ถ้าคุณเคยประทับใจกับหนังดราม่าชีวิตนักมวยปล้ำอย่างเรื่อง The Wrestler ที่ได้นักแสดงอย่างมิคกี้ รู้ค มารับบทนักมวยผู้กำลังอยู่ในช่วงเวลาตกต่ำอย่างถึงที่สุด หนังเรื่องนั้นคือผลงานการกำกับของ “ดาร์เรน อโรนอฟสกี้” และแน่นอนว่า สำหรับหนังเรื่องล่าสุดที่กำลังถล่มโรงฉายในบ้านเราอยู่ ณ ตอนนี้ อย่าง โนอาห์ (NOAH) ก็คือผลงานกำกับของอาโรนอฟสกี้คนที่ว่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เช็กประวัติย้อนหลังถึงหนังของดาร์เรน อโรนอฟสกี้ เราจะพบว่าผลงานของเขาไม่ใช่สิ่งที่จะ “ย่อยได้ง่าย” หรืออย่างน้อยๆ มันไม่ใช่หนังตลาดที่พร้อมจะกวาดต้อนคนดูได้ทุกวัย (นั่นยังไม่ต้องพูดถึงความเข้าอกเข้าใจที่มีต่อตัวหนัง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล คนที่ดูแล้วไม่เข้าใจ ก็อาจจะมีเช่นกัน ที่สำคัญคือบรรยากาศและอารมณ์การเล่าเรื่องในหนังของดาร์เรน มักดำเนินไปแบบเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป แม้แต่ผลงานที่อยู่ในความชอบของของผมอย่าง The Wrestler ก็ใช่ว่าจะชึบชับฉับไว (เพียงแต่ถ้าละเลียดไปเรื่อยๆ จนจบจะพบกับความประทับใจ) งานนอกจากนี้ของเขา ไล่มาตั้งแต่ Pi, Requiem for a Dream, The Fountain หรือแม้แต่ Black Swan ที่เข้าชิงออสการ์ถึงห้าสาขา รวมทั้งผู้กำกับ ภาพยนตร์ และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ก็ล้วนเป็นงานที่เรียกได้ว่าค่อยๆ ดำเนินเรื่อง
และแน่นอนว่า เมื่อมาถึงเรื่อง “โนอาห์” ที่แม้จะมีภาพลักษณ์ของการเป็นหนังตลาดพาดอยู่เต็มบ่า อีกทั้งตัวอย่างโฆษณาก็ดูหวือหวาชวนให้คิดถึงหน้าตาของหนังวันสิ้นโลก แบบพวก 2012 คือตูมตามโครมครามอย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายแล้ว ดาร์เรนก็ยังเป็นดาร์เรนในแบบที่ผมคุ้นเคย คือไม่โฉ่งฉ่างตึงตัง แต่ค่อยๆ ดำเนินเรื่องไปแบบเนิบๆ แทรกฉากระทึกใจให้ฝ่ายซาวด์เอฟเฟคต์ได้โชว์ของบ้างประปราย แต่หัวใจของหนังยังคงเป็นแบบดาร์เรน คือเน้นการเล่าเรื่อง ผูกเรื่อง ไปเรื่อยๆ
ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องบอกกล่าวเล่าความสำหรับผู้ที่สนใจจะไปดูให้เตรียมตั้งโหมดล่วงหน้ากันไว้สักเล็กน้อยก่อน ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าหนังแย่นะครับ เพียงแต่ถ้าปรับโหมดอารมณ์ได้ถูก ผมว่าน่าจะสนุกไปกับหนังได้ จุดแข็งที่สุดของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ประเด็นและเรื่องราว ซึ่งไม่ว่ามันจะตรงหรือไม่ตรงอย่างไรกับข้อมูลทางศาสนาที่ควรจะเป็น ผมไม่ขอเข้าไปแตะ และเป็นเรื่องศรัทธาของศาสนิกผู้รู้ที่จะหยิบจับขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ในด้านของการเป็นหนัง ผมว่า “โนอาห์” ก็พาตัวเองเดินไปถึงประเด็นที่ต้องการจะสื่อได้
ขณะเดียวกัน ผมไม่ขอลงลึกในรายละเอียดของหนังมากนัก แต่อยากแนะนำว่า สำหรับคนที่ชอบดูหนังแล้วได้ประเด็นเชิงลึก ได้ขบคิดตั้งคำถาม น่าจะชอบหนังเรื่องนี้ อโรนอฟสกี้ให้น้ำหนักกับคาแรกเตอร์ตัวละครเด่นๆ ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นโนอาห์ ไปจนถึงภรรยากับลูกๆ หรือแม้กระทั่งบทของเด็กผู้หญิงที่ช่วยเหลือเลี้ยงดู (ซึ่งเมื่อโตขึ้น รับบทโดยเอ็มม่า วัตสัน) ตามสไตล์ของหนังดาร์เรน อโรนอฟสกี้ ผมว่างานชิ้นนี้อย่างเรื่อง “โนอาห์” ถือว่าเข้าขั้นได้มาตรฐาน ตัวละครมีมิติ และตัวเรื่องก็มีเชิงลึก
มันอาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจสำหรับความเคร่งครัดในศาสนา แต่ถ้าคิดว่า นี่คือการตีความนำเสนอในแบบวิถีของคนทำหนัง เราจะพบว่า ตัวเนื้อหาของเรื่องนั้นมีความเข้มข้นในระดับสูงมาก เพราะนอกจากประเด็นเกี่ยวกับว่า เมื่อโลกมันตกต่ำเลวทรามเพราะคนเลวๆ มันก็ควรถึงเวลาที่จะต้องล้างโลกเก่าทิ้งไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับโลกใหม่ที่สดใสกว่า เอาจริงๆ นะครับ ผมว่านี่คือสิ่งที่หลายคนก็คงจะคิดเหมือนกัน คือล้างพวกเลวๆ ให้หมดโลกแล้วก็รีสตาร์ทใหม่
แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ไปไกลกว่าหนังศาสนาหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น The Passion of the Christ ไปจนถึง The Nativity Story ตรงที่มันไม่ได้แค่เพียงจะไล่เรียงเรื่องราวทางศาสนาเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีการเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครด้วย และยังมีการตั้งคำถามอย่างแหลมคม เพื่อให้คนดูผู้ชมร่วมกันขบคิด
ดังนั้น แม้รูปลักษณ์หน้าตาของหนังจะค่อนไปทางโบราณย้อนยุค แต่กับประเด็นหรือเนื้อหาแล้ว นี่คือหนังที่มีความพยายามทำให้ร่วมสมัยหรือดูสมัยใหม่มากขึ้น ด้วยการไม่ละเลยที่จะเล่นกับภาวะของตัวละคร เนื้อเรื่องนั้นไม่ซับซ้อน แต่ตัวละครกลับเป็นจุดที่สามารถสร้างความรู้สึกสะเทือนใจได้ เอาง่ายๆ ว่า ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ในแบบที่มันเป็นจริงๆ ก็คงต้องดูด้วยความรู้สึกว่ามันคือหนังดราม่า ไม่ใช่แอ็กชั่น แม้จะมีฉากต่อสู้กันอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น
ในบรรดาหนังทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ในโลกนี้ มีหนังอยู่แบบหนึ่งซึ่งให้อะไรกับคนดูมากไปกว่าความบันเทิงสนุกสนาน ผมคิดว่า “โนอาห์” คือหนังในกลุ่มๆ นี้ อย่างมิอาจปฏิเสธ