Facebook : teelao1979@hotmail.com
“สี่ร้อยปีหลังจากกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกขับไล่ออกจากเมือง กรุงโรมได้ปกครองประเทศมากมาย แต่ปกครองตนเองไม่ได้ ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างชนชั้นธรรมดากับชนชั้นสูง อำนาจถูกแบ่งส่วนและปกครองโดยสองทหารซึ่งเป็นสหายกัน คือ “แน็กอัส ปอมเปย์ แม็กนัส” และ “ไกอัส จูเลียส ซีซาร์” แต่ในขณะที่ปอมเปย์เป็นผู้รักษาความสงบในเมือง ซีซาร์ได้ออกไปทำศึกที่ดินแดนโกล และทำให้เขาร่ำรวยมีชื่อเสียงขึ้น ขั้วพลังอำนาจกำลังเปลี่ยนแปลง เหล่าชนชั้นสูงต่างพากันหวาดกลัว และหันมายืนเคียงข้างสามัญชนคนธรรมดา ซีซาร์เองก็เช่นกัน ซึ่งด้วยกำลังทหารที่มีอยู่ ตลอดจนกำลังทรัพย์และการเอาใจประชาชน อาจทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ได้”
ซีรีส์ที่มีอายุ 2 ซีซั่นอย่าง Rome เปิดเรื่องมาด้วยประโยคบอกเล่าดังกล่าวนี้ เพื่อบรรยายให้เห็นภาพกว้างๆ ของสังคมเหนือแผ่นดินโรมยุคนั้นซึ่งโดยประวัติศาสตร์ อยู่ที่ราวๆ กึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาลอันนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของอารยธรรมยุคเปลี่ยนผ่านจากการเป็นสาธารณรัฐสู่การก่อกำเนิดเกิดใหม่ในนาม “จักรวรรดิโรมัน”
ในเชิงประวัติศาสตร์แบบละเอียด อยู่ที่ใฝ่รู้จะไปศึกษาหาเอา แต่ ณ ที่นี้ ผมขอว่าไปตามเนื้อผ้าที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องราวในซีรีส์ กล่าวในเบื้องต้น ตั้งแต่ตอนออกฉายเมื่อปี 2005 ไล่มาจนถึงตอนสุดท้ายในปี 2007 Rome นั้นถือเป็นหนังทีวีที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามอีกเรื่องหนึ่ง และถ้าจะมีการจัดอันดับทีวีโชว์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด Rome ก็น่าจะติดอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างไร้ข้อกังขา และในความเป็นจริง Rome น่าจะเป็นงานเรื่องแรกๆ ที่เปิดศักราชซีรีส์ย้อนยุคสมัยโรมันและได้รับความนิยมจากคนดู ก่อนจะมีซีรีส์ที่อิงบรรยากาศยุคสมัยเดียวกันอีกหลายเรื่องตามมา อย่าง Spartacus และ game of thrones
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร ช่วงหลังๆ ฝรั่งถึงหันมาตื่นเต้นกับการผลิตเรื่องราวย้อนยุค แต่มองอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องชมในแง่วิสัยทัศน์ เพราะหนังทีวีพวกนี้ แม้จะเป็นความบันเทิง ก็เป็นความบันเทิงที่ “ให้ความรู้” แก่ผู้ชมด้วย และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น Rome, Spartacus, game of thrones หรือซีรีส์ที่ผมเคยเอ่ยถึงอย่าง Boardwalk Empire ก็ไม่ได้จะมอมเมาคนดูเพียงอย่างเดียว แต่ล้วนมีส่วนมากบ้างน้อยบ้างในการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเองหรือของชาติตัวเอง คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ หรือชาติที่ไม่สนใจอดีตของตัวเอง ก็คงต้องเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างที่เขาว่า
