เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว มีหนังเกาหลีใต้เรื่องหนึ่งเข้าฉายในเมืองไทย …. ซึ่งอย่างที่หลายคนทราบกัน The Thieves เรื่องนี้คือหนังที่ครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดในเกาหลีใต้อยู่ในขณะนั่นเอง ถือว่าเป็นหนังที่ได้ชื่อว่า "ทำเงินสูงสุดในเกาหลี" เรื่องที่ 7 แล้วที่เราได้ดูกันในโรงภาพยนตร์ ตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่นึกว่าจะไม่ได้ดูในโรงกันแล้ว เพราะถูกโรคเลื่อนหลายรอบเหลือเกิน
ย้อนดู "หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล" ในเกาหลี
ย้อนหลังไปเมื่อ 14 ปีก่อน ในยุคที่หนังฮ่องกงม้วนเสื่อปิดฉากความรุ่งเรืองในเมืองไทยไปแล้ว มีหนังเกาหลีเรื่องหนึ่งเข้าฉายในบ้านเราแบบที่สร้างกระแสได้พอสมควร ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นคำว่า "ภาพยนตร์เกาหลีใต้" ดูจะไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคยกันเลย
Shiri (1999) งานแนวแอ็กชั่นที่ว่าด้วยเรื่องราวระหว่างเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้ ได้รับความสนใจจากแฟนหนังไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะหนังเกาหลีใต้ที่ตอนนั้นถือเป็นของแปลกสำหรับตลาดหนังเมืองไทยพอสมควร ทั้งในแง่เสียงวิจารณ์ที่ค่อนไปในทางบวก และเสียงแซวถึงหน้าตาของพระเอกที่หลายคนคิดว่าละม้ายไปในทาง "หม่ำ จ๊กม๊ก"
แต่สำหรับที่เกาหลีนี่เป็นงานที่สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังทำเงินสูงสุดในประเทศด้วยยอดผู้ชม 6,210,000 คนเลยทีเดียว จะเรียกว่าเป็นหนังเปิดยุคสมัยความรุ่งเรืองของหนังเกาหลีใต้ ที่ยังคงยืนยาวมาถึงปัจจุบันก็ว่าได้
ไม่ต้องรอกันนานอีกแค่ 2 ปีต่อมาหนังเกาหลีใต้ก็สร้างสถิติอีกครั้งกับ Friend หนังย้อนยุค เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนของ ควักคยองแทก ที่มีพระเอกผู้โด่งดังจากแวดวงโทรทัศน์ จางดองกัน (ที่ในตอนนั้นเราเรียกชื่อเขากันว่า แจดองกัน) มารับบทนำ และกวาดยอดขายตั๋วไปได้ 8,134,500 ใบ ทำลายสถิติเก่าร่วม 2 ล้านใบกันเลยทีเดียว
หลังจากนั้นเกาหลีก็แทบมีหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลใหม่ทุก ๆ ปี
2003 เป็น Silmido หนังเข้มข้นที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง กับการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีปาร์คจงฮี แห่งเกาหลีใต้ ที่ทั้งได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก และยังทำเงินมหาศาลกับตัวเลขขายตั๋วถึง 11,081,000 ใบ ถือว่าเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่ผ่านหลักไมล์ 10 ล้านได้สำเร็จด้วย
แต่สุดท้าย Silmido ก็ครองสถิติได้อยู่แค่ปีเดียวเมื่อในปี 2004 Taegukgi หนังสงครามที่พูดถึง เกาหลีเหนือ-ใต้ สร้างสถิติยอดคนดูสูงสุดใหม่อีกครั้ง ตั๋วหนังถูกจำหน่ายออกไปถึง 11,746,135 ใบ ด้วยฝีมือของ คังเจกยู จาก Shiri นั่นเอง และยังมี จางดองกัน รับบทนำ จึงถือเป็นหนังทำเงินสูงสุดของประเทศ เรื่องที่ 2 ของทั้งคู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีนักแสดงหนุ่มหน้าหล่อ วอนบิน เสริมทัพอีกคน
