xs
xsm
sm
md
lg

“สแลช” เฮฟวี่กลิ่นกุหลาบ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
สแลชยอดมือกีตาร์ อดีตสมาชิกกันส์ แอนด์ โรสเซส
กันส์ แอนด์ โรสเซส”(Guns N’ Roses) ยอดวงดนตรีร็อกแห่งยุค 80’s-90’s วงนี้เปลี่ยนสมาชิกเป็นว่าเล่นไม่ต่างอะไรกับทารกเปลี่ยนแพมเพิส

ปัจจัยหลักที่ทำให้เหล่าสมาชิก โดยเฉพาะสมาชิกในยุครุ่งโรจน์แยกย้ายไม่ยอมอยู่ร่วมวงกับพี่ “แอ็กเซิล โรส”(Axl Rose) นักร้องนำผู้นำวง ก็เห็นจะเป็น “อีโก้”ของพี่แอ็กเซิลที่มีมากล้นจนทะลักรูกาก แต่กระนั้นหมอก็ยังสามารถประคับประคองวงให้คงอยู่พร้อมกับปล่อยอัลบั้มล่าสุด “Chinese Democracy” ออกมาในปี ค.ศ. 2008

สำหรับสมาชิกวงคนดังเบอร์สองอย่าง “สแลช”(Slash) ยอดมือกีตาร์ผู้มีแนวทางและสำเนียงเฉพาะตัว รวมถึงมีทรงผมหยิกหยอยยุ่งเหยิงเป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่ยามโซโลไม่กลัวเส้นผมไปพันกับเส้นสายกีตาร์ หลังสวมคอนเวิร์สเดินทางใครทางมันออกมาจาก Guns N’ Roses เขาได้ร่วมกับอดีตสมาชิก Guns N’ Roses และเพื่อนนักดนตรีร็อก ฟอร์มทีม “Slash's Snakepit” และวง
“Velvet Revolver” มีอัลบั้มออกมาชื่อละ 2 ชุด

จากนั้น Slash หันมาขอเดี่ยวด้วยคน ส่งอัลบั้มในชื่อเจ้าตัวคือ “Slash” ออกมาในปี ค.ศ. 2010 ที่ได้ร็อกเกอร์ยอดฝีมือมาร่วมกันอย่างคับคั่ง อาทิ Ozzy Osborne, Iggy Pop,Chris Cornell, M. Shadows รวมถึง “ไมล์ส เคนเนดี้” (Myles Kennedy) นักร้องนำแห่งวงอัลเทอร์ บริดจ์ (Alter Bridge)

ไมล์สแม้มาร่วมร้องในอัลบั้ม Slash แค่เพลงเดียว แต่หมอได้รับเลือกให้เป็นนักร้องนำหลักในการออกทัวร์ ร่วมกับเหล่าผู้ก่อการคือ วง“เดอะ คอนสปิเรเตอร์ส”(The Conspirators)

ด้วยฝีมือและความเข้าขา สแลชจึงผนึกกำลังกับไมล์สและวงเดอะ คอนสปิเรเตอร์สทำงานร่วมกัน เกิดเป็นผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ล่าสุดของสแลชคือ “Apocalyptic Love”(2012) โดยไมล์สรับหน้าที่เขียนเนื้อเพลงทั้งหมด ส่วนภาคดนตรีเขาทำงานร่วมกันสแลช
ปกอัลบั้ม Apocalyptic Love
Apocalyptic Love มีทั้งหมด 13 เพลง เปิดตัวกันด้วย “Apocalyptic Love” ฮาร์ดร็อกมันๆ เปิดพื้นที่ให้สแลชวาดฝีไม้ลายมือบนเส้นลวด 6 สายอย่างเต็มที่ ทั้งริฟฟ์ดุๆ กระชากคอร์ด โดยเฉพาะลูกโซโลติดเอฟเฟค วาห์ วาห์ นี่มันสุดติ่งเลยพี่น้อง

ต่อกันด้วย “One Last Thrill” ร็อกแอนด์โรลหนักๆ มันไม่มีเม้ม มันต่อกับแทรค 3,4 ในอารมณ์เฮฟวี่ยุคปลาย 80’s กับ “Standing In The Sun” และ “You're A Lie”

มาถึงตอนนี้ ฟังน้ำเสียงและลีลาการร้องของพี่ไมล์สแล้วชวนให้นึกถึงแอ็กเซิล โรส ชะมัด ขณะที่ภาคดนตรีก็ในบางเพลงบางท่อนฟังแล้วก็เผลอคิดไปถึง กันส์ แอนด์ โรสเซส ไม่ได้

มาถึง “No More Heroes” เพลงนี้พี่สแลชหัวหยิกหยอยโชว์ลีลาการเล่นกีตาร์ที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็เป็นไปตามสไตล์ของเขาคือเน้นสำเนียง เมโลดี้สวยงาม ไม่ได้เน้นรวดเร็วปานรถด่วนขบวนนรกเหมือนพวกมือกีตาร์แนวนีโอคลาสสิค

“Halo” เฮฟวี่มันๆ พี่ไมล์สแหกปากร้องเสียงสูงลิบ แหมน้ำเสียงแกหนักแน่นดุดันดีแท้ เข้ากับดนตรีหนักและลีลาการกระแทกคอร์ดของมือกีตาร์หัวหยิกไม่น้อยเลย

เพลงเดินมาถึงทางโค้งในช่วงครึ่งหลัง ที่เริ่มเผยให้เห็นความแตกต่างจากครึ่งแรกที่ออกแนวฮาร์ดร็อก เฮฟวี่ และติดกลิ่นกุหลาบกับความเป็น กันส์ แอนด์ โรสเซส ทั้งทางดนตรีและเสียงร้อง
โดย “We Will Roam” มาในกลิ่นอายอัลเทอร์เนทีฟบางๆ

ส่วน “Anastasia” อะคูสติกกีตาร์เล่นพลิ้วๆนำมา ต่อด้วยกีตาร์ไฟฟ้าเล่นอเปกจีโอที่ตัวโน้ตชัดเป๊ะ แต่ฟังเกร็งๆไปหน่อยเพราะไม่ใช่ทางถนัดของพี่สแลช ก่อนจะส่งต่อด้วยลูกริฟฟ์หนักๆ แน่นดุดันมันสะใจ ช่วงโซโลท่อนกลางสแลชโซโลนำด้วยลูกอเปกจีโอโน้ตเดียวกับที่เล่นในท่อนเปิด แล้วจึงโยนเข้าสู่ลูกโซโลในสไตล์ถนัดของตัวเอง เพลงนี้แม้จะยาวกว่า 6 นาที แต่ด้วยการเรียบเรียงที่ดี การต่อระหว่างท่อนอย่างเนียนรื่นทำให้ฟังมันสะใจและรื่นไหลดีเป็นบ้า
สแลชกับลีลาการโซโลกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์
ลดโทนมาช้าๆหน่วงหนืดกับ “Not For Me” ที่ฉีกหนีจากเพลงอื่นๆ เพราะฟังลอยๆและให้อารมณ์ไปทางวงอัลเทอร์ บริดจ์

“Bad Rain” มาทางเฮฟวี่โจ๊ะๆมันๆ ไลน์กีตาร์ที่เล่นริฟฟ์คุมไปตลอดนั้นแน่หนักดุดัน

“Hard And Fast” จัดเต็มใส่มาทั้งสปีดที่เร็วและความหนักมัน พร้อมๆกันนี้ยังใส่กลิ่นกุหลาบแบบกันส์ แอนด์ โรสเซส

“Far And Away” บัดลาดช้าๆ เหงาเศร้า มีลีลาไม่โหล แต่ก็ไม่ป็อบ น้ำเสียงของพี่ไมล์สในเพลงนี้ไม่มีกลิ่นกุหลาบเข้ามาเจือปนอย่างในหลายเพลง ขณะที่ไลน์กีตาร์ของพี่หัวหยิกไม่หวือหวาแต่เน้นสำเนียงตามสไตล์ถนัดของเขา โดยเฉพาะกับลูกโซโลกับโน้ตเสียงดิบๆ เมโลดี้สวย ฟังหวานเศร้าถึงอารมณ์

กระชากอารมณ์กลับมาแบบฉับพลันกับ “Shots Fired” เพลงสุดมันทิ้งทวนกันในแทรคสุดท้ายอย่างสะใจ ส่วนใครที่ซื้อในแบบ Deluxe Version ก็จะมีโบนัสแทรค 2 เพลงแถมให้ฟัง นั่นก็คือ “Carolina” ที่มีการใช้เทคนิคเล่นกีตาร์ผ่าน Talk Box เป็นตัวชูโรง กับ “Crazy Life” ร็อกมันๆซึ่งเป็นอีกหนึ่งเพลงที่ฟังลีลาการร้องของพี่ไมล์สแล้วชวนให้อดนึกถึงป๋าแอ็กเซิลไม่ได้

และนั่นก็เป็นเพลงทั้งหมดใน Apocalyptic Love ที่เน้นไปที่ความเป็นฮาร์ดร็อกและเฮฟวี่เมลทัลยุคปลาย 80’s ต่อต้น 90’s อัลบั้มนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผลงานเดี่ยวของมือกีตาร์คือสแลช แต่ภาคกีตาร์ในอัลบั้มนี้จัดอยู่ในประเภท ฟังเด่นแต่ไม่โดด เพราะสแลชไม่ได้เน้นโชว์กีตาร์อย่างเดียวหากแต่เน้นความเป็นวงมากกว่า

ขณะที่เสียงร้องของ ไมล์ส เคนเนดี้ นั้น เรื่องน้ำเสียงหายห่วง คือเป็นคนมีเสียงหนักแน่น สูงลิบ และสามารถแหกปากร้องเพลงได้มันสะใจเหมาะกับทางเพลงแนวนี้ อย่างไรก็ดีไมล์สก็มีจุดด้อยของการร้องเพลงในอัลบั้มนี้ให้ครหากัน นั่นก็คือเรื่องของน้ำเสียงและลีลาการร้องที่กระเดียดไปในทางแอ็กเซิล โรส

นั่นจึงทำให้หลายๆเพลงในอัลบั้มนี้มีกลิ่นดินปืนและกลิ่นกุหลาบในแบบ กันส์ แอนด์ โรสเซส เจือปนทั้งไลน์กีตาร์ภาคดนตรี และเสียงร้อง ซึ่งใครที่ชอบเพลงฮาร์ดร็อกและเฮฟวี่เมลทัลย้อนยุค โดยเฉพาะชื่นชอบในซาวนด์แบบ กันส์ แอนด์ โรสเซส นั้น อัลบั้มนี้มีให้ฟังกันอย่างจุใจ
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : The Palace Revisited

อัลบั้มรวมเพลงเต้นรำอมตะจากยุค 80 จัดทำโดย Warner Music นำชื่ออัลบั้มมาจาก “The Palace” ดิสโก้เธคชื่อดังในระดับตำนานของเมืองไทย ที่ทุกวันนี้ยังถูกกล่าวขานถึง อัลบั้มนี้เป็นการคัดเพลงเต้นรำที่เคยเปิดใน The Palace มานำเสนอ ในแพกเกจ 2 ซีดี 36 เพลง(ซีดีละ 18 เพลง) ประกอบด้วยเพลงเต้นรำระดับตำนาน อาทิ “Tarzan Boy”(Baltimora), “Agadoo”(Black Lace), “Hands Up”(Ottawan), “La bamba”(Los Lobo), “Love in the First Degree”(Bananarama), “The Tide is Hight”(Blondie) ใครที่เป็นขอเพลงแด๊นซ์ลองฟังเปรียบเทียบดูว่าเพลงแด๊นซ์ในยุคทองกับยุคปัจจุบันมีเสน่ห์แตกต่างกันอย่างไร
*****************************************

คอนเสิร์ต

คอนเสิร์ตเปิดฤดูกาลที่ 8

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ภายใต้การดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ต้อนรับฤดูกาลใหม่ด้วย 2 บทเพลงของคตีกวีชาวรัสเซีย Peter I. Tchaikovsky โดยมี Gudni A. Emilsson หัวหน้าวาทยกรประจำวงมากำกับเพลง Symphony No.6 in B Minor, Op. 74 “Pathétique” และอีกหนึ่งบทเพลง Violin Concerto in D Major, Op. 35 เพลงที่เต็มไปด้วยด้วยเทคนิคการเล่นที่ซับซ้อน ซึ่งได้ Aiman Mussakhajayeva นักไวโอลินชาวคาซัคสถานมาเป็นโซโลอิสท์ถ่ายทอดบทเพลงดังกล่าว

คอนเสิร์ตนี้จะจัดแสดงขึ้น ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2555 เวลา 16.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com
กำลังโหลดความคิดเห็น