xs
xsm
sm
md
lg

Finding Fanny : จดหมายรักจากวันวาน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


สองสามปีมานี้ ถ้าใครเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ลงโปรแกรมหนังซึ่งจะเข้าฉายในแต่ละสัปดาห์ จะพบว่ามีหนังอินเดียใหม่ๆ เข้าฉายแทบจะทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะโรงหนังที่ตั้งอยู่ใกล้ย่านซึ่งมีคนไทยเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ (เช่น เมเจอร์เอกมัย เอ็มโพเรียม) แน่นอนว่านี่คือการทำตลาดอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งได้ผลดี เพราะคนไทยเชื้อสายอินเดียในบ้านเราก็จำนวนไม่น้อย

ในภาพจำแบบหนึ่ง หนังอินเดียหรือเรียกอีกอย่างว่าหนังบอลลีวูด สำหรับเราส่วนใหญ่ มักจะเป็นหนังที่ต้องมีการเต้นรำแทรกอยู่ระหว่างการดำเนินเรื่อง บางจังหวะก็ปล่อยให้ตัวละครฟ้อนรำอ้อมภูเขาสักรอบก่อนแล้วค่อยกลับมาเข้าเรื่อง ในแง่หนึ่ง มันทำให้หนังดูมีความเซอร์เรียลหรือเหนือจริงขึ้นไป คล้ายทำหน้าที่อีกหนึ่งด้านของภาพยนตร์ในการพาคนดูผู้ชมก้าวออกไปจากโลกความเป็นจริงและบันเทิงเริงรมย์ในโลกที่หนังสร้างขึ้น การเต้นรำในหนังแบบนี้ คือขนบและรากเหง้าของภาพยนตร์อินเดียมาแต่ไหนแต่ไร

แม้แต่หนังยุคใหม่ๆ ที่เราได้ดู ไม่เว้นแม้กระทั่งหนังบู๊แอ็กชั่นระดับตำนานอย่างเรื่อง Sholay มาจนถึงหนังยุคนี้อย่าง “ดาบัง” (Dabaang) หรือที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อหลายเดือนก่อนอย่าง Doom 3 หนังพวกนี้แม้จะมีภาพของความเป็นหนังสมัยใหม่ แต่ก็ยังรักษากลิ่นอายรากเหง้าของตัวเองไว้อยู่ อย่างเช่น ดาบัง แม้หนังจะแอ็กชั่น แต่ถึงจังหวะหนึ่งก็เต้นกันไปก่อนแล้วค่อยย้อนมาฟาดปากกัน และสำหรับ Doom 3 การใส่ฉากเต้นรำเข้ามา ก็ผสมกลมกลืน เนียนไปกับเนื้อเรื่องได้ดี เพราะตัวละครในหนังเป็นนักแสดงเต้นโชว์

ยังมีหนังอินเดียอีกจำนวนมากที่เข้าฉายในแต่ละปี เพราะอย่างที่ทุกคนคงจะทราบ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบอลลีวูดของอินเดียนั้น ใหญ่โตยิ่งกว่าฮอลลีวูดของอเมริกาด้วยซ้ำ และฟังมาว่า หนังอินเดียหลายต่อหลายเรื่อง เดินทางไปเหยียบถิ่นฮอลลีวูด และเก็บรายได้เป็นอันดับต้นๆ บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศของอเมริกาก็บ่อยครั้ง

กระนั้นก็ดี หนังอินเดียใช่ว่าจะมีแค่เพียงพวกที่ต้องเต้นรำระหว่างเรื่อง เพราะหากติดตามจริงๆ จะพบว่าอินเดียยังมีหนังอีกจำนวหนึ่งซึ่งไม่ได้พิงตัวเองอยู่กับขนบนั้น ไล่ขึ้นไปในระดับของผู้กำกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ของโลกภาพยนตร์ คือ สัตยาจิต เรย์ ซึ่งมีผลงานอย่างไตรภาคอาปู (Apu Trilogy) เป็นสุดยอดผลงานในความทรงจำ เป็นหนังที่บอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่อันขัดสนจนยากของพลเมืองชั้นล่างๆ ของประเทศอินเดีย เทียบไปก็คงจะคล้ายกับงานวรรณกรรมอย่าง “ลูกอีสาน” (คำพูน บุญทวี) ของบ้านเรา

ถัดจากนั้น ยังมี “มีร่า ไนเออร์” ที่ดังมากๆ จากเรื่อง Salaam Bombay!, Monsoon Wedding และ The Namesake หรือ “ดีปา เมห์ทา” เจ้าของผลงานไตรภาคระดับขึ้นหิ้งไปแล้ว อย่าง Fire, Earth และ Water หรือถ้าจะย้อนไปแบบไม่ไกลนัก หลายคนต้องนึกถึง เดอะ ลันช์บ็อกซ์ ของผู้กำกับ “ริเทศ บาตรา” ที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อต้นปี

กล่าวโดยรวมๆ หนังกลุ่มนี้ จะว่าไปก็เหมือนกับหนังทั่วไปที่เราคุ้นเคย ไม่มีฉากเต้นรำระหว่างเรื่อง ซึ่งถ้าเปลี่ยนตัวละครจากนักแสดงชาวอินเดียเป็นดาราชาติอื่นหรือเปลี่ยนฉากโลเกชั่นเป็นประเทศอื่น ก็จะดูไม่ออกไปเลยว่าเป็นหนังอินเดีย และกับหนังอินเดียเรื่องล่าสุด อย่าง Finding Fanny ก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นหนังอินเดียที่อยู่ในแนวหนังกลุ่มนี้ (แต่ที่จำเป็นต้องวงเล็บไว้และขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้ก็คือ แม้หนังจะออกนอกขนบแบบหนังจากแดนภารตะไปเยอะ แต่ตอนเอ็นด์เครดิต หนังกลับใช้ลูกเล่นแบบตัวการ์ตูนเพื่อคารวะขนบดั้งเดิมของตนได้อย่างมีความสุนทรีย์ ชนิดที่คนดูรอบเดียวกันกับผม ยังต้องรอชมจนจบ ไม่เดินออกจากโรงก่อน)

ไฟน์ดิ้ง แฟนนี่ เป็นหนังอารมณ์ดีที่มาพร้อมกับเรื่องราวของชาย(เกือบ)ชราผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเดียวดายในบ้านหลังเก่า แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งมาถึงบ้านของเขา ที่น่าแปลกใจก็คือว่า จดหมายฉบับนั้นมันคือจดหมายของตัวเขาเองที่เคยเขียนส่งให้หญิงสาวคนรักเก่าเมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน เนื้อความสำคัญในจดหมายคือการสารภาพรักขอแต่งงาน แต่เมื่อจดหมายฉบับนั้นกลับมาบ้าน นั่นย่อมมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ว่าจดหมายนั้นไม่เคยถูกส่งถึงมือของหญิงสาวคนนั้นเลย

ภารกิจที่เกิดขึ้นกับตัวละครในหนังเรื่องนี้ก็คือ การออกเดินทางตามหาคนรักเก่าของท่านผู้เฒ่าเพื่อบอกความในใจ เพื่อคลายปม ซึ่งทับถมอยู่ในส่วนลึกสุดของชีวิต ชายชราคิดมาตลอดว่าเขาถูกสาวเจ้าปฏิเสธ และมองสาวคนรักด้วยสายตาอีกแบบ การออกเดินทางครั้งนี้จึงความหมายอย่างยิ่ง

ไฟน์ดิ้ง แฟนนี่ นั้นมีองค์ประกอบแห่งความเป็นหนังอารมณ์ดีอย่างเรียกได้ว่าครบถ้วน ทั้งความตลกที่ออกมาจากสถานการณ์อันชวนขัน และตัวละครที่มีสีสันและมีหลากหลายคาแรกเตอร์ให้เราติดตาม หนังใช้สูตรในการเดินเรื่องแบบโร้ดมูฟวี่ (Road Movie) ที่มักจะมีเรื่องราวระหว่างทางให้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ และมีบทเรียนรวมถึงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญรออยู่ปลายทาง

พล็อตหนังอาจจะฟังดูประหลาดมหัศจรรย์อยู่นิดที่เล่นกับจดหมายซึ่งไม่เคยส่งถึงมือผู้รับนานกว่าสี่สิบปี จนอาจเกิดคำถามว่าทำไมจดหมายถึงยังไม่เปื่อยผุขณะอยู่ระหว่างทาง (ก่อนจะกลับมาถึงบ้านผู้ส่งอีกครั้งหนึ่ง) แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามองจากเนื้อหาของหนัง เราอาจจะพบว่าจดหมายฉบับดังกล่าวอาจไม่เคยถูกส่งเลยตั้งแต่แรกก็เป็นได้ จะเพราะเหตุอันใดก็แล้วแต่

ในโลกนี้มีจดหมายมากมายที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อบอกความจริงจากใจให้ใครบางคนได้รับรู้ คนที่เราอยากให้รู้ อาจไม่เคยได้รู้หรือได้อ่านจดหมายจากความในใจฉบับนั้นเลย
คุณก็เคย ผมก็เคย มีจดหมายแบบนั้น...


นอกจากการเป็นหนังตลกคอมิดี้ ไฟน์ดิ้ง แฟนนี่ จึงมีแง่มุมที่งดงามในความโรแมนติกเป็นบทสรุปที่ชวนประทับใจ เกี่ยวกับความรัก เพราะนอกจากตัวละครชายชราที่ตามหารักในวันวาน หนังยังมีตัวละครวัยหนุ่มสาวอีกหนึ่งคู่ ซึ่งไม่เพียงเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับชายชรา หากแต่ทั้งคู่ยังเป็นเหมือนภาพสะท้อนชีวิตรักของชายชราด้วย เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของชายชรา หรือว่าหนุ่มสาวคู่นั้น สิ่งที่หนังส่องเสียงบอกอย่างสำคัญ คือการบอกรักในตอนที่ยังมีเวลา
เพราะพ้นจากวินาทีนี้ไปแล้ว โอกาสอาจไม่เกิดขึ้นอีก



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น