The King and the Clown ที่เข้าฉายในปี 2005 เป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้เรื่องต่อไป ด้วยยอดขายตั๋ว 12,302,831 ใบแถมยังสร้างปรากฏการณ์ชนิด "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรักร่วมเพศขององค์ชายยอนซัน กษัตริย์ที่อื้อฉาวที่สุดในราชวงศ์โชซ็อน
เห็นได้ว่าหนังส่วนใหญ่ที่ทำเงินสูงสุดในแต่ละช่วง จะเป็นงานประเภทที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ส่วนตัวของชาติเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นในยุคเก่าแก่ หรือประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ ๆ ที่ยังคงกระทบกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน แต่สำหรับหนังทำเงินสูงสุดเรื่องใหม่เมื่อปี 2006 กลับเป็นงานแนวสัตว์ประหวาดกินคน
The Host ของ บองจุนโฮ ที่ตอนนั้นยังไม่ได้โด่งดังเป็นขาใหญ่ของวงการอย่างทุกวันนี้ ทำยอดขายตั๋วไปได้ถึง 13,019,740 ใบ ด้วยเรื่องราวสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ไม่เหมือนใคร มีตัวละครเอกเป็นครอบครัวชาวเกาหลีใต้ปากกัดตีนถีบธรรมดา ๆ ที่พยายามต่อสู้กับสัตว์กลายพันธ์ยักษ์เพียงเพื่อช่วยเหลือลูกสาวที่ถูกจับตัวไป ซึ่งนอกจากความสนุกสนานน่าตื่นเต้นของเรื่องราว และเทคนิคพิเศษอันสมจริงแล้ว ลีลาการเล่าเรื่องแบบเสียดสีประชดประชัน ก็ทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษกว่าหนังสัตว์ประหลาดทั่ว ๆ ไป
เนื่องหน่วยงานด้านภาพยนตร์ของภาครัฐเกาหลี ที่เก็บตัวเลขรายได้ ยอดคนดู เลือกนับสถิติจาก "จำนวนตั๋ว" แทนที่จะเป็นรายได้ สถิติภาพยนตร์ทำเงินแต่ละยุคจึงครองแชมป์แบบค่อนข้างจะ "สง่างาม" ไม่ต้องมาวุ่นวายกับข้อถกเถียงเรื่อง "ราคาตั๋ว" หรือ "เงินเฟ้อ" แบบที่สหรัฐฯ ก็ยังเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ว่าสมควรให้ Avatar หรือ Gone with the wind เป็นหนังทำเงินสูงสุดดี
ที่แน่ ๆ จาก Shiri ถึง The Host ยังแสดงให้เห็นยอดคนดูสูงสุดที่เพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านต้น ๆ เป็น 13 ล้าน หรือกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว
หลังมีการทำลายสถิติกันแทบจะทุกปี คงไม่มีใครคิดว่า The Host จะครองตำแหน่งหนังเกาหลีใต้ที่ทำเงินสูงสุดอยู่ถึง 6 ปีเต็ม เป็น 6 ปีที่วงการหนังเกาหลีค่อนข้างซบเซา ถึงในแง่หนังคุณภาพจากผู้กำกับอย่าง คิมคีด็อก หรือ Big Three ผกก. แถวหน้าที่ทำหนังได้ทั้งเงิน และกล่องอย่าง บองจุนโฮ, คิมจีอุน และปาร์คชานวุก ยังสลับกันไปสร้างชื่อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศค่อนข้างซบเซาลงจริง ๆ
ผู้ทุบสถิติแห่งปี 2012: สนุกแต่ ธรรมด๊า, ธรรมดา
