xs
xsm
sm
md
lg

เทิงเศร้าเทิงม่วน 'ผู้บ่าวไทบ้าน' ควรค่าแก่การรับชม

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เชื่อว่า ณ นาทีนี้ คงไม่จำเป็นต้องเกริ่นกล่าวเล่าแจ้งอะไรให้ยืดยาว สำหรับหนังเรื่องนี้ที่ใช้ชื่อว่า “ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” เพราะตลอดระยะเวลากว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังพูดภาษาอีสานเรื่องนี้กลายเป็น “ปรากฏการณ์” ที่ดังจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากหนังบ้านนอก สู่การพูดถึงในระดับ “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” และสื่อมวลชนในเมืองก็หยิบจับมานำเสนอเป็นพาดหัวเฮดไลน์ของหน้าข่าวบันเทิงกันอย่างเอิกเกริก กลายเป็นหนังม้ามืดแห่งปีที่ไม่เพียงกระแสดีในเชิงความชอบของคนดูผู้ชม หากยังรวมถึงรายรับที่กลับเข้ามาชนิดที่ว่าเหนือความคาดหมายด้วย

ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ หรือที่จะใช้ชื่อย่อๆ ต่อจากบรรทัดนี้เป็นต้นไปว่า “ผบทบ” เป็นผลงานการกำกับของสองผู้กำกับ “อุเทน ศรีริวิ” กับ “จิณณพัต ลดารัตน์” ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มคนทำหนังที่เรียกตัวเองว่า “อีสานอินดี้” คำว่า “กลุ่ม” ก็อธิบายตัวมันเองชัดแล้วว่าเป็นชายคาของคนที่สนใจภาพยนตร์เหมือนๆ กัน ตั้งกลุ่มกัน โดยไม่ได้มีทุนรอนอะไร คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วเพราะเหตุผลอะไรบ้างล่ะที่ทำให้หนังเรื่องประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น?

กินใจ “คนไทบ้าน”
ภาพชีวิตวันวานของอีสานถวิลหา
หลังจาก “ลูกอีสาน” และหลังจาก “แหยม ยโสธร (ภาคหนึ่ง)” รวมถึง “ปัญญาเรณู (ภาคหนึ่ง) อาจกล่าวได้ว่า นี่คือหนังที่พูดภาษาอีสานที่ควรจะได้รับการบันทึกไว้อีกเรื่องหนึ่ง มันอาจไม่เข้มข้นสุดยอดแบบลูกอีสานที่นำเสนอภาพชีวิตและวัฒนธรรมอีสานอย่างลึกซึ้ง มันอาจไม่หวือหวาด้วยงานโปรดักชั่นและความแปลกตาเหมือนแหยม ยโสธร หรืออาจจะเป็นคนละทางกับปัญญาเรณูที่ค่อนข้างจะแข็งแรงกว่าในแง่ของความลงตัว แต่กระนั้น ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ ก็เป็นอะไรที่ต้องบอกว่าเป็นหนังอีสานที่ถ้าเป็นคนอีสาน อย่างไรก็ต้องรัก

เรื่องราวหลักๆ นั้นเดินไปข้างหน้าด้วยตัวละครหนุ่มชาวบ้านที่มีชื่อว่า “ทองคำ” ซึ่งมีความฝันอย่างหนึ่งคือการได้ทำหนัง หลังจากค่ำคืนที่มีหนังกลางแปลงมาฉายในหมู่บ้าน เขามักจะคอยไปหาเก็บเศษฟิล์มขาดๆ ที่พวกหนังกลางแปลงทำทิ้งหล่นไว้แบบเดียวกับเด็กน้อยในหนัง Cinema Paradiso ที่ชอบเก็บเศษฟิล์มจากห้องฉาย ด้วยเหตุนี้ ในห้องนอนของเขา จึงเต็มไปด้วยโปสเตอร์หนังและฟิล์มหนังที่ดูเหมือนจะไร้ประโยชน์ แต่นับค่ามิได้ต่อความคิดฝันของเขา กระทั่งวันหนึ่ง ฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาในหมู่บ้าน ได้มอบกล้องให้เขา เขาจึงได้เริ่มถ่ายทำหนังในแบบของเขา ทองคำมีคนรักอยู่คนหนึ่งชื่อว่าปราณี เป็นหญิงสาวในหมู่บ้าน ก่อนที่เธอจะจากไปอยู่เมืองนอกเป็นเวลานับปี ก่อนจะกลับมาบ้านพร้อมกับฝรั่งคนนั้นที่มอบกล้องให้กับทองคำ

ท่ามกลางเรื่องรักระหว่างสองหนุ่มสาวที่แบ่งช่วงเวลาเป็นผูกพันและพลัดพราก ซึ่งมีทั้งต้องจากและกลับมาเจอ สิ่งที่หนังอย่าง ผบทบ ใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างดีก็คือการเล่นกับแบกกราวน์ฉากหลังของท้องถิ่นชนบทอีสาน แม้ว่ายุคสมัยของหนังจะผิดแปลกแตกต่างจากยุคลูกอีสานของลุงคำพูน บุญทวี แล้วก้าวเข้าสู่ยุคสามจีที่สมาร์ทโฟน เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม แง้มประตูหมู่บ้านเข้ามาแล้ว กระนั้นก็ดี ภาพแห่งวิถีชีวิตแบบคนชนบทแบบดั้งเดิมก็ยังคงเดินควบคู่กันไปด้วย ในหนังนั้น เราจะได้เห็นวิถีแห่งการอยู่การกินของคนอีสานในหลากหลายรูปแบบ และมันถูกเน้นย้ำว่าทำไมถึงต้องนำเสนอเรื่องราวพวกนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สองฉากที่ผมคิดว่าสามารถอธิบาย “ความในใจ” ของคนทำหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ฉากที่เด่นชัดมากที่สุดก็คงเป็นตอนที่ “ปราณี” เปิดดูวิดีโอในกล้องดิจิตอลที่ถูกถ่ายไว้โดยชายหนุ่มคนรัก ภาพวิถีชีวิตแห่งวันวานอันหวานชื่น เคลื่อนไหวอยู่ในวิดีโอและความทรงจำ...วิถีสมัยใหม่และการจากไปของคนหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ความคิดถึงคะนึงหายังคงอัดแน่นอยู่ในห้วงอารมณ์ความรู้สึก หนังเล่นกับอารมณ์ถวิลหาแบบนี้อย่างได้ผล สำหรับคนอีสานที่พลัดถิ่น น่าจะสัมผัสได้ในอารมณ์ถวิลหาซึ่งหนังสื่อออกมานั้น

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งฉากตอนที่ปราณียืนคุยกับทองคำซึ่งกำลังอาบน้ำอยู่นั้น ก็เป็นการตั้งคำถามอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะในขณะที่ลูกหลานอีสานห่างบ้านไกลถิ่นและโบยบินไปสร้างแปลงแต่งชีวิตที่อื่นๆ เหลียวกลับมองที่บ้านเกิด ยังคงรู้สึกว่าไม่มีความเจริญอะไร ซึ่งคำถามที่หนังทิ้งไว้ให้ขบคิดก็คือ ลูกหลานที่จากบ้านไป ล้วนไปแล้วไปลับ ไม่ค่อยมีคนอยากกลับไปพัฒนาหมู่บ้านตน ที่เหลือๆ อยู่ในหมู่บ้าน ก็คือ ผู้บ่าวไทบ้าน

