xs
xsm
sm
md
lg

เต็งหนึ่งออสการ์ 12 Years a Slave /อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ไม่กี่วัน หลังจากลูกโลกทองคำประกาศผลผู้ได้รับรางวัลด้านภาพยนตร์ เวทีออสการ์ก็เปิดเผยรายนามผู้มีชื่อเข้าชิงตุ๊กตาทองครั้งที่ 86 ประจำปี 2014 โดยที่ผลงานซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมจากลูกโลกทองคำอย่าง 12 Years a Slave ก็เป็นหนึ่งในเก้าที่ได้เข้าชิงในสายภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ด้วยเช่นกัน และแม้ว่าทางเมืองนอกจะบอกว่ากระแสของหนังทาสผิวสีเรื่องนี้จะดูแผ่วๆ ลงไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาดูจากมวลสารองค์ประกอบแล้ว นี่คือหนังที่มีโอกาสสูงมากต่อการจะได้รับรางวัลดังกล่าว

อันที่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไรนักหรอกครับกับประเด็นว่าหนังเรื่องไหนจะได้รางวัล เพราะว่ากันตามจริง หนังที่เข้าชิงทั้งเก้าเรื่อง ย่อมผ่านดุลยพินิจพิจารณาของบรรดากรรมการแล้วว่าเป็นหนังที่ควรค่าแก่การรับชมด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับหลายคนที่อาจไม่มีโอกาสได้ดูหนังบ่อยนัก การที่มีใครคัดสรรหนังที่ว่าดีมาให้เลือกดู ก็พอจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนด้วยว่าจะถูกพ้องต้องกันกับรสนิยมของออสการ์หรือไม่

โดยส่วนตัว ผมได้ดูหนังที่เข้าชิงมาแล้ว 4 เรื่อง ไล่ตั้งแต่ Gravity, American Hustle, Captain Phillips และ 12 Years a Slave ให้เดาเท่าที่ได้ดู กราวิตี้นั้น หวยอาจจะออกเหมือนกับลูกโลกทองคำ คือเอารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไป American Hustle ของเดวิด โอ รัสเซลล์ ที่ผมชอบมากๆ ก็อาจจะดูยากไปสักนิดสำหรับออสการ์ซึ่งมักจะมองหาหนังที่มวลมหาประชาชนคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ไม่ยากนัก ขณะที่กัปตันฟิลิปส์ก็กลายเป็นเรื่องโอละพ่อไปซะแล้ว เมื่อทางบุคคลต้นเรื่องออกมาบอกว่าหนังที่สร้างมาจากเรื่องราวของเขานั้น ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงราวกับหนังคนละม้วน ลูกเรือทั้งหมดออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างยอมรับไม่ได้ในโทษฐานที่หนังทำให้กัปตันฟิลิปส์ดูเป็นฮีโร่เกินจริง ทั้งในแง่ที่ว่ากัปตันไม่ได้กล้าหาญขนาดนั้น คือไม่ได้เสียสละตัวเองยอมตกเป็นเชลยของโจรสลัด หากแต่ถูกบังคับควบคุมตัวไปเอง ถึงขั้นที่มีข่าวลือว่าทางโซนี่พิคเจอร์เจ้าของค่ายยินดีจ่ายเพื่อให้ลูกเรือเหล่านั้นปิดปากเงียบ และกัปตันตัวจริงก็ดูจะยอมรับในข้อนี้ด้วย

ส่วนหนังเต็งหนึ่งอย่าง 12 Years a Slave (ปลดแอก คนย่ำคน) เรื่องนี้ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ผมเห็นว่าเข้าทางของออสการ์ อย่างน้อยที่สุด นี่คือหนังที่ดูเข้าใจง่าย มีความสะเทือนใจและได้พลัง หนังออสการ์ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในแนวทางนี้ คือไม่ว่าระหว่างทางของเรื่องราวจะสุขจะเศร้าอย่างไร แต่ตอนจบต้องได้เฮ ได้ชื่นชมในจิตวิญญาณความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ไม่ยอมแพ้ไม่ยอมจำนนต่อความทุกข์ยากและพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนามทั้งทางกายและทางใจ เป็นหนังที่เติมความหวังเพิ่มพลังให้กับผู้คน อย่างไรก็ดี นี่อาจไม่ใช่ทั้งหมด แต่คือส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะนี้

12 Years a Slave เซ็ตติ้งฉากอยู่ในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1840 ซึ่งเป็นยุคที่การแบ่งแยกสีผิวดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิ่งที่ “ปลดแอก คนย่ำคน” ถ่ายทอดออกมาได้เด่นชัด คือประวัติศาสตร์ชีวิตของคนหนึ่งคน ที่คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์สังคม แน่นอนครับ เมื่อมองในมุมนี้ หนังอีกเรื่องอย่าง The Butler ก็นำเสนอในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่ไม่มีชื่อเข้าชิงเลยแม้เพียงสาขาเดียว ซึ่งนั่นก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อเทียบน้ำหนักกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ 12 Years a Slave ดีเด่นกว่าสูงมากในแทบทุกส่วน ทั้งนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะหนังแสดงตัวชัดเจนเกินไปหรือเปล่าในการโปรบารัค โอบามา (และโอบามาก็บอกว่าเขาร้องไห้เมื่อดูหนังเรื่องนี้) จึงทำให้หนังตกสำรวจจากสายตาของออสการ์ เพราะเราต้องไม่มองข้ามความเป็นจริงส่วนหนึ่งที่ว่า ในสายตาอเมริกันชน กระแสโอบามาตกไปเยอะในปีหลังๆ นี่อาจจะมีส่วนด้วยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สามารถสงสัยได้

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อนจะไปว่าถึงตัวหนัง คือช่วงหลังๆ นอกจากจะมีหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวผิวสีออกมาค่อนข้างเยอะ (The Blind Side, The Help, The Butler, The Intouchables, Mandela, Django Unchained, 12 Years a Slave ฯลฯ) “สายตา” หรือ “มุมมอง” ที่จ้องเข้าไปในประวัติศาสตร์ชุดนี้ (การแบ่งแยกผิวสี) ยังดูจะมีทิศทางที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

อย่างน้อยที่สุด จากที่เคยมองกันอย่างสุดขั้วว่ามันคือบาปในอดีตหรือความผิดในวันเก่าก่อนของคนขาวแบบเพียวๆ (White Guilt) หนังช่วงหลังๆ ได้แบ่งพื้นที่ความดีให้กับคนขาวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานอย่าง Django Unchained ของเควนติน ทารันติโน ที่นำเอาจังโก้มาทำใหม่นั้น ก็วิจารณ์อย่างเต็มปากเต็มคำว่าในหมู่คนผิวสีหรือผิวดำ ก็มีตัวร้ายเช่นกัน ส่วนคนขาวในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ได้เลวร้ายไปซะทั้งหมด หากแต่ยังมีคนซึ่งมีหัวจิตหัวใจเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ยากของคนผิวสีด้วย ใน The Butler ใน The Help หรือแม้แต่ใน 12 Years a Slave เรื่องนี้ก็มีตัวละครคนขาวแบบนั้น ซึ่งนี่ดูจะแตกต่างจากหนังที่เกี่ยวกับคนผิวสียุคก่อนๆ อย่างพวก In the Heat of the Night ที่ให้คนขาวอยู่ฝ่ายดำหรือด้านมืดอย่างค่อนข้างจะสุดขั้ว

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการคิดเลยเถิดหรือคิดไปเองหรือเปล่าว่านี่คือความพยายามเล็กๆ น้อยๆ ในการชำระประวัติศาสตร์ แต่ถ้าจะพูดว่ามันเป็นเพราะอิทธิพลของหนังสมัยใหม่ก็น่าจะพอได้ หนังสมัยใหม่ที่มักจะไม่สุดโต่งในทางใดทางหนึ่ง หากแต่จะมองอะไรๆ ในลักษณะปะปนกันทั้งขาวและดำ ในดำมีขาว ในขาวมีดำ เช่นเดียวกับใน 12 Years a Slave ที่ไม่ได้มีแค่ White Guilt หากแต่ยังมี White Good ด้วย

ท่ามกลางโครงสร้างที่แข็งแกร่งของเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในสังคมยุคทาส ผมชอบรายละเอียดบางอย่างที่หนังบอกเล่าแบบไม่ต้องเอ่ยเป็นถ้อยคำ เช่น ต้นธารการก่อเกิดแห่งบลูส์ที่นำเสนอผ่านบทเพลงซึ่งบรรดาทาสพากันขับขานขณะทำงานในไร่ฝ้าย รวมไปจนถึงสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้อย่างจงใจให้เกิดการคิดและเปรียบเทียบ เช่น ในจานข้าวที่มีอาหารสองสีอยู่คนละด้านของจาน ซึ่งเป็นสัญญะที่ไม่ยากต่อการจะตีความ ขณะเดียวกันยังชอบรายละเอียดบางจุดของตัวละครหลักที่ใช้ความฉ้อฉลได้อย่างใสสะอาด การอยู่ในหมู่โจรที่ไร้สัจจะ บางที การกระทำเยี่ยงคนดีๆ ก็ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าจะมีชีวิตรอดเสมอไป ในห้วงแห่งความเป็นความตาย เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกสะใจกับการได้เห็นโซโลมอน นอร์ธอัพ ขยับสถานะจากการเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ไปเป็น “ผู้กระทำ” บ้าง ตอนที่เขาแต่งนิยายจูงใจเจ้าของไร่ฝ้ายเกี่ยวกับชายคนขาวผู้ทรยศ

งานกำกับของสตีฟ แม็คควีน เรื่องนี้ พาเราย้อนกลับไปในจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งชาติอเมริกา ในยุคที่การแบ่งแยกผิวสียังรุนแรงเข้มข้น แม้คนผิวสีจำนวนหนึ่งจะเป็นไทแก่ตัวเอง แต่อีกจำนวนหนึ่งต้องตกเป็นทาส และตลาดค้าทาสก็ยังเกลื่อนกลาดอเมริกา หนังนั้นสร้างมาจากเรื่องจริง โดยอิงอยู่กับหนังสือเชิงอัตชีวประวัติของนักไวโอลินผิวสีนามว่า “โซโลมอน นอร์ธอัพ” ซึ่งเป็นไทและมีชีวิตความเป็นอยู่กับครอบครัวอย่างสุขสบาย แต่ทว่าด้วยเหลี่ยมเล่ห์เพทุบายของคนขาว นำพาให้เขาตกเข้าสู่สถานะแห่งการเป็นทาส แม้จะพยายามยืนยันตัวเองอย่างไร แต่เสียงของเขาก็ดูจะไร้ความหมายไปทันทีที่ถูกประกาศขายในฐานะทาส

วันเวลา 12 ปีที่ต้องระหกระเหินบนเส้นทางแห่งทาสของโซโลมอนเต็มไปด้วยเรื่องราวเข้มข้นบีบคั้นกดดันความรู้สึก ความเป็นความตายอยู่ใกล้กันเพียงเสี้ยววินาทีที่พร้อมจะพลิกผันได้ทุกเมื่อ และหนังก็ถ่ายทอดออกมาได้ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไร้ริ้วรอยความบกพร่อง นักแสดงทุกคนตีบทบาทได้สมจริงสมจัง สมศักดิ์ศรีกับการได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดง ทั้งซีเวเทล โอจโอฟอร์ กับบทโซโลมอน นอร์ธอัพ (แสดงนำชาย) ลูพิตา นยองโก (สมทบหญิง) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ กับบทบาทเจ้าของไร่ผู้มาพร้อมกับหัวใจอันเหี้ยมเกรียม เขาคือตัวละครสำคัญที่ผลักดันเรื่องราวให้ก้าวไปสู่จุดวิกฤติอย่างถึงที่สุด การแสดงที่ถึงบทได้รสได้ชาติกับบทบาทคาแรกเตอร์ ส่งให้เขาได้เข้าชิงในสาขาสมทบชาย

เช่นเดียวกันกับนักแสดง...ผลงานชิ้นนี้ของผู้กำกับสตีฟ แม็คควีน ถือว่าทำออกมาได้ถึงในแง่ของการเป็นหนังสะเทือนใจ มันคือประวัติศาสตร์แห่งโศกนาฏกรรมอีกหนึ่งหน้าของมนุษยชาติที่ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นมวลมหาประชาชนคนชาติใดก็สมควรจะได้ดู

การย่ำคน หยามคน หรือเหยียบหัวคน ราวกับเห็นว่าเขาไม่ใช่คน เป็นเรื่องสากลที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเฉพาะหมู่คนขาวกับผิวสี เพราะเรื่องลักษณะนี้มันเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของสังคมโลกและเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันอาจไม่ใช่เพราะเรื่องสีผิวที่แตกต่าง แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ทำให้เราเหยียบย่ำกัน หรือว่าไม่จริง?!!




กำลังโหลดความคิดเห็น