จนกระทั่งในปี 2012 นี่เอง ที่มีหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลเรื่องใหม่ The Thieves ของ ชอยดองฮุน เป็นหนังแนวโจรกรรมที่ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพกันชัด ๆ สั้น ๆ ก็คงต้องบอกว่าเป็น "Ocean's Eleven" ฉบับเกาหลี ที่หลังเข้าฉายไปได้ 70 วัน หนังก็สามารถผ่านยอดขายตั๋วไปได้ถึง 13,020,393 ใบ แซง The Host ที่ครองตำแหน่งมายาวนานได้สำเร็จ หากคิดเป็นตัวเงินก็สูงถึง 93,661 ล้านวอน (2,620 ล้านบาท) จากทุนสร้างเพียง 12,000 ล้านวอนเท่านั้น (335 ล้านบาท)
แตกต่างจากหนังทำเงินสูงสุดเรื่องก่อน ๆ ที่มักจะเป็นงานประเภทมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทาง สังคม, ประวัติศาสตร์ หรือการเมือง แต่ The Thieves แทบไม่มีอะไรซีเรียสจริงจังให้ต้องขบคิดกันมากนัก หนังเล่าเรื่องของกลุ่มโจรชาวเกาหลีใต้ ที่ตัดสินใจรับงานใหญ่ ขโมยโคตรเพชร "น้ำตาพระอาทิตย์" ที่กาสิโนแห่งหนึ่งในมาเก๊า โดยการนำของ "มาเก๊า ปาร์ค" ชายชาวเกาหลีใต้สุดยอดของวงการโจรกรรม ที่รวบรวมทั้งคนเก่าแก่ที่เคยรู้จัก และหน้าใหม่ในวงการมาทำภารกิจสำคัญร่วมกัน
ที่ว่าเป็นหนังแนวเดียวกับ Ocean's Eleven นั้นนอกจากจะว่าด้วยเรื่องราวการขโมยของล้ำค่าของทีมตัวละครกลุ่มใหญ่เหมือนกันแล้ว The Thieves ก็ยังเป็นหนังที่ขายพลังดาราเป็นจุดขายสำคัญด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนเกาหลีที่ติดตามผลงานของดาราทุกคนในหนังมาก่อน ก็คงจะสนุกกับหนังมากกว่าคนที่รู้จักนักแสดงในเรื่องแค่ 2 - 3 คนอย่างเราแน่นอน
ในบรรดาดารานำทั้งหมด คนไทยคงสนใจ "ยัยตัวร้าย" จอนจีฮยอน มากที่สุด กับบทสาวไต่ลวดผู้รับหน้าเสี่ยงตายเข้าไปขโมยเป้าหมายต่าง ๆ เป็นบทประเภทที่เปิดโอกาสให้ดาราวัย 30 ปี ที่เราแทบจะได้ดูหนังทุกเรื่องของเธอ ได้โชว์ความเซ็กซีของรูปร่างและเรือนกายกันเต็มที่ แต่บทบาทก็ไม่ได้มีอะไรให้จดจำมากนัก
หนังยังมี อีจุงแจ อดีตคู่ขวัญของ จอนจีฮยอน จาก Il Mare หนังรักโรแมนติกเรื่องแรก ๆ จากเกาหลีที่เราได้ดูกันในโรง มาแสดงเป็น "ป๊อปอาย" จอมแสบประจำกลุ่ม ส่วนสาวเซ็กซีวัย 42 คิมเฮซู เป็น "เป๊ปซี" นักสะเดาะกุญแจที่เพิ่งได้รับอิสรภาพหลังติดคุกอยู่หลายปี และมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งทั้งรักทั้งแค้นอยู่กับตา มาเก๊า ปาร์ค ปาร์ค
หนังยังมีตัวละครประเภท หนุ่มน้อยที่หลงรักเพื่อนร่วมทีม, สาวใหญ่ผู้มองหาโอกาศลงหลักปักฐาน, ลูกครึ่งจีน-เกาหลีจอมโวยวาย, โจรชาวจีนผู้มากประสบการณ์ กับคู่หูสาวสวยทายาทของนักเจาะเซฟคนดังของวงการ โดยดาวเด่นที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องก็คือ หัวหน้าทีมผู้กุมความลับเอาไว้มากมาย มาเก๊า ปาร์ค ที่แสดงโดย "คิมยอนซุก" ดาราวัย 45 ปีที่เพิ่งมาดังเอาตอนแก่ กับหนังแนวอาชญากรรมของ นาฮองจิน ทั้ง The Chaser และ The Yellow Sea เป็นดาราชายที่ถือพุ่งขึ้นมาอยู่แถวหน้าในช่วง 3 - 4 ปีนี่เลย