คำว่า “ผู้บ่าวไทบ้าน” ก็คือคำเรียกพวกหนุ่มๆ ที่ไม่ได้จากบ้านไปไหน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป พวกเขายังแนบเนาอยู่กับบ้านเกิดเมืองนอน อาจจะดูเหมือนไม่มีอนาคตอะไรอย่างที่สาวปราณีว่า ถ้าไม่มีงานในไร่นา วันๆ ก็เอาแต่เฮฮาไปเรื่อยเปื่อย แต่หนังก็ทำให้เราเข้าใจวิถีของพวกเขาได้เห็นภาพ เพราะถ้าไม่มีพวกเขา หมู่บ้านก็อาจจะเป็นแบบที่เห็น พวกเขาคือคนที่ทำให้หมู่บ้านชนบทมีชีวิต มีสีสัน และเป็นกำลังที่จะสืบสานงานการของหมู่บ้านต่อไปเรื่อยๆ

“ผู้บ่าวไทบ้าน” กับชีวิตแบบบ้านๆ ไม่มีความฝันยิ่งใหญ่อะไร เพราะรู้ว่าถึงฝันไป ก็ไม่มีทางเป็นจริง “ผู้บ่าวไทบ้าน” หลายคน ไปดูหนังเรื่องนี้แล้ว กลับออกมาคุยกันว่าพวกเขาดูไป ยิ้มไป หัวเราะไป และถึงขั้นร้องไห้อย่างมีความสุข มันไม่เคยมีหนังที่ทำแล้วเข้าถึงวิถีของพวกเขาแบบนี้มาก่อนเลย...

“ยังฮักเธอเสมอนะเจ้า
สาวบ้านนาที่ชื่อปราณี...”
หนึ่งตัวละครของหนังเรื่องนี้ หรือที่จะพูดได้ว่าคือนางเอกของเรื่องก็คือ “ปราณี” หญิงสาวผู้เป็นรักเดียวของ “ทองคำ” ความน่าสนใจของตัวละครตัวนี้ ไม่ได้อยู่เพียงแค่การเป็นสาวอีสานที่ได้แฟนฝรั่ง หากแต่แบกกราวนด์ที่มาของเธอ ผมคิดว่าก็น่าสนใจเช่นกัน

สาวปราณีนั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่ง “สาร” (Message) ที่หนังต้องการสื่อไปถึงกลุ่มคนดูที่เป็นเป้าหมายหลัก นั่นก็คือ คนอีสาน หนังเรื่องนี้ใช้ดนตรีประกอบที่เป็นท่วงทำนองของบทเพลง “ปราณี” (ขับร้องโดยจ่าหลอย เฮนรี่) ลอยล่องคลอเคียงอยู่ตลอดทั้งเรื่อง (แต่ไม่มีเสียงร้อง) มันทำให้ผมคิดถึงหนังอันเป็นมาสเตอร์พีซของเควนติน ทารันติโน อย่างเรื่อง Kill Bill ที่ถ้าดูหนังและฟังเพลงไปด้วย ก็จะรู้สึกทันทีว่าเนื้อหาของหนังช่างเข้ากับบทเพลงที่ชื่อว่า “Bang Bang (My Baby Shot Me Down)” (เวอร์ชั่น แนนซี่ ซินาตร้า)

เช่นเดียวกัน ไม่มากก็น้อย เนื้อความในเพลงสาวปราณีของจ่าหลอย เฮนรี่ นั้นก็สามารถอธิบายความถึงเนื้อหาของหนังได้เช่นกัน และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังจะให้ชื่อตัวละครหญิงสาวผู้นี้ว่า “ปราณี” อันเป็นชื่อเดียวกับชื่อเพลง แต่มันย่อมจะมีบางแง่มุมสอดคล้องพ้องพานกันอย่างแยกไม่ออก สาวปราณีในบทเพลงของจ่าหลอย เฮนรี่ เป็นความรักที่หอมหวานของไอ้หนุ่มบ้านนอกอย่างไร ปราณีในหนังก็เป็นขวัญใจของผู้บ่าวไทบ้านในหนังแบบเดียวกันนั้น ในความสัมพันธ์นี้ หนังมีการเล่นกับกิมมิกอย่างสองอย่างซึ่งผมคิดว่าทำได้ดี หนึ่งคือ “ไก่” และอีกหนึ่งคือ “สร้อย” ทั้งสองอย่างคือสัญญาทางใจและมีค่าทางความรู้สึกต่อคนทั้งสอง แน่นอนว่าไก่อาจจะหายไป และสร้อยเส้นนั้นอาจจะขาด แต่คุณค่าทางใจที่เคยมีไม่เคยสิ้นสูญ

อีกประการหนึ่ง ผมรู้สึกว่า หญิงสาวเช่นปราณีนั้น ซ่อนนัยยะไว้พอสมควร อย่างแรกก็คือ เธอเหมือนเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของหนังในการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนอีสานร่วมสมัยที่มักจะมีแฟนเป็นฝรั่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีพ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่อยากให้ลูกได้มีสามีฝรั่ง อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้ตัดสินอะไร เพียงแต่บอกเล่าตรงไปตรงมาว่ามันมีความคิดและค่านิยมแบบนี้อยู่ แต่กระนั้นก็ยังมีแอบเหน็บแนมเล็กๆ ในช่วงฉากตอนที่เกิดปัญหาเรื่องการลักขโมยกล้องถ่ายวิดีโอ เพราะยุคนี้สมัยนี้ บางทีเราเหมือนจะเชื่อพวกฝรั่งมากกว่า “ไทบ้านกันเอง” ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะในทางไหนก็ตามแต่ เราดูจะมีฝรั่งเป็นสรณะกันไปหมด ใช่ไม่ใช่ ลองพิจารณากันดู

ในความหมายที่มากไปกว่านั้น ปราณี อาจหมายถึงใครก็ได้ที่ต้องไปจากหมู่บ้าน อาจจะไปได้ดีมีสุขสำราญ หรือเจ็บปวดร้าวรานกลับมา ที่บ้านนาก็ยังคอยโอบอุ้มรับขวัญ ยังมีรักที่เฝ้ารอ และผู้บ่าวไทบ้านที่เฝ้าคอย...“อ้ายยังฮักน้องคือเก่า” (พี่ยังรักน้องเหมือนเดิม) คือไดอะล็อกที่หนังใส่เข้ามาอยู่บ่อยครั้ง...

ทุนน้อย ทำหนังแต่พอตัว
หนังตลาดบ้านๆ แบบอีสานอินดี้
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ณ ชั่วโมงนี้ ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ กลายเป็นประเด็นที่ถูกสนทนาถึงสำหรับคนในแวดวงภาพยนตร์อย่างหนาหู รวมไปถึงบนพื้นที่สื่อ ซึ่งแม้แต่หนังจากค่ายสตูดิโอใหญ่ๆ หลายต่อหลายเรื่อง ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากมายขนาดนี้ แม้จะเทงบโปรโมตกันอย่างมหาศาลก็ตามที

ในแง่คุณภาพผลงาน ต้องยอมรับว่า ผบ ทบ.ยังไม่ถึงกับเป็นหนังที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ บทหนังไม่เป๊ะมาก ยังดูขาดๆ เกินๆ และความต่อเนื่องของฉากต่อฉาก ซีนต่อซีน ยังมีให้เห็น เหมือนตะเข็บที่เห็นรอยต่อชัดเจน เช่นเดียวกับงานด้านโปรดักชั่นที่ดู “บ้านๆ” สมกับเป็นหนังบ้านๆ แต่ถ้ามองตามความจริงของเหล่าตัวละคร ผู้บ่าวไทบ้านไม่ใช่คนที่มีเงินทองทรัพย์สินอะไรมากมาย ถ้าหนังจะเล่นกับความหรูหราของงานสร้าง ก็คงจะไม่เข้ากันเท่าไรนัก (หรือแม้กระทั่งฝรั่งที่เข้ามาในหมู่บ้าน ว่ากันตามจริง ก็เป็น “ฝรั่งบ้านๆ” ไม่ได้มั่งคั่งร่ำรวยอะไร)

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมานั่งกังวล เพราะหนังสามารถทดแทนข้อด้อยเหล่านั้นได้ด้วยอารมณ์ขันและความสนุกสนานของตัวเรื่อง มุกตลกแบบบ้านๆ ซึ่งไม่ใช่การต่อมุกกันเหมือนหนังตลกทั่วๆ ไป คือความเพลิดเพลินเจริญจิตตลอดการรับชม ทั้งนี้ หนังยังมีอารมณ์เชิงดราม่าอยู่ค่อนข้างเด่นชัด แม้ว่าหลายๆ ฉากจะดูล้นๆ จนเกือบจะหนักไปทางฟูมฟายเกินไปอยู่บ้าง แต่รวมๆ ถือว่าบิลท์อารมณ์คนดูได้ การใช้ดนตรีและเพลงประกอบ รวมไปจนถึงกลอนลำอะไรต่างๆ นานา คืออีกหนึ่งคุณสมบัติเชิงบวกที่เพิ่มความรื่นรมย์ให้กับหนังได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ ถึงแม้จะไม่ใช่ผู้บ่าวไทบ้านก็สามารถเบิกบานสำราญใจกับหนังเรื่องนี้ได้เช่นกัน

“อาร์ตี้-ธนฉัตร” ที่เป็นนักแสดงนำของเรื่อง ดูจะไปได้ดีกับบทที่เหมาะกับพื้นเพรากเหง้าของตนเอง เขาเป็นคนอีสาน (แต่เคยไปเล่นบทคนสุพรรณ ในเรื่องบุญชู) และการรับบท “ทองคำ” ที่ต้องใช้ภาษาพูดท้องถิ่นอีสาน ดูเป็นธรรมชาติ ส่วนอีกหนึ่งนักแสดงอย่าง “เนยหวาน-ชูติมา วันดึก” กับบทของปราณี เล่นหนังเรื่องแรก ก็ทำได้ดีชนิดที่ว่ามองเห็นอนาคตด้านการแสดงได้ ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะคนที่เล่นเป็นผู้บ่าวไทบ้านหรือป้าไทบ้าน ก็เล่นได้ธรรมชาติ และอีกคนที่ผมคิดว่าคนดูน่าจะต้องจดจำเขาได้แน่ๆ ก็คือมาร์ติน วิลเลอร์ ฝรั่งเกรียนที่เว้าอีสานได้เกือบเนียนพอๆ กับคนท้องถิ่น

ค่อนข้างแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่า เรื่องราวความหรรษาของคนอีสาน คงจะไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะตอนจบของหนังก็ดูเหมือนจะแง้มๆ ไว้แล้วว่าน่าจะมีภาคต่อไป แต่จะเป็น “กะเทยไทบ้าน” หรือ “ผู้สาวไทบ้าน” คงต้องรอดูกันต่อไป สำหรับชั่วโมง คงไม่มีอะไรที่จะพูดมากไปกว่า ช่วงเวลาของหนังตลาดทุนน้อยมาถึงแล้ว

เพราะที่ผ่านมา ใช่ว่าหนังทุนน้อยหรือหนังจากค่ายอินดี้ จะไม่เคยมีคนทำ แต่หนังเหล่านั้นส่วนมากมักเป็นหนังที่คนดูส่วนใหญ่เข้าถึงได้ยาก ตรงกันข้ามกับหนังเรื่องนี้ที่ถ้าจะให้นิยาม มันก็คงเป็นหนังตลาดๆ เรื่องหนึ่ง เพียงแต่มันเป็น “ตลาดแบบอินดี้” ที่ชาวบ้านทั่วไปก็เข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ยากนัก

หนังเรื่องนี้ใช้เวลาทำสามสี่ปี โดยวิธีคิดและวิธีการแบบใช้ความฝันเข้าแลก อย่างที่หลายคนคงจะรู้แล้วตามข่าวที่ปรากฏ และสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดที่ออกมา เราจะทำอะไรได้มากไปกว่านี้ ถ้าไม่ใช่ปรบมือให้พร้อมคำชม...

***เทิงเศร้าเทิงม่วน หมายถึง ทั้งเศร้าทั้งสนุก








กำลังโหลดความคิดเห็น