xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด!! หนังตลกร้ายของไมเคิล เบย์ : Pain & Gain

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ไมเคิล เบย์ นั้นขึ้นชื่อในด้านของการเป็นคนทำหนังผู้ฝักใฝ่ในเสียงระเบิดตูมตามอึกทึกครึกโครม ผมเคยเขียนถึงเขาคำหนึ่งด้วยนิยามว่าเป็น “เดอะ ก็อดฟาเธอร์ แห่งหนังวินาศสันตะโร” เพราะไม่ว่าเรื่องไหน ไมเคิล เบย์ จัดให้จัดหนักมาโดยตลอด ตามแนวทางหนังระเบิดภูเขาเผากระท่อม พูดง่ายๆ ว่า “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ไมเคิล เบย์ ทำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานไตรภาคหุ่นยนต์รถแปลงร่างอย่างทรานส์ฟอร์เมอร์สนั้น น่าจะเป็นประจักษ์พยานซึ่งบ่งบอกความเป็นไมเคิล เบย์ ได้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ดี กล่าวสำหรับหนังเรื่องใหม่อย่าง Pain & Gain ซึ่งดูเหมือนเป็นหนัง “พักเหนื่อย” ของไมเคิล เบย์ เราจะพบว่า มวลสารพลังงานที่เราเคยเห็นในหนังฟอร์มบิ๊กๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นท่าทีโครมครามทำลายข้าวของ หรือแม้กระทั่งความแอ็กชั่นแบบมันระห่ำแบบไม่ยั้งมือไว้ไมตรี ดูจะลดน้อยถอยลงไปราวกับว่าไม่ใช่ไมเคิล เบย์ อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นนี้กลับถูกทดแทนด้วยความรุ่มรวยของอารมณ์ขันและการเล่าเรื่องซึ่งตรึงคนดูให้อยู่กับหนังได้อย่างกระหายใคร่รู้ชวนติดตาม

กล่าวอย่างรวบรัด หนังเรื่องนี้สนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องมีระเบิดทุกๆ 5 นาที หรือต้องมีตัวละครฟาดปากกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หากแต่มันสนุกเพราะองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะตัวละครที่เปี่ยมสีสัน ดูตลกน่าขบขัน น่าเวทนาแต่ก็น่าสงสารเห็นใจไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญก็คือ มีแก่นสารเนื้อหาอยู่ในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แดเนียล ลูโก้” (รับบทโดยมาร์ค วอห์ลเบิร์ก) ผู้เป็นหัวโจกแห่งเรื่องราวอันพิลึกพิลั่น

มันคือเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่นี่เป็นหนังที่สร้างมาจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจริงเมื่อปี ค.ศ.1990 ในเมืองไมอามี่ ณ ถิ่นที่แดเนียล ลูโก้ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเป็นโค้ชในยิมเพาะกาย และด้วยความฝันอันบรรเจิดต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เขาคิดแผนการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยวิธีรวยทางลัด โดยไปชักชวนเพื่อนสมาชิกอีกสองคน คือ “พอล” (ดเวย์น จอห์นสัน) กับ “เอเดรียน” (แอนโธนี่ แม็คกี้) เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

แน่นอนครับว่า สำหรับคนที่เคยได้ดูหนังตลกร้ายซึ่งมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ของพี่น้องตระกูล “โคเอน” (โจเอล กับ อีธาน โคเอน) อย่างพวกเรื่อง Fargo (เงินร้อน) หรือ The Ladykiller มาแล้วอาจจะรู้สึกคุ้นๆ กับแนวทางและอารมณ์ของ Pain & Gain เพราะหนังก็ชัดเจนเป็นไปในทางนั้น ผมรู้สึกต่อ Pain & Gain เหมือนกับว่า มันคือ “โคเอนบราเธอร์ส” ที่กระโดดเข้ามาอยู่ในกระแสหลักหรือเป็นหนังตลาดที่ได้ฉายโรงทั่วไป เหลี่ยมมุม ชั้นเชิง หรือความคมคาย อาจไม่เทียบเท่า แต่เรื่องราวของแดเนียลกับพรรคพวก ซึ่งต้องตกลงไปสู่สถานการณ์ตลกร้ายที่หัวเราะมิได้ ร่ำไห้ไม่ออก ก็มีความเป็น “สไตล์โคเอน” อยู่สูงมาก แต่อาจจะมีข้อแตกต่างบางประการ นั่นก็คือ ในหนังของโคเอนคือเรื่องแต่ง แต่เหตุการณ์พิลึกกึกกือใน Pain & Gain นั้นคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง!

เสน่ห์ของหนังนั้น โอบล้อมอยู่รอบอาณาบริเวณ อย่างที่บอกว่า ตัวละครแต่ละตัว ต่างก็มีเนื้อหาและมิติอยู่ในตัวเอง นอกจากมาร์ค วอห์ลเบิร์ก นักแสดงกล้ามใหญ่อย่างดเวย์น จอห์นสัน หรือ “เดอะ ร็อก” นั้น ถูกจัดวางที่ทางอย่างมีความขัดแย้งในตัวเอง แม้ตัวจะใหญ่ราวกับยักษ์ แต่ทว่าในด้านจิตใจ กลับดูจะเป็นคนที่อ่อนไหวกว่าคนอื่นจนหลายๆ ครั้ง ความขี้สงสารและช่างใจอ่อนของเขา ก็มีส่วนทำให้สถานการณ์ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง ส่วนดาราผิวสี “แอนโธนี่ แม็คกี้” กับบท “เอเดรียน” ชายหนุ่มที่กำลังต้องการเงินเพื่อรักษาเยียวยาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ก็เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวเติมที่เข้ามาเพิ่มอรรถรสความสนุกสนานของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี หรือถ้าจะมองไปจนถึง “โทนี่ ชาลู” กับบทบาทการเป็นมหาเศรษฐีผู้ตกที่นั่งลำบาก ก็มีฉากที่พร้อมจะทำให้คุณขำก๊ากได้ตลอดทั้งเรื่อง

สำหรับคนที่ชอบหนังสไตล์วินาศสันตะโรของไมเคิล เบย์ Pain & Gain อาจจะดูเหมือนเป็นหนังคั่นเวลาของผู้กำกับคนนี้ แต่มันก็เป็นหนังคั่นเวลาที่คุ้มค่าทั้งแก่ตัวคนทำและคนดู ผมรู้สึกว่า ตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา มีหนังหลายเรื่องที่พยายามจะทำให้ฮา อย่างพวก 2 Guns หรือ R.I.P.D. แต่ที่สุดแล้ว ถ้าจะให้เลือกหนังที่ฮาที่สุดประจำซัมเมอร์นี้ Pain & Gain น่าจะเป็นตัวท็อปที่สุด

สำหรับใครที่ชอบแซวไมเคิล เบย์ ว่าทำเป็นแต่หนังที่มุ่งสนองความบันเทิงเป็นหลัก อาจจะต้องปรับจูนความคิดเล็กน้อย เพราะงานชิ้นนี้ หน้าหนังอาจดูเหมือนหนังตลกที่ไม่มีอะไร แต่อันที่จริง เรื่องราวของแดเนียลและผองเพื่อน แทรกแซมไว้ด้วยประเด็นความคิดอย่างแยบคาย ท่ามกลางสถานการณ์ปั่นป่วนชวนปวดเศียรเวียนเกล้า หนังพาตัวเองไปแตะหัวใจของแนวคิดแบบ “อเมริกัน ดรีม” ที่ครอบงำอเมริกันชนมาหลายยุคสมัย

หลักใหญ่ใจความของอเมริกัน ดรีม หรือ “ความฝันแบบอเมริกัน” ก็ไม่ใช่อะไร หากแต่คือความทะเยอะทะยานที่จะมีรูปแบบชีวิตที่ดีหรือเป็นชีวิตที่สวยงามเพียบพร้อมราวกับภาพในความฝัน ดั่งความต้องการจะมีกล้ามล่ำบึ้กของเอเดรียนจนเข้าขั้นหมกมุ่น ก็สามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกัน ดรีม ได้เช่นกัน เพราะสุดท้ายนั้น อะไรๆ ก็ต้อง “ใหญ่” ต้อง “บิ๊ก” กว่าธรรมดา เป็นอเมริกาก็ต้องเป็น “เจ้าโลก” อย่างที่แดเนียลบ่นพึมพำในตอนต้นเรื่อง

จะว่าไป คนแบบแดเนียลนั้น ไม่ใช่คนที่เลวร้าย เขาก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่อยากมีชีวิตที่ดี เพียงแต่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในความแตกต่างระหว่างคำว่า “ชีวิตที่ดีมีความสุข” กับ “ชีวิตที่เป็นภาพคิดฝัน” เมื่อมโนภาพมีอำนาจครอบงำ ก็ย่อมถูกล่อลวงสู่หล่มหลุมและถลำลึกอย่างยากจะถอนตัวกลับได้ มันก็คล้ายๆ กับตัวละครอีกหลายตัวในหนังแนวนี้ที่สะท้อนภาพอเมริกันดรีมออกมา ถ้าเข้มข้นหน่อยก็อย่าง “แคโรไลน์” ในเรื่อง American Beauty ตัวละครเหล่านี้ต่างพลัดหลงสู่พงไพรแห่งภาพฝัน เจ็บปวดมากหน่อยสำหรับแดเนียลก็ตรงที่เขาไม่รู้ว่า “ทางเลือก” ซึ่งเขาคิดว่าเป็น “ทางลัด” สุดท้ายแล้วมันเป็นเพียงแค่ “ทางหลง” ที่ทำให้เขา “หลงทาง” อย่างที่ต้องมานั่งสำนึกเสียใจเมื่อภายหลัง

ในแง่นี้ แดเนียล จึงเป็นได้ทั้งบทเรียนอนุสติสอนใจ และเสาหลักของเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (ที่ดูเหมือนว่าจะลงทุนทุ่มเทให้กล้ามเนื้อดูใหญ่ขึ้นในหนังเรื่องนี้) ซึ่งรับบทแดเนียล ไม่มีข้อเสียหายใดๆ ให้ต้องตำหนิ เขาคือจอมวางแผนและช่างสร้างนิยายลวงโลกได้อย่างเหลือเชื่อ แต่เหนืออื่นใด เขาคือนักฝันที่เจริญรอยตามอเมริกันรุ่นก่อนๆ อีกหลายคนที่เชื่อว่าความสุขคือการได้อยู่ท่ามกลางกองเงินกองทองและความมั่งคั่งหรูหรา

มากกว่านั้น ในขณะที่หนังกำลังส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “อเมริกัน ดรีม” ด้วยน้ำเสียงขันขื่น ในอีกซีกหนึ่ง หนังก็สะท้อนความรู้สึกของอเมริกันชนอันมีต่อบุคคลที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ในอเมริกา ซึ่งสำหรับอเมริกันชนจำนวนหนึ่ง มันทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าตนเองถูก “แย่งชิง” พื้นที่ในการมีชีวิตโดยคนต่างด้าว มันจึงไม่แปลกอะไร ถ้าผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ของแดเนียลและผองเพื่อน จะเป็นชนชาติอื่น (โคลัมเบีย) ที่มาอาศัยอยู่ในอเมริกา ความรู้สึกทำนองนี้มันซุกซ่อนอยู่ในหนังอเมริกันหลายเรื่อง แม้แต่งานของคลินต์ อีสต์วูด อย่าง Gran Torino และจริงๆ มันก็เป็นชุดความรู้สึกเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในหนังอย่าง This is England ที่ชาวอังกฤษเจ้าถิ่นไปรุมสะกรำคนผิวสีต่างถิ่นเพราะรู้สึกว่าทรัพยากรในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองกำลังถูกแย่งชิงหยิบฉวยโดยชาวต่างชาติ

สุดท้าย ถ้าจะให้มองจริงๆ สิ่งที่หนังอย่าง Pain & Gain หรือเรื่องราวของผู้ร้ายแห่งโรงยิมยุค 90 บอกกล่าวกับคนดูได้อย่างน่าขบคิด ก็คือ ความรู้สึกอันเป็นสุขเป็นทุกข์แบบอเมริกันชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งความฝันอันบิ๊กเบิ้มแบกหามอยู่บนบ่าข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างก็หาบคอนวิธีคิดแบบชาตินิยมไว้จนหนักบ่า

ด้วยลีลาน้ำเสียงที่ทั้งสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงคุณค่าความหมายของชีวิต และทั้งเสียดสีเหน็บแนมความเป็นไปในบ้านเกิดของตัวเอง ไมเคิล เบย์ ทำให้หนังเรื่องนี้มีคุณค่ามากไปกว่าการเป็นงานที่บันเทิงมากๆ เรื่องหนึ่ง เพราะเมื่อคำนึงถึงเนื้อหาสาระ งานชิ้นนี้ของผู้กำกับทรานส์ฟอร์เมอร์ส สามารถเทียบชั้นกับงานดีๆ หลายเรื่องที่ใครต่อใครให้คำชื่นชมทำนองว่า “สะท้อนความเป็นจริงทางสังคม” ได้เลย







กำลังโหลดความคิดเห็น