กล่าวในภาพรวม ซีรีส์ย้อนยุคทั้งสามเรื่องที่เอ่ยถึงนั้น รูปแบบการนำเสนอมีวุฒิภาวะสูง และเต็มไปด้วยฉากฆ่าฟันกันโหดร้ายไปจนถึงฉากเปลือยกายและเลิฟซีนที่โจ่งแจ้งโจ๋งครึ่ม ดังนั้น ซีรี่ส์เหล่านี้อาจจะไม่เหมาะกับเยาวชนคนวัยเยาว์เท่าไรนัก กระนั้นก็ตาม กล่าวตามความเป็นจริง ในขณะที่ซีรี่ส์ย้อนยุคอย่าง game of thrones และ Spartacus ฉากเลิฟซีนดูจะไม่ค่อยมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อะไรนัก แต่ฉากรักหรือฉากอีโรติกในเรื่อง Rome กลับสื่อสะท้อนความหมายเชิงเนื้อหาของเรื่องได้ค่อนข้างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองว่า การสังวาสที่ดู “มั่ว” จนนัวเนียเหล่านั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการสังวาสทางการเมืองที่ “เปลี่ยนคู่รัก” ไปเรื่อยๆ จนยากที่จะจับทางได้ว่าใครคือคนรักที่แท้ หรือใครเป็นแค่คู่นอนชั่วคราว นั่นยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า การ “เสพสังวาส” หลายครั้งหลายคราของบรรดาตัวละครในเรื่อง ซึ่งถูกปรนเปรอและเป็นไปเพื่อเพื่อเป้าหมายทางการเมือง แท้จริงแล้ว “กิจกาม” เหล่านั้น มันก็ไม่ต่างกันสักกี่มากน้อยกับ “กิจกรรม” ของนักการเมืองซึ่งมีการหยิบยื่นแลกเปลี่ยนระหว่างกันเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
จากเนื้อหาที่ปรากฏทั้งหมดในซีรี่ส์เรื่อง Rome นั้น ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่า การเมือง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มันก็สกปรกโสโครกไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคก่อร่างสร้างอาณาจักรโรมันอย่างที่ Rome นำเสนอด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่า เรื่องราวทางการเมืองนั้น สามารถทำให้ผู้คนพร้อมที่จะสละความดีงามทุกสิ่งอันได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้แต่มิตรสหายที่แน่นแฟ้นก็ยังคลอนแคลนกระทั่งล้มครืนลงไปด้วยแรงเหวี่ยงของการเมือง ดังเช่นกรณีระหว่างซีซาร์กับปอมเปย์ซึ่งถูกมนต์ดำแห่งอำนาจและการเมืองกัดกร่อนมิตรภาพระหว่างกันลงไปในชั่วระยะเวลาไม่นาน
ภายใน Rome นั้น ประกอบไปด้วยตัวละครที่แตกต่างหลากหลาย และท่ามกลางสายลมทางการเมืองซึ่งกำลังพัดกระหน่ำไปทั่วทั้งโรม (ซึ่งจะโหมกระพือลุกลามไปถึงดินแดนอื่นๆ ด้วยอย่างเช่นอียิปต์) การเอาตัวรอดเพื่อดำรงอยู่ให้ได้ กลายเป็นคำขวัญประจำใจของบรรดาคนทั้งปวง โดยเฉพาะพวกที่เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ตั้งแต่ชนชั้นชั้นสูงผู้รากมากดีไปจนถึงเหล่าขุนนางในสภา (ที่น่าตลกก็คือ การลุกขึ้นฟาดปากกันกลางสภาของบรรดานักการเมือง ก็มีอยู่ในสภาแห่งโรมเช่นเดียวกัน!) เพราะความหวาดผวาในความเปลี่ยนแปลงที่จะพลิกผันไปทิศทางใดก็ได้ทุกเมื่อ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งจะทำให้เราเห็นบุคคลประเภท “เปลี่ยนสีได้รวดเร็ว” เยอะแยะเต็มไปหมด คนประเภทที่ว่า “ใครชนะ ข้าก็เลือกอยู่ข้างนั้น” หาได้ไม่ยากในกรุงโรม ดุจเดียวกับคนที่ยอมตกตายไปพร้อมความอัปยศ ชดใช้บาปเวรแห่งการทรยศหักหลังและไร้จุดยืนที่ชัดเจนของตัวเอง
พูดอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าหนังจะใส่ตัวละครมามากเท่าไหร่ แต่สุดท้าย แก่นสารหลักของ Rome ก็ยังไม่หนีไปไหนไกลจากเรื่องของความมักมากทางการเมือง การแย่งชิงและครอบครองความเป็นใหญ่ ตัวละครสำคัญๆ ในเรื่อง ล้วนย่างก้าวสู่เป้าหมายนี้ จะต่างกันก็เพียงแต่ “อุบาย” และ “วิธีการ” เท่านั้นเองว่าใครจะใช้อะไรแบบไหน บางคนใช้กำลัง บางคนใช้เล่ห์เหลี่ยม และก็มีไม่น้อยที่ใช้ “กามรส” เป็นบัตรวีซ่าแลกเปลี่ยน “สินค้าทางการเมือง”
การใช้กำลังทางทหารเข้าห้ำหั่นแย่งชิง หรือการดิสเครดิตกันไปมาระหว่างพวกของซีซาร์กับปอมเปย์ที่ต่างฝ่ายต่างก็เอ่ยอ้างถางถากว่าอีกฝ่ายคือทรราช จนสุดท้าย เราก็ชักไม่แน่ใจว่าใครกันแน่ที่มีธาตุแท้แห่งทรราช (แน่นอน มองในเชิงการออกแบบตัวละคร นี่คือลักษณะที่ดีของ Round Character ที่ทำให้ตัวละครแต่ละตัวมีมิติจนมิอาจพิพากษาว่าใครดีสุดขั้วหรือชั่วสุดขีด) เหล่านี้คืออุบายพื้นๆ ตื้นๆ ซึ่งถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ตาม ตอนใกล้ๆ จะจบของซีรี่ส์ซีซั่นที่หนึ่ง เราจะพบว่า มันมีวิธีอีกแบบหนึ่งซึ่งคล้ายจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ทางการเมือง
นั่นก็คือ “ประชาชน”
ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ต้องกุมหัวใจของประชาชนให้ได้ คำว่า “ประชาชน” นั้นถูกเอ่ยถึงอยู่เรื่อยๆ ในบทสนทนาของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในเรื่อง จะว่าไป จุดเริ่มต้นแห่งความระคายเคืองที่ปอมเปย์มีต่อซีซาร์ ส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะว่าชัยชนะของซีซาร์ทำให้ประชาชนชื่นชมในตัวเขา และประชาชนเหล่านี้นี่แหละก็อาจกลายมาเป็นขุมพลังของซีซาร์ในกาลต่อไป ดังนั้น ต่อให้ความเป็นจริง ยังไม่เกิดเรื่องเกิดราวร้ายแรงอะไร แต่ปอมเปย์ก็ชิงหวั่นไหวไปเสียก่อนจนกระทั่งกลายมาเป็นชนวนความขัดแย้งแตกหักระหว่างสองสหาย
ในโมงยามที่บรรดาผู้นำหรือชนชั้นสูงต่างพากันสวมหัวโขนและพลิกลิ้นไปมา การเกาะกุมหัวใจของ “ประชาชน” ไว้ให้ได้ คือสิ่งที่ซีซาร์เองก็ยังต้องกระทำในยุคนั้น คำเอ่ยอ้างถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและบ้านเมืองที่สงบสันติภาพ กลายเป็นคำขวัญที่กระจายไปทั่วทุกหลังคาเรือน
พูดด้วยภาษาการเมืองร่วมสมัย “ประชานิยม” ถือเป็นนโยบายหนึ่งของโรมในยุคนั้น การจำหน่ายจ่ายแจกทรัพย์สินทั้งในรูปเงินทองและตำแหน่งยศถาดำเนินไปอย่างคึกคัก แม้แต่นายทหารผู้เก่งกล้าอย่างซีเรียส โวเรนัส ที่แม้จะไม่แน่ใจในสถานะของซีซาร์ แต่ทว่าเมื่อถึงคราวเข้าตาจน เขาก็ยอมตนเป็นข้ารับใช้เพื่อแลกกับความสุขสบายในชีวิต
กล่าวอย่างรวบรัดตัดความ นอกเหนือจากศึกสงครามในการแย่งชิงความเป็นใหญ่ ซีรีส์ย้อนยุคชุดนี้ยังถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีแห่งการปกครองอย่างออกรส มันเป็นนาฏกรรมทางการเมืองซึ่งทั้งดูสนุกและได้แง่คิด ขณะเดียวกัน ตัวละครในเรื่องก็มีทั้งที่แบบเราจะชังและรัก โดยเฉพาะพลทหารชั้นผู้น้อยอย่างไททัส พูลโล นั้น นับได้ว่าสามารถเกาะกุมหัวใจของคนดูได้ดียิ่งกว่าซีซาร์พยายามสร้างประชานิยมเสียด้วยซ้ำ
ไททัส พูลโล แม้จะต่างกันในเชิงยศถาบรรดาศักดิ์กับนายกองซีเลียส โวเรนัส แต่สถานะของทั้งสองก็คล้ายสหายรักที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา มันก็น่าคิดนะครับว่า ในขณะที่เราเห็นตัวละครใหญ่ๆ โตๆ พยายามอ้างคำว่า “เพื่อประชาชน” กันอย่างเอิกเกริกปาก แต่สุดท้าย คนที่มั่นคงในเกียรติศักดิ์ศรีจริงๆ กลับเป็นพลทหารชั้นต่ำต้อย ก็จริงที่ว่าพูลโลอาจกระทำเรื่องราวไม่ดีบ้างเพราะความจำเป็นบีบบังคับ แต่ในฐานะพลทหารแห่ง “กองพล 13” มันเป็นดุจเสาหลักแห่งศักดิ์ศรีที่เขายึดเหนี่ยวไว้ในใจเสมอมา
ฉากที่สะท้อนตัวตนของพูลโลได้อย่างหมดจดก็คือตอนที่เขาถูกบังคับให้สู้กับพวกที่เขาไม่อยากสู้ เขานิ่งเฉยอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งพวกประดานั้นถ่มถุยหมิ่นหยามกองพล 13 เขาก็ไม่ลังเลที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทันที ดูต่างจากโวเรนัสสหายรักที่ถูกซื้อด้วยอำนาจทางการเมืองไปแล้วและมัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลังจนเกือบจะเสียเรื่อง
ระหว่างพูลโลกับโวเรนัส ชวนให้ขบคิดอยู่ประการหนึ่งว่า คุณจะเล่นการเมืองก็เล่นไปตามใจชอบ แต่เกียรติและศักดิ์ศรีก็มิใช่สิ่งที่ควรปล่อยปละละวาง...