ขออนุญาตออกตัวไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้เลยครับว่า ผมเป็นแฟนหนังคนหนึ่งของ “เควนติน ทารันติโน” พูดได้ว่าดูมาครบทุกเรื่อง เช่นเดียวกับสองพี่น้องตระกูลโคเอนที่ผมไม่เคยพลาดผลงานของพวกเขา และที่ต้องออกตัวแบบนี้ ก็เพราะว่า ถ้าผมจะชื่นชมผลงานของเขา ก็จงรับรู้ไว้ว่ามันมาจากเหตุผลเบื้องต้นนั้นส่วนหนึ่ง
อันที่จริง ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ดูหนังของเควนตินมาโดยตลอด ก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน นั่นก็คือ ชอบ และลึกๆ ก็มักจะรู้สึกว่า ผู้กำกับคนนี้ “มันกวนตีนดี” หนังของเควนตินมักจะออกไปในโทนตลกร้าย และสิ่งนี้ก็ดูจะกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้วสำหรับหนังของเขา เหมือนว่าอารมณ์ขันของเขาไม่มีวันตาย และมันยังใช้งานได้ เวิร์กอยู่เสมอ
3-4 ปีก่อน เควนติน ทารันติโน พาหนังเกี่ยวกับการสังหารฮิตเลอร์ (ปลอมๆ) อย่าง Inglourious Basterds ทะลุเข้าไปชิงออสการ์ในสาขาใหญ่ๆ ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับยอดเยี่ยม หนังยอดเยี่ยม บทยอดเยี่ยม แต่ประสบความสำเร็จในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (คริสตอฟ วอลซ์) มาปีนี้ หนังของเควนติน ทารันติโน อย่าง Django Unchained ก็ได้เข้าชิงออสการ์อีกครั้ง ก่อนจะได้รางวัลมาสองสาขา คือ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม กับนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นคริสตอฟ วอลซ์ คนเดิม
แน่นอนครับ ถ้าเราจะเริ่มพูดถึงหนังเรื่องนี้ด้วยนักแสดงอย่างคริสตอฟ วอลซ์ ก็คงจะดีงามมากทีเดียว เพราะนอกเหนือไปจากความจริงที่ว่า ตอนนี้ คริสตอฟ วอลซ์ เหมือนนักแสดงคู่บุญคนหนึ่งของเควนตินไปเรียบร้อยแล้ว และร่วมงานกันมาสองครั้งก็ได้ตุ๊กตาทองมาจากออสการ์ทั้งสองครั้ง ในแง่บทบาทในหนัง คริสตอฟ วอลซ์ ก็แทบจะถือได้ว่าเป็นดาราตัวยืนคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างมากในเรื่อง Django Unchained เราจะเห็นเขาปรากฏบนจอแทบจะทุกฉากทุกซีน
ตามบทที่ได้รับมอบหมาย คริสตอฟ วอลซ์ ต้องแสดงเป็น ดร.ชูลท์ อดีตหมอฟันที่ผันตัวเองมาเป็นนักล่าค่าหัวผู้เลือดเย็นราวกับว่าไร้หัวใจ และด้วยเป้าหมายที่ต้องการออกตามล่าผู้ร้ายบางราย ดร.ชูลท์ จำต้องไปนำตัวทาสผิวสีที่ชื่อ “จังโก้” เข้ามาร่วมเส้นทางด้วยเพื่อประโยชน์ในการชี้ตัวพวกเหล่าร้าย และ ดร.ชูลท์ ก็ไม่รู้เลยว่าภายใต้ใบหน้าดำกร้านของเพื่อนร่วมทางอย่างจังโก้นั้น ได้ซ่อนเรื่องราวที่ทั้งหวานชื่นและเจ็บปวดไว้ภายใน และนั่นก็คือที่มาของเรื่องราวผจญภัยอันสุดมหัศจรรย์พันลึกอย่างที่เขาเองก็นึกไม่ถึง
Django Unchained หรือ “จังโก้ โคตรคนแดนเถื่อน” (ตัวอักษร D ในชื่อจังโก้ ไม่ออกเสียง เหมือนที่เจ้าตัวบอกว่า “D is suck” มันไม่มีค่าอะไรเลย) เป็นหนังคาวบอยซึ่งพิกัดเวลาของเรื่องราวไว้ที่ ค.