เรียกได้ว่าตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเพลงฮาร์เล็ม เชค กันแล้ว หลังจากที่เพียงเวลาไม่นานคนมากมายพากันผลิตผลงานฮาร์เล็ม เชคในแบบของตนเองอัพโหลดลง YouTube กันเพียบ ทำเอากังนัม สไตล์ ที่เคยฮิตถูกลืมไปโดยทันที
วิดีโอความยาว 30 วินาที ที่มีชายสวมชุดรัดรูปและหน้ากากเหมือนเหล่าขบวนการยอดมนุษย์ของญี่ปุ่น พร้อมกับเต้นเพลงฮาร์เล็ม เชค (Harlem Shake) ผลงานเพลงของ DJ Baauer ได้ถูกกล่าวถึงอย่างมาก และหลังจากนั้นไม่นานก็มีผลงานในลักษณะเดียวกันของหลากหลายบุคคลหลากหลายกลุ่มจากทั่วโลกทำตามออกมาจนกลายเป็นเพลงฮิตทั่วโลก
ตามรายงานระบุว่าฮาร์เล็ม เชค เริ่มฮิตเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังมีบล็อคเกอร์รายหนึ่งโพสท์วิดีโอของเขาและเพื่อนอีก 3 คนในชุดหนังรัดรูปหลากสีพร้อมกับเต้นเพลงดังกล่าวปล่อยออกมาในบล็อกของตนเอง ก่อนจะโพสท์ลงใน YouTube วันที่ 2 ก.พ.ซึ่งนับจากนั้นผู้คนมากมายก็เริ่มทำตาม
ฮาร์เล็ม เชค ถูกนำมาเปรียบเทียบกับ กังนัม สไตล์ ผลงานเพลงชื่อดังของหนุ่มไซ นักร้องจากเกาหลีใต้ที่เพลงของเขาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ไปทั่วโลกกับท่าเต้นควบม้าในปี 2012 แต่ความแตกต่างกันระหว่าง 2 เพลงฮิตนี้คือ ในเพลงฮาร์เล็ม เชค ไม่ได้มีท่าเต้นที่เฉพาะเจาะจงตายตัวเช่นเดียวกับกังนัม สไตล์ แต่เน้นเป็นลักษณะของการเต้นแบบฟรีสไตล์และเน้นความตลกขบขัน โดยจะมีหนึ่งคนเป็นผู้เริ่มต้นก่อนที่ทุกๆคนจะพากันเต้นตามแบบหลุดโลก
วิดีโอฮาร์เล็ม เชคที่ได้รับความนิยมอีกชิ้นหนึ่งคือ การเต้นของทหารนอร์วิเจียน ที่ต่างพากันหลุดจากชุดทหารใส่ความบ้าเต้นกันเต็มที่ในชุดหลากหลายแบบรวมถึงท่าหนอนที่ใช้ถุงนอนในการห่อหุ้มตัวด้วย
แต่ที่เรียกรอยยิ้มได้มากที่สุดเห็นจะเป็นเหล่าทีมงานและสัตว์น้ำของ Sea Antonio Sea World ที่เหล่าสัตว์น้ำทั้งพยูนและแมวน้ำต่างพากันโยกหัวส่ายหัวไปมาให้เข้่ากับจังหวะเพลง
นอกจากสัตว์น้ำแล้ว ทีมนักกีฬาว่ายน้ำจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียก็ขอมีส่วนร่วมกับเพลงฮิตนี้ด้วยการตั้งกล้องและรวมตัวไปเต้นระบำอย่างสุดมันส์กันใต้น้ำกลายเป็นวิดีโออีกตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากเลยทีเดียว
ด้านเหล่าคนดังอย่างนางแบบสาวคารา เดเลวินจ์ และ จอว์รแดน ดันน์ ก็พากันแดนซ์อย่างสุดมันส์ด้านหลังเวทีลอนดอนแฟชันวีค ด้านนักร้องดังอย่าง T-Pain ก็โพสท์วิดีโอของตนเองลง YouTube เช่นกัน โดยใช้ห้องเล่นเกมส์ที่บ้านของแร๊ปเปอร์หนุ่มเป็นสถานที่แดนซ์โดยเริ่มต้นที่เขาออกมาเล่นฮูลาฮูปก่อนจะมีบรรดาเพื่อนๆและทีมงานออกมาร่วมแจม
ด้านบรรดานางแบบสาวจาก Sport Illustarted ก็ไม่พลาดผลิตผงานของตนเอง โดยงานนี้พากันไปยืนเต้นอยู่ใต้ป้ายยินดีต้อนรับสู่ลาสเวกัส
แม้แต่ในวงการเค-ป๊อป ที่เริ่มเอียนกับกังนัม สไตล์ ก็หันมาฮาร์เล็ม เชคกับเขาด้วย โดยนักร้องดังอย่าง โจควอน จากวง 2AM และมิน จาก Miss A รวมถึง แอมเบอร์ จาก f(x)ก็นำทีมแดนเซอร์ร่วมเต้นฮาร์เล็ม เชค ในรูปแบบเคป๊อป สไตล์
ส่วนวงการบันเทิงบ้านเราทางทีมงานจากรายการ VRZO ก็อินกระแสกับเขาด้วย โดยใส่ความบ้าทะเล้นทะลึ่งตึงตังลงไปในวิดีโอของตนเองเต็มที่ ส่วนเปิ้ล นาคร ก็จับทีมงานและน้องออก้าลูกชายหัวแก้วหัวแหวนลงน้ำเต้นเพลงฮิตกับเช่นกัน
Harlem Shake เดิมคือท่าเต้นของชนเผ่าเอสกิสตา (Eskista) ในแอฟริกาเหนือ ซึ่งจะเต้นโยกไหล่ไปมา จนกระทั่งวณิพกจากนิวยอร์คนำท่าเต้นดังกล่าวมารวมเข้ากับการเคลื่อนไหวของมัมมี ซึ่งทำได้เพียงแค่กระตุกและหมุนไหล่ไปมา และเริ่มแพร่ระบาดไปทั่วย่านฮาร์เล็ม เมืองนิวยอร์ค เมื่อปี 1981 จนกลายเป็นชื่อท่าเต้นไปในที่สุด แต่เพลงที่ก่อให้เกิดการเต้นแบบใหม่นี้ไม่ได้มีส่วนใดๆเกี่ยวข้องกับท่าเต้นดั้งเดิมเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่นำชื่อมาใช้ประกอบในเพลงเท่านั้น
Harlem Shake เป็นผลงานเพลงของ DJ Baauer ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ได้คาดคิดเช่นกันว่าเพลงของเขาจะโด่งดังถึงเพียงนี้ เมื่อถูกถามว่าวิดีโอฮาร์เล็ม เชค ตัวไหนที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ดีเจหนุ่มวัย 23 ปีระบุว่า “ผมว่าอันที่เต้นใต้น้ำเจ๋งดีนะ แล้วก็ของ T-Pain ด้วยครับ”
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่เพลงของเขาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมทั่วโลก เจ้าตัวระบุว่า “การที่ระบาดไปทั่วแบบนี้เป็นสิ่งที่ผมคาดไม่ถึงเลยครับ ผมมองว่ามันดีมากจริงๆ”
นักดนตรีหนุ่มรายนี้ยังระบุด้วยว่าเขารู้สึกประทับใจที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จัก “ในที่สุดคนหน้าใหม่ๆ อีกจำนวนมากก็ได้ฟังผลงานเพลงของผม ผมหวังว่าเพลงของผมจะสามารถบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวมันเองครับ”
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |