xs
xsm
sm
md
lg

“Whitesnake” สุดยอดอัลบั้มจาก “ไวท์สเนค” วงพญางูเผือก อสรพิษฤทธิ์ร็อกร้ายเหลือ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด(skbon109@hotmail.com)
เดวิด คัฟเวอร์เดล ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของวงไว์สเนค
ปีนี้เป็นปีมะเส็งหรือปีงูเล็ก ซึ่งน่าแปลกที่ผู้หญิงสาว(โสด)หลายๆคนเกลียดกลัวงู แต่พวกเธอกับฝันอยากให้ถูกงูรัดเสียนี่

เมื่อพูดถึงงูแล้ว ในยุทธจักวงการเพลงร็อก วงดนตรีวงแรกที่ผมนึกถึงคือ วงพญางูเผือก “ไวท์สเนค”(Whitesnake) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในวงร็อกระดับบิ๊กเนมที่ยังคงเลื้อยโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

ไวท์สเนค ก่อตั้ง โดย “เดวิด คัฟเวอร์เดล”(David Coverdale) ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของวง หนึ่งในตำนานร็อกเกอร์หัวแถวผู้มีลมหายใจ ซึ่งตอนวัยละอ่อนที่เพิ่งรู้จักหมอนี่ ผมมักจำสับสนกับ เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาจำแลงมาในคราบนักมายากล

ก่อนที่น้าเดวิดจะถูกวิญญาณงูเผือกสิงสู่ เขาเคยเป็นหนึ่งในอดีตนักร้องนำแหกปากให้กับหนึ่งในสุดยอดวงเฮฟวี่เมทัลระดับตำนานอย่าง “ดีพ เพอร์เพิล”(Deep Purple)

แต่ให้ตายเถอะริทชี่ ด้วยอัตตาอันล้นเหลือของแต่ละคน โดยเฉพาะกับริทชี่ แบล็คมอร์ ที่มีอีโก้ทะลักล้นรูกาก มันทำให้วงดีพ เพอร์เพิล ต้องระเบิดเป็นเสี่ยงๆใน ปี ค.ศ. 1976 สมาชิกแต่ละคนสวมคอนเวิร์ส เดินไปทางใครทางมัน(แต่หลังจากนั้นสมาชิกบางคนได้กลับมารวมตัวเป็นดีพ เพอร์เพิลกันอีกครั้ง ยกเว้น เดวิดที่เลื้อยไปโลดแล่นในยุทธจักรกับวงที่ตัวเองฟักไข่ให้กำเนิดมา)

หลังออกจากดีพ เดวิดหันมาทำโซโลอัลบั้มของตัวเองอยู่ 2 ชุด ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยวิญญาณร็อกเข้าเส้น และก็ไม่รู้ว่าถูกวิญญาณงูเผือกที่ไหนเข้าสิง หรือน้าไปกินดีงูขาวมา เดวิดได้รวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งวง Whitesnake ขึ้นในปี 1978
สมาชิกวงไวท์สเนคยุคแรกๆ ที่มีจอห์น ลอร์ด เล่นอยู่ด้วย
แล้ววงงูเผือกก็ออกเลื้อยโลดแล่น สร้างสีสันให้กับวงการดนตรีร็อกมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเขามีสตูดิโออัลบั้มออกมาทั้งหมด 11 ชุด (รายชื่อทั้ง 11 ชุด ดูได้จาก Discography ท้ายเรื่อง)

