xs
xsm
sm
md
lg

ผีเข้า ผีออก : หลอกเกรียนสุดติ่ง!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“หนังผีที่ดีต้องมีหักมุม” ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ริเริ่มสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา แต่มันก็เกิดกลายเป็นอุปาทานความยึดมั่นรวมหมู่ในแวดวงคนทำหนังผีร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก็หนังผียุคหลังๆ ที่ยึดหลักว่าต้องมีหักมุมตอนจบกันแทบจะทุกเรื่อง และสำหรับ “ผีเข้า ผีออก” หนังไทยเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายก็ประกาศตัวเองอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ข้ามาเพื่อหักมุม” พร้อมกับส่งเสียงท้าทายคนดูว่าจะไม่มีทางคาดเดาได้อย่างแน่นอนกับมุกหักมุมของหนัง

อันที่จริง วัฒนธรรมการหักมุมในหนังผี ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีก็หักมุมกันมาก่อนหน้าเราแล้ว หรือแม้แต่ฝั่งฮอลลีวูดก็มีหนังอย่าง The Sixth Sense ซึ่งเป็นเทพระดับตำนานไปแล้ว เพียงแต่ถ้าจะนับยุครุ่งเรืองหนังผีหักมุมของบ้านเรา ก็คงจะต้องนับกันตั้งแต่การมาถึงของ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ซึ่งเรียกได้ว่ามีองค์ประกอบของหนังผีที่ควรค่าแก่การมีการหักมุมอย่างที่สุด การหักมุมที่ดี ควรจะต้องมีปมปริศนาหรือประกายความสงสัยให้คนดูร่วมเดินทางสืบสวนและคาดเดาไปต่างๆ นานาระหว่างดำเนินเรื่อง ก่อนจะไปถึงจุดที่เฉลยคำตอบและคลี่คลายปม

แม้เป็นเพียงความบันเทิง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าจำเป็นอย่างมากต่อการหักมุมของหนังผี ก็คือ ตรรกะความน่าเชื่อถือ หรือมีที่มาที่ไปรองรับอย่างหนักแน่นพอสมควร ซึ่งต้องยอมรับอีกนั่นล่ะว่า หนังผีไทยยุคหลังมักจะขาดสิ่งนี้ไป อย่างหนังผีเรื่องล่าสุดอย่าง “ฮาชิมะ โปรเจคต์” ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหักมุมของหนังนั้น “เบาหวิว” และอ่อนด้อยในแง่ความน่าเชื่อถือ

ในรายการ “ชวนคิด ชวนคุย” ทางคลื่นวิทยุ 97.75 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมตั้งข้อสังเกตว่า การหักมุมของหนังผีที่จะประสบความสำเร็จ มันควรจะต้องเล่นกับสามัญสำนึกของคนดูผู้ชมไม่มากก็น้อย ถามว่า เพราะอะไร หนังอย่างเดอะซิกซ์ เซ้นส์ ถึงเป็นหนังผีที่สามารถทำให้คนดูหนังผีรุ่นแล้วรุ่นเล่ารู้สึกขนลุกได้เมื่อไปถึงคำเฉลย คำตอบเรียบง่ายก็คือ มันเล่นกับ “ความรู้” และ “ความไม่รู้” ของคน (ของผี?) หรืออย่างชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เอาเข้าจริง สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุด อาจไม่ใช่ผีที่เกาะอยู่บนไหล่ หากแต่เป็นเรื่องราวในคราวก่อน ที่เสมือนผีตามหลอนไม่เลิกรา คำเฉลยของหนังทำให้คนดูได้ตระหนักว่า บาปกรรมที่ตนก่อ ไม่ว่ากับใครก็ตาม มันจะย้อนมาทวงคืนบัญชีแค้นในภายหลัง นี่คือเรื่องที่หนังเล่นกับสำนึกของคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การหักมุมมีพลัง

แน่นอนว่า หนังผีไทยช่วงหลังๆ ก็พอจะมีประกายแบบนั้นบ้าง เพียงแต่ส่วนใหญ่ เรายังสัมผัสกับความน่าเชื่อถือของหนังได้ค่อนข้างยาก มุมที่หักจึงสักแต่ว่าหักๆ ไป แต่ไม่ได้มีผลอะไรต่อความประทับใจของคนดูผู้ชมเลย ความรู้สึกเดียวที่น่าจะเกิดขึ้นก็มีเพียงว่า “อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง” หรือเลวร้ายสุดก็อาจจะบอกว่า “อ้าว หักมุมกันอย่างนี้เลยเหรอ” ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกกับหนังหลายเรื่องในลักษณะนี้ และไม่มากไม่มาย เชื่อต่อไปอีกว่า หลายคนก็คงรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับหนังอย่าง “ผีเข้า ผีออก”

“ผีเข้า ผีออก” ว่าด้วยเรื่องของนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งรวมตัวกันทำหนังสั้น โดยมีโลเกชั่นเป็นสุสานคนจีน หนังเปิดเรื่องมาว่า ณ สุสานแห่งนี้ มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตำนานความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ที่ศาลาหลังเล็กแห่งนั้น คือที่ซึ่งฝายหญิงใช้ปลิดชีพตัวเองด้วยการผูกคอตาย เป้าหมายของนักศึกษากลุ่มนี้ก็คือทำหนังเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมรักที่ว่านั้น แต่ด้วยความที่ไม่ประสีประสาอะไรต่อการทำหนัง บวกกับความเกรียนตามประสาวัยรุ่น ทำให้พวกเขากระทำสิ่งที่ไม่สมควร ละเมิดต่อผีสางในสุสานแห่งนั้น กระทั่งนำไปสู่ประสบการณ์ถูกผีหลอกกันตลอดทั้งเรื่อง

อย่างที่หลายคนคงเห็นในภาพยนตร์ตัวอย่าง หนังเรื่องนี้โม้ไว้นักโม้ไว้หนาว่า หนังจะมาพร้อมกับการหักมุมชนิดที่ทำให้คนดูหัวทิ่มหัวตำ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีทางเดาได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งหลังจากที่ได้ดู ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่าเขาไม่ได้โม้เกินจริง เพราะคุณพี่เล่นหักมุมกันโง่ๆ เกรียนๆ แบบนั้น ใครที่ไหนมันจะไปเดาถูก?

ดังนั้น การดูหนังเรื่องนี้ ผมว่าอย่าไปซีเรียสกับการหักมุมของหนัง ให้ดูไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเดาอะไร เพราะถึงเดาไป มันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์โพดผลอันใดต่อการงอกงามทางสติปัญญา เพราะมันเป็นการหักมุมที่เน้น “ทำเล่น” เอาฮา (หรือ หักมุมบ้าๆ) มากกว่าจะเอาจริง ดุจเดียวกับทิศทางของหนังที่จงใจให้เป็นคอมิดี้มากกว่าจะซีเรียสกับตัวเรื่องหรือประเด็นเนื้อหา มันดูบ้าๆ บอๆ ตั้งแต่คาแรกเตอร์ตัวละครไปจนถึงสถานการณ์ในเรื่อง ตัวละครทุกตัวดูรั่วๆ หลุดๆ เลอะๆ ล้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเดวิด อัศวนนท์ ที่แสดงได้บ๊องๆ บวมๆ เหมาะสมกันดีกับองค์รวมของหนังที่เลอะๆ เทอะๆ ทั้งนี้ รวมถึงนักแสดงอีกเกือบทั้งเซ็ต ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็แสดงแบบเกรียนได้โล่กันทุกคน

หนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ “ภาคภูมิ วงษ์จินดา” ถือเป็นการทำงานในลักษณะพิเศษ นั่นก็คือ มีทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาร่วมงานด้วย นัยว่า เพื่อเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษาภาพยนตร์ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการถ่ายทำกันจริงๆ ส่วนคุณภาคภูมินั้นถือเป็นคนทำหนังที่มีผลงานออกมาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า, รับน้องสยองขวัญ, วิดีโอคลิป มาจนกระทั่งถึง “ใคร...ในห้อง” และ “ชอบ กด Like ใช่ กด Love” ซึ่งถ้าให้กล่าวอย่างจริงใจ ผมว่าคุณภาคภูมิได้ถึงจุดพีกแห่งการทำหนังอย่างรวดเร็ว ผีเข้าตั้งแต่เรื่องแรก แล้วก็ไม่เคยเข้าอีกเลยจนกระทั่ง “ผีเข้า ผีออก” เรื่องนี้

อย่างไรก็ดี ขอเน้นย้ำตรงนี้อีกครั้งครับว่า ถ้าคุณตั้งโหมดกับการไปตีตั๋วดูว่า หนังจะต้องมาพร้อมกับการหักมุมที่เจ๋งๆ คมๆ หรือดูฉลาดมีชั้นเชิง คุณอาจจะไม่สมมาดปรารถนา แต่ถ้าคิดว่าจะไปดูหนังผีเกรียนๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งบ๊องๆ บวมๆ เลอะๆ เทอะๆ หัวเราะเหะหะไปกะมัน เป็นความบันเทิงแบบเกรียนๆ ล่ะก็ คิดว่าน่าจะพอได้









กำลังโหลดความคิดเห็น