Facebook : teelao1979@hotmail.com
ผมเคยกล่าวไว้ในพื้นที่ของคอลัมน์นี้มาแล้วหลายครั้งว่า ในช่วงหลังๆ แวดวงหนังฮอลลีวูด ดูเหมือนจะพากันนั่งไทม์แมทชีนย้อนเวลากันมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าหมดมุกหรือเกิดอารมณ์ถวิลหาคืนวันอันเก่าก่อนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ มีคนทำหนังจำนวนไม่น้อยซึ่งไปสอยเอาผลงานเก่าๆ ในยุค 80-90 มาทำใหม่สร้างใหม่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ไม่ว่าในนามของการหยิบเอามาเพียงแค่บรรยากาศและอารมณ์ อย่างเรื่อง The Cabin in the Wood หรือ The Ward หรือ Drag Me to Hell ฯลฯ ไปจนถึงการหยิบเอามาทั้งดุ้นในนามของการรีเมค อย่าง Fright Night, Nightmare on Elm Street หรือ The Thing ฯลฯ หนังเหล่านี้ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ไปตามชะตากรรมของตัวเอง
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า ยุค 80-90 นั้นมีเสน่ห์ก็ตรงที่ว่า ในขณะที่เทคโนโลยีอาจไม่ได้รุดหน้ามากนักเท่ากับยุคนี้ แต่มันก็เหมือนจุดออกตัวของนวัตกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง วิทยาการเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทความสำคัญมากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันปลุกเร้าจินตนาการอันพิสดารเลิศลอยของผู้คน และก็สะท้อนออกมาผ่านเนื้องานของคนทำหนังเช่นเดียวกัน (ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองจินตนาการแบบนั้นของผู้คน)
หนังดังๆ แห่งยุคสมัยหลายต่อหลายเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจินตนาการและวิทยาการล้ำยุค ไม่ว่าจะเป็น Back to the Future, Terminator, Blade Runner, Robocopไปจนถึง E.T., Aliens หรือแม้แต่ Star Wars ที่ลงหลักปักฐานมาตั้งแต่ปลายยุค 70 ฯลฯ กลายเป็นดั่ง “หลักไมล์แห่งยุคสมัย” ที่สร้างภาพจำอันประทับใจในความคิดคำนึงของคนดูที่เติบโตมาในยุคนั้น
และก็เช่นเดียวกันครับ สำหรับหนังรีเมคเรื่องใหม่อย่าง Total Recall นี้ ครั้งหนึ่ง มันก็เคยเป็นหนังที่โด่งดังมาแล้วในยุคสมัยที่เอ่ยถึงข้างต้นนั้น
ผมคิดว่า เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้หนังอย่าง Total Recall เวอร์ชั่นเดิมที่กำกับโดยพอล เวอร์โฮเว่น และเล่นนำโดยหนุ่มกล้ามใหญ่ “อาร์โนลด์ ชวาเซเนกเกอร์” และสาวร้อน “ชารอน สโตน” ยังคงมีพื้นที่อยู่ในความทรงจำของคนดูได้ นอกเหนือไปจากความแปลกของพล็อตเรื่องที่โยงตัวเองไปผูกเนื่องกับดาวอังคารและโลกเหนือจินตนาการแล้ว องค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำให้งานชิ้นนี้ไม่เคยบุบสลายไปจากใจของคนดู ก็คือ การสร้างภาพตัวละครในระดับที่สามารถใช้คำว่า “Weird” หรือ “แปลกประหลาด” จนกลายเป็น “ภาพจำ” ที่ยากจะลบเลือน
และพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่า ความ “Weird” หรือ “แปลก” นี่แหละครับที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหนังดังๆ ยุค 80-90 ไม่ว่าจะแปลกเพี้ยนในแบบ The Evil Dead, แปลกพิสดารแบบ Big Trouble in China ของจอห์น คาร์เพนเตอร์ ที่เอาฝรั่งกับจีนฮ่องกงมายำรวมกัน, แปลกแบบฮ่องกง อย่างเรื่อง The Wicked City (เมืองหน้าขน ใครจะโกนให้มันเกลี้ยง) ที่มีฉากจำอย่างการมีเซ็กซ์กับโต๊ะพินบอล!!, แปลกแบบ The Monster Squad ที่เอาตัวละครในหนังสยองขวัญมาไว้ในเรื่องเดียวกัน ฯลฯ