ช่วงแรกๆที่วงไวท์สเนคเลื้อยออกจากป่ามาสู่ยุทธจักรเพลงร็อก เส้นทางของพวกเขาออกจะลุ่มๆดอนๆ มีชื่อชั้นในระดับงูเผือกธรรมดา ไม่ได้ยิ่งใหญ่เป็นพญางูเผือกอย่างในปัจจุบัน แถมผืนป่าที่สร้างชื่อให้พวกเขายังจำกัดวงแค่ในอังกฤษเท่านั้น ขณะที่แนวเพลงของวงในช่วงนั้น มันยังไม่สะเด็ดสะเด่ากึ๋น มีพิษแค่เพียงแสบๆคันๆต่อแฟนเพลงแก้วตาขาร็อก ซึ่งทางวงได้เน้นหนักไปที่ความเป็นฮาร์ดร็อก-บลูส์ มากกว่าจะเป็นเฮฟวี่ เมทัล ที่กำลังขึ้นหม้อในตลาดเพลงมะกันในยุคนั้น ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกวงภายในวงยังอยู่ในอาการไม่นิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งต่างๆกันอยู่บ่อยครั้ง

เอ้อ...แล้วเจ้างูเผือกวงนี้จะไปรอดมั้ย หรือจะถูกใครตีเอาหนังไปทำกระเป๋า

แต่กระนั้นเดวิดก็ยังคงยืนหยัดเดินหน้าทำวงต่อไป ทำให้ชื่อเสียงของวงที่ลุ่มๆดอนๆค่อยๆดีขึ้น แต่ทางวงก็ยังคงประสบปัญหาสมาชิกอยู่ไม่ยืด ต้องเปลี่ยนสมาชิกไม่ต่างจากทารกเปลี่ยนแพมเพิส โดยเฉพาะกับการออกไปของสมาชิกระดับบิ๊กเนม(ในแต่ละช่วง) อย่าง John Lord, Ian Paice และ Cozy Powel นั้นทำให้วงงูเผือกแกว่งพอสมควร

แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ หลังอัลบั้มที่หก “Slide It In”(1984) แป้ก เลื้อยไปไม่รุ่ง เดวิดได้ออกควานหาสมาชิกใหม่ เพื่อเตรียมทำอัลบั้มใหม่ แบบไม่กลัวเจ็บต่อความล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา
จอห์น ซีคส์ มือกีตาร์มากฝีมือผู้มีอีโก้ล้นทะลัก
แล้ววันหนึ่งหมอเลื้อยเข้าไปในไนต์คลับแห่งหนึ่ง และได้พบกับหนุ่มน้อยหน้ามนกำลังวาดลวดลายสะกดกีตาร์ได้อย่างคล่องแคล่ว และเชื่องไม่ต่างอะไรจากการใช้เชือกกล้วยสะกดงูเหลือม

งานนี้ฝีมือของไอ้หนุ่มหน้ามนทั้งเข้าตาและเข้า Teen ของเดวิด เมื่อไถ่ถามได้ความว่า หมอนี่มีนามกรว่า จ้อน ซี๊ดส์ เอ้ยไม่ใช่ !!! “จอห์น ซีคส์”(John Sykes) ผู้มีดีกรี ไม่ธรรมดา เคยพรมนิ้วบนเส้นลวด 6 สายให้กับวง “Thin Lizzy” มาก่อน นับเป็นเพชรในน้ำครำที่เดวิดรีบคว้ามาร่วมวงพร้อมกับสมาชิกคนอื่นๆ

จากนั้นไวท์สเนคได้ส่งอัลบั้มชื่อเดียวกับวงคือ “Whitesnake” ออกมาในปี 1987 ซึ่งนี่นับเป็นอัลบั้มจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สร้างชื่อให้กับวงไวท์สเนคอย่างสูงล้น พร้อมยกระดับให้วงงูเผือกขึ้นชั้นจากวงงูป่าพื้นๆกลายเป็นวงพญางูเผือกผู้มากไปด้วยพิษร็อกอันร้ายเหลือ สามารถไต่บัลลังก์ขึ้นไปถึงอันดับ 2 ในชาร์ตบิลบอร์ด(ชาร์ตอัลบั้มทอป 200)ที่นับว่าไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

อัลบั้ม Whitesnake เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 7 มีสมาชิกหลักประกอบด้วย “David Coverdale” - ร้องนำ, John Sykes - ลีดกีตาร์, Neil Murray - เบส, Aynsley Dunbar - กลอง เพอร์คัสชั่น และ Adrian Vandenberg - ริทึ่มกีตาร์ นอกจากนี้ยังมี Don Airey พ่อมดคีย์บอร์ดมาเป็นสมาชิกสมทบ สร้างสีสัน ไลน์คีย์บอร์ดสวยๆให้กับอัลบั้มชุดนี้

อัลบั้ม Whitesnake ที่ผมมีดั้งเดิมเป็นเทปคลาสเซ็ทในเวอร์ชั่นอเมริกา(แต่ปัจจุบันได้ทำเป็นซีดีหาซื้อได้ทั่วไป) มีทั้งหมด 9 เพลง เปิดตัวกันด้วย “Crying in the Rain” บทเพลงเก่าจากชุด “Saints & Sinners” (ชุดที่ห้า-1982) ซึ่งเดิมเพลงนี้เป็นร็อกหนักๆเจือกลิ่นริทึ่ม&บลูส์ ฝีมือกีตาร์นำโดย Micky Moody ที่ถนัดในทางฮาร์กร็อก ริทึ่ม & บลูส์ แต่งานนี้ไวท์สเนคหยิบมานำเสนอใหม่ภายใต้ฝีมือกีตาร์ของจอห์น

ซาวนด์ริฟฟ์กีตาร์ในเพลงนี้มีทิศทางเป็นเฮฟวี่ เมทัล ชัดเจน จอห์นโชว์ให้เห็นถึงความเป็นมือกีตาร์ดาวรุ่งที่มีทั้งความสด ดุ คม และเทคนิคอันหวือหวา ช่วงโซโลที่ค่อนข้างยาว หมอโชว์ลูกนิ้วเร็วบรื๋อแต่ฟังเคลียร์ มีลูกจิ้มสายสุดมันเป็นไฮไลท์ฟังสะใจดีเหลือเกิน ส่วนกลองของ Aynsley นั้นก็อัดลูกขัด ลูกส่ง เป็นเหมือนการโซโลกลองซ้อนเป็นแถวสองรับกับเสียงโซโลกีตาร์ได้กันเป็นปี่เป็นขลุ่ย หากแต่นี่เปลี่ยนเป็นกลองกับกีตาร์แทน

สำหรับเสียงร้องของเดวิดนั้นทรงพลัง หายห่วง มีกลิ่นบลูส์ผสมอยู่แต่ไม่มากเหมือนชุดก่อน หากแต่ปรับสำเนียงมาเป็นเฮฟวี่ เมทัลร่วมสมัย(นั้น) ซึ่งน้าเดวิดในช่วงนั้นกำลังพีค ขึ้นหม้อ ต่อให้เอาพญานาคมาฉุดก็หยุดพลังร็อกของแกไม่อยู่ ในท่อนสุดท้ายหลังโซโลนี่น้าแกแหกปากปล่อยเสียงสูงลิบโชว์ให้พวกเฮฟวี่หน้าสวย หน้าตุ๊ดให้สมัยนั้นเห็นว่า ข้านี่แม้หน้าจะโหดแต่พลังแห่งความเป็นเฮฟวี่ในตัวนั้น พวกเองอย่ามาแหยม

ในบทเพลงแรกนั้น เป็นดังการบอกทิศทางของอัลบั้มนี้ว่า พญางูเผือกได้ปรับแนวจากบลูส์ร็อกหนักๆในของเดิมมาเป็นเฮฟวี่เต็มตัว ว่าแล้วพวกก็อัดหนักกับ “Bad Boys” ที่จู่ๆเดวิดก็เปลี่ยนจากงูไปร้องเสียงเหมือนหมาป่าขึ้นนำเพลงมาซะงั้น แต่อูย เพลงนี้ทั้งวงจัดเต็มใส่กันมันมาก กีตาร์คู่ 2 ตัวเล่นเข้าขากันดี โซโลมา คอร์ด แน่น ไลน์เบสก็รื่นไหล แต่ไม่ทำให้ไถลล้มหัวแตก
ปกอัลบั้ม Whitesnake 1987
ถัดไปเป็น “Still of the Night” โครงสร้างเพลงฟังแล้วชวนให้นึกถึงเพลงของวงเรือเหาะมหัศจรรย์ เลก เซปเพลิน(Led Zeppelin) แต่ไลน์กีตาร์ที่โซโลออกมานั้นกลับออกแนวร่วมสมัย เล่นโน้ตย้ำ ซ้ำๆยังกับอัลเทอร์ยุคนี้ ก่อนนำส่งเข้าสู่การโซโลแบบเป็นเรื่องเป็นราวที่ทั้งรวดเร็ว ดุดัน และหวือหวา

"Here I Go Again”(87) นี่เป็นเพลงเอกของอัลบั้มชุดนี้ เป็นการนำเพลงเก่าจากชุด Saints & Sinners มาปัดฝุ่นร้องใหม่ ในสไตล์ดนตรีที่ร่วมสมัย(นั้น)มากขึ้น ซึ่งมันประสบความสำเร็จอย่างสูงปรี๊ด เพลงนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 1 ในชาร์ตบิลบอร์ดทอป 100 ในอเมริกา และขึ้นอันดับ 9 ในชาร์ตเพลงอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดเพลงฮิตตลอดกาลของวงพญางูเผือก

Here I Go Again เป็นเพาเวอร์บัลลาดขึ้นต้นมาด้วยคีย์บอร์ดฝีมือพ่อมดดอนในเสียงเครื่องสายแน่นๆ ฟังแล้วให้อารมณ์ต่างจากของเดิมที่จอห์น ลอร์ด เคยทำไว้กับเสียงแฮมมอนด์ ออร์แกน เสียงร้องและลีลาของเดวิดในเพลงนี้ ยอดเยี่ยมมาก มีทั้งลูกหวานปนเศร้า และลูกดุดันในยามที่อารมณ์เพลงเพิ่มดีกรีความเข้มข้นขึ้น และลูกแหกปากร้องเสียงสูงลิบที่สุดยอดมาก

เพลงนี้มีทางเมโลดี้สวยงาม ฟังป็อบติดหูง่ายกว่าของเดิม มีไลน์คีย์บอร์ดเล่นเป็นแบ็คกราวน์แน่นคุมไปตลอด มีการส่งต่อระหว่างพาร์ทอย่างกลมกลืน เสียงกีตาร์คู่ในเพลงนี้สอดประสานกันกลมกลืน อ้อ กีตาร์โซโลหวานๆในเพลงนี้เป็นฝีมือของเอเดรียน แวนเดนเบิร์ก ที่นานๆโชว์ที แต่ว่ายังคงดังเป็นอมตะค้างฟ้ามาจนถึงทุกวันนี้

ตัดกลับอามรมณ์กลับไปสนุกโจ๊ะๆกับ “Give Me All Your Love” ที่ในรายละเอียดของเมโลดี้ โดยเฉพาะในท่อนฮุคนี้นั้นมีความเป็นสูง ฟังติดหูง่าย กีตาร์โซโลในเพลงนี้มันอีกแล้ว แถมกลางเพลงยังมีผ่อนอารมณ์เปิดพื้นที่ให้เดวิดโชว์เสียงร้อง ก่อนกลับมาอัดใส่กันต่อ แล้วปิดท้ายด้วยท่อนจบสุดเท่

Is This Love” ขึ้นนำมาด้วยซาวนด์คีย์บอร์ดหนาๆ จากนั้นเป็นทางริทึ่มฟังโคตรป็อบ ที่ต่อมามันได้กลายเป็นทางดนตรีลายเซ็นของวงพญางูเผือกไป กับซาวนด์เพลงเบา กีตาร์เล่นไล่โน้ตในคอร์ดเสียงใสๆคู่ไปกับเสียงพรมคีย์บอร์ด เบสเดินคุมจังหวะด้วยโน้ตเขบ็จ 1 ชั้น เน้นเสียงสั้นๆติดลูกบอดนิดๆ ซึ่งหลายวงร็อกในบ้านเราได้อิทธิพลของซาวนด์เพลงนี้มาไม่น้อย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เพลง“พลังรัก” ของ หิน เหล็ก ไฟ

