xs
xsm
sm
md
lg

Argo : The Artist เวอร์ชั่นหนังเก๊

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ในด้านการแสดง “เบน แอฟเฟล็ก” เคยได้รับรางวัลราซซี่วอร์ดส์มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง นั่นยังไม่นับรวมการได้เข้าชิงอีกครั้งสองครั้ง รางวัลราซซี่นี้ มีจุดขายที่แตกต่างแบบยืนคนละข้าง สวมเสื้อคนละสี กับรางวัลออสการ์ ก็ตรงที่ ขณะที่ราซซี่มอบรางวัลให้กับผลงานและการแสดงที่แย่ที่สุดในแต่ละปี ส่วนออสการ์จะเฟ้นหาผลงานที่คิดว่าเยี่ยมยอด

อย่างไรก็ดี พูดกันอย่างถึงที่สุด รางวัลราซซี่ที่ว่านี้ก็ไม่ได้จริงจังอะไร แบบจะมาฆ่าฟันคนในวงการบันเทิงได้บรรลัยกันไปข้างนั้นไม่ใช่ เพราะนอกจากความจริงที่ว่ามันมีเรื่องของการหาทำมาหาเงินซ่อนอยู่เบื้องหลังเวทีนี้แล้ว การมอบรางวัลให้กับผลงานตลอดจนนักแสดงก็ดูเหมือนจะทำกันแบบ “เอาขำ” หรือให้เพื่อ “สร้างกระแส” ซะมากกว่า ดังนั้น ในแต่ละปีที่ราซซี่ประกาศผล โดยส่วนตัวผม จึงมีแต่รอยยิ้มและหัวเราะมากกว่าจะไปซีเรียสจริงจังอะไรกับมัน (แม้บางปีกับบางรางวัล จะเห็นดีเห็นงามกับมันอย่างมากมายก็ตามที!)

ที่สุดแล้ว ราซซี่อวร์ดส์จึงไม่ใช่ว่าจะทำให้ใครต้องรู้สึกสยองขวัญจนหมดสิ้นความมั่นใจ เดินเอาปี๊บคลุมหัวแล้วหลบหน้าหายไปจากวงการ เช่นเดียวกันกับเบน แอฟเฟล็ก แม้จะซิวรางวัลนี้จากฐานะนักแสดงไปหลายหน แต่บนเส้นทางสายภาพยนตร์ ณ เวลานี้ ชื่อของเขากำลังหอมหวนมากจากบทบาทบนเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์และคนเขียนบทซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการแบบดีวันดีคืน

อันที่จริง เบน แอฟเฟล็ก เคยสร้างผลงานที่ดีไว้แล้วก่อนหน้านั้นหลายปี (ก่อนเขาจะมีชื่อเข้าชิงรางวัลราซซี่ในปี 2001 จากบทบาทในหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง Pearl Harbor) ถ้ายังจำกันได้ การจับมือกับแม็ท เดม่อน เพื่อนบ้านในวัยเยาว์ เขียนบทหนังเรื่อง Good Will Hunting ก็ส่งให้เขาและแม็ตได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและคว้าตุ๊กตาทองมาได้เป็นผลสำเร็จ

หลังจาก Good Will Hunting เบน แอฟเฟล็ก ก็พาตัวเองไปล้มลุกคลุกฝุ่นกับราซซี่อยู่หลายปีดีดัก เล่นหนังฟอร์มยักษ์บ้าง ฟอร์มย่อมๆ บ้าง จนกระทั่งเมื่อปี 2007 ทายาทตระกูลแอฟเฟล็กผู้นี้ก็นำเสนอตัวเองในบทบาทแห่ง “คนทำหนัง” อย่างเต็มตัว กับผลงานเรื่อง Gone Baby Gone โดยมีเคซี่ แอฟเฟล็ก น้องชายของเขา และนักแสดงรุ่นเก๋าอย่างมอร์แกน ฟรีแมน แสดงนำ ตัวหนังแม้จะเข้าไปไม่ถึงพรมแดงออสการ์แต่ทว่าก็ได้รางวัลมาจากหลายเวที เช่นเดียวกับกระแสเสียงแห่งความชื่นชมในฐานะคนทำหนังที่น่าจับตามอง

หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี เบนก็กลับมาอีกทีกับผลงานเรื่อง The Town หนังอาจจะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือเลยในแง่รางวี่รางวัล แต่ก็ยังยืนว่าเบน แอฟเฟล็ก ยังมั่นคงบนถนนสายนี้ เขาดูคล้ายๆ กับรุ่นก่อนหน้าหลายคนที่ผันตัวเองจากนักแสดงมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์และสร้างผลงานได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโรเบิร์ต เรดฟอร์ด จอร์จ คลูนี่ย์ หรือแม้แต่คลินต์ อีสต์วูด ที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เบนจะเป็นปู่คลินต์คนต่อไป แน่นอน ปีนี้ เบน แอฟเฟล็ก ก็ได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะคนมีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง กับหนังซึ่งคาดหวังได้ว่า น่าจะไปไกลถึงออสการ์ในบางสาขารางวัล

Argo เป็นหนังระทึกขวัญการเมืองซึ่งเล่าเรื่องย้อนกลับไปในช่วงยุค 70 ปลายๆ คาบเกี่ยวกับ 80 เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หนังหยิบยกเอาสถานการณ์การลุกฮือขึ้นของประชาชนชาวอิหร่านที่ก่อการปฏิวัติ บุกจู่โจมสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเตหะรานและจับตัวประกันไว้ได้ 52 คน อย่างไรก็ดี ในช่วงขณะอันชุลมุนวุ่นวายนั้น ชาวอเมริกัน 6 ชีวิตได้อาศัยช่วงเวลานั้นหลบหนีและเข้าไปลี้ภัยอยู่ในบ้านของทูตแคนาดา และก็เป็นภารกิจของรัฐบาลอเมริกาที่จะต้องหาหนทางเพื่อไปช่วยเหลือคนทั้งหกได้กลับบ้าน แต่นั่นไม่ง่ายเลย เพราะกองกำลังปฏิวัติที่เคร่งครัดเข้มงวดในการตรวจสอบคนเข้าเมืองชนิดที่แทบจะหารูโหว่รอยรั่วไม่เจอ

และภายหลังถกเถียงกันอยู่นาน ในที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุมัติวิธีการที่นำเสนอขึ้นมาโดยสายลับซีไอเอที่ชื่อโทนี่ เมนเดซ ท่ามกลางความรู้สึกแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะเป็นไปได้ แต่การใช้ข้ออ้างเพื่อเข้าไปถ่ายทำหนังในประเทศอิหร่าน ก็ดูจะเป็นหนึ่งในหนทางที่น่าจะดีที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด โทนี่ เมนเดซ จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งกองถ่าย “หนังเก๊ๆ” ขึ้นมากองหนึ่ง โดยมีแผนลับซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา หนังอย่าง Argo นั้นอาจจะไม่ถูกจริตกับคนดูที่คาดหวังหนังแอ็กชั่นเท่าใดนัก แม้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการช่วยเหลือตัวประกันแบบเดียวกับหนังตระกูล Taken แต่ความโดดเด่นของงานชิ้นนี้ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ หากแต่อยู่ที่ชั้นเชิงในการเล่นบรรยากาศความกดดันบีบคั้นและลุ้นระทึกชนิดที่ทำให้เราหายใจติดขัดจนนถึงขั้นนั่งไม่ติดเบาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงท้ายของหนัง เมื่อเรื่องราวพัฒนาการไปสู่จุดพีคอย่างถึงที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะทางของการก่อร่างสร้างแผนก่อนภารกิจจะเริ่มต้น (ซึ่งกินเวลายาวนานพอสมควร) หนังก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าน่าเบื่อแต่อย่างใด แม้ไม่มีอะไรตูมตามโครมคราม แต่วิธีการผูกเรื่อง ดำเนินเรื่อง หนังก็ตรึงความสนใจใคร่รู้และอยากติดตามของเราได้ เหนืออื่นใดคือเปี่ยมอารมณ์ขัน ซึ่งมาพร้อมกับผู้คนในแวดวงฮอลลีวูดที่โทนี่ เมนเดซ ไปดึงตัวมาร่วมหัวจมท้ายในปฏิบัติการครั้งนี้

หลังจากดูจบ ผมพบว่า บทภาพยนตร์ของ Argo นั้น นอกจากจะมีดีพอที่ออสการ์จะเหลียวมามอง ส่วนของเนื้อหาหนังก็ดูจะเหมาะเหม็งกับสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ลงล็อกกับความสัมพันธ์ปัจจุบันที่ไม่สู้ดีระหว่างอเมริกากับโลกอาหรับ หนังเหมือนจะบอกอยู่กลายๆ ว่า อันที่จริง ความร้าวฉานระหว่างดินแดนตะวันออกกลางกับอเมริกานั้นไม่ได้เพิ่งมี แต่มันมีมาเนิ่นนานแล้ว แน่นอนว่า หนังเรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์อเมริกาบ้านเกิดอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่เปิดเรื่อง หนังก็ “เปิดแผล” ให้เห็นแล้วว่า สาเหตุต้นตอของความรุนแรงครั้งนี้ มีอเมริกาเป็นผู้ที่ต้องแบกรับความผิดบาปอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งแบ็กอัพสนับสนุนทรราชให้ก้าวขึ้นมาปกครองอิหร่าน ทั้งช่วยเหลือทรราช (โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเกี่ยวกับบ่อน้ำมันอยู่เบื้องหลัง) ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของประชาชนคนอิหร่านที่อยากได้ทรราชกลับคืนมาลงทัณฑ์

กระนั้นก็ดี ถึงตอนนี้แล้ว การวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาก็เหมือนการด่านักการเมืองหรือด่าตำรวจ คือด่าตอนไหนก็ถูกต้องตอนนั้น และที่ผ่านมา หนังไม่รู้กี่เรื่องก็ “ตีแสกหน้า” อเมริกามาแล้วหลายแผล ดังนั้น การที่ Argo จะโยนก้อนอิฐให้อเมริกาอีกสักก้อน ผมคิดว่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ผมรู้สึกชอบมากที่สุดในงานชิ้นนี้ของเบน แอฟเฟล็ก กลับเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกนำเสนอแบบผ่านๆ แต่กลับดูเหมือนจะเปี่ยมล้นด้วยพลังความคิดที่จะ “ภูมิใจนำเสนอ” อย่างเต็มที่ของเบน แอฟเฟล็ก นับเป็นความแยบยลของศิลปินที่ “เป็นงาน”

แน่นอน ในมุมกว้างๆ เรามองเห็นภาพแห่งความขัดแย้งโดดเด่นมาก มันเป็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่แตกต่าง นั่นก็คืออเมริกากับอิหร่าน คนอิหร่านโกรธแค้นอเมริกาอย่างไร อเมริกันก็แค้นใจในอิหร่านอย่างนั้น ผมคิดว่าเบน แอฟเฟล็ก น่าจะเฝ้ามองความขัดแย้งนี้ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ และเขาคงไม่รู้จะอธิบายออกมาอย่างไร เขาจึงเลือกที่จะนำเสนอมันออกมาด้วยภาพที่ดูขัดแย้งกันในความรู้สึกอย่างน้อยสองภาพ หนึ่งก็คือ ขณะที่โทนี่นั่งรถผ่านชุมชนคนอิหร่าน ซีนเล็กๆ ที่รถแล่นผ่านซีนหนึ่ง ประชาชนชาวอิหร่านโพกผ้าคลุมศีรษะแบบมุสลิมนั่งทานไก่ทอดเคนตั๊กกี้

ส่วนอีกหนึ่ง คือ ในขณะที่ประชาชนอเมริกันในอเมริกากำลังด่าทอและสาปแช่งกองกำลังปฏิวัติอิหร่านอย่างมันในอารมณ์นั้น ณ บ้านของท่านทูตแคนาดาประจำประเทศอิหร่าน สาวอิหร่านคนหนึ่งซึ่งมาทำงานเป็นคนใช้ในบ้านของท่านทูต ก็ช่วยเก็บงำความลับเกี่ยวกับการหลบซ่อนตัวของอเมริกันชนทั้งหกชีวิต แม้ตนเองจะถูกคุกคามด้วยถ้อยคำข่มขู่เพียงใดก็ตาม

ผมคงมิอาจตัดสินหรือสรุปได้ว่าภาพทั้งสองนี้ต้องการจะบอกอะไร แต่ผมอยากจะมองว่ามันคือความรู้สึกสะเทือนใจแบบศิลปินของเบน แอ็ฟเฟล็ก ที่ไม่ได้มองโลกแบบทวิลักษณ์ ประเภท “ขาวจัดดำจัด” หรือโลกนี้มีแค่สองขั้วคือชั่วกับดี แต่เปิดพื้นที่ให้กับมุมมองความคิดแบบอื่นๆ ด้วย

ท่ามกลางความชิงชังพฤติการณ์ของอเมริกา คนอิหร่านจำนวนไม่น้อยยังคงอร่อยกับรสชาติของไก่ทอดเคนตั๊กกี้ที่มีบ้านเกิดอยู่สหรัฐฯ และในขณะที่ก่นด่าชาวอิหร่านอย่างรุนแรง รวมทั้งคุกคามทำร้ายผู้คนที่หน้าตาออกไปทางอาหรับซึ่งมาอาศัยอยู่ที่อเมริกา คนอเมริกาก็อาจจะไม่ทันสังเกตเห็นว่า ยังมีชาวอิหร่านคนหนึ่งซึ่งเป็น “คนตัวเล็กตัวน้อย” ของสังคม กำลังหยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้กับคนอเมริกาอยู่อย่างเงียบๆ และไม่ประสงค์จะเอ่ยออกนาม

ในมุมมองของผม นี่คือศิลปะแห่งการนำเสนออย่างแท้จริง มันทำให้เรา “รู้สึก” โดยไม่จำเป็นต้องบอกออกมาอย่างโจ่งแจ้ง แต่ใช้วิธีการ “แสดง” ผ่านสิ่งอื่นๆ เพื่อให้คนดูรู้สึกนึกคิด เบน แอฟเฟล็ก ใช้ศิลปะแห่งภาพ หรือ “ภาพยนตร์” ถ่ายทอดสิ่งที่เขารู้สึกนึกคิดออกมาได้อย่างแยบยลผ่านฉากสองฉากที่ว่านี้

ภาพยนตร์นั้นมีพลังเพียงใดต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เบน แอฟเฟล็ก ใช้สอยพลังนั้นอย่างเต็มที่ในผลงานชิ้นนี้ของเขา

ฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่เหล่าทหารตรวจคนเข้าออกสนามบิน พลิกดูสตอรี่บอร์ดปลอมๆ ของภาพยนตร์ด้วยรอยยิ้มนั้น สื่อให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าภาพยนตร์นั้นมีพลังในการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อทหารเหล่านั้นเพียงใด แม้เมื่อพูดกันอย่างถึงที่สุด สตอรรี่บอร์ดที่ว่านั้นมันจะไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงแต่อย่างใด

ปีที่แล้ว The Artist ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะส่วนหนึ่ง มันถ่ายทอดคุณค่าความหมายของศิลปะภาพยนตร์และศิลปินทุกคนที่ก้าวเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้ ปีนี้ เบน แอฟเฟล็ก ดูเหมือนจะตอกย้ำความคิดแบบ The Artist นั้นอีกครั้ง ด้วยการนำเสนอให้เห็นว่า “หนัง” นั้นมีคุณค่าและทรงพลัง ต่อให้มันเป็นแค่หนังเก๊ๆ เรื่องหนึ่ง ก็ตามที!!



กำลังโหลดความคิดเห็น