เทียบกับหนังหลายๆ เรื่องของจีทีเอช “เคาท์ดาวน์” อาจจะไม่ใช่หนังทำเงินได้มากเท่าไหร่ แต่นั่นจะเป็นปัญหาอะไร เมื่อความจริงปรากฏออกมาแล้วว่า หนังไทยที่เก็บรายได้เข้ากระเป๋าเป็นอันดับหนึ่งก็คือหนังของจีทีเอช เรื่อง ATM เออรักเออเร่อ ซึ่งทำเงินไปถึง 152 ล้านบาท!! ทั้งที่ว่ากันตามจริง หนังเรื่องดังกล่าว จีทีเอชวางไว้ให้เป็นคล้ายๆ หนังฉายแถมส่งท้ายปี 2554 แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะน้ำท่วม ทำให้หนังเลื่อนมาฉายในต้นปีนี้ ซึ่งก็น่าคิดว่า ถ้าลงโรงฉายในกรอบเวลาเดิม จะทำเงินได้ถึงเพียงนี้หรือเปล่า สำหรับ ATM เออรักเออเร่อ
แม้จะเป็นค่ายที่ถูกใจมหาชน แต่ปีหนึ่งๆ จีทีเอชกลับทำหนังไม่เท่าจำนวนนิ้วบนมือข้างเดียว แต่ละเรื่องก็เรียกได้ว่า อยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางบ็อกซ์ออฟฟิศประจำปี เพราะนอกจาก ATM เออรักเออเร่อ ที่เข้าวินเป็นอันดับหนึ่งหนังทำเงินแห่งปี จีทีเอชยังมีหนังฉลองการก่อตั้งค่ายอย่าง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ตามมาเป็นอันดับสองในตารางของหนังทำเงิน ด้วยรายได้ 66 ล้านบาท
ดังนั้น เชื่อว่า ต่อให้ “เคาท์ดาวน์” จะไม่ได้มี “เคาท์” ตัวเลขไปได้สูงเทียบเท่ากับหนังจีทีเอชสองเรื่องที่ผ่านมา แต่ความจริง น่าจะกลับกลายเป็นว่า นี่คือหนังที่ “เจ๋ง” ที่สุดแห่งปีของจีทีเอช ATM เออรักเออเร่อ นั้นก็ดูตลกอารมณ์ดีสไตล์จีทีเอชที่ผ่านมาซึ่งไม่มีอะไรหลงเหลือในสมองให้จดจำ ส่วน “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ที่ประกอบด้วยหนังสั้นสามเรื่อง ก็ส่งผลให้ในแง่ของคุณภาพลดหลั่นไม่เท่าเทียมกัน มีเรื่องที่ดีและเรื่องที่ด้อยผสมปนกันไป ขณะที่ “เคาท์ดาวน์” ดูจะกลมกล่อมลงตัวและผ่านการคิดมาอย่างเป็นระบบ
“เคาท์ดาวน์” เป็นหนังยาวที่ต่อยอดมาจากหนังสั้นของคนทำหนังหน้าใหม่อย่าง “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ซึ่งทำหนังสั้นเรื่องนี้อยู่เมืองนอก ก่อนที่จีทีเอชจะเห็นแววแล้วเกิดการเรียกตัวให้มาเมืองไทย พร้อมขยับขยายหนังสั้นให้เป็นหนังยาวเรื่องนี้
ดูจากมวลสารองค์ประกอบ “เคาท์ดาวน์” นั้น แม้ว่าเหมาะจะเป็นหนังสั้นมากกว่าหนังยาว เพราะ “จุดเกิดเหตุ” ที่มาของสถานการณ์ทั้งหมดในเรื่อง อยู่แค่เพียงในห้องเช่าห้องหนึ่งกลางกรุงนิวยอร์ก แต่ก็อย่างที่ผมจะบอกว่า ผู้กำกับคนนี้ (ที่เขียนบทเอง) เขาเก่งและมีกึ๋นเอาการ เนื่องจากว่า ถึงแม้สถานการณ์ของหนังจะอยู่ในห้องแคบๆ เหมือนกับพวก Interior Film (หนังที่เล่นกับพื้นที่จำกัด) ทั่วไป แต่เขากลับทำให้เรารู้สึกว่า ระยะเวลาชั่วโมงกว่าๆ มันไม่น่าเบื่อเลย
นั่นหมายความว่า ความสามารถในการคิดสถานการณ์ให้เคลื่อนไหวไปข้างหน้า ต้องมีความน่าติดตามพอสมควร และผู้กำกับก็ทำได้ หนังเริ่มต้นฉากแรกๆ พร้อมเปิดตัวละครตัวแรกตรงจุดสารภาพบาปที่โบถส์แห่งหนึ่งย่านนิวยอร์ก แน่นอนว่า การเปิดฉากแรกด้วยโบสถ์และหลวงพ่อ พร้อมบทสนทนาสั้นๆ ที่เอ่ยถึงการสารภาพบาป มันก็เหมือนกับการเล่นกับองค์ประกอบภาพอย่างอื่นๆ ของหนัง อย่างเช่น ป้ายกระดาษของคนขอทานซึ่งมีคำว่า “The End is Near” ปรากฏอยู่ รวมไปจนถึงตัวเลขนับถอยหลัง, ตัวเลข ปี ค.ศ., รายการข่าวหายนะทางทีวี ฯลฯ เหล่านี้ ถือเป็นองค์ประกอบที่สุดท้ายแล้ว มันมีความเกี่ยวพันและส่งเสริมให้เราสัมผัสถึงพลังด้านเนื้อหาของหนังได้ดียิ่งขึ้น
ในวันสุดท้ายปลายปี “บี-แพม และ แจ๊ค” สามวัยรุ่นไทยในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ลงความเห็นกันว่าจะจัดปาร์ตี้ฉลองกันให้สุดเหวี่ยง พวกเขาจึงโทรเรียก “เฮซุส” ซึ่งเป็นดีลเลอร์ส่งยา มา “ส่งของ” ที่ห้องของพวกเขา ด้วยหวังว่า มันจะเป็นสุดยอดความหรรษาในราตรีแห่งการเคาท์ดาวน์
ความสนุกสุดเหวี่ยงนั้นเกิดขึ้นแน่นอนครับ เราจะเห็นภาพของพีค-ภัทรศยา (แพม) พีช-พชร (แจ๊ค) และ เต้ย-จรินทร์พร (บี) พี้ยากันเฮฮาปาร์ตี้ หนังเล่นกับเทคนิคด้านภาพของจุดนี้ได้อย่างพอเหมาะพอควรกับบางช็อตที่เล่นกับภาพ บางครั้งวูบวาบ เหวี่ยงและไหว บางคราพร่าเบลอ อันสะท้อนให้เห็นถึงโลกของคนเมายา นักแสดงทั้งสามคนนั้น ถือว่าสอบผ่านในบทบาทนี้ อย่างไรก็ดี คนที่ถ้าไม่พูดถึง คงเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ ก็คือ เฮซุส
“เดวิด อัศวนนท์” นักแสดงหนุ่มที่หายหน้าหายตาไปจากวงการราวครึ่งทศวรรษ เขากลับมาอีกครั้งกับบท “เฮซุส” (ที่แจ๊คเรียกว่า “จีซัส” เพราะตัวสะกดเขียนว่า Jesus) นอกจากบทบาทการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการอันก้าวหน้าอย่างเต็มที่ หลังจากไปเรียนการแสดงมาหลายปี บท “เฮซุส” ของเขา ทั้งดูมีความ “จิต” และมีนัยยะให้ขบคิดในหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นก็คือ คำสะกดชื่อของเขา ดูไปพ้องกับพระนามเรียกขานพระเยซูเจ้าโดยตรง และมันก็คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน ที่ผู้กำกับเลือกจะใช้คำๆ นี้กับตัวละครตัวนี้ เพราะเมื่อดูจากพฤติการณ์โดยรวมของเฮซุส มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า เขากำลัง “เล่นบทบาท” ของอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า
ผมเซอร์ไพรส์กับบทของเดวิด พอๆ กับที่เคยรู้สึกเหนือความคาดหมายในบทของ “แฟรงก์ เดอะ สตาร์” (ภคชนก์ โวอ่อนศรี) กับการเล่นเป็น “โอวตี๋” ในเรื่อง “อันธพาล” สองคนนี้คู่คี่สูสีในด้านการแสดง และมีโอกาสเข้าชิงรางวัลทั้งคู่ เพียงแต่อาจจะแยกสาย (คนหนึ่งแสดงนำ อีกคนสมทบ) ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าดีใจและทำให้ตัดสินได้ง่าย เมื่อเทียบกับว่าถ้าชิงในสายเดียวกัน กรรมการคงจะปวดหัวพอดู
ในความเป็นหนังเขย่าขวัญ “เคาท์ดาวน์” ถือว่าตอบโจทย์ในปริมาณกำลังดี ผมคิดว่าจีทีเอชเองก็คงวางระนาบไว้ระดับหนึ่งว่าความโหดความระทึกควรจะมากน้อยเพียงใดเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายตลาดของตัวเอง โดยส่วนตัวผมที่ดูหนังแนวมาพอสมควร ผมก็อาจจะรู้สึกว่ามันยังทำได้กว่านี้อีก แต่เท่าที่สังเกตคนดูซึ่งตีตั๋วรอบเดียวกับผม ก็ส่งเสียงกรี๊ดวี้ดว้ายกันเป็นระยะๆ (ส่วนใหญ่เป็นเสียงผู้หญิง) กระนั้นก็ดี ผมว่าหนังเรื่องนี้เขียนบทได้ดี มีพัฒนาการเยี่ยมยอดในการดึงดูดคนดูให้เดินไปข้างหน้าด้วยกันกับตัวเรื่อง
และที่สำคัญ ก็คือ มันเป็นหนังที่เหมาะกับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เข้าฉายถูกที่ถูกเวลา ในส่วนของประเด็นเนื้อหา นอกจากจะสอดแทรกอารมณ์เย้ยหยันเหน็บแนมทั้งมนุษย์และสังคมได้อย่างแสบทรวง (เช่น ตอนที่เฮซุสพลิกหนังสือพิมพ์มาอ่านข่าวในเมืองไทย) ในเชิงโครงสร้างใหญ่ “เคาท์ดาวน์” ก็ได้พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำถึงความหมายของวันเวลาและคุณค่าของการมีชีวิต การ “เคาท์ดาวน์” มีความหมายอย่างไร ปีเก่าปีใหม่สำคัญตรงไหน แน่นอนว่า มันคงไม่ใช่แค่ห้วงยามแห่งการได้ปาร์ตี้ หรือเปลี่ยนที่สังสรรค์กินเหล้าแล้วก็จบกัน อย่างแน่นอน
น่าเสียดายนะครับ ถ้าหนังเรื่องนี้จะมีคนดูน้อย เพราะพูดกันตามตรง มันเป็นหนังที่ดีมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ พูดง่ายๆ ว่า ดูสนุกและไม่กลวงเปล่าจากเนื้อหาสาระ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า ถ้าจีทีเอชลงทุนโปรโมทให้ดังๆ ไปเลยว่า “งานนี้ พีช พชร โชว์ก้นผ่องๆ เต็มๆ ตา” คนอาจจะแห่ไปดูก้น...เอ๊ย ไปดูกันมากขึ้น ก็เป็นได้ ใช่หรือเปล่า? (ฮา)....
……………………………………………………………………………
หลังออกจากโรงหนัง เด็กสาวคนหนึ่งก็รีบอัพสเตตัสด้วยความรู้สึกร้อนอกร้อนใจ
“น.ว่า การที่เฮซุสไปเอากัญชามาปุ๊นกันแบบนั้น มันเท่ากับเป็นการทำลายโลกนะคะ แล้วพวกเจ้าของไร่กัญชานั่นก็ด้วย ปลูกเค้าแล้วก็ไปตัดเค้าทิ้ง การตัดต้นไม้มันเป็นบาปนะคะ น.พูดจากใจที่รักโลกห่วงใยโลกจริงๆ ค่ะ” ^_^