ศ.1858 สองปีก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองอเมริกา มันคือยุคสมัยที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่คน พวกผิวขาวที่มั่งคั่งต่างมีทาสเป็นคนผิวสีไว้ในสังกัด มีสถานะเป็นดั่ง “เจ้าชีวิต” พวกทาสผิวสีก็ต้องพร้อมยอมรับการถูกกระทำทุกอย่างโดยมิอาจขัดขืน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หนังวาดมโนภาพให้เรานึกถึงความชั่วร้ายของฝรั่งผิวขาว ผมคิดว่าผมชอบมุมมองของเควนตินที่พยายามขยับโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น นั่นคือไม่ตัดสินชี้ขาดความเลวทรามของใครแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด เสียงหนึ่งซึ่งน่าจะดังขึ้นมาในมโนสำนึกของคนดู ก็คือ ในบรรดาคนขาว ก็มีคนดีๆ ปะปนอยู่ และในบรรดาคนผิวสี ก็มีคนกึ่งดิบกึ่งดีหรือกระทั่งไม่ดีผสมอยู่ด้วย ดร.ชูลท์ เอย หรือแม้กระทั่งทาสผู้ยิ่งใหญ่ในเรือนของมหาเศรษฐีแคนดี้เอย ทั้งสองคนนี้คือภาพที่ชัดเจนในการส่องสะท้อนกลับกันและกันในแง่ดี-ไม่ดี มีหัวใจหรือไม่มี
ดังนั้น จากข่าวที่ออกมา ซึ่งเกี่ยวกับดาราผิวสีบางคนตำหนิหนังเรื่องนี้ว่าใช้คำพูดเหยียดผิวอย่างคำว่า “นิโกร” ผมกลับมองว่า ถ้าพวกเขาได้ดูหนัง พวกเขาจะพบว่าเควนตินไม่ได้มี “สายตา” มองหยามคนดำเลย และคำว่า “นิโกร” ที่หนังใช้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับถ้อยคำที่ใช้จริงในยุคสมัยดังกล่าว เพื่อเรื่องราวที่สมจริง
ฉากเปิดเรื่องและเปิดตัว ดร.ชูลท์ นั้น พูดได้ว่า “โคตรเท่” และเสน่ห์ที่แฟนหนังเควนตินทุกคนคุ้นเคย ก็จัดหนักอย่างเต็มอรรถรส บทพูดชนิดที่พูดเป็นน้ำไหลไฟดับยังคงมีให้เห็น ในมุมมองของผม มันคือการพล่าม แต่เป็นการพล่ามที่น่าฟังและตรึงเราให้อยู่กับบทสนทนาได้อย่างอยู่หมัด ถ้าเควนตินจะลงเลือกตั้ง บางที เขาอาจจะชนะตั้งแต่พูดหาเสียงแล้วก็เป็นได้...ผมคิดว่า นอกจากการที่เควนติน ทารันติโน มักจะกระโดดลงมาร่วมแสดงด้วย และมีจุดจบ (ตาย) แบบโง่ๆ ทุเรศๆ แล้ว ลายเซ็นอย่างหนึ่งซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์อันยอดเยี่ยมของหนังเควนตินก็คือ การ “แวะข้างทาง” นั่นหมายความว่า หนังมี “เป้าหมาย” ที่จะต้องไปให้ถึงแน่นอนอยู่แล้ว แต่เควนตินก็แวะโน่นแวะนี่ไปได้เรื่อยๆ และมันทำให้หนังของเขาเพิ่มสีสันมีเสน่ห์ (อันนี้ต่างจากหนังที่แวะโน่นแวะนี่จนลืมปลายทางของตัวเองนะครับ)
อย่างเช่น ในเรื่อง Pulp Fiction เราจะเห็นตัวละครสองตัวที่กำลังจะออกไปทำภารกิจอะไรสักอย่าง คุยกันเรื่องเบอร์เกอร์ชีส จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ Bullshit ไร้แก่นสารสุดๆ ทว่าด้วยลีลาการพูดและการเติมแต่งไดอะล็อก กลับทำให้มันเป็นบทสนทนาที่เจ๋งและไม่มีสิทธิ์ที่ใครจะฟังแบบผ่านๆ ตัวละครคุยกันเรื่องเบอร์เกอร์ชีสแต่จริงจังราวกับว่ากำลังถกปัญหาของประเทศ ใน Django Unchained ก็เช่นกัน เราเห็นตัวละครของเควนตินคุยกันเรื่องหน้ากากคลุมหัว เรื่องเล็กๆ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และพวกเขาก็คุยกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
