ได้ในระยะเพียงแค่ไม่ถึง 3 ชั่วโมงนั้น นับว่ามหาหินเอาการ ประมาณว่า 12 ปีแห่งการถ่ายทำที่ว่ายาก และสุ่มเสี่ยงกับการที่โปรเจ็กต์จะ “ล่มกลางคัน” แล้ว การนำเรื่องราวมาร้อยเรียงให้กระชับ และไม่เยิ่นเย้อนั้น กลับยากยิ่งกว่า
นอกจากนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ เรายังจะได้เห็นความสวยงามของแง่มุมการใช้ชีวิต การไล่ล่าตามหาความฝันของวัยรุ่นอเมริกัน เห็นการร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมครอบครัว ผ่านเรื่องราว และการแสดงที่ “สมจริง”
เหนือสิ่งอื่นใด เรายังได้เห็นถึงความตั้งใจจริง ความทุ่มเท ของผู้กำกับ ที่เลือกที่จะใช้เวลาถึง 12 ปี กับการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แลกกับการขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หาญกล้า และนำมาสู่ประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่นำนักแสดงชุดเดียวกันมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดียว
มาลุ้นกันว่าบนเวทีออสการ์ ที่จะจัดให้มีขึ้นในราวเดือนกุมภาพันธ์นี้ Boyhood จะกวาดไป (อีก) กี่รางวัล ?
ที่มา นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 272 17-23 มกราคม 2558
















กำลังโหลดความคิดเห็น