xs
xsm
sm
md
lg

ตะแง้วตัวแม่“ลุลา” มาด้วยเคมีเพลงเข้มข้น...แต่เจือสารปนเปื้อน/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกหน้าอัลบั้ม Spring
แม้น้ำเสียงและลีลาการร้องเพลงของ “ลุลา : กันยารัตน์ ติยะพรไชย” หรือ “ตุ๊กตา”(ชื่อเล่นจริงๆของเธอ) จะมีทั้งคนชื่นชอบและคนไม่ชอบ เพราะเสียงของเธองุ้งงิ้งได้โล่ จัดเป็นตะแง้วตัวแม่แห่งวงการเพลง แต่เธอถือเป็นนักร้องคุณภาพคนหนึ่งของวงการเพลงบ้านเรา ที่มีสไตล์ มีเอกลักษณ์ มีลีลาการร้อง มีน้ำเสียงที่ชัดเจน ฟังแล้วเดาไม่ยากว่า เสียงร้องงุ้งงิ้ง ตะแง้ว แบบนี้ ต้องลุลาแหงมๆ

ล่าสุดลุลาพาน้ำเสียงตะแง้วๆของเธอมาโลดแล่นในวงการเพลงอีกครั้งกับอัลบั้มใหม่ “Spring” ภายใต้ค่าย“สนามหลวง มิวสิก” ในเครือ “จี เอ็ม เอ็ม แกรมมี่” โดยมี“โตน โซฟา” โปรดิวเซอร์คู่บุญมาเป็นโปรดิวซ์ให้เหมือนเดิม ร่วมด้วยทีมนักดนตรแบ๊คอัพฝีมือดี

Spring เป็นสตูดิโออัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ของลุลา โดยก่อนหน้านั้นเธอมีอัลบั้มแรกคือ “Urban Lullaby”(2551) และ “Twist”(2553)

สำหรับอัลบั้มนี้มีทั้งหมด 14 เพลง เป็นเพลงใหม่ 10 เพลง และเพลงพิเศษ(Bonus Track) 4 เพลง ในแพกเกจอัลบั้มที่ดีไซน์มาเป็นอย่างดี มีภาพสวยๆของลุลาเป็นเล่มเล็กๆจัดใส่มา ด้วยแนวคิดภาพแฟนตาซีเกินจริง นำเสนอภาพความน่ารักของลุลา ซึ่งช่างภาพเก่งมากที่ถ่ายภาพของลุลาออกมาได้หน้าไม่บานดูสวยเกินจริงตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้
ปกหลังอัลบั้ม Spring
Spring เปิดตัวด้วย “ฤดูความรักผลิ”(Spring) ซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้ม บทเพลงขายที่มาในแนวสดใสน่ารัก เป็นบอสซ่าใสๆ เจือปนกลิ่นอายญี่ปุ่น ท่วงทำนองฟังติดหูง่าย มีเสียงคีย์บอร์ดไลน์เครื่องสายเล่นคลอคลุมอุ้มตัวเพลงไปตลอด พร้อมเปิดพื้นที่ให้ลุลาโชว์ลีลาเสียงตะแง้วๆอันโดดเด่นเป็นลายเซ็นของเธอ

เนื้อเพลงนี้มุ่งถ่ายทอดเรื่องราวความรักเมื่อครั้งผ่านมาที่สอนให้เราเติบโตขึ้น เป็นเหมือนการบอกแนวทางอันเด่นชัดของบทเพลงลุลาในอัลบั้มนี้ ที่มีพัฒนาการที่เติบโตขึ้น

ต่อกันด้วย “ฉันจะกอด” ดีกรีเพลงเร่งเร้าขึ้น ในอารมณ์และจังหวะที่สนุกสนาน ร่าเริง ภาคดนตรีในเพลงนี้มันมาก เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจัดเต็มใส่กันมาในไลน์อันแตกต่างของตัวเอง แต่กลับผสมสูตรเคมีออกมาได้อย่างลงตัว กลมกลืน มีสีสัน และฟังสดมาก รับกับเสียงร้องของลุลาที่มีความใสน่ารักเป็นธรรมชาติ

เนื้อเพลง ฉันจะกอด มุ่งนำเสนอการเฝ้ารอใครสักคนที่คิดว่าใช่หรือเฝ้ารอรักแท้แบบไม่กลัวหมู่บ้านคานทองนิเวศน์ถามหา มีเนื้อร้องในท่อนที่น่าฟังและชวนให้ขบคิดร้องว่า “อนาคตจะเป็นอย่างไร ขอให้วันนี้เราเชื่อว่า การรอคอยใครสักคนหนึ่งที่ใช่ แล้วสักวันหนึ่งเราจะพบกัน แต่เมื่อเราได้เจอเค้าแล้ว เราสัญญาว่าจะดูแลและเก็บกอดเค้าไว้ให้ดีที่สุด ไม่ปล่อยให้ไปไหน”