นอกจากคริสตอฟ วอลซ์ ที่ได้ออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายมาเป็นเครื่องการันตีคุณภาพ นักแสดงหลักคนอื่นๆ ทุกคนในเรื่อง ก็มีความเจ๋งในมุมของตัวเอง ทั้งลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เจมี่ ฟอกซ์ หรือแม้แต่ซามูเอล แอล.แจ็กสัน ทั้งหมดมีบทบาทในการส่งเสริมให้อรรถรสความสนุกของหนังได้รับการเติมเต็ม และที่ผมคิดว่าควรจะยกย่องในความเพียรพยามอย่างมากของนักแสดงก็คือ สำเนียงในการพูด เพราะยุคสมัยของหนังนั้นย้อนกลับไปถึง 150 กว่าปี ลีลำน้ำเสียงการพูดของคนในยุคนั้นย่อมแตกต่างกับคนยุคนี้ และสำเนียงน้ำเสียงของนักแสดงทุกคนก็ทำให้เราเหมือนกลับไปหายใจอยู่ในยุคสมัยนั้นจริงๆ ขณะเดียวกัน เทคนิคด้านภาพ ตลอดจนการใช้ฟอนท์ตัวหนังสือ ก็ปลุกความรู้สึกนึกถึงอดีตของคอหนังคาวบอยยุคเก่าได้เป็นอย่างดี
กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผมมองว่าโครงสร้างของเรื่อง Django Unchained นั้นไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไรนักกับผลงานก่อนหน้าของทารันติโน่ อย่าง Inglourious Basterds นั่นก็คือ หนังค่อยๆ เปิดตัวละครออกมาทีละตัว ในสถานที่ที่แตกต่าง แล้วค่อยกวาดต้อน ตะล่อมๆ ให้ทั้งหมดโคจรมาพบกัน ในสถานการณ์ที่ต้องขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบ จะเพลี่ยงพล้ำหรือพลั้งพลาด ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียม มันเหมือนกับการตอกย้ำแบบ “ตกผลึกแล้ว” ของเควนติน ในการสร้างโครงเรื่องแบบนี้ Inglourious Basterds เคยสนุกอย่างไร Django Unchained ควรจะคูณไปด้วยเลขสอง
ตามสไตล์หนังคาวบอย Django Unchained ยังคงเน้นให้เห็นในด้านของการแอ็กติ้งเท่ๆ แมนๆ มากด้วยเล่ห์ แต่ดูหล่อ ขณะที่เพลงประกอบก็โน้มนำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปกับหนังและฟังเพราะทุกเพลง แน่นอนว่า กึ๋นในการเลือกเพลงประกอบ เป็นอีกหนึ่งความเก๋าที่ต้องซูฮก ในหนังเรื่องนี้ มีบทเพลงหนึ่งซึ่งเควนตินเลือกมาใช้แบบไม่นึกว่าจะได้ฟัง นั่นก็คือ “ฟูร์ เอลิส” (For Elise) ของบีโธเฟ่น ซึ่งเป็นเพลงที่คนรู้จักและคุ้นหูมากที่สุดในโลกเพลงหนึ่ง
ตามความเป็นมา ฟูร์ เอลิส นั้น ว่ากันว่าบีโธเฟ่นประพันธ์ขึ้นด้วยความระลึกถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงมาจนทุกวันนี้ว่าหมายถึงสตรีผู้ใด อย่างไรก็ดี เมื่อมันมาปรากฏอยู่ในหนังของเควนติน มันก็ส่งเสริมให้หนังมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพราะภารกิจที่คนสองคน ทั้ง ดร.ชูลท์ และจังโก้ ต้องทำร่วมกัน คือการออกเดินทางตามหาคนรักของทาสผิวสีที่พลัดพรากจากกันไป
Django Unchained อาจจะออกสตาร์ทด้วยความเป็นหนังคาวบอยแอ็กชั่น และโดยภาพรวมก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวของการไล่ล่าและเล่ห์เหลี่ยมค่อนข้างสูง แต่กระนั้น แก่นแกนที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราดูหนังได้สักพักใหญ่ จะพบว่า นี่คือเลิฟสตอรี่ที่โรแมนติกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
มันเป็นเรื่องของชายต่ำต้อยที่ตามหารัก ซึ่งมีทั้งอุปสรรค ความปวดร้าวและเรื่องราวชวนหัวตลอดการเดินทาง แต่ทั้งหมดเหล่านั้นก็ไม่เคยขัดขวางเส้นทางหัวใจของเขาได้ เควนติน ทารันติโน ในขณะที่มอบความบันเทิงสนุกสนานให้กับคนดูด้วยเรื่องราวการผจญภัยที่ต้องเสี่ยงด้วยชีวิต ในอีกหนึ่งด้าน เขาก็ทำให้คนดูผู้ชมรู้สึกเต็มตื้น ด้วยเรื่องรักที่แฝงตัวขึ้นมาอย่างสง่างาม งดงาม และประทับใจ...
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |