Facebook : teelao1979@hotmail.com
เชื่อแน่ว่า นอกเหนือไปจากความดีงามปิดท้ายไตรภาคแบ็ทแมนของคริสโตเฟอร์ โนแลน อย่าง The Dark Knight Rises จะถูกกล่าวถึงอย่างชื่นชมไปทั่วโลก เหตุการณ์กราดยิงในโรงหนังแห่งหนึ่งขณะที่หนังเรื่องนี้ฉายไปได้เพียงสิบนาที ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างเอิกเกริกไปทั่วหล้า ส่วนที่อเมริกานั้นก็ถึงขั้นสั่งแบนไม่ให้โฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้ทางสื่อทีวีไปเลยทีเดียว ซึ่งเหตุผลนั้นก็เนื่องจากว่า บุรุษนักศึกษาปริญญาเอกที่หิ้วปืนไปกราดยิงผู้คนในโรงหนังนั้น บอกว่าตัวเองคือโจ๊กเกอร์!!
นี่คือเหตุการณ์ที่น่าคิดนะครับ อย่างไรก็ดี ผมขอข้ามประเด็นเกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อหรือการไม่รู้จักจำแนกแยะแยะว่าอะไรคือหนัง อะไรคือโลกแห่งความจริง แต่การที่ชายผู้กราดยิงอ้างว่าตัวเองคือโจ๊กเกอร์นั้นก็สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงพลังของตัวละครที่สื่อออกมาโดยฝีมือของคริสโตเฟอร์ โนแลน
สำหรับคนที่ติดตามหนังไตรภาคแบ็ทแมนมาตั้งแต่แรก หรืออย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ภาคสองมานี้ จะพบครับว่า จุดเด่นของงานชุดนี้ของคริสโตเฟอร์ โนแลน นั้น คือการเล่นกับตัวร้ายที่จะเข้ามาปั่นป่วนจิตสำนึกหรือความรู้สึกเชิงผิดชอบชั่วดีของคน เฉพาะอย่างยิ่ง โจ๊กเกอร์ในภาค The Dark Knight นั้น ถือเป็นตัวร้ายที่ “ถูกอกถูกใจ” ผู้คนยิ่งนัก เพราะเขาพูดในสิ่งที่เป็นความจริง เขาอาจเป็นตัวร้ายของเมืองก็อทแธม แต่เขาคือ “พระเอก” ในบางด้าน ในสายตาของคนดูผู้ชม เขาทำให้จิตใจเราสั่นคลอนและกลับมาตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเป็นคนดีคนเลว นั่นจึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าใครต่อใครจะหลงรักโจ๊กเกอร์ ไม่ใช่แค่ในฐานะตัวร้ายที่ “เล่นใหญ่” และเล่นได้ดีในบทบาท หากแต่วิธีคิดที่คริสโตเฟอร์ โนแลน ใส่แทรกมากับตัวละครตัวนี้ ก็เป็นอะไรที่ต้องบอกว่า เป็นจริง อย่างยากจะปฏิเสธ
แน่นอน เมื่อมาถึงตัวร้ายอย่าง “เบน” ในภาคที่สามนี้ ลักษณะของตัวร้ายยังคงมีกลิ่นอายแบบโจ๊กเกอร์ แม้พูดกันอย่างถึงที่สุด เขาอาจจะไม่เด่นเท่าโจ๊กเกอร์ แต่มุมมองความคิดที่เขานำเสนอ ก็กระแทกเข้าใส่อย่างจังยังต่อมสำนึกผิดชอบชั่วดีของคน รวมไปจนถึงเย้ยหยันสังคมได้อย่างสมจริงที่สุด โดยเฉพาะความคิดที่ผูกติดมากับภารกิจซึ่งบอกว่า “เมื่อบ้านเมืองเจริญ แต่จิตใจของผู้คนกลับตกต่ำลง” นั้น ยิ่งเพิ่มความชอบธรรมให้กับภารกิจของ “พันธมิตรแห่งเงา” อย่างที่เราเองก็รู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รักไม่ได้ เกลียดไม่ลง
ผมคิดว่า หลักการพื้นฐานของการทำหนังที่ดีทั่วไป อันดับแรกก็คือการทำให้ตัวละครเป็นที่รักของคนดูผู้ชม หรือทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับตัวละครให้ได้ และนี่ก็เป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในหนังของโนแลน
เขาสามารถทำให้ตัวละครเป็นที่รักของคนดู ถ้าไม่นับรวมแบ็ทแมนหรือบรูซ เวย์น ที่ยังไงก็ต้องรักอยู่แล้วในฐานะตัวละครเอก แต่แม้กระทั่งตัวละครตัวร้าย โนแลนก็ทำให้เป็นที่ชอบใจของคนดูได้ ตัวร้ายของเขามักจะพูดในสิ่งที่คนดู “รู้สึก” หรืออยากจะพูดออกมา มันกะเทาะเจาะลงไปยังจุดอ่อนไหวของเราๆ ท่านๆ ไม่ว่าจะเป็นโจ๊กเกอร์ที่เยาะหยันความดีความเลว ความเป็นคนดีคนเลว หรือ “เบน” ที่เสียดเย้ยสังคมและพูดในสิ่งที่เป็นความคับแค้นขุ่นเคืองของผู้คนได้อย่างตรงจุด
มันคือการออกแบบตัวละครให้ออกมาทรงพลังมากกระทั่งสามารถมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนดูผู้ชม และอาจหวั่นไหวไปกับมัน แบบเดียวกับที่ฮาร์วี่ เดนท์ เคยโดนเล่นงานทางความคิดและจิตสำนึกมาแล้วในภาค The Dark Knight และไม่ว่าหนุ่มนักศึกษาปริญญาเอกคนนั้นจะมีวาระแอบแฝงอะไรหรือเปล่า แต่ถ้ากล่าวตามรูปการณ์ที่นักศึกษาผู้นั้นกล่าวอ้างแล้ว ต้องยอมรับในคริสโตเฟอร์ โนแลน ว่าเขาสามารถทำให้ตัวละครตัวหนึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนดูได้อย่างรุนแรงจริงๆ
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน นั้น เหมาะสมกับคำว่า “มหาเทพแห่งภาพยนตร์” อีกคนหนึ่งไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับหนังภาคที่สามซึ่งแม้จะกินความยาวร่วมๆ 3 ชั่วโมง แต่กลับยึดโยงจิตใจของเราให้ติดตรึงอยู่กับเรื่องราวในหนังได้อย่างไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีใครคิดเหมือนกันหรือเปล่าว่า ทันทีที่หนังจบ เราไม่อยากให้มันจบเลย ทั้งที่ผ่านมาเกือบสามชั่วโมง
อิทธิพลของหนังของคริสโตเฟอร์ โนแลน มีต่อคนดูผู้ชม จึงไม่ใช่แค่เพียงในด้านความบันเทิงสนุกสนานที่ตรึงคนดูได้อยู่หมัด หากแต่ในเชิงแก่นสาร มันก็ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนด้วย อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น นี่เป็นพลังของภาพยนตร์ที่ไม่บ่อยหนนักจักเกิดขึ้นได้
เท่าๆ กับที่รู้สึกว่า แบ็ทแมนเวอร์ชั่นรีบู๊ตของโนแลนทั้งสามภาค ได้สร้างมาตรฐานที่สูงมากให้กับหนังแบ็ทแมนชนิดที่ใครจะมาสร้างหรือรีบู๊ตอีก คงต้องคิดหนัก แต่ในกลุ่มของหนังฮีโร่ด้วยกันเอง แบ็ทแมนเวอร์ชั่นนี้ก็ “ล้ำหน้า” กว่าหนังฮีโร่เรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความหนักแน่นเข้มข้นในด้านเนื้อหาซึ่งน่าจะพูดได้ว่าเป็นหนังฮีโร่ที่ซีเรียสและเครียดที่สุดแล้วในบรรดาหนังฮีโร่ทั้งหมด แน่นอนล่ะ แม้ว่าทั้งสามภาค อาจจะมีดีด้อยต่างกันไป (ผมยังคงรู้สึกชอบ The Dark Knight มากที่สุด) แต่โดยรวมทั้งหมด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใกล้เคียงกัน
ลักษณะภาพรวมของแบ็ทแมนเวอร์ชั่นโนแลนจะแตกตัวออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือ ส่วนแรกเกี่ยวข้องกับตัวตนและจิตวิญญาณของแบ็ทแมนหรือบรูซ เวย์น ที่ต้องฟาดฟันกับบาดแผลในใจ ขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระของการเป็นฮีโร่ไปด้วย อีกส่วนหนึ่งพูดถึงความเป็นไปของบ้านเมืองโดยมีตัวร้ายเข้ามาเป็นตัวป่วน สิ่งเหล่านี้พบเห็นได้ตั้งแต่ Batman Begins
ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในหนังภาคสามนั้น ผมว่าเป็นสิ่งที่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ได้ไม่รู้หมด หนังมีความลุ่มลึกคมคายในเนื้อหาอย่างที่เราเคยเห็นมาโดยตลอดในหนังของโนแลน แต่เหนืออื่นใดคือแก่นแกนทางความคิดซึ่งอาจถือเป็นการรวบยอดคอนเซ็ปต์ของโนแลนตั้งแต่ Batman Begins เป็นต้นมา ดูเหมือนเขาจะตอกย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นแบ็ทแมนได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือเป็นฮีโร่ได้ จะคอยให้แบ็ทแมนหรือฮีโร่มาช่วยอย่างเดียวก็คงไม่ไหว เพราะบางที แม้แต่ฮีโร่ก็ล้มลุกคลุกคลานแทบจะเอาตัวเองไม่รอดเหมือนกัน คนเก่งๆ อย่างแบ็ทแมนก็ยังโดนหมากัดไม่เป็นท่ามาแล้วในภาคที่ผ่านมาอย่าง The Dark Knight นั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่าฮีโร่ก็มีปัญหาในแบบของฮีโร่ที่ต้องเยียวยารักษาตัวเอง
คนทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้ และฮีโร่ไม่จำเป็นต้องกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในสายตาชาวโลกเสมอไป เหมือนในฉากหนึ่งซึ่งแบ็ทแมนกล่าวกับจิม กอร์ดอน ว่า “แค่คนๆ หนึ่งยกผ้าคลุมไหล่ให้กับเด็กผู้ชายสักคนในค่ำคืนอันเหน็บหนาวแล้วปลอบเขาว่าโลกนี้ยังโอเคอยู่ เขาก็นับเป็นฮีโร่คนหนึ่งแล้ว” จะว่าไป นี่คือสาร (Message) อันหนึ่งซึ่งหนังพยายามตอกย้ำทำให้เรารู้สึกสัมผัสได้ตลอดเวลาในแบ็ทแมนเวอร์ชั่นโนแลน
ในโลกที่เกลื่อนกลาดไปด้วย Bad Man เราคงมิอาจงอมืองอเท้ารอการมาถึงของ Batman แต่เพียงผู้เดียวได้อย่างแน่นอน เราทุกคนเป็น Batman หรือฮีโร่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสวมชุดมนุษย์ค้างคาวให้รุงรังแต่อย่างใด