แทรคที่สามเป็นเพลง “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” (Possible) ดึงอารมณ์มาเคลิบเคลิ้มกับบัลลาด หวาน ช้า โดยมีแขกรับเชิญ คือ “ซิน Singular” มาร่วมฟีเจอริ่ง นับเป็นอีกหนึ่งเพลงขายของอัลบั้ม และเป็นบทเพลงที่พยายามจะแสดงให้เห็นถึงการทลายค่ายเพลง เพราะซินนั้นเป็นนักร้องต่างค่าย คล้ายๆกับการบอกว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งยามที่ผมดู MV ทั้งคู่ร้องเพลงร่วมกัน ประทานโทษ!!! งานนี้ผมแยกไม่ออกว่าใครสวยกว่ากัน

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ขึ้นนำมาด้วยเสียงเปียโนหวานพลิ้ว ลุลาร้องนำมา ก่อนรับเสียงต่อด้วยซิน แล้วร่วมกันร้องคู่กันไป ท่ามกลางดนตรีที่ค่อยๆเพิ่มดีกรีความเข้มข้นขึ้น ในช่วงท้ายเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองโชว์น้ำเสียงกันพอปริ่มๆแต่ไม่ถึงกับล้น

เนื้อเพลงนี้แม้มุ่งนำเสนอเรื่องราวความรักเป็นหลัก แต่ในเนื้อหาลึกๆมีเนื้อหาดีๆชวนให้คิดตามว่าถ้าเราเชื่อมั่นในเรื่องเดียวกัน สิ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

นะ นะ นะ” เพลงใสๆ น่ารัก เน้นซาวนด์อีเลคโทรนิคเป็นหลัก และใช้ลูปกลองโปรแกรมมิ่ง มีซาวนด์อีเลคโทรนิคคอยตอด คอยหยอดอยู่ตลอด พร้อมเปิดพื้นที่ให้ลุลาโชว์น้ำเสียงน่ารัก นะ นะ นะ อยู่ตลอดเพลง ซึ่งเพลงนี้ฟังแล้วจะพบว่าลุลาได้ปรับโหมดการร้องเป็นแกรมมี่สไตล์อย่างชัดเจน

ถัดมาเป็น “ถ้าเชื่อแล้วสบายใจ” บทเพลงอกหัก เน้นเสียงในแบบอะคูสติก มีทั้งพาร์ทช้าเศร้า และพาร์ทที่ดนตรีจังหวะปานกลางเร่งอารมณ์ขึ้นมาหน่อย นี่เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ลุลาร้องเพลงในโหมดแกรมมี่สไตล์

เธอเสียใจหรือเปล่า” กลับมาสู่ลีลาการร้องในแบบลุลากับอะคูสติกป็อบกลิ่นอายญี่ปุ่น ในบทเพลงช้าๆ มีคีย์บอร์ดลากเสียงเครื่องสายเพิ่มมิติให้กับตัวเพลง

เพลงต่อมา “สเปค” บทเพลงสนุก ฟังสดใส ร่าเริง ในแนวสวีดิช ป็อบ มีซาวนด์ซินธ์เด่นเป็นพิเศษ เนื้อเพลงออกแนวน่ารัก พูดถึงสเปคชายในฝัน ที่เธอร้องบอกว่ามี “แค่นิดเดียว” แต่ประทานโทษ ลิสต์สสเปคที่ร้องออกมายาวเหยียดเป็นหางว่าว

มองเธอจากมุมไกลๆ” บทเพลงช้าเศร้า เน้นซาวนด์ซินธ์ล่องลอยตามสมัยนิยม(ของเมืองนอก)

กระชากอารมณ์กลับมาสนุกกับ “เปิด”(Open) มีกลิ่นของโมเดิร์นร็อกผสมอยู่กับซาวนด์กีตาร์แตกๆ ซึ่งสำหรับลุลาแล้วนี่ถือเป็นเพลงที่ฟังหนักสำหรับเธอ แต่ก็ฟังฉีกแนวลุลาได้ดีพอสมควร ขณะที่เนื้อหานั้นพูดถึงการเปิดใจทั้งเรื่องความรัก และเรื่องชีวิต ที่หากเปิดใจแล้วเราจะได้พบกับโลกที่กว้างใหญ่ขึ้น อ้อ เพลงนี้มีการร้องผ่านเอฟเฟคในลูกถนัดของแกรมมี่ด้วย

มาถึงเพลงสุดท้าย “หัวใจวันเก่า” เป็นอะคูสติกเหงาๆ ฟังลอยๆ เนื้อหารำลึกถึงความสุขกับสิ่งเล็กๆน้อยๆในคืนวันเก่าๆ ซึ่งลุลาปรับโหมดมาร้องในแบบแกรมมี่สไตล์อีกครั้ง

10 เพลงใหม่ผ่านไป อัลบั้มนี้ยังมีอีก 4 เพลงพิเศษเป็นโบนัสแทรคกับเพลงประกอบภาพยนตร์ คือ “รักประกาศิต”(Ost. รักประกาศิต), “มองได้แต่อย่าชอบ”(Ost. ATM เออรัก..เออเร่อ), “สักมุมบนโลกใบนี้”(Ost. แม่แตงร่มใบ) และ รักปาฏิหาริย์ (Ost. รักปาฏิหาริย์) ทั้ง 4 เพลงถือเป็นเพลงเพราะ เพลงดังที่ฟังเพลินอยู่เสมอ

และนั่นก็เป็นบทเพลงทั้งหมดของลุลาในอัลบั้มชุดใหม่ Spring ซึ่งชุดนี้แม้ความเป็นลุลายังคงเด่นชัด แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพัฒนาในตัวงานเพลงให้ฟังกันอย่างชัดเจน นั่นก็คือส่วนผสมของเคมีในเพลงที่ฟังเข้มข้นขึ้น โดยในภาคเนื้อร้องแม้ยังคงมุ่งในเรื่องราวความรักเป็นหลัก แต่ก็มีการพูดถึงความรักในมิติที่หลากหลายขึ้น บางเพลงมีเนื้อหาสอนใจฟังลึกไปกว่าบทเพลงรักทั่วๆไป

ขณะที่ภาคดนตรีนั้น งานเพลงชุดนี้ได้ลดทอนความเป็นบอสซ่าซึ่งเป็นจุดขายของลุลา(ลุลาได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่บอสซ่าคนหนึ่งของเมืองไทย) มานำเสนอเป็นเพลงขายในเพลงแรกแค่เพลงเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นการมุ่งนำเสนอดนตรีที่เข้มข้นและหลากหลายขึ้นทั้ง แนวเพลงป็อบแบบญี่ปุ่น สวีดิชป็อบ อะคูสติกลอยๆ ซาวนด์อิเลคโทรนิค ซาวนด์แบบโมเดิร์นร็อก รวมถึงทางของเพลงแจ๊ซที่ผสมเจืออยู่ในบางเพลง

สำหรับอัลบั้มนี้หากจะสรุปให้ชัดๆก็คือ แม้ภาพของลุลายังคงดูสดใส น่ารัก ตามน้ำเสียงตะแง้วๆของเธอ แต่โดยรวมแล้วมีความเป็นผู้ใหญ่กว่า 2 ชุดที่ผ่านมา เป็นงานเพลงที่เข้มข้นขึ้น ซับซ้อนขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้น มีความเป็นเพลงตลาดน้อยลง แต่กระนั้นก็ยังคงไว้ซึ่งความไพเราะน่าฟัง และฟังไม่เนิบเนือยชวนง่วงเหมือนชุดที่แล้ว

อย่างไรก็ดีสำหรับผมแล้ว แม้งานเพลงชุดนี้จะมีเคมีของเพลงที่ลงตัวเข้มข้นขึ้น แต่งานเพลงชุดนี้มันก็มีสิ่งเจือปนที่ฟังแล้วน่าเสียดายไม่น้อย นั่นก็คือแบบแผนในการร้องเพลงแบบแกรมมี่สไตล์ที่ไปปรากฏอย่างชัดเจนในบางเพลง และมันได้ทำให้จุดเด่นในการร้องเพลงแบบลุลาสไตล์ฟังด้อยลงไป

ที่สำคัญคือมันทำให้ลุลาที่เคยร้องเพลงไทยในเสียงภาษาไทยได้ดีได้ชัด(กว่านี้)ในชุดแรก(Urban Lullaby) ต้องดัดเสียงให้มากขึ้นเพื่อให้เข้าทางแกรมมี่กับแนวเพลงไทยในสำเนียงฝรั่ง จาก“เธอ” เป็น “เชอ”, รักเธอ เป็น “ร้ากเชอ”, ใจ เป็น “ไช”, รู้ เป็น “รู้ว์”, ฉัน เป็น “ฉันส์”

สำหรับสิ่งเหล่านี้ผมถือเป็นสิ่งปนเปื้อนในงานเพลงชุดนี้ของลุลา ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี กี่ปี แกรมมี่ก็ไม่เคยพัฒนาขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น