xs
xsm
sm
md
lg

ผจญภัยการเมือง ไปกับเดอะ ฮอบบิท/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


จากภาคแรกที่ดูเหมือนจะเป็นการปูพื้นความเป็นมาของฮอบบิทฉายาจอมขโมยอย่างบิลโบ แบ๊กกินส์ The Hobbit ภาคสอง ซึ่งมีชื่อรองว่า The Desolation of Smaug ขยับขยายเรื่องราวให้ใหญ่โตขึ้นในเชิงโครงสร้างที่มากด้วยเรื่องราวและตัวละครจากหลายทิศทาง ซึ่งแต่งเติมให้ภาพรวมของหนังดูหลากอรรถรสหลายอารมณ์ยิ่งขึ้น

ครับ, คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรให้เยิ่นเย้อถึงความเป็นมาของภาพยนตร์ที่สร้างจากปลายปากกาของ “เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน” เรื่องนี้ เพราะถ้ารู้จักหนังแฟนตาซีอย่าง The Lord of the Rings ก็จะต้องคุ้นเคยกับเรื่องราวของ The Hobbit กันอยู่แล้ว หลังจากส่งภาคแรกเข้าโรงได้ปีเดียว ปีเตอร์ แจ็คสัน ก็ทำงานอย่างรวดเร็วและปล่อยภาคสองออกมาให้เราได้ชม

เดอะ ฮอบบิท ภาคหนึ่งนั้น ดูเหมือนจะเน้นไปที่การปูพื้นตัวละครอย่างบิลโบเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อให้คนรู้สึกรักและผูกพันกับเขาให้มากที่สุด แม้จะดูเนือยๆ หนืดๆ สำหรับหลายคน แต่ก็สื่อคุณค่าความหมายของการออกเดินทางไปท่องโลกผจญภัยได้ระดับหนึ่ง ภาพจำซึ่งแม่นยำเกี่ยวกับหนังภาคแรกนั้น เป็นเรื่องของคนที่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเอง “เป็น” หรือ “ดำรงอยู่” นั้น สมบูรณ์แบบแล้ว และสามารถจะอยู่ไปแบบ “วันๆ” ได้จนกว่าจะลาโลก แต่แล้ววันหนึ่ง เขาก็ถูกกระตุ้นด้วยบางสิ่งบางอย่างและออกเดินทาง โดยระหว่างทาง ก็มีการค้นพบตัวเองหรือสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง และผมคิดว่าสิ่งนั้นถูกกล่าวถึงอีกครั้งในหนังภาคสองตอนที่เดอะ ฮอบบิท กล่าวกับพ่อมดเทาแกนดัล์ฟว่า ในถ้ำแห่งนั้น เขาได้พบกับความกล้าหาญของเขา (โดยซุกแหวนไว้ในกระเป๋าเสื้อ)

ในมุมมองส่วนตัว ผมจึงมีความเห็นว่า เดอะ ฮอบบิท ภาคหนึ่งนั้นดูคล้ายทั้งหนังชีวิตและนิทานสอนใจอยู่หลายส่วน แน่นอนว่า หนังลักษณะนั้นจะว่าสนุกก็ตรงที่ได้เนื้อหาแนวความคิด แต่ถ้าอยากจะเห็นแอ็กชั่นตามขนบหนังแฟนตาซีผจญภัยเต็มรูปแบบ ก็คงจะยาก อย่างไรก็ตาม สิ่งดังกล่าวถูกเติมเข้ามาพอสมควรในเดอะ ฮอบบิท ภาคใหม่

แน่นอน ในเชิงโครงสร้างเนื้อหาเรื่องราว เราจะพบว่า ขณะที่ภาคหนึ่ง ว่าปูพื้นแล้ว ภาคนี้ยิ่งปูพื้นเข้าไปอีกขั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นการนำไปสู่มหาสงครามที่จะระเบิดปะทุแน่นอนในภาคที่สาม เราได้เห็นความพยายามของปีเตอร์ แจ็คสัน ในการปั้นนิยายแค่สามร้อยกว่าหน้าให้เป็นหนังไตรภาค ซึ่งต่างไปจากเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ที่มวลสารด้านความยาวของเรื่องหรือนิยาย เอื้ออำนวยอย่างเต็มที่ ดังนั้น ปีเตอร์ แจ็คสัน จึงขยักนิดขยับหน่อย กับเรื่องของเดอะ ฮอบบิท ส่งผลให้หนังภาคสองอาจดูกระจัดกระจายในเชิงสัดส่วนเรื่องราวและตัวละคร แต่กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวทุกภาคส่วนและทุกตัวละคร ล้วนแล้วแต่มุ่งไปที่จุดหมายเดียวกัน และจะไปบรรจบกัน ณ ปลายทาง ทั้งนี้ ปฏิเสธได้ยากว่า เรื่องราวทุกภาคส่วนก็มีความน่าสนใจในมุมของตน ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องรักระหว่างสาวเอลฟ์กับเลโกลัสและคิลี ที่เข้ามาเติมความหวานแบบที่ไม่โรแมนซ์จนเลี่ยนมาก แต่พอสัมผัสได้ถึงความรักแบบพอดีๆ

เรื่องราวภาพรวม มันว่าด้วยเรื่องของปฐมบทแห่งสงครามทวงคืนอาณาจักรเอเรบอร์ของเหล่าคนแคระซึ่งถูกยึดเอาไปโดยมังกรสม็อก สงครามครั้งนี้มีชื่อว่า “สงครามห้าทัพ” ที่เกิดขึ้นหลังจากแกนดัล์ฟได้พบกับกษัตริย์ของคนแคระนามว่า “ธอริน โอเคนชิลด์” ซึ่งซ่อนตัวลี้ภัยอยู่ในแถบภูเขาสีน้ำเงิน แกนดัล์ฟให้คำมั่นกับธอรินว่าจะช่วยทวงคืนอาณาจักรพร้อมทั้งแนะนำให้พาฮอบบิทอย่างบิลโบ แบ๊กกินส์ ไปด้วย เพื่อภารกิจบางอย่าง

แม้จะเป็นหนังแฟนตาซีผจญภัย แต่ไส้ในของเดอะ ฮอบบิท นั้นพรางไว้ด้วยประเด็นที่ชวนให้ฉุกคิดถึงความเป็นการเมืองหรือการแย่งชิงอำนาจอย่างคัดค้านได้ยาก อันที่จริง นี่เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งซึ่งเราจะพบเห็นได้ในเรื่องแต่งของ “เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน” ไม่ว่าจะในเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ แล้ว หรือเดอะ ฮอบบิท เรื่องนี้ ริ้วรอยเนื้อหาแบบนั้นยังคงปรากฏให้เห็น แม้เมื่อเทียบกันตามความเป็นจริง เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เป็นต่ออยู่หลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเชิงความลุ่มลึกหรือมีมิติ ต้องยอมรับว่า แม้เดอะ ฮอบบิทจะเกิดก่อน แต่ทว่าก็มีฐานะไม่ต่างไปจากน้องชายซึ่งเป็นรอง

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในส่วนของตัวเรื่อง เดอะ ฮอบบิท ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะอย่าลืมว่าต้นกำเนิดของงานชิ้นนี้ ที่แท้แล้วมันเริ่มมาจากการเป็นนิทานที่โทลคีนเล่าให้ลูกๆ ฟัง มันมีแนวทางของความเป็นนิทานกึ่งเทพนิยายอภินิหารซึ่งไม่ยากนักต่อการทำความเข้าใจของเด็ก และเมื่อโทลคีนขยับมันสู่การเป็นบทประพันธ์เต็มรูปแบบ เนื้อหาที่แนบเข้าไปเพิ่ม เริ่มมีความสลับซับซ้อนขึ้นมาอีกประมาณหนึ่ง ก่อนที่โทลคีนจะตกผลึกอย่างลึกซึ้งในงานชิ้นต่อมาที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซอีกหนึ่งชิ้นแห่งโลกแฟนตาซี อย่างเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าปีเตอร์ แจ็คสัน จะขยับขยายความยาวของหนังออกไปอย่างไร แต่แก่นแกนของเรื่องก็ยังผูกเนื่องกับแง่มุมการเมืองที่ถูกเล่าผ่านการเป็นแฟนตาซี คือต่อให้ไม่นับรวมโครงเรื่องหลักที่ว่าด้วยการสงครามแย่งชิงดินแดนและอำนาจ อันมิอาจคิดเห็นเป็นอื่นไปได้ ถ้าไม่ใช่การเมือง ตลอดทั้งเรื่อง ยังนับเนื่องด้วยความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของตัวละครที่ถูกผูกโยงเข้าด้วยกันด้วยอำนาจแห่งผลประโยชน์ การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ตัวละครอย่าง Skinshifter ครึ่งหมีครึ่งคน ซึ่งหยิบยื่นความช่วยเหลือกลุ่มคนแคระในตอนต้นเรื่องนั้นคือตัวอย่างย่อมๆ ของเกมการเมืองแบบผูกมิตรเพื่อผลประโยชน์บางประการ ขณะที่ผู้นำทัพอย่างธอริน แรกเริ่มเดิมทีก็ใช้สอยบิลโบ แบ๊กกินส์ ในฐานะจิ๊กซอว์ตัวต่อเพื่อบรรลุเป้าหมายอำนาจทางการเมือง ยากจะสัมผัสได้ว่าหัวใจของเขาบริสุทธิ์จริงแท้แค่ไหน

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ถ้ามองในเชิงอุดมคติหรือเป็นนิยายสอนใจ การก่อเกิดเรื่องราวของฮอบบิทอย่างบิลโบ แบ๊กกินส์ ขึ้นมา บางทีมันอาจจะเป็นการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ท่ามกลางโลกที่รุงรังสลับซับซ้อนและซ่อนไว้ด้วยวาระแอบแฝงและผลประโยชน์ซ่อนเร้น บิลโบ แบ๊กกินส์ คือตัวตีต้านด้านตรงข้ามกับเหลี่ยมเล่ห์ลวงโลกทุกประการ แม้ตัวของเขาจะหลงเพริดไปในอำนาจของแหวนบ้างในบางครั้ง แต่หนัง (หนังสือ) ก็แสดงให้เห็นว่าเขามีความยับยั้งชั่งใจและเรียกสติตัวเองกลับมาได้ทุกครั้ง กล่าวอย่างเรียบง่ายที่สุด ขณะที่ตัวละครหลักๆ จำนวนหนึ่งดูท่าว่าจะคบหาได้ยาก แต่เราน่าจะจับมือสามัคคีกับบิลโบ แบ๊กกินส์ ได้อย่างสะดวกใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าเขาจะกลับมาแทงข้างหลังเรา

สุดท้าย ในแง่การเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง เดอะ ฮอบบิท ภาคสอง ถือว่ามีความเหนือกว่าภาคที่หนึ่งอย่างไม่อาจปฏิเสธ การสอดแทรกฉากแอ็กชั่นเข้ามาเป็นระยะๆ บวกกับสถานการณ์ที่มีให้ลุ้นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ก็ทำให้หนังดูแตกต่างไปจากภาคก่อนที่ค่อนข้างนิ่งเนิบ และสารภาพตามความเป็นจริง การได้ดูหนังเรื่องนี้ในระบบ HFR ก็น่าจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าสามารถอยู่กับหนังไปได้ตลอดรอดฝั่งแบบเพลิดเพลินเจริญตา

เทคนิคที่ชื่อว่า HFR หรือ High Frame Rate นั้น คือระบบแบบใหม่ที่ปีเตอร์ แจ็คสัน บุกเบิกมาแล้วจากฮอบบิทภาคก่อน มันทำให้ภาพที่เคลื่อนไหวในระดับ 48 เฟรม ต่อวินาที ดูมีความสมจริงมากขึ้น สำหรับใครที่เคยรู้สึกว่าปวดตากับการดูสามมิติ ผมคิดว่าเทคนิค HFR สามารถแก้ไขได้ ความคมชัดสมจริงของ HFR บวกกับการเป็นสามิติ ดูเหมือนจะตรึงเราไว้ในจอภาพได้อย่างไม่อยากจะละสายตา อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูครั้งแรก อาจจะรู้สึกแปลกๆ กับการเคลื่อนไหวของภาพบ้างในบางครั้ง เพราะบางช็อตมันดูเหมือนเคลื่อนไหวรวดเร็วในลักษณะของการชักดึง พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันชึบชับฉับไวดูใกล้เคียงกับการกระตุกภาพ

หนังเรื่องนี้มีฉายในหลายระบบ ไล่ตั้งแต่ธรรมดา, ดิจิตอล, ดิจิตอลสามมิติ, HFR สามมิติ, ไอแม็กซ์สามมิติ, ไอแม็กซ์ HFR สามมิติ หลายคนบอกว่าตัวสุดท้ายนี้แจ่มสุดๆ เอาเป็นว่า ใกล้เวทีไหน ไปเวทีนั้นก็แล้วกันนะครับ!









กำลังโหลดความคิดเห็น