xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ “ย้ง ทรงยศ” ผู้หลั่ง “Hormones วัยว้าวุ่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยยอดคนดูกว่า 1 ล้านวิวในยูทิวบ์ น่าจะเป็นสิ่งที่การันตีได้เป็นอย่างดีถึงความแรงของกระแสซีรีส์วัยรุ่นที่มีชื่อว่า “Hormones วัยว้าวุ่น” ที่อีกฟากหนึ่งก็กำลังออกอากาศทุกคืนวันเสาร์ผ่านทางช่องดาวเทียมจีเอ็มเอ็มวันอยู่ในตอนนี้

ไม่เพียงจากตัวเลขดังกล่าวเท่านั้นที่แรง ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องราว “ความรักและเซ็กส์ในวัยเรียน” แบบที่เราสามารถเจอะเจอได้จากชีวิตจริงของวัยรุ่นในยุคปัจจุบันที่ถูกจับมานำเสนอก็ยิ่งทำให้กระแสของการพูดถึงซีรี่ส์เรื่องนี้ยิ่งแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก

ถึงตอนนี้หลายคนก็คงจะได้รู้จักตัวละครทั้ง วิน, ขวัญ, เต้ย ภู ไผ่, สไปรท์, ตาร์, หมอก ฯลฯ ไปแล้ว

“Hormones วัยว้าวุ่น” อีกหนึ่งผลงานจากค่าย “จีทีเอช” ร่วมกับ “นาดาวบางกอก” นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่น อาทิ พีช พชร จิราธิวัฒน์, แพทตี้ อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา, ปันปัน สุทัตตา อุดมศิลป์, มาร์ช จุฑาวุฒิ ภัทรกำพ, ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร, เก้า สุภัสสรา ธนชาต, ตั้ว เสฏฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ฯลฯ

ส่วนคนที่คัดหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นเจ้าของฉายา “ผู้กำกับโรคจิต” อย่าง “ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์” นั่นเอง
...
ประสบการณ์จากชีวิตจริง

“คือตอนเรียน ม.ปลายผมเรียนที่เซนต์คาเบรียล แต่ว่าช่วงที่ใช้ชีวิตแบบหวือหวามากๆ มันก็จะเริ่มตั้งแต่มัธยมต้น ก็คืออยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ตั้งแต่ ม.ต้น ที่มันหวือหวาเพราะว่าเราเป็นเด็กโรงเรียนประจำ ได้หนีโรงเรียน ได้แอบไปหาสาวโรงเรียนหญิงล้วนข้างๆ แอบไปเที่ยวพัทยา เริ่มแบบทำตัวแสบๆ แบบซีรีส์ฮอร์โมนในวัย ม.ต้นนี่แหละ”

“ในซีรีส์ฮอร์โมนถามว่าตัวเองเหมือนใคร ก็ปนๆ ระหว่างตาร์กับหมอก คือ ต้าเวลาอยู่กับเพื่อนฝูงจะดูรีแลกซ์ ดูเฮฮา แต่ว่าเป็นคนมีความมีโลกส่วนตัวสูงเหมือนกัน เหมือนเรารู้สึกว่าเด็กเรียนโรงเรียนประจำ มันมีปมอยู่ในใจนะ พอเราโตเลยมีความรู้สึกว่าเราต้องกั้นแบบกำแพงขึ้นมาให้มีโลกส่วนตัวของเราเอง ก็พาร์ทหนึ่งอยากจะบอกว่า มีส่วนหนึ่งที่เขียนมาจากตัวเองเหมือนกัน”

บวกรวมกับประสบการณ์ของนักแสดง

“คือตอนที่เราเขียนบทเรื่องนี้ เราเอาน้องๆ นักแสดงมาสัมภาษณ์ก่อน พูดคุยว่า คือ เด็กวัยรุ่นยุคนี้มันเจออะไร มีความรักแบบไหน มันมีปัญหาอะไรบ้าง พอรู้ปุ๊บ เราก็มานั่งพัฒนาคาแรกเตอร์บท จากตัวเรื่องราวเหล่านั้น คืออะไรที่เราไม่เข้าใจเราก็จะย้อนกลับไปถามเขา อย่างเด็กโลกสวย หรือแบบ เด็กผู้ชาย จิ้นผู้ชายด้วยกัน เราไม่เข้าใจน่ะ ทำไมไม่จิ้นผู้ชายกับผู้หญิงนะ ในความรู้สึกเรา แต่พอฟังน้องบอก ก็อ๋อ เข้าใจ มันก็เลยออกมาเป็นเนื้อหาในซีรีส์”

“ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ เพราะว่าต่อให้เราได้ข้อมูลจากเด็กมาแล้ว ซึ่งเราหาเยอะเหมือนกันนะครับ เราต้องเอาในเน็ตด้วย เพราะสมัยนี้ส่วนใหญ่เด็กๆ จะระบายลงในอินเทอร์เน็ตกันเยอะ มันก็จะได้ข้อมูลมาหนึ่งพาร์ท พอเรามาคุยกันในกลุ่ม เราก็จะถกกันในมุมของคนผ่านวัยรุ่นมาว่า เฮ้ย ตอนเราเป็นวัยรุ่น เราเคยผ่านเหตุการณ์คล้ายๆ แบบนี้ แต่เราคิดอีกแบบหนึ่งนะ มันก็จะมีการถกกันในมุมผู้ใหญ่ด้วย”

เรื่องราววัยรุ่นที่ถูกมองโดยคนแก่

“ฮอร์โมนน่ะ ต่อให้เป็นซีรีส์วัยรุ่นจริงๆ แต่มันก็มองในมุมผู้ใหญ่พาร์ตหนึ่งได้เหมือนกัน คือมองแบบเข้าใจวันรุ่น แต่ว่าเราไม่อยากมองเป็นแบบคนแก่มากๆ หรือไม่ใช่คนที่จะไปสรุปว่าสิ่งที่วัยรุ่นทำมันผิดหรือมันถูก แต่เราก็เลือกที่จะพูดแบบผู้ใหญ่นิดหนึ่งว่า น้อง ถ้าน้องเลือกที่จะเป็นแบบนี้ พอถึงจุดหนึ่งมันได้ผลลัพธ์อะไร เราต้องยอมรับมันให้ได้”

ไม่ได้ต้องการให้เด็กเอาอย่าง แต่อยากเปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่

“จริงๆ เรื่องเซ็กซ์ในวัยเรียนมีมานานแล้วแต่ไม่ประเจิดประเจ้อเหมือนในยุคนี้ ที่อยากนำเสนอเรื่องนี้เพราะเดี๋ยวนี้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ซึ่งมันเป็นความจริงที่สะท้อนออกมาให้เป็นละคร และคิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เด็กทำตามหรือเกิดเรื่องอย่างนี้อีก บอกว่านอกจากจะให้ความสนุกสนานกับวัยรุ่นแล้ว ยังเป็นการเปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่ให้รับรู้ว่าลูกตัวเองทำอะไร เป็นอะไร อยู่นอกบ้านบ้าง”

“บางทีเราเห็นประเด็นข่าวหน้าหนึ่ง เด็กเข้าม่านรูด ไปมั่วสุมกัน เราเลยอยากพูดประเด็นนี้ พอเราอยากพูด เราก็หาข้อมูล บางทีเรามีข้อมูลที่เราตกใจเหมือนกัน เช่น บางทีน้องเขามั่วสุมเรื่องเซ็กซ์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปมั่วสุมอยู่ในโรงแรมม่านรูด บางทีก็ไปที่บ้านกันนี่แหละเท่าที่คุยมา”

“การเริ่มส่วนใหญ่เด็กผู้หญิงก็เริ่มด้วยนะ มันก็มีผู้ชายที่เริ่ม แต่การที่จะนำไปสู่จุดประสบความสำเร็จน่ะ คืออย่างสมมติว่าผู้ชายจะเริ่มเล้าโลมผู้หญิงก่อน การจะประสบความสำเร็จในเรื่องเซ็กซ์อาจจะยากสักนิดหนึ่งเพราะว่าผู้หญิงไม่ได้แปลว่าจะเล่นด้วย แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงเริ่มแทบจะจบลงด้วยการที่มีอะไรกันเพราะว่าผู้ชายมันง่ายอยู่แล้ว ดังนั้นผู้หญิงเริ่มมันเลยไปสู่จุดจบที่มันไปถึงจุดนั้นง่ายกว่า”

“แล้วก็บางทีเราฟังน้องแบบว่า พี่ จู่ๆ เขา (ผู้หญิง) ก็โทร.มาชวนผม พ่อแม่เขาก็อยู่บ้าน แต่เขาก็แอบพาผมขึ้นไปบนบ้านเขา และคืนนั้นผมก็อยู่บ้านเขาทั้งคืนโดยที่พ่อแม่เขาไม่รู้ และมันก็เป็นเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมา 3-4 ครั้ง จนวันหนึ่งแม่เปิดประตูเข้ามาผลักเข้ามา เขาเห็นผม ผมก็ตกใจก็เลยวิ่งหนีออกจากบ้าน คือทำให้เราคิดว่า เฮ้ย! เดี๋ยวนี้มันไปขนาดนั้นแล้วเหรอ กับเด็กในเมืองกรุงทั่วๆ ไปนั่นแหละ”

“มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า พอหาข้อมูลไปถึงจุดจุดหนึ่ง ตอนที่เราคิดว่าฮอร์โมนน่าจะเป็นซีรีส์ที่มันสื่อสารกับวัยรุ่นดูกันอย่างสนุกสนาน ได้ฝึกคิด ได้เรียนรู้ ถึงจุดหนึ่งเรากลับรู้สึกว่า เอ๊ะ หรือว่าซีรีส์ฮอร์โมนมันอาจจะเป็นสิ่งที่เปิดหูเปิดตาผู้ใหญ่ด้วย เพราะว่าในมุมหนึ่ง เชื่อว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนไม่รู้หรอก ว่าลูกตัวเองเป็นอะไร ทำอะไรอยู่นอกบ้าน”
ย้ง ทรงยศ เจ้าของฉายาผู้กำกับโรคจิต






รับเสี่ยงต่อการถูกเข้าใจผิด...

“ถามว่ามันเสี่ยงไหม คือวันที่เราคุยบทกัน ก็กลัวอยู่เหมือนกัน อย่างเวลาที่เราจะเล่าเรื่องคาแรกเตอร์สไปรท์เนี่ย มันแรงไปไหม มาคิดอีกทีมันก็แรง แต่ถามว่าเราอยากพูดถึงสิ่งนี้ไหม คือถ้าเรากำลังจะพูดปัญหา เราจะไม่มีเหตุการณ์ ไม่มีคาแรกเตอร์แบบนี้มันไมได้ แต่พอเรากำลังจะพูดเราก็ต้องรับผิดชอบมันด้วย”

“ตอนนั้นมีอยู่สองอย่างเลย คือกลัวและไม่ต้องทำหรือจะเล่าเรื่องซอฟต์ๆ ที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ หรือในเมื่อกลัวแล้วก็ต้องพยายามคิดให้มันดีที่สุด ถ้าเรากำลังจะเล่าเรื่องประเด็นที่มันแรงๆ เราก็ต้องคิดให้มันดีที่สุด รอบคอบที่สุด รับผิดชอบที่สุด พอมีวันที่ออกอากาศไป มันมีคนตั้งคำถามกลับมา เราก็ต้องตอบมันให้ได้”

เผยฟีดแบ็กเกินกว่าที่คิด

“คือตอนแรกที่เริ่มต้นออนแอร์ไป เราก็คิดว่าถ้าเด็กวัยรุ่นดูแล้วสนุก ชอบกัน ถ้าในยูทูบคนดู 2-3 แสน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วล่ะ ในมุมของเรา เพราะเรารู้สึกว่า คือจริงๆ ที่เราทำประเด็นเราแรง คิดว่า น่าจะมีคนอยากดู แต่ว่าแฝงอยู่บนความดราม่าทุกตอนเลยนะ เราก็ไม่เข้าใจว่าความเป็นดราม่า คนเสพแล้วมันจะสนุกหรือเปล่า พอมาถึงจุดนี้ จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรมาบอกเราได้ว่า เราจะทำอะไร อยู่ที่ว่าคุณกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ"

“เด็กๆ ทวีตเข้ามาบอกว่าตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ดู แต่พอได้มาดูด้วยกันสักพัก ท่านก็เข้าใจ แล้วก็มานั่งคุยกับลูก ซึ่งอันนี้มันเป็นเจตนาหนึ่งที่เราอยากให้มันเป็น แต่เราไม่แน่ใจว่ามันจะถึงหรือเปล่า แต่พอมันไปถึงก็รู้สึกชื่นใจ เราเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ในมุมเรานะ มันไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครเก็ต ที่คอมเมนต์แรงๆ ยังไม่ค่อยมี ยังคิดเลยว่า สังคมไทย ในการดูละครเปิดมากขึ้น”

สมจริงขนาด “เหี้ย” ยังเกลื่อนจอ

“คงไม่ได้เรียกว่าเป็นความพยายาม คือถ้าวัดจากงานวัยรุ่น พวกนี้เขาจะพูดภาษาเหล่านี้ของเขาเป็นปกติ คือผมเป็นคนที่ระคายหูเรื่องคำด่าพอสมควร แต่ด้วยพฤติกรรมวัยรุ่น เหมือนเป็นคำพูดที่ติดปากน่ะ ไม่ใช่เป็นการจงใจตั้งใจด่า ซึ่งมันก็เกิดเป็นคำพูดส่วนใหญ่ของกลุ่มวัยรุ่น คือถ้าหากว่าการพูดกูมึงหรือคำด่าให้เป็นคำด่าเราจะไม่ให้เกิด”

หลายอย่างปรับให้เบาลง

“อย่างตอนที่ไผ่กับสไปรท์สูบบุหรี่ในห้องน้ำแล้วจูบกัน จริงๆ จะเป็นชุดนักเรียน แต่เราว่ามันไม่ได้ เพราะถ้าภาพออกกไปมันต้องเป็นประเด็นแน่นอน เราเลยรู้สึกว่าเดี๋ยวคนจะหลงประเด็น เพราะจริงๆ แล้วประเด็นเราไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าเราให้เด็กใส่ชุดนักเรียนมาจูบกัน ก็เลยเอาเป็นประมาณว่า กลับไปเปลี่ยนชุดอยู่ที่หอพักหรือคอนโดฯ ก็ได้”

“คือภาพมันดูเบาลง แต่มันยังอยู่ในคอนเทนต์เดิม จากที่เราทำหนังมา เราก็ต้องทำให้เกิดเหตุการณ์ในการเล่าให้เล้าอารมณ์ช่วยในการเล่าบ้าง คืออย่าไปจริงซะหมด มันเหมือนไม่ได้เป็นการใช้ชั้นเชิงอะไรในการสื่อสาร ซึ่งมันเหมือนเราไปสุดทางเกินไป คนดูอาจจะปิดประตูรับ คือตอนนี้เราพยายามจูนด้วยว่า ตอนนี้เราอยากจะพูดคอนเทนต์ที่มันไปไกลขึ้นนะ แต่ก็อยากให้คนดูรับมันด้วย”

บอกเรื่องจริงแรงกว่านี้เยอะ

“ชีวิตวันรุ่นสมัยนี้ถ้าเทียบกับเรื่องฮอร์โมน คิดว่าสัก 70% รู้สึกว่าชีวิตจริงเขาแรงกว่านี้ จากที่เห็นและหาข้อมูลมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมันอาจจะไปไกลกว่าที่เราหาข้อมูลมาก็ได้ ซึ่งหากใครดูในยูทิวบ์ ซึ่งอาจจะคอมเมนต์ของผู้ใหญ่อยู่บ้าง ก็มีน้องๆ มาบอกว่า มันไปไกลกว่านั้นแล้วนะ คนที่เขาคิดว่าละครมันแรงคงจะคิดว่าทำไมเราต้องมาทำเรื่องแรงๆ ผ่านสื่อ...ทำไมทำภาพที่ไม่ดีออกมาผ่านสื่อ”

“ผมก็เข้าใจเหมือนกันที่ยังมีเด็กหลายคนที่ยังคิดไม่ได้ แต่เจตนาของเราคือ อยากให้เป็นซีรีส์ที่ดูกันทั้งครอบครัว โดยมีผู้ปกครองดูด้วย เกิดการแนะนำ เกิดการพูดคุย คือตามภาพหนังสือบันเทิงที่มันมีภาพเหล่านั้นออกมาแต่บางครั้งไม่ได้พูดถึงรายละเอียดอะไร เราก็มาคิดว่าเราไม่กลัวแล้วล่ะ เราอยากจะนำเสนอภาพเหล่านี้ แต่เราอยากจะพูดให้เห็นเจตนาเราด้วย มันน่าจะดีกว่าเด็กเห็นสื่อแล้วไม่ได้อธิบายอะไร”

กลัววัยรุ่นเอาอย่างในทาบไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น “สไปรท์” หญิงสาวที่พร้อมจะมีเซ็กซ์ได้กับทุกๆ คน

“กลัวครับ...เราไม่อยากให้คนเข้าใจเจตนาของการทำซีรีส์ผิดๆ คือเราทำเรื่องนี้ ก็จะมานั่งคุยกับคนเขียนบทว่า ทุกคนเคยเป็นวัยรุ่น แล้วเรารักชีวิตวัยรุ่นของเรามาก เราก็รู้ว่าวัยรุ่นชุดนี้มันมีปัญหา เราก็สงสารมัน แต่เราอยากให้มองมันอย่างเข้าใจ จริงๆ ที่เราทำเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเรารักวัยรุ่น เราอยากเข้าใจวัยรุ่น เราอยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจเขา เพื่อที่จะพาเขาหลุดจากปัญหา”

“เราไม่อยากให้น้องเตลิดเปิดเปิงเข้าใจปัญหาแบบเข้าใจซีรีส์นั้นผิดๆ และทำตัวผิดๆ มันก็เลยมีอินสตาแกรมขึ้นมา เราก็จะเขียนว่าเราทำเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าเรารักวัยรุ่นนะ ดูแล้วต้องรักตัวเองให้เยอะๆ เพราะไม่มีใครรักเราได้ ไม่มีใครช่วยเราได้ ในฐานะคนทำสื่อเราจะพูดได้แค่นี้ ในฐานะพ่อแม่เขาคงจะเตือนแล้วก็แค่สังเกตการณ์ ถ้าเราไม่รักตัวเองก็ไม่มีใครจะรักได้มากเท่ากับตัวเรา มันก็จะกลับมาที่วัยรุ่นด้วย”

“ถ้าน้องๆ ดูจริงๆ ซีรีส์ฮอร์โมน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเข้าข้างวัยรุ่นเลย หมายถึงว่าไม่ได้เข้าข้างว่าน้องทำถูกต้องทุกอย่างนะ แต่มันเป็นซีรีส์ที่เราเล่าอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจวัยรุ่น เราเลยอยากให้วัยรุ่นคิดให้เยอะ มองให้แตกฉานแล้วให้เข้าใจกลับมาด้วยว่าทำไมพี่เขาถึงไม่มาสอนสั่งเราหน้าจอ เพราะจริงๆ แล้ววัยรุ่นอาจจะไม่ชอบให้ใครมาสอนสั่งเรา ยิ่งไม่ชอบให้ใครมาสอนน้องต้องยิ่งคิดเองเยอะๆ”

“พี่ก็ไม่ได้คิดว่าน้องๆ จะคิดได้หรือคิดได้ดีเหมือนกันทุกคน แต่เมื่อเราเลือกที่จะเป็นอะไรหรือตัดสินใจไปแล้วเราต้องกล้าที่จะยอมรับผลลัพธ์ที่จะตามมา คือถ้าเราอยากมีสไปรท์เป็นไอดอล อยากมีอิสระเสรีทางด้านนี้ (เซ็กซ์) ก็ได้ แต่วันหนึ่ง ชีวิตน้องจบลงการท้อง หรือถ้าอาจจะหาวิธีเซฟหรือป้องกันได้ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเจอความรักแท้ขึ้นมาแล้วเขารับอดีตน้องไม่ได้ คือมันเป็นเรื่องของผลลัพธ์ที่เราเลือกที่จะเป็นหรือไม่เป็นที่จะตามมามากกว่าครับ”

(เรียบเรียงคำสัมภาษณ์จากรายการ “เปิดหน้าคุย” ทางช่องเนชั่น แชนแนล)






ตามติดชีวิตใหม่ของ “บัวขาว” กับก้าวย่างของนักบริหารเจ้าของค่ายมวย !!!
ตามติดชีวิตใหม่ของ “บัวขาว” กับก้าวย่างของนักบริหารเจ้าของค่ายมวย !!!
3 พิธีกร ดู๋ นุ่น ลิง พาไปพบกับคำตอบของความสุขของผู้ชายที่ชื่อ บัวขาว สมบัติ บัญชาเมฆ ถึง บ้านเกิดที่บ้านสองหนอง อำเภอสำโรงทาบ จังหวัด.สุรินทร์ ที่แม้ในชีวิตจะได้สมหวังประสบความสำเร็จกับอาชีพนักมวยบนสังเวียนผืนผ้าใบแล้ว แต่สุดท้ายแล้วคำตอบของบัวขาวก็คือ บ้านเกิด ที่มีญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และหนองน้ำเอาไว้จับปลา ว่ายน้ำ และเล่นบั้งไฟ 3 พิธีกรถึงกลับแปลกใจ ที่ได้เห็นอีกมุมหนึ่งของบัวขาว ที่กลายมาเป็นเด็กอีกครั้งเมื่อได้อยู่กับสิ่งที่บัวขาวรักนอกจากมวย บัวขาว วิ่งเล่น ว่ายน้ำ ขับรถไถพา 3 พิธีกรไปจับปลา เล่นบั้งไฟ สนุกสนานกันจนลืมชีวิตจริงกันไปเลยทีเดียว ชีวิตจริงที่มีทั้งช่วงทุกข์
กำลังโหลดความคิดเห็น