xs
xsm
sm
md
lg

“Greasy Cafe” มัวหม่น บนตัวตนที่ชัดเจน สวน(จริต)กระแสเพลงตลาด/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
Greasy Cafe เล็ก : อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร
“Greasy Cafe” ชื่อนี้ไม่ใช่ร้านกาแฟ หากแต่เป็นชื่อที่ใช้ในงานเพลงของ “เล็ก : อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร” ชายหนุ่มที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นทั้งช่างภาพ คนดนตรี นักแสดง และล่าสุดกับการก้าวเข้าสู่แวดวงวรรณกรรมกับผลงานพ็อกเก็ตบุ๊ค ชื่อ “Destination From Nowhere”

Greasy Cafe ออกอัลบั้มแรก “สิ่งเหล่านี้” มาในปี พ.ศ. 2551 เป็นงานเพลงที่มีความแตกต่าง นำเสนอเรื่องราวความรัก มุมมองชีวิต มีความหมายลุ่มลึก ภาษาสวยงาม และเป็นงานเพลงที่ฟังค่อนข้างยากสำหรับใครหลายๆคน เพราะไม่ใช่ตามกระแสตลาดนิยม แต่สิ่งเหล่านี้ก็สามารถคว้ารางวัลทางดนตรีมาการันตีในคุณภาพ

จากนั้นในปีถัดมา เขามีผลงานเพลงชุดสองออกมากับอัลบั้ม “ทิศทาง” ที่ยังคงเดินตามทางชุดแรก แต่ดนตรีละเมียดละไม เนื้อหาลึกซึ้ง เข้มข้นขึ้น

Greasy Cafe ทิ้งช่วงไปราว 3 ปี ครั้นพอถึงปี 2555 เขากลับมาอีกครั้งกับผลงานชุด “The Journey Without Maps” ที่การเดินทางครั้งนี้จะไร้แผนที่ แต่ว่าจุดหมายและทิศทางของเขายังคงชัดเจน
ปกหน้า อัลบั้ม The Journey Without Maps
งานเพลงชุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ เล็ก อภิชัย รู้สึกตัน คิดอะไรไม่ออก เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปอังกฤษ ดินแดนที่เคยมาใช้ชีวิต ร่ำเรียนหนังสือ และก่อตั้งวงดนตรี อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เล็กเดินทางไปอังกฤษแบบไม่ได้คาดหวังใดๆ เพราะคิดว่าบางทีอาจกลับมามือเปล่า แต่สุดท้ายเขากลับมาพร้อมกับงานเขียนและอัลบั้มชุดล่าสุด The Journey Without Maps

The Journey Without Maps มีทั้งหมด 13 เพลง มาในปกขาวดำ โทนมัวหม่น เปิดตัวขึ้นมาด้วย “ปล่อย” กับโมเดิร์นร็อกสนุกๆ กีตาร์มีลูกเล่นน่าฟัง ถือเป็นเพลงที่มันที่สุดในอัลบั้ม

เนื้อเพลงปล่อยเนื้อหาดี ตีความไม่ยาก คนเราถ้า(ปลด)“ปล่อย”สิ่งที่คาดหวัง แล้ว“เปลี่ยน” สิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ ชีวิตย่อมน่ารื่นรมย์กว่าการยึดติด ไม่ยอมปล่อยและเปลี่ยน

หลังจากแทรคปล่อย โทนของเพลงพาด่ำดิ่งเข้าสู่โหมดความมัวหม่นกับ “อุบัติการณ์” เพลงเหงาๆกับภาษาเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น “นี่คือภาพยนตร์ที่ไม่ต้องการผู้ชม และนี่คือพายุฝนที่ไร้ซึ่งลม...”
ปกใน อัลบั้ม The Journey Without Maps
ต่อมาเป็น “ดิ่ง” ขึ้นต้นมากับปิ๊กกิ้งอะคูสติกกีตาร์เสียงชวนเหงา ก่อนพาดำดิ่งไปกับโทนเหงาๆตอกย้ำต่ออารมณ์จากเพลงที่แล้ว

เช่นเดียวกับ “หมุน” ที่นำเสนอออกมา ชวนล่องลอยวังเวง เนื้อหาผิดหวัง เหงาเศร้า ดนตรีเยี่ยม ล่องลอย มีเสียงคีย์บอร์ดเล่นเป็นแกนหลัก ฟังแล้วให้ความรู้สึกหมุนๆวิ๊งๆ