โดยส่วนตัวผมคิดว่า The Thieves อาจจะดูธรรมดาไปสักหน่อย เมื่อเทียบกับหนังที่ทำลายสถิติรายได้สูงสุดตลอดกาลของเกาหลีเรื่องอื่น ๆ หนังก็ทำออกมาได้สนุกตื่นเต้นดี มีมุขตลกแทรกเป็นระยะ (ฉบับพากย์ไทยก็คงต้องให้เครดิตไปที่ทีมพากย์พันธมิตรด้วยเหมือนเดิม) แต่เรื่องราวก็ไม่ได้ชาญฉลาดเฉียบคมจนน่าทึ่งหรืออย่างไร ความยาว 2 ชั่วโมง 15 นาทียังดูยืด ๆ เกินไปนิดหน่อยด้วยซ้ำ เรียกว่าช่วงท้ายต้องลุ้นกันอยู่หลายรอบว่าเมื่อไหร่หนังจะจบลงซะที
ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่สมบูรณ์พร้อมแต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ The Thieves ทำงานในบ้านเกิดได้มากมายขนาดนั้นนะครับ หนังมีคุณสมบัติทางการตลาดค่อนข้างจะครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นหนังที่ใช้สูตรสำเร็จต่าง ๆ ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ
สถานการณ์หนังเกาหลีในเมืองไทย: เมื่อความหวานเป็นพิษ
The Thieves สามารถสร้างประวัติศาสตร์กับการฉายที่บ้านเกิดได้สำเร็จ แต่สำหรับเมืองไทย สถานการณ์ของหนังกลับไม่ค่อยสู้ดีนัก หลังถูกวางโปรแกรมฉายไว้ตั้งแต่ปี 2012 แต่กลับโดนเลื่อนฉายหลายรอบ กว่าได้ลงโรงจริงก็ต้องรอกันถึงเมื่อต้นปี 2013 นี่เลย
ซึ่งจะว่าไปสภาพของ The Thieves ในการฉายเมืองไทย ก็พอจะสะท้อนสถานการณ์ของหนังเกาหลีใต้ในเมืองไทย ณ ขณะนี้ได้อยู่เหมือนกัน ที่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างจะนิ่งสนิท ไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไหร่
หนังเกาหลีใต้เริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อนหนังดังรุ่นแรก ๆ ที่ได้เข้าฉายในบ้านเราก็คือพวก Shiri กับหนังกำลังภายใน Bichunmoo ที่ถือเป็นหนังเกาหลีชุดแรกที่คนไทยเริ่มได้ดูกัน แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากนักในตอนนั้น เพราะหลาย ๆ คนรู้สึกว่ายังไม่ค่อยมีอะไรต่างจากหนังฮ่องกงเท่าไหร่นัก จากที่ก่อนหน้านั้นมีหนังสัตว์ประหลาดเกาหลีสไตล์ ก็อตซิล่า Yonggary ของ ชิมฮยองเร เข้าฉาย แต่ก็ไม่รู้จะเรียกหนังเกาหลีได้รึเปล่า เพราะหนังปี 1999 เรื่องนี้ใช้นักแสดงต่างชาติ และพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก
ส่วนตลาดวีซีดีตอนนั้นก็มีหนังเกาหลีแนวสยองขวัญชวนแหวะอย่าง 301, 302 (1995) ที่สร้างความฮือฮาได้พอสมควร แต่ก็ถูกพูดถึงในวงจำกัดเท่านั้น
ที่สร้างกระแสได้จริง ๆ กลับเป็นหนังรักโรแมนติกเสียมากกว่า ถ้าจำไม่ผิดเป็น Il Mare (2000) ที่เป็นหนังหวาน ๆ จากเกาหลีใต้ที่ได้เข้าโรงฉายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเรื่องแรก หลังจากก่อนหน้านั้น Christmas In August ได้เข้าฉายสร้างกระแสแบบฮิตเงียบ ๆ ในเทศกาลหนังมาก่อน
จนกระทั่งการมาถึง My Sassy Girl (2001) ที่ทางเครือ นนทนันท์ เป็นผู้นำเข้ามาฉาย และฮิตระเบิดในหมู่วัยรุ่นมีคนตีตั๋วเข้าไปดูซ้ำกันหลายรอบ ทั้งตัวนางเอกที่ตอนนั้นเรียกชื่อเธอกันว่า "จวนจีฮุน" และชื่อไทยประเภท "ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม" ก็กลายเป็นสัญลักษณ์คู่กันหนังเกาหลีมาจนถึงปัจจุบันเลย
