นับตั้งแต่ “เดอะ คอนเจอริ่ง” ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหนังผีที่ทำออกมาได้น่ากลัวมากที่สุดในช่วงหลังๆ ถัดจากนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีหนังผีเรื่องไหนโดดเด่นถึงขั้นที่จะทำให้เรารู้สึกเซอร์ไพรส์ได้ เดอะ คอนเจอริ่ง นั้น ซัดคนดูอยู่หมัดด้วยการหยิบเอาเทคนิควิธีการหลากหลายรูปแบบจากหนังผีเรื่องก่อนๆ มาเขย่าใหม่อย่างได้จังหวะและลงตัว จนน่ากังวลแทนหนังผีเรื่องต่อๆ ไปว่าจะต้องทำงานหนักกว่าเดิมเป็นแน่ในการคิดหาวิธีมาหลอกคนดู อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับ “โอคูลัส” (Oculus) นี่คือการฉีกตัวเองออกไปได้แตกต่างและมีเสน่ห์น่าจดจำเป็นเอกลักษณ์ในแบบของตัวเอง
แน่นอนครับว่า จากกระแสเสียงเท่าที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนดูแล้ว นี่คือหนังที่หลายคนบอกว่าดูแล้วงง ไม่เข้าใจ และเมื่อเกิดสองสิ่งนี้ขึ้นในความคิด ประเด็นที่จะรู้สึกว่าหนังหลอนหรือน่ากลัวนั้น ก็เป็นอันหมดไป คำถามก็คือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
บอกกล่าวอย่างสั้นๆ เบื้องต้นว่า แม้จะออกมาจากชายคาเดียวกันของผู้สร้าง Insidious และ Paranormal Activity แต่ทว่าโอคูลัสกลับไม่ใช่หนังผีที่เน้นความหลอนน่ากลัวในระดับพื้นผิว หมายถึงการเล่นกับจังหวะหรือซาวด์เอฟเฟคต์แบบที่หนังผีทั่วไปชอบใช้เพื่อหวังผลในการทำให้คนดูตกใจ ตรงกันข้ามนั้น โอคูลัสโดดเด่นในด้านการหลอกล่อคนดูผู้ชมด้วยสถานการณ์ของตัวละครที่เอาเข้าจริงก็ยากยิ่งจะตามติดได้ทันว่า อันไหนคือภาพจริง สิ่งไหนคือภาพลวง
โดยพล็อตย่อๆ หนังบอกกล่าวเล่าถึงพี่น้องคู่หนึ่งซึ่งมีปมฝังใจเกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์ ฝ่ายพี่สาวรอเวลามานับสิบปี ก่อนจะตัดสินใจกลับไปแก้ไขเงื่อนปมดังกล่าวนั้น โดยมี “กระจก” เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการที่จะพาเธอกลับไปรื้อและสะสางอดีต และแน่นอนว่า กระจกดังกล่าวนี้เองที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสู่ของผีซึ่งทำให้ชีวิตครอบครัวของเธอวอดวาย
มากกว่าความเป็นหนังผีพื้นๆ ธรรมดา นี่คือหนังที่เล่นกับแง่มุมเชิงจิตวิทยาได้อย่างน่าสะเทือนขวัญ และเมื่อเดินมาในทางนี้ หนังก็ใช้ประโยชน์จากจิตวิทยาอย่างสับสนอลหม่านจนกระทั่งยากจะรู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง เพราะ “พื้นที่” และ “เวลา” (Space & Time) ระหว่างอดีตกับปัจจุบันนั้น ซ้อนทับและเดินสวนทางกันตลอดเวลา และที่น่างุนงงกังขามากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ แม้ในช่วงเวลาเดียวกัน (ปัจจุบัน) หนังยังสับขาหลอกเราอีกว่า สิ่งที่เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นนั้น อาจไม่ใช่ความจริง
โจทย์หนึ่งของหนังที่วางไว้อย่างแยบยล คือคำถามที่ว่าเราสามารถไว้ใจความทรงจำของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า เคสที่ตัวละครทั้งสองอยากย้อนกลับไปแก้ไขนั้น เป็นเรื่องราวในวันเก่าก่อน ตอนที่พวกเขายังเด็ก การทุ่มเถียงด้วยความไม่แน่ใจว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาระหว่างตัวละครทั้งสอง
นอกจากนี้ หนังยังมีอีกสองตัวละครที่ร่วมด้วยช่วยกันบ่มเพาะสถาการณ์ให้สุกงอมไปสู่โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ คือพ่อกับแม่ของคนทั้งสอง เอาเข้าจริง ผมคิดว่า ทั้งตัวละครพ่อกับแม่นั้น มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิดบรรยากาศความหลอนและน่าสะพรึง โดยเฉพาะพ่อที่ดูเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในห้องทำงาน ดูมีความลึกลับน่าสงสัย เช่นเดียวกับกระจกบานนั้นที่อาจมีพลังงานบางอย่างแฝงอยู่
ถามว่าหนังเรื่องนี้มีผีไหม? มีครับ แต่ไม่ใช่ผีที่จะมาโผล่หน้าเละๆ พร้อมกับซาวด์เอฟเฟคต์ให้เราตกใจ แต่แบบไหนล่ะจะน่ากลัวกว่ากัน ระหว่าง...ผีออกมาจากกระจกแล้วหลอกตัวละคร กับการที่ตัวละครยืนอยู่หน้ากระจกแล้วพบว่า ตัวเองที่อยู่ในกระจกนั้น ทำสีหน้าแววตาที่แตกต่างจากตัวเองนอกกระจก แน่นอน ถ้าคุณได้ดูโอคูลัส คุณก็คงรู้สึกแบบเดียวกันว่า อย่างหลังนั้นน่าตื่นตะลึงสะพรึงกลัวมากกว่า
แน่นอนครับ ในเชิงการตีความ “กระจก” นั้นสามารถแทนได้หลายความหมาย มันอาจจะเป็นภาพสะท้อน มันอาจหมายถึงภาพลวง และบางที มันอาจจะหมายถึงตัวตนอีกหนึ่งด้านของเรา หนังเรื่องนี้ทำให้สงสัยและคิดตามไปว่า เอาเข้าจริง ถ้าไม่ใช่ผีที่เป็นตัวกระทำ เรื่องราวแวดล้อมนั้นมีส่วนกำหนดความรู้สึกกดดันบีบคั้นของตัวละคร และนำไปสู่การ “มโน” จนกระทั่งจิตบิดเบี้ยวแล้วกระทำเรื่องต่างๆ อย่างไม่ได้สติหรือไม่รู้ตัว นี่คือสิ่งที่ศาสตร์ทางจิตวิทยาน่าจะอธิบายได้มากกว่าไสยศาสตร์ที่มุ่งโยนบาปให้กับผี และบอกว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เป็นการบงการของผี
พูดอย่างถึงที่สุด โอคูลัส เป็นหนังผีที่ให้รสชาติแปลกใหม่ มันไม่สามารถดูด้วยอารมณ์ที่คุ้ยเคยว่าจะต้องเห็นผีโผล่มาหลอกตลอดเรื่อง แต่มันคือหนังผีที่ต้องอาศัยสมาธิในการดูค่อนข้างสูง ผมอยากให้เครดิตกับหนังเรื่องนี้ในแง่ที่มันยกระดับการดูหนังผีให้ก้าวไปอีกขั้น เพราะถึงแม้เขาทำมันออกมาในลักษณะของผีที่เอาผีมาหลอกคนจริงๆ เขาก็คงไม่ได้ผลตอบรับอะไรมากไปกว่าคำพูดทำนองว่า “ก็มุกเดิมๆ”
หรือว่าไม่จริงล่ะครับ?