Facebook...teelao1979@hotmail.com
อันที่จริง ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอายุครบหนึ่งทศวรรษตั้งแต่วันที่ 11 ที่ผ่านมา แต่ผมตั้งใจปล่อยเวลาให้ผ่านไปอีกหน่อยเพื่อให้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาสำคัญอันเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ นั่นก็คือ ช่วงออกพรรษาที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน และริมฝั่งแม่น้ำโขงจะคับคั่งด้วยผู้คนซึ่งดั้นด้นเดินทางไปดู “บั้งไฟพญานาค”
แม้จะเคยเขียนบทให้ยงยุทธ ทองกองทุน ได้กำกับ “สตรีเหล็ก” แต่ 15 ค่ำ เดือน 11 นับเป็นผลงานการกำกับหนังอย่างเต็มตัวเรื่องแรกของคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล ผู้ที่กลายมาเป็นหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวตนของค่ายหนังยอดนิยมอย่างจีทีเอชในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ในบทบาทแห่งการเป็นคนทำหนัง เก้ง-จิระ มะลิกุล คือผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือดีคนหนึ่งซึ่งไม่เคยทำให้คนดูหนังผิดหวังแต่อย่างใด
เมื่อเร็วๆ นี้ เก้ง-จิระ มะลิกุล ร่วมกำกับหนังสั้นหนึ่งตอนในโปรเจคต์ผลงานที่เป็นฉลองครบรอบ 7 ปีการก่อตั้งค่ายจีทีเอช อย่าง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” แม้จะรามือไปจากการทำหนังพอสมควร แต่ฝีไม้ลายมือกลับไม่ตก ยิ่งกว่านั้น ยังดูคล้ายว่าชั้นเชิงในการนำเสนอจะแยบยลยิ่งขึ้น แน่นอน โดยส่วนตัว ผมก็ยังรู้สึกว่า ตอน “42.195” ซึ่งกำกับโดยจิระ มะลิกุล นั้น ดูมีความลงตัวมากที่สุดในบรรดาหนังทั้งสามตอน
แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อมองย้อนกลับไปและจับเปรียบเทียบเคียงกับงานยุคก่อนของผู้กำกับคนนี้ ผมก็ยังมีความคิดเหมือนเดิมว่า ผมชอบงานยุคแรกของคุณเก้ง-จิระ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น “มหา’ลัยเหมืองแร่” ที่สร้างมาจากบทประพันธ์ของนักเขียนชั้นครูอย่างครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ถึงแม้ต้นฉบับจะยาวหลายร้อยหน้า แต่โดยเนื้อหาแก่นสารแล้ว ถือว่าคุณเก้ง-จิระ นำเสนอและถ่ายทอดออกมาอย่างสัมผัสได้ถึงน้ำเนื้อแห่งชีวิตของตัวละครที่โลดแล่นอยู่ท่ามกลางเหมืองแร่และงานหนัก
และถ้านั่นยังไม่ชัดเจนเพียงพอต่อการพิสูจน์ฝีมือในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะจะว่าไป ความดีของหนังอย่างมหา’ลัยเหมืองแร่ ก็ต้องยอมรับว่าวัตถุดิบคืองานประพันธ์นั้นยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เมื่อมาทำเป็นหนัง และทำได้ถึง มันก็ดีไปโดยปริยาย ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผมคิดว่าผลงานอย่าง “15 ค่ำ เดือน 11” น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดในศักยภาพของคุณเก้ง-จิระ มะลิกุล เพราะนี่เป็นการคิดเรื่องขึ้นมาเองใหม่หมด
จำได้ว่า ตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายในปี 2545 หนังทำเงินไปประมาณ 50 กว่าล้านบาทซึ่งก็ถือว่ามากแล้วในยุคนั้นอันเป็นยุคที่ประเทศชาติเพิ่งหงายเงิบเพราะวิกฤติต้มยำกุ้งฟองสบู่แตกมาไม่นาน ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของกระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังเป็นไปอย่างกว้างขวางเพราะประเด็นเนื้อหาของหนังที่นำเสนอเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” ความกล้าของหนังที่พยายามพาคนดูไปสืบค้นลงลึกถึงขั้นที่ว่า เอาเข้าจริง บั้งไฟพญานาค อาจไม่ใช่แค่ความเชื่อลมๆ แล้งๆ อย่างที่คิด เพราะความจริง มันมีกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อของประชาชนนี้ด้วย ส่งผลให้หลายคนรับไม่ได้และส่งเสียงต่อต้านรุนแรง บางคนหนักกว่านั้นคือไม่ยอมดูหนังด้วยซ้ำ (แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์หนังได้อย่างมันปาก) และก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่ชื่นชมและบอกว่ามีความสุขอีกทั้งยังได้พลังชีวิตหลังจากดูหนังเรื่องนี้