Is This Love ฟังผ่านเหมือนกับทางเพลงเดินไปเรียบๆ แต่ข้างในเพลงนั้นมีรายละเอียดอันชวนฟังสอดแทรกอยู่ ฟังแล้วมีสีสัน มีมิติ เสียงของเดวิดร้องแบบสบายๆ แต่เปี่ยมพลัง กีตาร์โซโลเล่นโน้ตง่าย แต่ฟังแล้วเท่เป็นบ้า เพลงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงฮิตอมตะขึ้นหิ้งของไวท์สเนค สามารถขึ้นไปถึงอันดับ 2 ในชาร์ตเพลงอเมริกา และอันดับ 9 ใน ชาร์ต เพลงอังกฤษ
สมาชิกวงไวท์สเนคในยุคเฮฟวี่แฮร์แบนด์เบ่งบาน
กลับมาร็อกจัดหนักกันต่อกับ “Children of the Night” ที่สุดมัน จากนั้นต่อกันด้วย “Straight for the Heart” เป็นร็อกมันๆ ทางกีตาร์สวย เมโลดี้ฟังติดหูดีทีเดียว ปิดท้ายกันด้วย “Don't Turn Away” อีกหนึ่งเพลงช้าที่มีสีสัน โดยเฉพาะท่อนขึ้นต้นนั้นฟังอลังการไม่เบา

9 เพลงในเวอร์ชั่นอเมริกาหมดไปแล้ว ขณะที่ในเวอร์ชั่นยุโรปนั้นมีทั้งหมด 11 เพลง และเรียงเพลงไม่เหมือนกัน โดย 2 เพลงที่เพิ่มมาได้แก่ “Looking for Love” ในแนวร็อกบัลลาดฟังออกเศร้า กับ “You're Gonna Break My Heart Again” เป็นเฮฟวี่มัน โจ๊ะ กีตาร์เจ๋ง เสียงร้องเยี่ยม

และนั่นก็เป็นผลงานคลาสสิคจากชุด “Whitesnake” ของวง “Whitesnake” ที่ถือเดวิดนั้นกำลังอยู่ในช่วงพีค เสียงร้องทรงพลัง โดดเด่นด้วยเสียงห้าว สำเนียงติดบลูส์ แต่ยามแหกปากขึ้นเสียงสูงลิบนั้นก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมเต็มเสียง ขณะที่ลีลาการแสดงสดบนเวทีนั้นก็ร้ายเหลือ ทั้งมาดการยืนร้องเท่ๆ หรือมาดการส่ายเลื้อยยังกับงูสมดังชื่อวง

ด้านฝีมือกีตาร์ของจอห์น ซีคส์ ก็สดขึ้นหม้อ เล่นได้สารพัดพิษครบเครื่อง ทั้งหนัก เบา ดุดัน เร็วบร๋อ หวือหวา รวมไปถึงเรื่องสำเนียง เทคนิค ทางเมโลดี้อันสวยงามเป็นเรื่องเป็นราวก็ทำได้เป็นอย่างดี

ว่ากันว่าถ้าจอห์นไม่โดนพิษชนิดหนึ่งเข้า หมอนี่มีสิทธิ์ขึ้นชั้นไปทาบบารมีแรนดี้ โร้ด(Randy Rhoad) ผู้ล่วงลับได้เลยทีเดียว ส่วนจะเป็นโรคอะไรนั้น โปรดอ่านย่อหน้าต่อไป

หลังจอห์นแจ้งเกิดกับอัลบั้มนี้แบบเต็มตัว ความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง ได้ทำให้หมอนี้เป็นโรคชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โรคอีโก้อัตตาสูงล้นหลงตัวเองระยับ เล่นกีตาร์ดังแล้วไม่พอ อยากเป็นนำร้องนำกับเขาด้วย

