xs
xsm
sm
md
lg

Boyhood : จะสุขจะเศร้า เราก็โตไปด้วยกัน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ถ้าให้แนะนำในเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ แบบที่คนดูหนังบ้านเราพอจะต่อติดได้ โดยไม่รู้สึกห่างเหินเกินไป ก็คงต้องบอกว่า นี่คือหนังเรื่องใหม่จาก “ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์” ผู้กำกับเจ้าของผลงานไตรภาคสุดแสนโรแมนติก ขึ้นหิ้งคลาสสิกตั้งแต่ภาคแรกที่ออกฉาย อย่าง Before Sunrise, Before Sunset มาจนถึง Before Midnight

แม้ว่าคนที่ชอบงานสายหนังสารคดี จะยังจำได้ว่า งานอย่าง “ฟาสต์ ฟู้ด เนชั่น” (Fast Food Nation) ซึ่งเป็นการกำกับของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ นั้น น่าจดจำ แต่ทว่าถ้าพูดถึงผลงานที่สั่นคลอนความอ่อนไหวและงดงามในหัวใจของคนดูและเป็นตำนานไปแล้วเรียบร้อย ก็คงหนีไม่พ้นไตรภาคแห่งรักอย่างที่บอก

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ลิงค์เลเตอร์ผลิตงานชิ้นแล้วชิ้นเล่าออกมาอย่างต่อเนื่อง เขาก็มีงานชิ้นหนึ่งซึ่งทำแบบซุ่มเงียบ ถ้าจะนับรวมเวลาจริงๆ ก็คือ 12 ปี นับตั้งแต่เขาเริ่มถ่ายทำหนังเรื่องนี้...บอยฮู้ด...

อันที่จริง สูตรที่ใช้กับ “บอยฮู้ด” ก็เป็นสูตรที่พูดได้ว่าใกล้เคียงกับที่ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ใช้มาแล้วในไตรภาคหนังรักชุดนั้น เพราะทั้ง Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight ต่างก็ใช้นักแสดงคนเดียวกัน ทั้งชายและหญิง (อีธาน ฮอว์ก กับ จูลี่ เดลพี่) อีกทั้งช่วงเวลาในหนังเรื่องนี้ ถ้านับรวมตั้งแต่ภาคแรกเข้าฉาย ก็กินเวลาถึง 18 ปี เพียงแต่ถ้าจะมีความต่าง ระหว่างไตรภาคความรักและบอยฮู้ด ก็คือว่า เรื่องหลังนี้ เวลา 12 ปี มันจบตัวเองในเรื่องเดียวภาคเดียว

และความยากของบอยฮู้ดก็อยู่ตรงนี้ เพราะหนังต้องใช้นักแสดงคนเดิม ตลอดระยะเวลา 12 ปี (แต่รวมแล้ว ออกกองถ่ายทำ 39 วัน) ปะเหมาะเคราะห์ร้าย โชคไม่เข้าข้าง มีใครคนใดคนหนึ่งหลุดออกไป ไม่ว่าด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตาม หนังที่ทะเยอทะยานขนาดนี้ก็คงสำเร็จอย่างที่ใจต้องการได้ยาก

เหตุผลหลักที่ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ต้องการใช้นักแสดงคนเดิม ก็เพราะต้องการจะสื่อให้เห็นพัฒนาการของตัวละแบบสมจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เนื้อหาแกนกลางของหนังนั้น เล่าผ่านมุมมองของตัวละครตัวหนึ่ง ตั้งแต่วัยเยาว์ ไปจนกระทั่งถึงช่วงเวลาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลากว่าสิบสองปีที่หนังดำเนินไป เราจะเห็นตัวละครตัวนี้ตั้งแต่อายุหกเจ็ดขวบไปจนถึงอายุย่างยี่สิบ พัฒนาการทางด้านร่างกาย เคลื่อนผ่านเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเรื่องราวมากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ในความหมายของการเป็นหนังเชิงชีวิต บอยฮู้ดจึงแตกต่างจากหนังเชิงชีวประวัติเหมือนกับหนังสารคดีชีวิตทั่วไป ในทางตรงกันข้าม บอยฮู้ดก็เหมือนหนังทั่วๆ ไปที่บอกเล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีหลายรสชาติชีวิตผสมผสานอยู่ในนั้น อารมณ์ขัน ความสุข หรือกระทั่งความทุกข์เศร้าหม่นหมอง ไหลล่องอยู่ในช่วงเวลาเหล่านั้น และที่สำคัญ ถ้าเรื่องราวของใครสักคน มักจะแฝงคุณค่าเชิงความคิดให้กับคนอื่นๆ เรื่องของตัวละครในบอยฮู้ดก็มีสิ่งนั้นอย่างจับต้องสัมผัสได้

อันที่จริง ผมว่าเราคนดูสามารถเชื่อมต่อติดและพร้อมจะรู้สึกร่วมไปกับหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก เพราะอย่างน้อย ตัวละครหลักก็คล้ายกับภาพเหมือนของเราแทบทุกชีวิต ในคืนวันช่วงหนึ่ง เราเป็นเด็ก เราไร้เดียงสา มันคือวัยที่เพียงแค่ตุ๊กตาขาหักไปหนึ่งข้างก็ทำให้เราร้องไห้ได้ โลกเฆี่ยนตีเราอย่างนุ่มนวลในบางครา ขณะที่บางเวลาก็โอบกอดเราอย่างดุร้าย แต่ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่าสุขหรือเศร้า รุ่งเช้าของอีกวัน เราอาจจะพบว่า โลกเบื้องหน้าไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป...

ถ้าไม่นับรวมว่า นี่เป็นงานซึ่งทะเยอะทะยานอย่างถึงที่สุดของผู้กำกับอย่างริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ซึ่งมีโอกาสสูงมากต่อการจะพาเขาเข้าไปสู่รอบลึกๆ ของเวทีออสการ์ปีหน้าในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่โดยส่วนตัวของมันเอง บอยฮู้ดสามารถทำให้เรารู้สึกได้ถึงคำว่าชีวิตในหลากหลายมิติ ผ่านเรื่องราวของ “เมสัน” เด็กชายวัยเจ็ดขวบซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง เขาอาศัยอยู่กับแม่และพี่สาวซึ่งอายุมากกว่าเขาไม่กี่ขวบ โดยที่พ่อ (รับบทโดยอีธาน ฮอว์ก) แวะเวียนมาเยี่ยมและดูแลบ้างเป็นระยะ

สิบสองปีในหนัง...ท่ามกลางโครงสร้างทางประเด็นที่ต้องการสื่ออันว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านและเติบโต ผมรู้สึกว่าหนังนั้นเก็บรายละเอียดและรักษาคอนเซ็ปต์ของตนเองไว้ได้อย่างมั่นคง เวลาอันยาวนานของการถ่ายทำ ไม่ทำให้ประเด็นของหนังเสียหลักหรือหลุดออกจากคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับจำกัดกรอบความคิดที่ต้องอิงกับความเป็นจริง เนื่องจากว่า เวลาสิบสองปีนั้น มีหลายอย่างเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บทเพลงที่ถูกเปิดในหนัง (ซึ่งเพราะทุกเพลง ไล่มาตั้งแต่เพลงของเดอะ บีเทิ่ลส์ ซึ่งเป็นวงโปรดของพ่อของเมสัน) บริบททางสังคม แฟชั่นการแต่งตัว หรือข้าวของเครื่องใช้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างไปจากเรื่องราวเรื่องแล้วเรื่องเล่าในชีวิตของเมสัน

เสน่ห์ที่ยากจะปฏิเสธได้ในหนังเรื่องนี้ และแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับหนังไปได้อย่างไม่รู้สึกฝืน ตลอดความยาว 163 นาที คือตัวละคร ไม่เพียงแค่เมสันซึ่งเป็นตัวหลัก หากแต่ดาราสมทบคนอื่นๆ ซึ่งผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาตามวันเวลาแต่ละช่วง ก็เพิ่มเติมทั้งสีสันและแง่มุมให้กับหนังได้เป็นอย่างดี และคนที่น่าจะพูดได้ว่าเดินขนาบไปกับการเติบโตของเมสันและมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เด็กชายก้าวผ่านวันเวลาได้ง่ายขึ้นก็คือพ่อ ซึ่งแม้มิได้อยู่ร่วม แต่ทุกครั้งที่ได้พบ มันคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และส่งมอบบางสิ่งซึ่งมีคุณค่าเพื่อการดำรงอยู่

ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงนิยายเรื่องเยี่ยมของการ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ เรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ไม่ใช่เพียงแค่งานทั้งสองชิ้นมีการเล่นกับเรื่องของเวลา (ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า เวลา ในนิยายของมาร์เกวซนั้น ล้ำลึกกว่าหลายเท่า) หากแต่ตัวละครตัวหนึ่งซึ่งเหมือนจะเป็นแบ็กกราวน์ของหนัง และเป็นเสาหลักที่ยืนยงคงมั่นให้กับทุกๆ คน ก็คือแม่ ส่วนหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงทั้งในนิยายของมาร์เกวซและหนังของลิงค์เลเตอร์ คือ การวาดภาพของแม่ที่แม้จะต้องแบกรับเรื่องราวมากมายเพียงใด แต่แม่ก็ยังยืนอยู่เป็นเสาหลัก เสากลางของครอบครัว...คิดอย่างเลวร้ายที่สุด ถ้าหากแม่ของเมสันตัดสินใจกับชีวิตของตัวเองในแบบอื่นๆ เช่น กลายเป็นพวกขี้แพ้แล้วทำตัวเองเหลวแหลกเพราะผลพวงของชีวิตที่เลวร้าย (ล้มเหลวในชีวิตคู่ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะฝ่ายชาย) เราก็ยากจะคาดเดาได้ว่าชีวิตของเมสันจะเป็นอย่างไร

แต่ในส่วนลึก ความรู้สึกโดดเดี่ยวและแสนยาวนาน ปวดร้าวแต่มิอาจกราดเกรี้ยวร้องตะโกน เป็นรูปเงาหมองหม่นที่แผ่ขยายอยู่ในตัวตนของคนเป็นแม่ทั้งสอง ทั้งในนิยายของมาร์เกวซและในหนังเรื่องนี้...

โทยทิศทาง บอยฮู้ดมีความเป็นหนังในแบบที่เรียกว่าคัมมิ่งออฟเอจ (Coming of Age) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ความงดงามของหนังแนวนี้มักจะมีปลายทางอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านเติบโตทางความคิดหรือมุมมองโลกทัศน์ที่มีต่อโลก ผ่านเหตุการณ์หรือเรื่องราวบางอย่างหรือหลายๆ อย่าง และเหนืออื่นใด เราจะพบว่า ไม่ใช่แค่เมสันเท่านั้นที่เปลี่ยนผ่านและเติบโต หากแต่ตัวละครอื่นๆ แม้กระทั่งแม่กับพ่อของเมสัน ก็ได้ผ่านการเรียนรู้ไปอีกขั้นเช่นกัน อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าสายตาในการมองความสัมพันธ์ของการเป็นคนรักเก่ากันและกัน ก็คงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เติบโตขึ้น

หนังแบบนี้ ถ้าทำได้ดีๆ จะทำให้คนดูรู้สึกสุขและเศร้า และผ่านพ้นเติบโตไปพร้อมกับตัวละครในเรื่อง และไม่แปลกใจแต่อย่างใดเลยครับ หากใครต่อใครจะเห็นตรงกันว่า บอยฮู้ดก็คือหนึ่งในหนังดีๆ แบบที่ว่านั้น



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น