จะว่าไป นี่เป็นการ “เปรียบมวย” ที่มีเดิมพันสูงมาก เหมือนการเอาลูกประคำไปวางคู่กับไอแพด ฟากหนึ่งนั้นคือการเล่นกับความคิดความเชื่อของผู้คนด้วยการตั้งคำถามถึง “ความมีอยู่จริง” ของบั้งไฟพญานาคตามสูตรคิดแบบวิทยาศาสตร์ ส่วนอีกฟากก็ให้น้ำหนักกับความเชื่อความศรัทธาของผู้คน ซึ่งนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ “คู่ขัดแย้ง” แบบวิทยาศาสตร์ต้องมาฟาดปากกับความเชื่อแบบโบร่ำโบราณ ไม่ใช่พระเอกกับผู้ร้ายไล่ล่าฆ่าล้างกันในแบบที่คุ้นเคย “บักคาน” เด็กหนุ่มซึ่งเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งของเรื่อง จึงอาจไม่ใช่แค่ “ความหวังรุ่นต่อไป” ที่หลวงตาโล่ชุบเลี้ยงไว้ด้วยปรารถนาให้เป็นผู้สืบทอดสายธารแห่งศรัทธา หากแต่เขายังต้องเป็น “คาน” เพื่อที่จะ “งัด” กับความคิดความอ่านสมัยใหม่ที่กำลังรุกคืบเข้ามายังชายคาแห่งความเชื่อเดิมๆ ด้วย
ท่ามกลางสายธารแห่งประชาชนที่หลั่งไหลสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในช่วงวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 พาเราไต่ไปบนเส้นเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับตัวละครสองสามกลุ่ม หนึ่งคือพระภิกษุทางฝั่งลาวกับลูกศิษย์ลูกหาที่พยายามสืบสานวัตรปฏิบัติอันมีมาแต่โบราณกาลเพื่อให้คนหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา ด้วยการดำลงไปในความลึกของแม่น้ำโขงเพื่อนำลูกไฟซึ่งตนทำขึ้นไปวางและจุดในวันที่ประชาชนรอคอย ส่วนอีกกลุ่มคือพวกนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับบั้งไฟนี้ว่ามีต้นตอที่มาอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็อธิบายด้วยเหตุผลความเป็นไปได้ตามสูตรความรู้สมัยใหม่
ความยอดเยี่ยมอันน่ายกย่องของงานชิ้นนี้ คือการที่ผู้สร้างผู้กำกับ “ทำการบ้าน” มาดีมาก รายละเอียดต่างๆ ในหนัง ผ่านการค้นคว้ามาอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิชาการ รวมไปจนถึงวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อของชาวบ้านหลายต่อหลายอย่างที่ดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในสายตานักวิชาการหรือแม้แต่ลูกหลานรุ่นใหม่ของชาวบ้านเอง สิ่งนี้ถูกขับเน้นออกมาผ่านการกระทำของคุณป้าในเรื่องซึ่งทำอะไรแต่ละอย่างช่างดู “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาซะเลย” แต่นั่นแหละคือ “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน” ซึ่งหนังก็พยายามส่งเสียงบอกว่ามันมีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าตำรับตำราความรู้แบบวิทยาศาสตร์
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือบทหนังซึ่งเล่นกับความคิดของผู้คนได้อย่างอยู่หมัด และปล่อยให้ความคิดสองขั้วฟัดเหวี่ยงกันอย่างได้รสชาติ โดยที่แทบไม่รู้สึกว่าผู้สร้างมีใจเอนเอียงให้ข้างใดข้างหนึ่ง คนที่ไม่ได้ดูเพราะคิดว่าหนังเรื่องนี้จะมาทำร้ายทำลายสิ่งดีงามในความเชื่อของผู้คน ย่อมไม่มีวันได้รู้ว่า หนังนั้นมาพร้อมกับบทสรุปจบที่งดงามประทับใจและเปี่ยมสุขเพียงใด นอกจากไม่ได้มีท่าทีที่จะหยามหมิ่นในศรัทธาแห่งสาธุชนแม้เพียงเล็กน้อยแล้ว หนังยังชื่นชมและสักการะในศรัทธานั้นอย่างหมดหัวใจ...
วันเวลาผ่านมาครบสิบปีเต็มแล้ว แต่เชื่อได้ว่า ผลงานชิ้นนี้จะยังคงถูกกล่าวถึงตลอดไป ไม่มีวันเลือนหายจากความทรงจำของผู้คน ถ้ามีการจัดอันดับหนังไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลสัก 10 เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” ก็สมควรติดอยู่ในลิสต์นี้ด้วย คุณเก้ง-จิระ มะลิกุล ที่ทำหนังเรื่องนี้สำเร็จหนึ่งเรื่อง ก็น่าจะกล่าวได้ว่าสามารถ “ตายอย่างมีความสุข” ได้แล้ว
15 ค่ำ เดือน 11 มีวาทะเด็ด “เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ” เป็นเสมือนแก่นสารหลักที่นำทางคนดูให้รู้สึกไปกับหนัง และแน่นอนครับ มันคงไม่ใช่วาทกรรมสำหรับหลวงตาโล่กับลูกศิษย์ลูกหาในเรื่องเพียงเท่านั้น หากแต่ทุกๆ คน ก็ควรไม่ต่างกัน
“เชื่อในสิ่งที่ทำ” และ “ทำในสิ่งที่เชื่อ” ชีวิตคนเรา บางทีก็ไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้วล่ะครับ