แล้ววันดีคืนดีหมอก็เกิดอาการพิษโรคอีโก้กำเริบ ขอถีบตัวเองออกมาตั้งวง “Blue Murder” วงดนตรี 3 ชิ้น กีตาร์ เบส กลอง โดยจอห์นรับหน้าที่ทั้งเป็นผู้นำวง เล่นกีตาร์ และร้องนำ ซึ่งนี่ถือเป็นวงดนตรีที่ฝีมือใช้ได้ทีเดียว เพียงแต่ว่ามันไม่ดังมากมาย จึงมีอัลบั้มออกมาแค่ 3 ชุด แล้วเงียบหายไป

ขณะที่วงไวท์สเนคหลังจากที่จอห์นสะบัดตูดเดินหนีจากวงไป เดวิดสร้างความฮือฮาด้วยการไปคว้า “สตีฟ วาย”(Steve Vai) สุดยอดมือกีตาร์ของโลกในยุคนั้นมาเป็นสมาชิกวงงูเผือก ออกอัลบั้ม “Slip of the Tongue”(1989) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มน่าสนใจของวงนี้ ขึ้นไปถึงอันดับ 10 ในชาร์ตบิลบอร์ดทอป 200

แต่สตีฟ วาย ก็มีช่วงเวลาที่อยู่กับไวท์สเนคไม่นาน เพราะหลังจากนั้นหมอก็ออกไปฉายเดี่ยว สร้างสรรค์ผลงานกีตาร์ในแนวจิตวิญญาณ ตามความต้องการของตัวเอง ส่วนเดวิดของก็ต้องควานหามือกีตาร์คนใหม่มาเสริมบารมีต่อไป ซึ่งหลังจากนี้วงพญางูเผือกเงียบหายไปจนใครๆหลายคนคิดว่ามันถูกจับไปถลกหนัง แล่เนื้อผัดเผ็ดแกล้มเหล้าขายเสียแล้ว

แต่ประทานโทษ!!! วงพญางูเผือกยังไม่ตาย พวกเขากลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม “Restless Heart” ในปี 1997 และก็หายหน้าไปอีกนาน ก่อนกลับมาอีกทีในปี 2008 กับอัลบั้ม “Good to Be Bad” และล่าสุดกับอัลบั้ม “Forevermore” ปี 2011 ที่พอช่วยให้แฟนเพลงหายคิดถึงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระแสดนตรีโลกจะผ่านพ้นยุครุ่งโรจน์ของดนตรีเฮฟวี่ เมทัล มาหลายปีแล้วก็ตาม แต่อัลบั้ม “Whitesnake” ที่ออกมาในปี 1987 นั้น มันไม่เพียงขายดิบขายดี ตัวอัลบั้มทำสถิติสูงสุดขึ้นไปถึงอันดับ 2 ในชาร์ตบิลบอร์ด สร้างทั้งชื่อเสียง เงินทอง และกล่อง ให้กับวงไวท์สเนคเท่านั้น หากแต่มันยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มคลาสสิคในระดับมาสเตอร์พีชเคียงคู่กับวงการเพลงร็อก อีกทั้งยังทำให้วงพญางูเผือกกลายเป็นหนึ่งในตำนานวงเมทัลร็อกชั้นนำมาจนถึงทุกวันนี้
****************************************

คลิกฟังเพลง Here I Go Again
****************************************

Whitesnake Discography

Trouble (1978)
Lovehunter (1979)
Ready an' Willing (1980)
Come an' Get It (1981)
Saints & Sinners (1982)
Slide It In (1984)
Whitesnake (1987)
Slip of the Tongue (1989)
Restless Heart (1997)
Good to Be Bad (2008)
Forevermore (2011)
*****************************************

หมายเหตุ : คอลัมน์เพลงวาน กลับมาอีกครั้ง โดยจะนำบทเพลงน่าสนใจย้อนยุค มานำเสนอสลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น