Facebook : teelao1979@hotmail.com
จั่วหัวบทความมา ใช่ว่าต้องการจะหยาบคายอะไรนะครับ เพราะสำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของสายลับอย่าง “เจสัน บอร์น” ย่อมจะรู้กันว่า หนังแฟรนไชส์ไตรภาคอย่าง The Bourne Trilogy นั้น สร้างมาจากนวนิยาย ซึ่งเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “กูชื่อ เจสัน บอร์น”
เรื่องราวของเจสัน บอร์น นั้นปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ The Bourne Ultimatum พร้อมกับการหายตัวไปของสุดยอดสายลับคนดังกล่าว และใน The Bourne Legacy ก็เปิดตัวสายลับคนใหม่ขึ้นมานามว่า แอรอน ครอส
เท่าๆ ที่พอจะทำความเข้าใจได้ในเหตุผลแห่งการสร้างหนังอย่าง The Bourne Legacy ขึ้นมา ก็คงไม่ใช่เพราะอะไรอื่น หากแต่เป็นเรื่องของมุมมองด้านการตลาดล้วนๆ ที่คงเห็นว่า ชื่อของเจสัน บอร์น ยังขายได้อยู่ สังเกตได้ตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งจงใจใช้นามสกุลของเจสัน บอร์น มาเป็นตัวช่วยในการขาย ทั้งๆ ที่เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวกับเจสัน บอร์น เลย หรือมีเอ่ยถึงก็น้อยมาก
ในภาพรวมทั้งหมด หนังยังคงเดินตามรอยสูตรสำเร็จของเจสัน บอร์น ชนิดที่เรียกว่าไม่มีอันใดผิดเพี้ยน เพราะถ้าจะว่ากันที่เนื้อหาหลักๆ ก็ยังคงเกี่ยวกับสายลับซึ่งกำลังถูกลอยแพ โดยมีโครงการลับซ่อนอยู่เบื้องหลัง นั่นก็ไม่ต่างอะไรกันกับโครงการเทรดสโตนในภาคของบอร์น เพียงแต่ใน The Bourne Legacy มีชื่อเรียกต่างออกไปว่า เอาท์คัม
เจเรมี่ เรเนอร์ ในบทบาทสายลับนามว่า “แอรอน ครอส” ก็แทบจะเรียกได้ว่าเจริญรอยตามเจสัน บอร์น มาแบบแนบชิดเป็นเนื้อเดียว หลังจากเหตุการณ์ต่างๆ เริ่มกระจ่าง เขาก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับบอร์น นั่นก็คือ ต้องตามค้นหาความเป็นมาของตัวเอง ขณะที่ก็ถูกไล่ล่าจากหน่วยงานพิเศษ ดังนั้น แม้จะแสดงบทบาทได้มาตรฐานพระเอกแอ็กชั่นนักบู๊ แต่ด้วยคาแรกเตอร์และทิศทางของตัวละครซึ่งซ้ำทางกับเจสัน บอร์น เจเรมี่ เรเนอร์ จึงไม่ได้โดดเด่นในบทนี้อย่างที่ควรจะเป็น
อันที่จริง ผมคิดว่า ด้วยการผูกปมหรือสร้างเงื่อนไขให้เรื่องราวเดินไปข้างหน้านั้น มันไม่ผิดมากนักหากทั้งแอรอน ครอส และเจสัน บอร์น จะต้องเจอสถานการณ์คล้ายๆ กัน เพราะถ้าคุณเป็นหมาล่าเนื้อที่กำลังหมดคุณค่า ซ้ำมิหนำยังถูกมองว่าอาจจะย้อนกลับมาเป็นภัยต่อความมั่นคง ราคาที่ต้องจ่าย มันก็คงไม่ต่างกัน กระนั้นก็ตาม ปัญหาอันเห็นได้ชัดของหนังสายลับชุดแอรอน ครอส (ผมใช้คำว่า “ชุด” เพราะเชื่อว่า หนังจะต้องมีภาคต่อตามมาแน่ๆ) ก็คือ พัฒนาการของเรื่องซึ่งดูห่างชั้นกับหนังในเวอร์ชั่นเจสัน บอร์น อย่างเห็นได้ชัด
ในวันที่ไม่มีพอล กรีนกราสส์ กำกับ โทนี่ กิลรอย ซึ่งเคยรับบทบาทด้านการเขียนบทให้กับบอร์นทั้งสามภาค ขยับขึ้นมารับสองบทบาท ทั้งเขียนบทและกำกับ ดูเหมือนจะ “มือตก” ลงไปค่อนข้างเยอะ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะต้องแบกรับสองบทบาทหรือเปล่า แต่โดยความเชื่อพื้นฐาน ผมคิดว่า หนังจะดี บางทีคนเขียนบทและคนกำกับ เป็นคนเดียวกัน จะเวิร์กมาก แต่นี่กลับตรงกันข้าม เพราะไม่ว่าจะมองในบทบาทของคนเขียนบท หรือกำกับ โทนี่ กิลรอย กลับเอาไม่อยู่สักด้าน
ด้านบทภาพยนตร์ เราจะเห็นปัญหาของหนังเกี่ยวกับพัฒนาการของเรื่องซึ่งค่อนข้างเสียเวลาและเชื่องช้าอืดอาด โดยเฉพาะเกือบครึ่งชั่วโมงแรก หนังเหมือนจะรำมวยไหว้ครูนานเกินไป ก็จริงที่ว่า หนังอาจจะต้องการบอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการลับที่สร้างแอรอน ครอส ขึ้นมา แต่พูดก็พูดเถอะ หนังทำได้ไม่น่าสนใจใคร่รู้เอาซะเลย แถมที่สุดแล้ว เรื่องราวและตัวละครทั้งหลายทั้งปวงที่ปูมานี้ ก็ไม่เห็นว่าจะมีพิษสงหรือบทบาทอะไรมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวละครของเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ที่ดูจากรูปการณ์น่าจะเป็นตัวสร้างจุดพลิกผันอะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรมาก เช่นเดียวกับตัวร้ายอีกหนึ่งคนที่เปิดตัวมาราวกับเทพนักเทพหนา แต่ก็มีจุดจบแบบง่ายๆ ไร้ชั้นเชิง
อีกประการหนึ่ง ผมคิดว่าการเลือกที่จะเล่าเรื่องผ่าน “มุมมองของตัวละคร” นั้นก็สำคัญ เพราะถ้าจะว่าไป หนังในเวอร์ชั่นเจสัน บอร์น นั้น เนื้อหาจะเดินไปข้างหน้าผ่านมุมมองของบอร์นเป็นหลัก ตั้งแต่เริ่มเรื่อง The Bourne Identity เป็นต้นมา เราจะเห็นว่า หนังเปิดเรื่องด้วยการเปิดตัวเจสัน บอร์น ขึ้นมา แล้วให้เขาฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคไปทีละเปลาะ แก้ปัญหาไปทีละจุด แบบค่อยๆ สาวไปจนถึงต้นตอตัวโจก ตรงนี้ นอกจากจะทำให้เรื่องดูมีความลึกลับซับซ้อน ยังทำให้ตัวละครสามารถเล่นกับสถานการณ์ตื่นเต้นลุ้นระทึกได้เรื่อยๆ เฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการด้านแอ็กชั่นจากน้อยไปหามาก เป็นความสำเร็จที่ปฏิเสธไม่ได้เลย
แต่สำหรับ The Bourne Legacy หนังพลิกมาโฟกัสที่หน่วยงานลับก่อน การณ์ก็เลยกลายเป็นว่า เราต้องมานั่งฟังคำอธิบายทั้งหลายทั้งปวงซึ่งถึงที่สุดแล้ว จุดหมายหลักของมันก็คือการกำจัดสายลับอย่างแอรอน ครอส เท่านั้นเอง ซึ่งเรื่องเท่านี้ หนังเล่ายาวประมาณครึ่งชั่วโมง ผมคิดว่าเป็นการเปลืองเวลามากเกินไป
ถ้ามองในแง่ความสนุก ผมคิดว่าหนังมาแก้ตัวได้หน่อยก็ตั้งแต่ช่วงที่แอรอน ครอส เข้าเมืองมา เป็นต้นไป กระนั้นก็ตาม ถ้าให้เทียบกันจริงๆ อารมณ์ลุ้นระทึก เครียดและตื่นเต้นไปกับเรื่องราวการไล่ล่านั้น เวอร์ชั่นเจสัน บอร์น ยังกินขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคสาม The Bourne Ultimatum ที่ความมันระทึกถูกใส่เข้ามาตั้งแต่นาทีแรกจนนาทีสุดท้าย
พูดกันอย่างถึงที่สุด The Bourne Legacy ก็คล้ายกับเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่เหมือนตั้งแต่ฉลาก (ชื่อเรื่องก็ยืมนามสกุลของเจสัน บอร์น มา) ทำให้รู้สึกว่าหนังก็เพียงเปลี่ยนจาก “กูชื่อ เจสัน บอร์น” มาเป็น “กูชื่อ แอรอน ครอส” ไม่มีอะไรใหม่ และในแง่คุณภาพ “กูชื่อ แอรอน ครอส” ก็เทียบกันไม่ได้เลยกับ “กูชื่อ เจสัน บอร์น”
การตามค้นตัวตนที่มาของตัวเองของแอรอน ครอส...เจสัน บอร์น ก็ทำมาก่อนหน้าแล้วและทำได้ลุ้นระทึกน่าติดตามใคร่รู้มากกว่าเยอะ หรือจะมองในเชิงการสะท้อนความเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในองค์กรลับองค์กรรัฐ The Bourne Trilogy ก็ตีแผ่แล่เถือไปหมดแล้ว เพียงแต่ The Bourne Legacy เปลี่ยนชื่อมาเป็นอีกโครงการหนึ่งเท่านั้นเอง