ด้วยแรกหนุนของหนังรักไม่ว่าจะหวานหยด หรือตลกโรแมนติกให้ได้อมยิ้ม ที่บรรดาผู้จัดจำหน่ายซื้อเข้ามาฉาย ผสมกับธุรกิจ "วีซีดีไรท์ซับไทย" ที่เฟื่องขึ้นมาในช่วงนั้นพอดี หนังรักเกาหลีประเภท เล่าเรื่องเชื่องช้า, ภาพสวยโรแมนติก, ใบปิดสวยงาม และนางเอกน่ารัก จึงกลายเป็นของฮิตในหมู่วัยรุ่นไปโดยปริยาย
หลังจากนั้นกระแสของหนังเกาหลีก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ทั้งในบ้านเรา และบ้านเค้า ซึ่งในบางช่วงอาจโดดเด่นเป็นพิเศษ บางช่วงก็เงียบ ๆ หาย ๆ ไป จะมีเมื่อซัก 5 - 6 ปีก่อนที่ถือว่าตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา จนปีที่แล้วสามารถตั้งหลักได้อย่างสวยงาม ทำเงินกินส่วนแบ่งเกิน 50% ในประเทศเหนือหนังฮอลลีวูดได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
แต่สำหรับในเมืองไทยอนาคตของหนังเกาหลีใต้กลับไม่ค่อยสดใสนัก แตกต่างจากวงการเพลงที่ตอนนี้สามารถเข้าไปครองใจวัยรุ่นไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนซีรีส์อาจจะไม่หวือหวาแต่ก็มีที่ทางของตัวเองตามสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ค่อนข้างจะมั่นคง
ตรงกันข้ามกับ "ภาพยนตร์เกาหลี" ที่แทบจะ "หมดอนาคต" สำหรับการเข้าฉายโรงแบบวงกว้างในเมืองไทยไปแล้ว หนังฟอร์มใหญ่หลาย ๆ เรื่องทำได้เพียงออกแผ่น DVD ขณะที่ตลอดปี 2012 มีหนังเกาหลีใต้แทบนับเรื่องได้ที่เข้าฉายในแบบวงกว้าง รวมถึงหนังสุดดังแห่งปีอย่าง The Thieves ที่กว่าจะได้เข้าโรงในเมืองไทย ก็ออกแผ่นขายในบ้านเค้าแล้ว
อันที่จริงแล้วหนังเกาหลีใต้ยังมีคุณภาพดีน่าพึงพอใจเหมือนเดิม แต่หนังเกาหลีกลับมีปัญหาในบางจุดที่ไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาจจะเป็นการขาดจุดขาย "พิเศษ" ในแบบที่ หนังจีนมีเรื่องราวของ กำลังภายใน หรือชื่อดาราประเภท "เฉินหลง", "โจวซิงฉือ" ที่คนยังพอให้ความสนใจกัน เช่นเดียวกับหนังญี่ปุ่นก็ยังมีท่าไม้ตายประเภทหนังที่สร้างจากการ์ตูนที่พอจะผลักดันให้เข้าโรงฉายได้บ้าง
ส่วนหนังเกาหลีคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับไปยึดติดอยู่แต่กับภาพความหวาน แทบจะสถาปนากรุงโซลให้เป็นดินแดนแห่งความโรแมนติกไปแล้ว ความสำเร็จของหนังรักโรแมนติก ที่เคยช่วยแจ้งเกิดให้หนังเกาหลีในยุคแรก ก็กลับมาทำร้ายให้ภาพจำของคนไทยต่อหนังแดนกิมจิวนเวียนอยู่กับความซ้ำซากเดิม ๆ และไม่เปิดรับหนังเกาหลีแนวอื่น ๆ ไปโดยปริยาย
ถือเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เหมือนกันที่ลำพัง "คุณภาพในทางภาพยนตร์" กลับไม่สามารถทำให้หนัง เกาหลี เอาตัวรอดในเมืองไทยได้ ในกลุ่มแฟนพันธ์แท้บันเทิงกิมจิ หรือกลุ่มนักดูหนังมืออาชีพ "หนังเกาหลี" อาจยังได้รับความสนใจอยู่บ้าง มีแผ่นดีวีดีให้ได้ซื้อหากันเรื่อย ๆ
แต่จะพูดถึงตลาดหนังกระแสหลัก, การเข้าโรงฉายแบบวงกว้าง, สร้างปรากฏการณ์รายได้ในเมืองไทยให้ได้ฮือฮากัน ต้องบอกว่าไม่มีอนาคตเลยจริง ๆ
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม