ตำนานแห่งวงการดนตรีอินเดีย "รวี แชงการ์" เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ด้วยวัย 92 ปี หลังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้เสียงดนตรีของอินเดีย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ รวี แชงการ์ ยืนยันการสิ้นลมลงของเขา ที่ ซานดิอาโก ใกล้กับบ้านที่ เซาท์เธิร์น แคลิฟอร์เนีย หลังจากก่อนหน้านี้เขาป่วยมีไข้หวัด และอาการทางหัวใจ หลังเข้ารับการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยนายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงห์ ยังออกมากล่าวแสดงความเสียใจ และเรียก แชงการ์ ว่าเป็น "สมบัติของชาติ"
นักดนตรีวัย 92 ปี เคยได้รับการยกย่องจาก จอร์จ แฮร์ริสัน แห่งวง The Beatles ว่าเป็น "ก็อดฟาเธอร์ของเวิร์ลด์มิวสิค" จากบทบาทที่ทำให้ดนตรีอินเดียได้รับความสนใจในระดับนานาชาติขึ้นมาตั้งแต่ยุค 60s โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมในคอนเสิร์ตเพื่อบังคลาเทศเมื่อปี 1971 และสำหรับคนรุ่นหลังอาจจะรู้จัก แชงการ์ ในฐานะบิดาของนักร้องหญิงคนดัง นอราห์ โจนส์ ด้วย
โดย รวี แชงการ์ เพิ่งจะมีโอกาสขึ้นแสดงครั้งสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการแสดงร่วมกันลูกสาว อนุชกา แชงการ์ เพื่อฉลองที่เขามีชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีอีกครั้ง หลังจากคว้ามาแล้วหลายรางวัลตลอดหลายปีของการทำงาน
จากเด็กหนุ่มที่เกิดในเมืองพาราณสีเมื่อปี 1920 แชงการ์ เริ่มต้นชีวิตการแสดงด้วยการร่วมกับกลุ่มเต้นรำของพี่ชาย อุเดย์ แชงการ์ และออกแสดงทั้งในอินเดีย และต่างประเทศ
จนกระทั่งในปี 1938 เขาตัดสินใจหันหลังให้กับการเต้นรำ เพื่อศึกษาการเล่นซีตาร์ โดยได้รับการอบรมจากนักดนตรีชั้นนำ อลูดิน ข่าน จนศึกษาจบในปี 1944 จึงเริ่มต้นงานในฐานะนักประพันธ์ และมีส่วนสร้างสรรค์ดนตรีในภาพยนตร์อมตะเรื่อง The Apu Trilogy ของ สัตยาจิต เรย์ นอกจากนั้นยังเป็นผู้กำกับดนตรีให้กับสถานีวิทยุออลอินเดียเรดิโอ ในนิวเดลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ถึง 1956 ตลอดช่วงระยะเวลาของการทำงานในประเทศเขาแต่งเพลงให้กับหนังหลายเรื่อง ใช้เครื่องดนตรีต่างประเทศมาปรับใช้กับดนตรีอินเดีย และยังเริ่มต้นเขียนเพลงสำหรับวงออร์เคสตราด้วย
"ข่าน บอกกันผมว่าให้ทิ้งทุกอย่าง เพื่อทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด" แชงการ์ กล่าวถึงคำสอนของครูที่ทำให้เขาทุ่มเทให้กับการเล่นดนตรีจนประสบความสำเร็จยาวนานหลายสิบปี
กลางช่วงปี 1950s นั่นเอง แชงการ์ เริ่มมีโอกาสร่วมงานกับนักดนตรีจากต่างชาติ โดยเฉพาะนักไวโอลิน เยฮูดิ เมนูฮิน และตำนานแจ๊ซ จอห์น โคลเทรน จนได้รับความสนใจจากแวดวงดนตรีโลก ได้มีโอกาสขึ้นแสดงทั้งที่ยุโรป และสหรัฐฯ แม้เขาเองจะยอมรับว่าชาวต่างชาติในช่วงนั้น ไม่ค่อยจะเข้าใจดนตรีของอินเดียก็ตาม "ผู้ชมชาวสหรัฐฯ ก็ต้อนรับดีนะครับ แต่ส่วนใหญ่จะงงงวยมากกว่า" เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time เมื่อปี 1957
จนกระทั่ง แชงการ์ ได้ทำความรู้จักกับ แฮร์ริสัน สมาชิกของสี่เต่าทอง ชื่อของเขาจึงโด่งดังขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงปี 1960s
ในตอนแรกมือกีตาร์ของ The Beatles เริ่มสนใจเครื่องสายของอินเดียที่เรียกว่าซีตาร์ และนำมาปรับใช้เพื่อบรรเลงในเพลงของวงโดยเฉพาะ Norwegian Wood อันโด่งดัง จนกระทั่งต่อมาเขาได้พบกับ แชงการ์ จึงมีโอกาสเรียนรู้การเล่นซีตาร์อย่างถูกต้องจากกูรูชาวอินเดีย
ทั้งสองฝึกซ้อมดนตรีด้วยกันหลายสัปดาห์ ทั้งที่บ้านของ แฮร์ริสัน ในอังกฤษ, ที่แคชเมียร์ และแคลิฟอร์เนีย จนกระทั่ง แฮร์ริสัน มั่นใจในการเล่นซีตาร์ของตัวเอง จึงนำไปบันทึกเสียงในเพลง Within You Without You ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band งานระดับตำนานอีกชุดของ The Beatles จนทำให้เสียงดนตรีแบบอินเดียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และรวี แชงการ์ ก็ได้รับความสนใจไปด้วย
หลังจากนั้นเขายังมีโอกาสขึ้นแสดงที่งานสำคัญ ๆ ทั้ง Monterey Pop Festival และแสดงวันแรกของมหกรรมดนตรีครั้งประวัติศาสตร์ Woodstock อย่างไรก็ตามแม้วงการดนตรีโลกจะต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น แชงการ์ ยอมรับว่าตนเองค่อนข้างจะรู้สึกต่อต้าน และรับไม่ได้กับวัฒนธรรมฮิปปี้ที่เต็มไปด้วยการต่อต้านสังคม และยาเสพติดของวงการดนตรีตะวันตกอยู่ไม่น้อย
"ผมช็อคเลยที่เห็นผู้คนแต่งตัวกันแบบนั้น เมายากันไปหมด สำหรับผมนี่เป็นโลกใหม่เลย" แชงการ์ กล่าวกับ Rolling Stone หลังร่วมเล่นดนตรีกับ โอติส เรดดิง ในเทศกาล Monterey ที่เขายอมรับว่าตกใจกับภาพรอบ ๆ ตัวโดยเฉพาะเมื่อ จิมมี เฮนดริกซ์ เผากีตาร์ตัวเองบนเวทีคอนเสิร์ต "สำหรับผมมันมากเกินไป ในวัฒนธรรมของเราจะให้ความเคารพเครื่องดนตรีกันมาก เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า"
ในปี 1971 แชงการ์ เริ่มมีบทบาทอื่น ๆ นอกจากในด้านดนตรี เขามีโอกาสเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวบังคลาเทศ ที่หลบหนีภัยสงครามกันเข้ามาในอินเดีย แชงการ์ ได้ร้องขอความช่วยเหลือจาก แฮร์ริสัน ว่าจะสามารถทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้บ้าง จนต่อมาเกิดคอนเสิร์ตการกุศลขึ้นที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เดน มีทั้ง อิริค แคลปตัน, บ็อบ ดีเลน และ ริงโก สตาร์ มาร่วมแสดงดนตรีกัน การแสดงในวันนั้นยังถูกบันทึกเสียงไปขายเป็นอัลบั้ม รวมถึงถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดี สามารถหาเงินให้กับ UNICEF ได้หลายล้านเหรียญฯ และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคอนเสิร์ตร็อคเพื่อการกุศล ถือว่าเป็นต้นแบบของ 1985 Live Aid ที่เป็นการแสดงเพื่อหาเงินช่วยเหลือประชาชนในเอธิโอเปีย หรือ 2010 Hope For Haiti Now การแสดงหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติ
นอกจากความโดดเด่นด้านดนตรีแล้ว ชีวิตส่วนตัวของ แชงการ์ ก็เป็นที่พูดถึงไม่น้อยเช่นเดียกวัน ในปี 1941 ขณะที่เขาอายุ 21 ปี แชงการ์ ได้แต่งงานกับ อันนาพูร์นา เดวี ลูกสาวของ อลูดิน คาห์น อาจารย์ของตัวเอง แต่สุดท้ายชีวิตแต่งงานก็ต้องลงเอยด้วยการหย่า นอกจากนั้นเขายังมีสัมพันธ์กับ คาลามา สาส์ตรี นักเต้นชื่อดังอยู่หลายสิบปี รวมถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากมายตลอดยุค 1970s
ผู้หญิงของ แชงการ์ ก็รวมถึง ซู โจนส์ โปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตชาวนิวยอร์ก ที่ความสัมพันธ์ระหว่างปี 1981 - 1986 ของทั้งคู่มีพยานรักออกมาเป็นนักร้องสาว นอราห์ โจนส์ ผู้โด่งดังในเวลาต่อมา, สุกันญา ราจาร นักเล่นตันปูระ (เครื่องดนตรีอินเดียอีกประเภท) ที่ร่วมงานกันในคอนเสิร์ต ก็เป็นผู้หญิงอีกคนของยอดนักดนตรีชาวอินเดีย ซึ่งทั้งคู่ยังมีลูกสาวด้วยกันคือ อนุชกา แชงการ์ ที่ลืมตาดูโลกหลัง โจนส์ 2 ปี
นอราห์ โจนส์ กับ แชงการ์ ไม่มีโอกาสพบหน้ากันนานหลายปีตั้งแต่เธอเป็นเด็ก จนกระทั่งได้ติดต่อกันบ้าง เมื่อลูกสาวโตขึ้นมาแล้ว พร้อมข่าวลือที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวคู่นี้ไม่ค่อยจะดีนัก แทบไม่มีการพูดถึงกัน หรือถ่ายภาพด้วยกัน ถึงขั้นที่เคยมีข่าวว่าผู้สร้างหนังรายหนึ่งพยายามหยิบเรื่องราวของทั้งคู่ไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ซึ่งตัวของ โจนส์ ก็แสดงความเสียใจ พร้อมยืนยันว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องส่วนตัวของเธอ ไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่า นอราห์ โจนส์ ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยม แชงการ์ ที่นิวเดลี และยังนำเหตุการณ์ความรู้สึกครั้งนั้นมาเขียนเป็นเพลงในงานชุด The Fall ด้วย
แต่สำหรับลูกสาวอีกที่เกิดจากความสัมพันธ์นอกสมรสเหมือนกัน ทุกอย่างกลับลงเอยด้วยดีมากกว่า เพราะเมื่อแยกทางกับคู่รักคนก่อน แชงการ์ ตัดสินใจแต่งงานกับ สุกันญา ราจาร ในปี 1989 และฝึกฝน อนุชกา ขึ้นมาจนกลายเป็นนักซีตาร์ฝีมือดี ซึ่งในช่วงหลายปีหลังก่อนเสียชีวิต การขึ้นแสดงคอนเสิร์ตส่วนใหญ่ของ แชงการ์ ก็จะเป็นการร่วมบรรเลงดนตรีกับลูกสาวนั่นเอง
ถึงตอนนี้ลูกสาวทั้ง 2 คนของ แชงการ์ กลายเป็นศิลปินหญิงที่มีชื่อและได้รับการยกย่อง นอราห์ โจนส์ คว้ารางวัลแกรมมีได้ถึง 5 สาขาเมื่อปี 2003 ส่วน อนุชกา เองก็เคยมีชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีมาแล้ว เป็นการตามรอยความสำเร็จของ รวิ แชงการ์ ผู้เป็นเจ้าของ 3 รางวัลแกรมมี, ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จากการร่วมทำดนตรีประกอบหนัง Gandhi และอัลบั้มชุดล่าสุดของเขา The Living Room Sessions, Part 1 ก็มีชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีครั้งล่าสุด ในสาขาอัลบั้มเพลงเวิร์ลด์มิวสิคยอดเยี่ยมด้วย
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม