หลังจากที่ซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” จากค่าย GTH ออกอากาศไปเพียงไม่กี่ตอนก็เกิดกระแสพูดถึงและบอกต่อกันในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ในระดับทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ไม่ต่างอะไรจาก “แรงเงา ฟีเวอร์” หรือ “พุฒิภัทรฟีเวอร์” เลยทีเดียว ความแรงของ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ทำให้กระแสคุณชายรณพีร์ ละครเรื่องสุดท้ายในละครชุดสุภาพบุรุษจุฑาเทพถึงกับแผ่วลงไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งความสำเร็จอย่างถล่มทลายของซีรีส์ไทยเรื่องนี้ประกอบขึ้นจากอะไรบ้างนั้น ผู้จัดการสุดสัปดาห์จะวิเคราะห์องค์ประกอบของความสำเร็จของซีรีส์เรื่องนี้
5 องค์ประกอบแห่งความสำเร็จของ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น”
แน่นอนว่าความสำเร็จของละครไทยย่อมเกิดจากปัจจัยหลายต่อหลายประการที่จะหนุนส่งให้ละครเรื่องนั้นๆ โด่งดังเปรี้ยงปร้างจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ยิ่งในยุคของโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กเช่นนี้ด้วยแล้ว การบอกต่อแบบปากต่อปากของผู้ชมมีพลังยิ่งกว่าการทำโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตละครหลายต่อหลายเท่า แต่ทำอย่างไรผู้ชมที่ได้สัมผัสจะเกิดความรู้สึกแรงจนต้องนำไป “แชร์” ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มาดูองค์ประกอบแห่งความสำเร็จของซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่เราแบ่งออกเป็น 5 ข้อ ดังนี้
บทแรงแต่เรียล!
บทละครที่สื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมยุคนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน ไม่สร้างภาพ ไม่หลบซ่อน ตลอดจนไม่ด่วนสรุปเป็นหัวใจสำคัญประการแรกที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ในละครเรื่องนี้คุณจะได้เห็นการตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมวัยรุ่นไทย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการคบเพื่อน ความรักระหว่างเพื่อนต่างเพศ ช่องว่างระหว่างวัยรุ่นกับผู้ปกครอง ตลอดจนเรื่องที่รุนแรงขึ้นแต่พบเห็นได้จริงในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทะเลาะวิวาท ความรักที่ลึกซึ้งระหว่างคนเพศเดียวกัน ฯลฯ โดยทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นผู้กำกับอย่าง “ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์” นำเสนออย่างมีศิลปะ นั่นคือไม่ได้สั่งสอน ไม่ปิดกั้น ไม่ด่วนสรุป และไม่ได้ชี้นำ
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” จึงเป็นสิ่งที่ผู้ชมไม่สามารถพบเห็นได้จากละครไทยทั่วไปที่ฉายในช่องฟรีทีวี เพราะละครบางเรื่องเพียงแค่พูดถึงนักการเมืองคอร์รัปชันซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ทางช่องต้นสังกัดยังหวาดกลัวถึงขั้นยอมเซ็นเซอร์ตัวเองไม่ยอมให้ฉาย ซึ่งการสื่อสารเรื่องที่เกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ชมละครไทยโหยหาและเฝ้ารอมานานแล้ว
ไม่น้ำเน่าและเร้าใจ
หากเปรียบเทียบละครไทยส่วนใหญ่ที่ฉายตามฟรีทีวีกับ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ก็ต้องบอกว่ามีความต่างกันมากเลยทีเดียว ประการแรกคือ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” เป็นละครที่ไม่ได้มีบทประพันธ์ ไม่ได้สร้างจากนวนิยาย ผู้ชมทุกคนจึงไม่รู้เรื่องใดใดเกี่ยวกับละครเรื่องนี้มาก่อน ทำได้เพียงติดตามกันแบบตอนต่อตอนเท่านั้น และเนื้อเรื่องที่พลิกผันแบบไม่มีสูตรสำเร็จคาดเดาไม่ได้ก็คือรสชาติแปลกใหม่ที่ผู้ชมละครไทยต้องการ
นอกจากนั้นตัวละครทุกตัวในซีรีส์เรื่องนี้ยังแสดงความเป็นมนุษย์ธรรมดาออกมาให้เราได้เห็น ต่างจากตัวเอกในละครไทยหลายเรื่องที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าพระเอกกับนางเอกต้องนิสัยดีไม่มีข้อบกพร่อง ส่วนผู้ร้ายกับตัวอิจฉาก็ต้องร้ายอย่างไม่มีเหตุผล(และไม่มีสมอง) ซึ่งคาแรกเตอร์ของตัวเอกในละครไทยที่ผ่านมานั้นห่างไกลกับความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีอยู่ในตัว ผู้ชมจึงรู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นห่างไกลพวกเขาจนแทบจะสัมผัสอะไรไม่ได้ เมื่อผู้ชมได้มารู้จัก “วิน” หนุ่มฮอตประจำโรงเรียนที่มุทะลุและต้องการความโดดเด่นเกินกว่าใคร “สไปร์ท” สาวหน้าตาน่ารักที่ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงกับหนุ่มมากหน้าหลายตา “ไผ่” หนุ่มเลือกร้อนผู้เงียบขรึม และตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนี้ที่มีทั้งด้านดีและร้ายอยู่ในตัวพวกเขาจึงรู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้เป็นตัวแทนความไม่สมบูรณ์ของพวกเขาได้จนเป็นเหมือนเพื่อนหรือคนที่มีตัวตนอยู่ในชีวิตจริงของพวกเขาเลยทีเดียว
นักแสดงคือแม่เหล็ก
มีแฟนละครเรื่องนี้หลายคนที่ยอมรับว่าตัดสินใจดูเพราะนักแสดง เนื่องจากนักแสดงที่มารับบทนำทุกคนมีรูปร่างหน้าตาดี ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงที่เคยมีผลงานมาแล้วอย่าง “พีช พชร จิราธิวัฒน์” , แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา” ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์”, ไมเคิล ศิรชัช เจียรถาวร” ซึ่งล้วนเป็นนักแสดงวัยรุ่นแถวหน้าของ GTH ทั้งสิ้น รวมไปถึงนักแสดงหน้าใหม่อย่าง จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, ธนภพ ลีรัตนขจร, สุภัสสรา ธนชาต, กันต์ ชุณหวัตร, ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ซึ่งก็ล้วนแต่หน้าตาดีจนผู้ชมวัยรุ่นปลาบปลื้มกันไปตามๆ กัน ซึ่งปัจจุบันนักแสดงจากซีรีส์เรื่องนี้ทุกคนต่างก็มีแฟนคลับเป็นของตัวเองกันแล้วทั้งสิ้น
ไม่เพียงแค่รูปร่างหน้าตา แต่นักแสดงวัยรุ่นหน้าใหม่กลุ่มนี้ต่างก็มีฝีไม้ลายมือในการแสดงในระดับที่เรียกว่าเข้มข้น ทั้งนี้ต้องยกความดีความชอบให้ผู้กำกับอย่าง “ย้ง ทรงยศ” ที่เคียวกรำนักแสดงทุกคนจนแสดงได้เป็นธรรมชาติขนาดนี้ ท่ามกลางเสียงการันตีจากทีมงานและนักแสดงถึงความเคี่ยวของผู้กำกับว่าไม่ยอมให้ผ่านง่ายๆ บางฉากที่เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีแต่ย้งใช้เวลาถ่ายทำร่วมชั่วโมงก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และนั่นก็เป็นที่มาของการแสดงที่เป็นธรรมชาติแม้หลายคนจะได้รับบทที่หนักหน่วงและต่างจากชีวิตจริงอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ประสบการณ์ร่วม
“ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ได้สร้างปรากฏการณ์นอสแตลเจีย( Nostalgia) หรือความรู้สึกหวนนึกถึงอดีตให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่หนังอย่างแฟนฉัน, ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น หรือเด็กหอซึ่งเป็นผลงานที่ย้งเคยสร้างไว้ เรียกว่าการสร้างความรู้สึกร่วมเช่นนี้เป็นอาวุธถนัดของผู้กำกับหน้าเด็กคนนี้เลยทีเดียว และแน่นอนว่าเด็ก วัยรุ่นที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับตัวละครในเรื่องย่อมจะต้องติดตามละครเรื่องนี้เป็นธรรมดาเพราะพวกเขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่คอยพูดแทนพวกเขา แต่ผู้ใหญ่ที่ผ่านพ้นวัยรุ่นมาแล้วก็จะได้ร่วมนั่งไทม์แมชชีนเพื่อย้อนไปสู่ความทรงจำที่เต็มไปด้วยความหอมหวาน และขมที่เราทุกคนเคยประสบมาเหมือนๆ กันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรักครั้งแรก อกหัก เล่นสนุกกับเพื่อน หรือสัมผัสกับเรื่องหมิ่นเหม่อย่างการเสพยาเสพติดหรือเซ็กซ์
เด็กแนะนำผู้ใหญ่ให้ดู
ใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” เป็นซีรีส์ที่เด็กๆ ต้องแนะนำให้ผู้ใหญ่ดู หลังจากที่เด็กเคยถูกผู้ใหญ่ปิดกั้นไม่ให้ดูอะไรต่อมิอะไรมาแล้วมากมาย ซึ่งผู้ใหญ่ส่วนมากที่ได้ดูก็ยอมรับว่าชื่นชอบเพราะจะได้ตามเด็กวัยรุ่นยุคนี้ทัน อีกทั้งการได้นั่งชมร่วมกับลูกหลานยังได้แลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งนำไปสู่การสอนสั่งและตักเตือนพวกเขาได้อีกด้วย
‘หมอมิน บานเย็น’ ซึ่งเป็นนามปากกาของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เขียนให้กับเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขาได้กล่าวถึงซีรีส์เรื่องนี้เอาไว้ว่า “หมอมองว่าตีแผ่ชีวิตจริงของวัยรุ่นไทยได้ดี เพราะคนไข้หลายๆคนที่มาหาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ก็มีชีวิตคล้ายๆตัวละครในเรื่องหลายคน แม้ว่าจะให้ข้อคิดที่ดี แต่เด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจเลียนแบบพฤติกรรมไม่ดีได้ ก็ถือเป็นดาบสองคม หมอมองว่าหากเป็นไปได้ ผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่หรือคุณครู ควรให้คำแนะนำใกล้ชิด”
คำแนะนำที่ดีที่สุดที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นให้ไว้ก็คือพ่อ แม่ ผู้ปกครองควรนั่งดูซีรีส์เรื่องนี้ร่วมกับเด็กวัยรุ่นเพื่อที่จะร่วมกันพูดคุยถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดจนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมต่างๆ ด้วย และนั่นก็อาจจะเป็นดอกผลงดงามที่สุดที่ละครไทยน้ำดีสักเรื่องจะมอบให้แก่สังคมปากว่าตาขยิบเช่นนี้
.......................................................................
ที่มา นิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 197 วันที่ 13-19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556