เอาเป็นว่า ถ้าไล่เล่าถึงความ Weird ของหนังยุคนั้น คงต้องใช้อีกหลายบรรทัด แต่สำหรับ ความ Weird ที่ถือเป็นภาพจำ ในหนังเรื่อง Total Recall ก็ไล่ตั้งแต่ฉากที่อาร์โนลด์หรือตัวละครอื่นๆ เดินผ่านจุดสแกนอาวุธแล้วเรามองผ่านกระจกกั้นเข้าไป ก็จะเห็นแต่โครงกระดูกของอาร์โนลด์ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงรูปลักษณ์หน้าตาของตัวละครที่มีความผิดปกติทางร่างกาย (หรือที่ในหนังเรียกว่าพวกมิวแทนท์-กลายพันธุ์) ทั้งยามปกติ หรือยามที่มันบิดเบี้ยวผิดรูป มันสร้างความรู้สึกแปลกๆ ให้เกิดขึ้นในใจของคนดูได้ จะว่าน่ากลัวเหมือนเรากลัวผีไปเลยก็ไม่ใช่ จะน่าขยะแขยงก็ไม่เชิงอีก รู้แต่ว่ามันแปลกพิกล
แต่เหนืออื่นใด ผมคิดว่า ในขณะที่หนังเวอร์ชั่นเดิมพาคนดูสนุกสนานไปกับการถูกไล่ล่าของอาร์โนลด์ มิติเชิงเนื้อหาก็ถูกสอดแทรกเข้ามาอย่างแนบเนียนรู้สึกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของพวกมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านั้น ว่ากันอย่างถึงที่สุด ในระดับของการตีความ มันก็อาจเชื่อมโยงไปถึงประชาชนคนด้อยโอกาสในสังคม เหมือนกับที่ตัวละครตัวหนึ่งพูดออกมาทำนองว่า ในโลกแบบนี้ที่แม้แต่อากาศยังต้องซื้อเพื่อหายใจ พวกกลายพันธุ์ก็มีแต่จะต้องตายไปเท่านั้นเอง...ในความหมายที่คงไม่มีเงินทองไปซื้อหาอะไรแบบนั้นได้...ส่วนพวกคนร่ำคนรวย คนใหญ่คนโตมีอำนาจ กลับดำรงอยู่อย่างสุขสบาย และกดขี่ผู้ด้อยกว่า
พูดแบบไม่ได้ยึดติดกับภาพอดีตจนไม่มีที่ว่างให้กับปัจจุบัน ผมรู้สึกว่า Total Recall เวอร์ชั่นรีเมคนั้น ก็เหมือนกับหนังที่พยายามใช้บรรยากาศและอารมณ์แบบยุค 80-90 มาหากิน นั่นก็คือ ไม่สามารถเก็บเอาส่วนดีๆ ของฉบับพอล เวอร์โฮเว่น มาได้เลย และยิ่งไปกว่านั้น เวอร์ชั่น “ผลิตซ้ำ” ครั้งนี้ ก็เหมือนการผลิตซ้ำอย่าง “เคารพต้นฉบับ” จนไม่คิดที่จะต่อเสริมเติมสร้างจินตนาการใหม่ใดๆ เลย
หนังไล่เรียงเล่าเรื่องแบบเทียบเคียงได้กับของเดิมแทบจะซีเควน์ต่อซีเควนซ์ แม้จะมีการฉีกบทบาทของตัวละครบางตัว (ว่าไปเลยก็คือคนที่เล่นเป็นเมีย) ให้แตกต่างไปจากเดิมบ้าง แต่ทว่าในเชิงโครงสร้างเนื้อเรื่อง เหมือนกับมาร์ค เว็บบ์ รีบู๊ตสไปเดอร์แมน ไม่มีผิดเพี้ยน นั่นก็คือ ดูไปก็นึกถึงของเก่าไป
โชคดีอยู่อย่างคือ หนังอาศัยความล้ำหน้าทางยุคสมัยสร้างข้อได้เปรียบกว่าเวอร์ชั่นเดิม โดยเฉพาะงานเอฟเฟคต์ต่างๆ ทั้งภาพและเสียงที่กระหน่ำซัดใส่หูเราแบบไม่ยั้ง จากหนังที่เคยขายความ Wired ในเชิงจินตนาการ กลายเป็นแอ็กชั่นไซไฟดาษดื่น แถมยังไปซ้ำทางกับหนังตระกูลสายลับพวกเจมส์ บอนด์ หรือแม้แต่เจสัน บอร์น ที่ต้องค้นหาตัวตนแท้จริงของตัวเองว่าเป็นใครมาจากไหน
อันที่จริง ผมว่าหนัง “ตั้งท่า” ออกสตาร์ทด้วยประเด็นที่ใช้ได้นะครับ เฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เกี่ยวกับความน่าเบื่อซ้ำซากของชีวิตและโหยหาการหลุดพ้นสู่ชีวิตที่โลดโผนผจญภัยมีชีวิตชีวากว่าเดิม แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มซึ่งหนังไม่กลับมาเติมให้มันมีพลัง สุดท้าย ไปๆ มาๆ ประเด็นของหนังก็ส่ายไปเรื่องผู้ก่อการร้ายที่ “ย้ายข้าง” เหมือนหนังซีรีย์ Homeland ไปซะอย่างนั้น
มีฉากหนึ่งในหนังซึ่งผมคิดว่ามีความหมายต่อหนังมาก คือตอนที่ดั๊กลาส เคว็ด (โคลิน ฟาร์เรล) กำลังจะเข้าเครื่องสร้างความฝัน ซึ่งทางทีมงานของบริษัท Total Recall ชี้แนะทำนองว่า ถ้าอยากจะสนุกกับโลกแห่งความฝันที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเต็มที่ จะต้องไม่มีความทรงจำเดิมหลงเหลืออยู่ เช่น ถ้าอยากสนุกกับการเป็นสายลับ ก็ต้องไม่เคยเป็นสายลับจริงๆ มาก่อน
ก็น่าประหลาดใจครับว่า ในขณะที่เครื่องจักรสร้างความฝันสามารถ Recall หรือ “เรียกคืน” ความทรงจำเดิมๆ ของดั๊กลาส เคว็ด ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่หนังกลับไม่สามารถ Recall ความเจ๋งในแบบเวอร์ชั่นวันวานกลับคืนมาได้เลย