ดนตรีเร่งจังหวะให้กระชับขึ้นมาหน่อยกับเพลง “ประโยคบอกเล่า” ที่เนื้อเพลงเน้นประโยคคำถามเชิงขอร้อง ตั้งคำถามถึงความรู้สึกของเธอที่มีต่อฉัน

“ปฏิกิริยา” เพลงนี้ขึ้นต้นมาด้วยเสียงร้องผ่านเอฟเฟคดึงอารมณ์กลับไปหน่วงเนิบ เน้นเสียงสังเคราะห์ มีเสียงเครื่องสายล่องลอยช่วยตอกย้ำความเหงา โดยรวมแล้วนี่เป็นเพลงที่มีซาวน์เยี่ยมทีเดียว

แทรคที่ 7 เป็น “ร่องน้ำตา” เพลงนี้มี “ญารินดา บุนนาค” มาร่วมร้อง ซึ่งผมให้ 3 คำ คือ “เพราะ เหงา เศร้า” คนอกหักฟังแล้วอาจต่อมน้ำตาร่วงได้

“สิ่งใดๆ” ฟังสนุกขึ้นมาหน่อย ก่อนต่อกันด้วย “เงาของฝน” เพลงนี้เรียบเรียงเยี่ยมมาก
เสียงเครื่องสายที่ขึ้นมาในช่วงต้นนั้นกระชากอารมณ์เหลือหลาย ขณะที่เนื้อหานั้นลุ่มลึก เหมือนคนผ่านโลกมาจนตกผลึกในชีวิต

“เมฆใต้น้ำ” มาในเนื้อหาสื่อสัญลักษณ์ให้ตีความ ดนตรีฟังเหมือนหลวมๆแต่มีรายละเอียด ลูกเล่น ซ่อนอยู่เพียบ
ปกหลัง อัลบั้ม The Journey Without Maps
เดินหน้าต่อไปกับ “อาณาเขต” ที่ซาวนด์เพลงค่อนข้างแตกต่างมาในอารมณ์ร็อกในยุค 70’s มีลูกริฟฟ์มาเป็นตัวหลักของเพลง คีย์บอร์ดเล่นเสียงแฮมมอนด์คลอไปตลอด

เนื้อหาเพลงอาณาเขตสะท้อนเรื่องราวแห่งยุคสมัย ที่คนจำนวนมากบนนี้ล้วนต่างมีอาณาเขตของตัวเอง ดังเนื้อร้องในท่อน “...ความมากมายของการพูดคุยที่เปลี่ยน และการมองเห็นมองหน้ากันที่น้อยลง ทุกๆคนจ้องอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยม จมสู่โลกที่วางอยู่บนอุ้งมือ...”

การตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในท่อนข้างต้นนำไปสู่การออกเดินทางอันมีแรงกระตุ้นมาจากความรัก นี่คือเพลงคีย์เวิร์ด มุ่งนำสู่คอนเซ็ปต์อันเข้มแข้งและทิศทางอันชัดเจนของอัลบั้ม

มาถึง 2 เพลงส่งท้ายกับ “ป่าสนในห้องหมายเลข 1” เพลงเหงาล่องลอยชวนให้ตีความ ไล่ไปตั้งแต่ชื่อเพลงที่ตั้งชื่ออย่างกับผลงานจิตรกรรม

ปิดท้ายกันด้วย “ละอองแสง” เน้นซุ่มเสียงอะคูสติก มีกีตาร์โปร่งเป็นแก่นแกน มีเสียงทรัมเป็ตเหงาๆมาเติมเต็ม บีบคั้นอารมณ์ให้ฟังเหงา เศร้า มัวหม่น

เพลงนี้แม้จะเป็นการจากลาที่ฟังเหงาเศร้า แต่กับเปี่ยมไปด้วยความงดงาม สดใส และความหวัง

“...จนวันนี้ ตอนนี้ วินาทีนี้ ที่กำลังจะจากไป จากไป ในวันใหม่ที่แสงทองสวยงามจับตา ที่จะเคลื่อนไหวเข้ามาหา จงโอบกอดอย่างที่ไม่เคยต้องการให้จบลง อย่างที่วันนี้ไม่มีจริง...”

และนั่นก็เป็น 13 บทเพลงจาก Greasy Cafe อัลบั้มที่เต็มไปด้วยความหม่น มัว นัวร์ เหงา เศร้า หน่วงเหนี่ยว ไล่มาตั้งแต่ปกอัลบั้ม เนื้อหา ดนตรี จนบางคนฟังครั้งแรกอาจจะมึน งง จนแทบจะเขวี้ยงซีดีทิ้ง

แต่ช้าก่อน!!! ลองใช้สมาธิฟังครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งที่ต่อๆไป...แล้วจะพบว่าอัลบั้มนี้มีทิศทาง คอนเซ็ปต์ที่เด่นชัด ภาคดนตรีโดยรวมของอัลบั้มนี้เป็นบริท-ร็อกที่มีเสน่ห์มาก ทั้งการเรียบเรียง การวางลำดับเพลง การสร้างอารมณ์ รายละเอียดลูกเล่น ส่วนภาคเนื้อหา มุ่งนำเสนอเรื่องราวของชีวิต การเดินทาง การค้นหา ความฝัน และความรัก ภาษาที่ใช้สวยงาม มีการเปรียบเทียบ การสื่อความหมาย การใช้สื่อสัญลักษณ์ แฝงแง่คิด มีลูกให้ฉุกคิดตาม

ขณะที่เสียงร้องของเล็ก อภิชัย ไม่ใช่แนวแหกปาก แนวออดอ้อนสาว แต่เป็นการร้องเพลงแบบมุ่งเล่าเรื่อง(บางเพลงฟังแล้วนึกถึงฮิวโก้) มีโทนเสียงต่ำ เนื้อเสียงใช้ได้ ฟังโดดเด่นในเรื่องของการสร้างอารมณ์เพลงได้สอดรับกับภาคดนตรี และร้องเพลงไทยเป็นภาษาไทยด้วยน้ำเสียงของตัวเอง ไม่ดัดจริตดัดเสียง แม้จะเคยเป็นนักเรียนนอกมาก่อน

อย่างไรก็ดี The Journey Without Maps มีข้อด้อยตรงที่ โทนเพลงโดยรวมออกมาเนิบช้า ภาคดนตรีกลมกลืนกันแบบไม่มีเพลงใดโดดเด่นออกมาเป็นเพลงขาย เอาใจตลาด กับเมโลดี้สวยๆ มีความป็อบสูง นั่นจึงทำให้การฟังงานเพลงชุดนี้ในครั้งแรก(รวมถึงครั้งที่ 2,3) จะรู้สึกว่าน่าเบื่อไม่น้อย จนกว่าจะเริ่มฟังคุ้นหู ชินหู และเริ่มค้นหาสิ่งต่างๆที่งานเพลงชุดนี้มุ่งนำเสนอ นั่นแหละจึงจะได้พบกับเสน่ห์ที่ซ่อนเร้นอยู่

สำหรับ “The Journey Without Maps” นี่นอกจากจะเป็นงานเพลงที่มากเสน่ห์ ชวนฟัง มีเอกลักษณ์ มีคอนเซ็ปต์ที่เข้มแข็งแล้ว The Journey Without Maps ยังเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมของปี 55 แต่นี่เป็นเฉพาะในความคิดผมเท่านั้นนะ

เพราะในความเป็นจริงของตลาดเพลงไทยแล้ว งานเพลงที่ดี มีความแตกต่าง ไม่อิงตลาด ยอดขายและชื่อเสียง มักจะไม่ค่อยถูกจริตของคนฟังในกระแสนิยมสักเท่าไหร่
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : 2013 Grammy Nominees

ไผเป็นไผในงานแกรมมี่ 2013 คงทราบกันดีแล้ว สำหรับอัลบั้ม "2013 Grammy Nominees" ที่ทำออกมาโดยค่าย Warner Music เป็นการรวมเพลงที่ได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ปีนี้ มีทั้งเพลงที่ได้รางวัลและพลาดรางวัล รวมแล้วมากถึง 22 เพลง โดยมีเพลงที่น่าสนใจ อาทิ "Lonely Boy"(The Black Keys), "We Are Never Ever Getting Back Together"(Taylor Swift), "Somebody That I Used To Know"(Gotye Feat.Kimbra) และ "Set Fire To The Rain"(Adele) ที่มาในแทรคปิดท้าย ใครที่ชอบงานรวมเพลงดังร่วมสมัย นี่นับเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ควรมีไว้ในคอลเลคชั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น