xs
xsm
sm
md
lg

“เอริค แคลปตัน-อันปลั๊ก” คอนเสิร์ตอะคูสติกบันลือโลก/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกอัลบั้ม Unplugged: Expanded and Remasterd
เดิมทีวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมามือกีตาร์เทพ “เอริค แคลปตัน”(Eric Clapton)ต้องมาเปิดคอนเสิร์ตที่เมืองไทย แต่เมื่อสมุนทรราชยิงระเบิดถล่มกลางกรุงฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจนมีเด็กเสียชีวิตถึง 4 ราย คอนเสิร์ตเอริคจึงถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเอริค แคลปตัน เมื่อเร็วๆนี้ทางค่าย “Warner Music” ได้หยิบเอาอัลบั้มคอนเสิร์ตสุดเจ๋ง “Unplugged”(อันปลั๊ก) มาปัดฝุ่นใหม่ในชื่อชุด “Unplugged: Expanded and Remasterd” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ชวดดูคอนเสิร์ตของลุงเอริค ส่วนใครที่เป็นแฟนเพลงตัวยงของมือกีตาร์เทพคนนี้ก็ไม่ควรพลาดอัลบั้มชุดนี้ด้วยประการทั้งปวง

อัลบั้ม Unplugged: Expanded and Remasterd ชุดนี้ได้ทำการรีมาสเตอร์อัลบั้มต้นฉบับขึ้นใหม่ ให้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในบรรจุเป็นแพกเกจรวม 3 แผ่นด้วยกัน โดยหนึ่งนั้นเป็นซีดีคอนเสิร์ตรีมาสเตอร์ต้นฉบับ อีกหนึ่งเป็นซีดี 6 เพลง ที่ไม่เคยวางจำหน่ายที่ไหนมาก่อน บางเพลงซ้ำกับเพลงในซีดีคอนเสิร์ต ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นดีวีดีคอนเสิร์ตที่มีการเพิ่มภาพการเตรียมงานของแคลปตันและวงแบ็คอัพเข้ามาอีก รวมความยาวมากกว่า 1 ชั่วโมง

สำหรับอัลบั้มอันปลั๊กของเอริค(ดั้งเดิม)ชุดนี้ ถือเป็นอัลบั้มอมตะ หนึ่งในคอนเสิร์ตอะคูสติกที่เอริคกับทีมงานได้สร้างชื่อก้องโลกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1992 โดยแสดงสดในวันที่ 16 ม.ค. ค.ศ.1992 ในรายการ MTV Unplugged ในสตูดิโอที่วินเซอร์ ประเทศอังกฤษโดยเปิดให้แฟนเพลงผู้โชคดี(มาก)เข้าชมแบบจำกัดจำนวน จากนั้นได้ผลิตออกมาจำหน่ายเมื่อ 25 ส.ค. ปีเดียวกัน

คอนเสิร์ตครั้งนี้ เอริคได้คัดคนดนตรีตัวเก๋ามาร่วมงาน ได้แก่ “Andy Fairweather Low”-ริทึ่มกีตาร์ และฮาร์โมนิก้า, “Nathan East”-เบส, “Chuck Leavell” - เปียโน คีย์บอร์ด, “Steve Ferrone” - กลอง, “Ray Cooper” - เพอร์คัสชั่น ร่วมด้วยสองสาว “Katie Kissoon” กับ “Tessa Niles” ที่มาร่วมร้องประสาน

คอนเสิร์ตอันปลั๊กที่ตัดแผ่นมามี 14 เพลง เปิดตัวกันด้วย “Signe”(Eric Clapton) เพลงบรรเลงเพราะๆฟังเพลินในอารมณ์ป็อบแจ๊ซ เน้นจังหวะยก มีเสียงเพอร์คัสชั่นของเรย์เล่นเติมเต็มให้เพลงมีสีสันมากขึ้น

แทรค 2,3 เป็น “Before You Accuse Me” (Ellas McDaniel) ต่อด้วย “Hey Hey”(Big Bill Broonzy) บลูส์สนุกๆทางถนัดของมือกีตาร์เทพคนนี้ แสดงให้เห็นความเป็นบลูส์แมนอยู่ในสายเลือด

จากนั้นเป็น “Tears in Heaven” (Clapton, Will Jennings) เพลงที่เอริคแต่งให้ลูกชายหลังอำลาโลกไป เพลงนี้แรกนั้นใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Rush” ก่อนจะโด่งดังก้องโลกจากคอนเสิร์ตครั้งนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งบัลลาดลายเซ็นประจำตัวเอริคคู่กับ “Wonderful Tonight”

Tears in Heaven มาในอารมณ์หวานเศร้า แม้จะคงกลิ่นต้นตำหรับไว้ แต่ก็เรียบเรียงใหม่ในเวอร์ชั่นอะคูสติกได้อย่งไพเราะลงตัว กลายเป็นเวอร์ชั่นอมตะของเพลงนี้มาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่ไปครองได้ถึง 3 รางวัล

ส่วน “Lonely Stranger”(Clapton) เป็นเพลงช้า ตบกีตาร์เบาๆสร้างอารมณ์ ชัคเล่นเปียโนเสียงกรุ๋งกริ๋งหยอดสีสัน พร้อมกับเสียงประสานของสองสาวที่ดึงอารมณ์หม่นได้ดีทีเดียว

Nobody Knows You When You're Down and Out” (Jimmy Cox) มาในทางแทรดดิชั่น เพลงเรียบเรียงเยี่ยม ฟังแล้วชวนโยกขยับตัวตาม เอริคโซโลกีตาร์ง่ายๆแล้วส่งต่อให้กับชัคโซโลเปียโนอย่างเนียน สรุปได้สั้นๆว่า เจ๋งทั้งคู่ ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงทีเด็ดในอัลบั้มนี้ที่ได้รับเสียงตบมือกระหึ่ม

ต่อกันกับอีกหนึ่งเพลงเด็ด “Layla”(Clapton, Jim Gordon) เพลงนี้ลุงเอริค หยิบ Layla มาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ ผสมกลิ่นอะคูสติกบลูส์ ฉีกอารมณ์จากเดิมไปมากโข กลายเป็น Layla เวอร์ชั่นใหม่ ที่ยอดเยี่ยมเทียบเคียงกับต้นฉบับ จนสามารถคว้ารางวัลแกรมมี่ปีนั้นไปครอง สมอารมณ์คนเคยแอบรักเมียเพื่อน(จอร์จ แฮร์ริสัน)

Running on Faith” (Jerry Lynn Williams) เพลงช้าซึ้ง เสียงสไลด์กีตาร์หวานเพราะจับใจ ส่วน “Walkin' Blues”(Robert Johnson) เป็นบลูส์เข้มๆคงไว้ซึ่งอารมณ์เดลต้าบลูส์

Alberta” (Traditional) อีกหนึ่งเพลงโคตรเจ๋งประจำอัลบั้ม มาในอารมณ์แทรดดิชั่น ชวนโยกขยับตัว ชัคโซโลเปียโนได้พลิ้วไหวไพเราะ เพราะพริ้ง

เปลี่ยนมาสนุกในอารมณ์กับ “San Francisco Bay Blues”(Jesse Fuller) กีตาร์ตีคอร์ดแน่นๆมันๆ มีแอนดี้โซโลฮาร์โมนิก้า ส่วนที่เซอร์ไพรส์ก็คือลุงเอริคแกไปงัดเอา“คาซู”(Kazoo : เครื่องเป่าคล้ายนกหวีดให้เสียงคล้ายแซกโซโฟนเสียงแหบหรือคล้ายเสียงเป็ด) มาเป่าโซโล พร้อมทั้งเป่าปิดท้ายง่ายๆแต่โคตรเก๋า

Malted Milk”(Robert Johnson) เดลต้าบลูส์อารมณ์เข้ม ในกลิ่นดั้งเดิม คงความเป็นโรเบิร์ต จอห์นสัน ราชาเพลงบลูส์ผู้(เชื่อว่า)ขายวิญญาณ ซึ่งเอริคเป็นอีกคนหนึ่งที่นำเพลงของโรเบิร์ต จอห์นสัน มาเล่นบ่อยมาก รวมถึงออกอัลบั้มเพื่อแสดงความคารวะต่อบรมครูบลูส์ผู้นี้มาอีกด้วย

Old Love” (Clapton, Robert Cray) เพลงช้าๆ เสียงกีตาร์เอริคโซโลยาวได้อย่างลื่นไหล บาดอารมณ์ แสดงภาวะกีตาร์เทพ ที่ไม่ต้องเล่นโชว์ลูกนิ้วรวดเร็วหวือหวาปานรถด่วนขบวนนรก หากแต่ให้ความสำคัญกับสำเนียงและอารมณ์เพลงเป็นหลัก

ต่อด้วย “Rollin' and Tumblin'” (Muddy Waters) เป็นเพลงคันทรี-บลูส์มันๆ เสียงสไลด์กีตาร์ฟังโดดเด่น ขณะที่กลองและเพอร์คัสชั่นก็พร้อมใจกันปล่อยของออกมาในเพลงนี้ ถือเป็นการปิดท้ายอัลบั้มกันแบบมันในอารมณ์

สำหรับ 14 บทเพลงที่ปรากฏในอัลบั้มอันปลั๊กชุดนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางดนตรีอันยอดเยี่ยมของเอริค ทั้งด้านฝีมือการแสดงสด ร้องเพลง เล่นกีตาร์ที่ลุงแกบังคับคุมกีตาร์ได้อยู่มือ เชื่องยิ่งกว่าลูกแมวในอ้อมกอดอุ่นๆ

ขณะที่ทีมงานนั้นแต่ละคนก็เยี่ยมยุทธ์ไม่แพ้กัน งานนี้แม้จะเป็นคอนเสิร์ตของเอริค แต่เขาเน้นเล่นเป็นทีมเวิร์ค ไม่ได้โชว์โซโลกีตาร์ยาวเยียด(เหมือนสมัยวงครีม) หากแต่ให้ความสำคัญกับอารมณ์เพลง ซึ่งก็สามารถดึงอารมณ์ร่วมของคนดู คนฟังได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นพิเศษให้เป็นในแบบอะคูสติก คือไม่มักง่ายเหมือนคนดนตรีในบ้านเรา ที่บอกเล่นคอนเสิร์ตอะคูสติด ถอดปลั๊ก หรือ ปลั๊กหลุด พวกก็ให้คนหนึ่งมาตีคอร์ด คนหนึ่งมาโซโล แค่นั้น โดยไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ เพียงแค่เปลี่ยนจากกีตาร์ไฟฟ้ามาเป็นกีตาร์โปร่ง อะคูสติกกีตาร์เท่านั้น

เรื่องนี้ “คีธ ริชาร์ด”(Keith Richard) ยอดมือกีตาร์วงหินกลิ้งโรลลิ่ง สโตน ได้เคยกล่าวประโยคเด็ดสำหรับมือกีตาร์เอาไว้ว่า “ถ้าคุณต้องการดูว่ามือกีตาร์ที่ดีเป็นอย่างไร ก็จงดูว่าเขาควบคุมอะคูสติกกีตาร์ของเขาได้ดีขนาดไหน นั่นแหละคือคำตอบ” ซึ่งนี่คงไม่ต้องอธิบายอะไรต่อมากมายเกี่ยวกับการเป็นมือกีตาร์ของเอริค แคลปตัน

และด้วยความลงตัวของคอนเสิร์ตนี้ ทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี ฝีมือนักดนตรี ระบบเสียง การเรียบเรียง มันได้ทำให้อัลบั้มอันปลั๊กมีความโดดเด่นจนสามารถกวาดรางวัลแรมมี่ในปี 1992 มาได้ถึง 6 รางวัล ได้แก่ บันทึกเสียงแห่งปี“Tears In Heaven”, อัลบั้มแห่งปี, บทเพลงแห่งปี “Tears In Heaven”,ศิลปินร็อก(ชาย)แห่งปี, ศิลปินป็อบ(ชาย)ยอดเยี่ยม “Tears In Heaven” และเพลงร็อกยอดเยี่ยม เพลง “Layla”

นอกจากนี้อัลบั้มอันปลั๊กของเอริคยังทำยอดขายได้มากมายกว่า 19 ล้านชุดทั่วโลก อีกทั้งงานเพลงยังทรงอิทธิพล ทำให้เกิดอัลบั้มอันปลั๊กของศิลปินต่างๆตามมาอีกมากมายทั้งในระดับสากลและของบ้านเรา

นับเป็นความสำเร็จอย่างสูงของเอริคกับอัลบั้มอันปลั๊ก หนึ่งในคอนเสิร์ตอะคูสติกบันลือโลก ที่ยังคงความเป็นอัลบั้มอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

*****************************************

คลิกฟังเพลง Tears in Heaven
แกะกล่อง

ศิลปิน : เอริค แคลปตัน และผองเพื่อน
อัลบั้ม : Crossroads Guitar Festival 2013

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 มือกีตาร์เทพ“เอริค แคลปตัน” จะจัดคอนเสิร์ตการกุศล“Crossroads Guitar Festival” ขึ้นเป็นประจำทุกๆ 3 ปี เพื่อหารายได้ให้กับศูนย์ครอสส์โรดในแอนติกัว ที่แคลปตันตั้งขึ้นในปี 1988 เพื่อให้การศึกษาและบำบัดผู้ป่วยจากยาเสพติด

สำหรับ “ครอสโรดส์ กีต้าร์ เฟสติวัล 2013”(Crossroads Guitar Festival 2013)ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 เม.ย. 56 เต็มไปด้วยมือกีตาร์ระดับพระกาฬ(เช่นเคย) นำโดยตัวเอริค แคลปตัน กับพี่น้องผองเพื่อนมากมาย อาทิ บีบีคิง,บัดดี้ กาย,เจฟฟ์ เบค,ดิ ออลแมน,โรเบิร์ต เครย์,จอห์น เมเยอร์,แกรี คลาร์ก จูเนียร์ ฯลฯ กับการแสดงสดที่เน้นเพลงบลูส์เป็นหลัก โดยมี ร็อก แจ๊ซ คันทรี มาร่วมเติมเต็มสร้างสีสันกันอย่างเต็มอิ่มกว่า 40 บทเพลง

งานนี้ทีเด็ดเห็นจะเป็นการแจมกันอย่างสนุกสนานถึงอารมณ์ นับเป็นมนต์เสน่ห์ของคอนเสิร์ตครอสโรดที่ยังยอดเยี่ยมเช่นเคย

ผู้สนใจสามารถเป็นเจ้าของคอนเสิร์ต “ครอสโรดส์ กีต้าร์ เฟสติวัล 2013” ในร้านขายซีดีชั้นนำทั่วไทย หรือดาวน์โหลดไปชมได้จากไอทูนส์ สโตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น